พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับ คณะสงฆ์และชาวบ้านที่พระเจดีย์กลางน้ำ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับ คณะสงฆ์และชาวบ้านที่พระเจดีย์กลางน้ำ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๗๗)

 เทียนพรรษาส่องสว่างที่ฐานพระเจดีย์

แบบอย่างของครูบาอาจารย์ผู้มีชีวิตเพื่อส่วนรวม

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาพถ่ายโดย หมอนไม้
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาพถ่ายโดย หมอนไม้

          วันหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสถวายเทียนพรรษาแด่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเมตตาให้คติว่า

“เปลวเทียนหลอมละลายเผาตนเองยังให้ความสว่างแก่ผู้คน แต่การเผาลนตัวเองด้วยกิเลสมีแต่ทำลายตนเองและผู้อื่น”

ท่านยังเมตตากล่าวว่า จะนำเทียนนี้ส่งต่อให้พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ท่านจะได้นำไปมอบให้กับอาศรมที่ตั้งอยู่ตามดอยต่างๆ ซึ่งท่านตั้งใจจะก่อสร้างพระเจดีย์ไว้ในแต่ละอาศรม เพราะได้เห็นเจดีย์ที่แดนพุทธภูมิ แม้จะผ่านมากว่า ๒๕๐๐ ปี และในบริเวณนั้น ก็ไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่แล้ว แต่เจดีย์เหล่านั้น ก็ยืนตระหง่านให้ชาวพุทธจากทั่วทุกมุมโลกได้รับรู้ ว่า ช่วงเวลาหนึ่ง พระพุทธศาสนาเคยดำรงอยู่ที่นี่

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังเตรียมก่อสร้างฐานพระเจดีย์
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังเตรียมก่อสร้างฐานพระเจดีย์

เวลาผ่านไป ผู้เขียนเห็นเพจของพระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กำลังก่อร่างสร้างพระเจดีย์อยู่ที่แม่ฮ่องสอน จึงกราบเรียนถามท่านถึงความคืบหน้าและแรงบันดาลใจในการสร้างพระเจดีย์  

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์

เรื่องราวที่พระมหาปฐมพงศ์เล่าถึงการสร้างพระเจดีย์กลับย้อนไปถึงอิฐก้อนแรกที่สร้างแรงบันดาลใจในอุดมการณ์เผยแผ่พระพุทธศาสนาจากท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดอย่างมหาศาล

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์

ท่านเล่าว่า เพราะเห็นท่านอาจารย์สร้างเจดีย์ จึงคิดอยากสร้างบ้าง เป็นเวลากว่า ๑๕ ปี ที่ท่านได้เรียนรู้การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากการทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสของท่านอาจารย์เจ้าคุณ พร้อมกับครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ตั้งแต่อยู่ที่ในคณะ ๗ จนต่อมา ได้ย้ายตามท่านมาอยู่คณะ ๕ ซึ่งเป็นกุฏิหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่คณะ ๗ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่คณะ ๗ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ

          ดังที่พระมหาปฐมพงศ์เล่าว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรมาประมาณ ๓ ปีแล้ว ตอนนั้นอยู่ในพรรษา  อาจารย์กำลังเขียนหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” อยู่พอดี ท่านเขียนตอนเป็นพระมหา

ธรรมนิพนธ์ "ลูกผู้ชายต้องบวช" เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ธรรมนิพนธ์ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

“โดยปกติ ท่านจะนำพระบวชใหม่ออกบิณฑบาต อาตมาเป็นเณร ท่านก็ให้ไปอุปัฏฐากพระ ให้เดินตามหลังพระใหม่ คอยดูบาตรดูจีวรช่วยพระบวชใหม่ เพื่อให้เณรคุ้นเคยกับพระบวชใหม่ ท่านจะเดินนำหน้า 

ก่อนฉันเช้า ท่านจะพาพระใหม่และสามเณรจัดอาหารที่รับบิณฑบาตมา  ฝึกหัดวางจาน ช้อน วางแก้วน้ำ ผลไม้ และได้อุปัฏฐากท่านอาจารย์ด้วย  เพราะท่านฉันกับพระใหม่ทุกวัน ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา

ธรรมนิพนธ์ "พุทธานุภาพ : อานุภาพแห่งพระพุทธองค์ เขียนและเรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญารวชิโร)
ธรรมนิพนธ์ “พุทธานุภาพ : อานุภาพแห่งพระพุทธองค์ เขียนและเรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญารวชิโร)

ในพรรษาหนึ่ง ท่านจะเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่ง และในพรรษานั้น ท่านอาจารย์ก็เขียน ลูกผู้ชายต้องบวช เสร็จพอดี ก่อนหน้านั้นในปีพ.ศ.๒๕๔๕ ท่านก็เขียน “พุทธานุภาพ : อานุภาพแห่งพระพุทธองค์”  จากนั้นก็เขียน “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ต่อจนจบ

ธรรมนิพนธ์ "ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เขียนและเรียบเรียงโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธรรมนิพนธ์ “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เขียนและเรียบเรียงโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ในช่วงที่ท่านอาจารย์เขียนลูกผู้ชายต้องบวช  ก็ได้ชงกาแฟให้ท่านฉัน ซักจีวรให้ และพับให้เรียบร้อย ต้องคอยผลัดเวรกันกับเณรรูปอื่นปัดกวาดเช็ดถูถูห้องอาจารย์  ส่วนวันไหนต้องรื้อหนังสือออกมาทำความสะอาด มาปัดฝุ่นด้วย สามเณรในคณะจะชวนกันไปด้วยกันทุกรูป 

“ท่านบอกว่า ฝุ่นชอบเกาะหนังสือ หากปล่อยไว้นานๆ ไม่ดีกับสุขภาพ ต้องเอาออกมาทีละช่อง ทีละชั้น และต้องช่วยกันจำว่า หนังสือเล่มไหนอาจารย์เอาไว้ช่องไหน เวลาหยิบท่านจะได้จำของท่านได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ช่วงที่อยู่อุปัฏฐากท่าน ก็คือ ท่านชอบอ่านหนังสือ  ในห้องท่านจะมีหนังสือมาก หลากหลายด้าน มีตู้จัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ ท่านจัดเรียงของท่านเอง เพราะเวลาหาจะได้รู้ว่า เล่มไหนอยู่ตรง และนานทีท่านก็จะโละไปบริจาคห้องสมุด อาตมาก็เลยชอบอ่านหนังสือไปด้วย

ชั้นหนังสือของพระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
ตู้หนังสือของพระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส

ที่จริง ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้บังคับให้ใครอ่าน ท่านไม่ได้บอกว่า หนังสือดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แต่ท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น พอเห็นท่านอ่านก็ซึมซับการอ่านหนังสือจากท่านไปด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์”

“ระหว่างที่อยู่กับท่านอาจารย์ ท่านก็พาทำกิจกรรมในคณะ ไม่ให้พระอยู่เฉย ท่านมีพลังมาก ๆ ตั้งแต่เป็นพระมหา ในการพาพระเณรทำงานพระศาสนาทุกด้าน บางที ท่านพาพระใหม่และสามเณรทาสีคณะด้วยตัวเอง พระใหม่รุ่นเก่าๆ ที่บวชอยู่กับท่านก็จะรู้”

พระปัญญาวชิราภรณ์ , พระราชกิจจาภรณ์ , พระราชอุปเสณาภรณ์ และ พระศรีคุณาภรณ์
พระปัญญาวชิราภรณ์ , พระราชกิจจาภรณ์ , พระราชอุปเสณาภรณ์ และ พระศรีคุณาภรณ์

ตั้งแต่ทำความสะอาดกุฏิ ล้างคณะ ขัดห้องน้ำ ถูพื้น ทั้งพระเณรช่วยกัน ท่านจะสอนเสมอว่า ญาติโยมบริจาคให้เรามาอยู่ในวัด ในกุฏิ เราก็กตัญญูต่อสถานที่ ช่วยกันทำความสะอาด พระเณรก็ออกจากห้องมาช่วยกัน ทำให้ระยะห่างของพระเณรกับท่านน้อยลง ทำงานร่วมกันเป็นสิ่งดี คอยดูแลกุฏิให้สะอาด ของสังฆทานท่านจะไม่สะสม จะให้เณรคอยคัดของดีๆ ส่งไปให้วัดต่างๆ ในต่างจังหวัด ให้สำนักเรียนบาลีของสามเณรแต่ละรูป และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดบ้านเกิดท่านที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ก็ส่งไปให้พระเณรได้ใช้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่คณะ ๗ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่คณะ ๗ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ

“ตอนที่ท่านเป็นพระมหา ยังไม่ได้เป็นพระเถระรับภาระในการบริหารคณะสงฆ์ ท่านดูแลพระเณรในคณะ ๗ ของวัดสระเกศ พระเณรและญาติโยมจะอบอุ่นกันมาก  ต่อมา จึงย้ายมาคณะ ๕ เพื่อดูแลกุฏิหลวงพ่อสมเด็จ แต่ก็ดูแลคณะ ๗ ด้วย ท่านเขียนหนังสือ และสนองงานหลวงพ่อสมเด็จ อาตมาได้มาอยู่กับท่านตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๖ ได้เห็นปฏิปทาของท่านจากวัตรปฏิบัติของท่านมาโดยตลอด อาตมาก็ซึมซับมา ทั้งเรื่องการอ่านหนังสือ และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

“อาจารย์ คือ ผู้จุดประกายให้อาตมามีอุปนิสัยรักในการอ่าน การศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง”

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

 “หากเห็นหนังสือดีๆ ที่ช่วยพัฒนาความคิด หรือเป็นความรู้ใหม่ๆ ท่านมักจะซื้อมาที่ละหลายๆ เล่ม ฝากลูกศิษย์คนนั่นคนนี้เสมอ จากที่อาตมาไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ ก็เริ่มอ่านมาเรื่อยๆ จนขนาดว่า ภายในหนึ่งปี อ่านหนังสือจบเป็น ๑๐๐ เล่ม สิ่งที่สังเกตได้ คือ การคิดการอ่าน มุมมอง เปลี่ยนไปจากเดิมมาก บางครั้ง  ได้หนังสือดีๆ มา อยากปิดห้องสัก ๗ วัน ไม่อยากให้ใครรบกวนเพื่อที่จะได้อ่านหนังสือ อ่านจบแล้วค่อยออกมาพบปะผู้คน”

พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส

          การอ่าน คือ การพัฒนาที่ดี

         พระมหาปฐมพงศ์ เล่าต่อมาว่า จากเดิมอาจารย์ซื้อหนังสือมาฝาก แต่ตอนนี้ เราไปหาซื้อเองแล้ว เพราะเรารู้ว่า จะศึกษาเรื่องอะไร ซื้อที่ไหน เราก็ไปเลือกหาเอง ไม่ต้องรบกวนอาจารย์แล้ว การอ่าน ทำให้เปิดกว้างทางความคิด ทำให้มีมุมมองที่หลากหลาย

ต่อมา ในปีพ.ศ.๒๕๕๑ พระมหาปฐมพงศ์ ได้เห็นการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างทุ่มเทของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ท่านเล่าให้ฟังว่า 

ขณะนั้น อาจารย์ให้อาตมามาช่วยงานท่าน ตอนนั้น ท่านยังเป็นพระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณบางวันก็อยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ กับท่านสองรูปจนดึกดื่น  อาตมาจะกลับทีหลังท่าน เพราะต้องคอยปิดประตูหน้าต่างหลังท่านกลับ บางวันดึกมาก อาตมาก็จำวัดที่นั่นเลย

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประชุมกับคณะสงฆ์ พระธรรมทูต ๕ จังหวัดชายแดนใต้
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประชุมกับคณะสงฆ์ พระธรรมทูต ๕ จังหวัดชายแดนใต้

“ตอนนั้น เงียบมาก จนดูวังเวง  ภูเขาทองไม่มีคนอย่างทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวก็ไม่มี พอ ๕ โมงเย็น แทบไม่มีคนเดิน อาจารย์ทำงานพระศาสนาทุกด้านอย่างไม่ได้คิดถึงตนเองเลยว่า ตัวเราต้องได้  ก่อนจะทำอะไร ท่านจะคิดรอบด้าน สอบถามคนนั่นคนนี้ ศึกษาจนแน่ใจว่าสิ่งที่คิดเป็นไปได้ และกราบเรียนหลวงพ่อสมเด็จแล้วจึงลงมือทำท่านดำเนินชีวิตตามปณิธานหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ว่า “อะไรก็ตามถ้าเราได้ สำนักไม่ได้ พระศาสนาไม่ได้ อย่าเอา ถึงแม้เราไม่ได้ แต่สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา เราได้ สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา รวมความ คือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และพระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และพระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ท่านอาจารย์ก็รับสืบทอดมา และทำงานพระศาสนาด้วยความเสียสละแรงกายแรงใจทุ่มเทการทำงานมาก เรียกว่า ท่านมอบลมหายใจให้พระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้

พระราชกิจจาภรณ์ และ พระครูสิริวิหารการ
พระราชกิจจาภรณ์ และ พระครูสิริวิหารการ

ท่านต้องดูแล แก้ปัญหา และวางหลักยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระหนุ่มเณรน้อยที่ทำงานโดดเดี่ยวอยู่ตามท้องถิ่นชนบทห่างไกล จากชายแดนใต้จนถึงดอยสูง ท่านเป็นเหมือนภูเขาให้ท่านเหล่านั้นพิง

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

          อาตมาเห็นความเสียสละส่วนตัวของท่านเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด สิ่งที่อาตมาสัมผัสได้ คือ

          ๑. ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่ถือตัว รับฟังความคิดเห็นของผู้น้อย แล้วคอยเพิ่มเติมเสริมความคิดให้ และจะคอยสอบถามความเป็นไปอยู่เสมอ

๒.น้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้คนทั้งปวง

๓.ดูแลศิษย์ด้วยสุจริต ยุติธรรม เปิดเผย  ไม่หลอกลวง คือ ไม่มีความลับในกำมือกับลูกศิษย์

๔.ดูแลคนใกล้ คนไกล ถ้าดีแล้วดูแลเสมอกัน

๕.คิดอย่างรอบด้านแล้วจึงทำ คือคิดทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลายแล้วจึงทำ

๖.ทำตามแบบแผนประเพณี ของบูรพาจารย์ ชำนาญในกลยุทธศาสตร์  ไม่ทำงานแบบโชว์ แต่ทำงานด้วยความเสียสละ เป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เห็นการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม ต่อพระศาสนา

         “เรียกว่า เป็นต้นแบบของครูบาอาจารย์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระเณรรุ่นหลังจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ไม่อยู่ก็ได้ดำเนินชีวิต ดำเนินงานเผยแผ่ตามปฏิปทาของท่าน”

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส กับคณะสงฆ์ และชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนกำลังก่อสร้างฐานพระเจดีย์

           เทียนพรรษาเล่มเล็กๆ ถูกส่งไปถึงแม่ฮ่องสอนแล้ว พระเจดีย์ที่พระมหาปฐมพงศ์ได้ขึ้นไปเป็นเจ้าภาพในการก่อร่างสร้างฐานอย่างมั่นคงแข็งแรงก็ค่อยๆ ก่ออิฐทีละก้อนๆ อย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านบนยอดดอย

มโนปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ยังคงสืบทอดอยู่ในลมหายใจของพระเณรลูกศิษย์ทุกสารทิศ ประดุจเปลวเทียนที่หลอมละลายให้แสงสว่างแห่งปัญญาไปข้างหน้าเพื่อสร้างทางธรรมไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏให้กับตนเองและยังสานสร้างทางให้ผู้คนด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นฐานพระเจดีย์ที่มีชีวิตอย่างมั่นคงต่อไปไม่สิ้นสุด…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ

(ตอนที่ ๔๑)

วิธีปฏิบัติต่อนิมิตเมื่อนิมิตเกิดขึ้น

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง เมื่อมรรคมีองค์ ๘  รวมองค์กันก็เกิด “ธรรมสามัคคี” เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือองค์แห่งโพชฌงค์รวมองค์กันเมื่อโพชฌงค์รวมองค์กัน ก็เป็นอันโพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ รวมองค์กันเป็นธรรมสมัคคี ดำเนินจิตไปสู่ความว่างภายใน จิตก็ถึงความเป็นจิตดั้งเดิม มีความเป็นจิตประภัสสร เป็นอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เสวยความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวง วางอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

คำว่า “ธรรมสามัคคี” ที่พูดถึงก็คือ ธรรมแต่ละหัวข้อมารวมกันอย่างพรั่งพร้อม ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘ ผนึกกำลังกันแน่นเพื่อชำแรกกิเลส

วิธีปฏิบัติต่อนิมิตเมื่อนิมิตเกิดขึ้น

ต่อไปจะกล่าวถึง “นิมิต” เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประสบพบเจอระหว่างการปฏิบัติสมาธิ บางคนก็รับรู้ได้น้อย บางคนก็รับรู้ได้มาก บางคนก็เกิดน้อย บางคนก็เกิดมาก บางคนก็เกิดขึ้นเร็ว หายไปเร็ว บางคนก็เกิดขึ้นเร็ว หายไปช้า บางคนก็ทรงอยู่สั้น บางคนก็ทรงอยู่นาน บางคนอาจจะไม่มีอยู่เลย คือมีอยู่แต่บางเบาจนเหมือนรับรู้ไม่ได้ จึงเหมือนไม่มี

ที่จริง เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ท่านไม่นิยมนำมาพูด เว้นแต่ผู้ปฏิบัติติดขัดเกิดข้อสงสัยในการปฏิบัติท่านก็จะอธิบายเฉพาะเป็นคนๆ ไป จะเรียกว่าสอบอารมณ์ก็ได้ เพราะเมื่อพูดไปก็จะออกไปทางให้คนเข้าใจไขว้เขวไปว่าเป็นเรื่องอุตริ แต่เพื่อให้เข้าใจในสภาวะอารมณ์ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติควรจะรู้ไว้ก่อน

เหมือนเตรียมตัวจะเดินทางไปในป่าใหญ่ที่ไม่เคยไป ก็ควรจะศึกษาแผนที่ ควรจะรู้เส้นทาง รู้ว่าช่วงไหนเป็นหุบเป็นเหว ช่วงไหนมีสัตว์ร้าย ช่วงมีอันตราย ก็ควรจะรู้ไว้ จะได้ระมัดระวัง การเดินทางก็จะไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย

นิมิตเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจากผลของการภาวนาจนจิตสงบ ก็จะปรากฏอาการต่างๆขึ้น อาการที่ปรากฏเพราะความสงบจากสมถะ เรียกว่า “นิมิต” 

อาการที่ปรากฏเพราะความสงบจากวิปัสสนา เรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส” ซึ่งว่าไปตามหลักที่ท่านแสดงไว้ตามคัมภีร์ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นนิมิต หรือวิปัสสนูปกิเลส ก็ไม่อาจแยกอาการออกจากกันว่าสภาวะไหน เรียกว่า นิมิตสภาวะไหน เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส

เพราะทั้งสอง เพียงแต่ต่างกันโดยคำทางภาษาเท่านั้น แต่โดยอาการก็อย่างเดียวกัน คือผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากการดำเนินจิตเข้าสู่ความสงบ

ไม่ว่าความสงบนั้นจะเกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติแบบใด รสของความสงบเป็นแบบเดียวกัน และผลที่เกิดจากความสงบก็ย่อมเป็นแบบเดียวกัน แยกกันเพียงชื่อ แต่อาการไม่ได้แยก เหมือนคนๆ เดียว อาจจะมีชื่อเรียกหลายชื่อ แต่จะเรียกว่าอะไร ถ้ารู้จักตัวตนกันแล้ว ก็หมายถึงคนนั้นแหละ ถ้ายังไม่รู้จักก็อาจจะถกเถียงกันเพราะชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นคนๆเดียวกัน แต่คนที่ไม่รู้จักมาก่อน ก็อาจจะทะเลาะกันเพราะชื่อเรียก

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิมิต หรือ วิปัสสนูปกิเลส ก็ให้รู้ไว้ว่า เป็นอาการที่เกิดจากความสงบ

ปฏิบัติสมาธิจนเกิดความสงบ นิมิตหรือ วิปัสสนูปกิเลส จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดจากสมถะที่เรียกว่านิมิต หรืออาการที่เกิดจากวิปัสสนา ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ก็อย่างเดียวกัน คือผลของความสงบ ส่วนจะเกิดน้อยเกิดมาก สัมผัสได้น้อยสัมผัสได้มาก หรือรับรู้ได้น้อยรับรู้ได้มาก ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล หรือบางคนอาจจะไม่เกิดก็ก้าวเข้าสู่ความสงบ คือความว่างภายในเลยก็ได้

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็นับว่าดี เหมือนกัปตันขับเครื่องบินขึ้นลงโดยไม่เจอแรงสั่นสะเทือนจากลมพายุ ก็ควรจะดีใจว่านำเครื่องขึ้นลงได้จังหวะดี ไม่เจอพายุ ส่วนครั้งใดที่ต้องเจอพายุก็ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องตั้งสติให้ดี อย่าให้เกิดความเสียหายแก่ผู้โดยสาร

เมื่อมีความสงบจิตจะสังขารปรุงแต่งไปเพราะปีติบ้าง เพราะความสุขจากความสงบบ้าง เกิดความเข้าใจผิด เป็นสัญญาวิปลาส เกิดโอภาสคือแสงสว่างสาดส่องทั่วไปหมด สว่างไสวสุดขอบจักรวาล ก็เข้าใจผิดคิดว่า รู้โลกจนจบสิ้นแล้ว เข้าใจผิดไปว่าเป็น โลกวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็ยึดความเห็นความเชื่อนี้อย่างแน่น

ที่จริงเป็นแสงสว่างตามธรรมดาของจิตสงบ แต่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความจริง ที่ว่าเป็นเพียงแสงสว่างที่ปรากฏขึ้น ก็จะหายไป

แต่เมื่อไปยึดเป็นจริงเป็นจัง ก็เป็นอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ คือความคิดความเห็น 

เมื่อปฏิบัติสมาธิ ก็จะมุ่งให้เกิดแสงสว่างนี้เพื่อจะเพ่งจดจ่ออยู่กับแสงสว่าง เมื่อสอนก็จะสอนเพื่อให้เกิดแสงสว่างนี้ เพื่อให้จิตเพ่งจดจ่ออยู่กับแสงสว่างนี้ กลายเป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ดำริก็ดำริผิด เป็นมิจฉาสังกัปปะ ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะ ไปจนถึงพยายาม ก็จะพยายามผิด เป็นมิจฉาวายามะ ไม่ใช่สัมมาวายามะ

ระลึกรู้ก็เป็นระลึกรู้ผิด เป็นมิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติ ความตั้งใจมั่น ก็ตั้งใจมั่นผิด เป็นมิจฉาสมาธิ การปฏิบัติสมาธิก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

สมาธิจะเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ ก็อยู่ที่ความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อนไปเพียงเท่านี้

โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here