ขอขอบคุณ : ภาพและข้อมูลเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นธรรมทาน จากเพจ Wat Phrathat Doi Suthep / เพจ หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล/เพจ บารมีรวมมหาโพธิสัตว์ พระอนาคตวงศ์ / Cr. Chwalit Seeno/wikipedis.org และ รายการ ความจริงไม่ตาย ตอน ครูบาศรีวิชัย ช่อง ThaiPBS
รำลึกประวัติและปฏิปทาครูบาศรีวิชัย
(๑)
“โลกนี้มืดมนนัก… น้อยคนจักเห็นแจ้งได้”
เปิดบทสนทนากับหลวงปู่มั่น
บนเส้นทางพระโพธิสัตว์ที่เลือกเดิน
หลังจากที่ได้ชมรายการ “ความจริงไม่ตาย” ตอน ครูบาศรีวิชัย ทางช่อง Thai PBS ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ก็สนใจที่จะหาอ่านเรื่องราวของครูบาศรีวิชัยเพิ่มขึ้น แม้ว่า จะเคยรับรู้เรื่องราวของท่านมาบ้าง แต่ก็เป็นชั่วขณะๆ ไม่ต่อเนื่อง เมื่อได้แรงบันดาลใจจากครูบาอาจารย์ที่กำลังเผชิญกับความไม่เป็นธรรมจากปุถุชนที่มีอคติกับพระเถระผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามา และเสียสละชีวิตเพื่อธรรมมาโดยตลอด จึงขอน้อมนำปฏิปทาและประวัติของครูบาศรีวิชัยที่ได้อ่านจากที่ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังเพื่อชะโลมจิตใจให้เห็นถึงความมั่นคงบนหนทางแห่งพระโพธิสัตว์ที่มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสรรพชีวิตให้พ้นทุกข์ด้วย “ธรรม”
๑. บทสนทนาระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนากับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ภาพและข้อมูลจากเพจ บารมีรวมมหาโพธิสัตว์ พระอนาคตวงศ์ / Cr. Chwalit Seeno
“ในการพบกันคราวนี้ ท่านพระอาจารย์มั่น ก็ถึงกับได้ออกปากชวนท่านพระครูบาเจ้าศรีวิไชยเลยทีเดียวว่า
“โลกนี้มืดมนนัก… น้อยคนจักเห็นแจ้งได้“
“ขอน้องเราท่านจงมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับผม เพื่อล่วงทุกข์ภัยในวัฏฏะไม่ต้องมาเกิด แก่ เจ็บ และตาย และวุ่นวายด้วยกิเลสตัณหาให้ได้รับทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยกันเถิด…”
เมื่อได้ฟัง ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิไชยก็ได้ยกมือขึ้นวันทาไหว้สา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระผู้เป็นทั้ง “เพื่อนสนิท” และ “พี่ชายที่แสนดี” ของท่านด้วยความซาบซึ้งใจอย่างนอบน้อมยิ่ง
ก่อนกล่าววาจา “เปิดโลก”อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในการไหน ๆ ทั้งสิ้น ที่เป็นเสมือนหนึ่งเป็นการเฉลยปริศนาแห่งมโนปรารถนา แห่งองค์ท่านมานานนับด้วยอสงไขยในกาลบัดนั้นทีเดียวว่า
“ที่พี่ท่านกล่าวมาเช่นนี้ ก็ชอบอยู่โดยแท้ แต่สุดวิสัยอยู่แต่เพียงว่า อันตัวของข้าเจ้าผู้น้องนี้ หาได้บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งปวงมา เพื่อจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้แต่เพียงลำพังก็หามิได้…
“แต่ข้าเจ้าได้บำเพ็ญธรรมตามจริยาอย่างพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาจะล่วงเข้าสู่พระพุทธภูมิอย่างสมบูรณ์แล้ว…อีกทั้งยังได้รับพระพุทธพยากรณ์ไว้แล้วด้วยว่า ข้าเจ้านี้เที่ยงแท้ที่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคหน้าเที่ยงแท้มิแปรผัน…”
นอกจากนี้ ครูบาศรีวิไชยเจ้าก็ยังได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตต่อไปอีกด้วยว่า
“ด้วยเหตุเป็นเช่นนี้นี้ ข้าเจ้าผู้น้องจึงได้แต่จนใจนักที่มิอาจจักออกปฏิบัติธรรมกรรมฐาน เพื่อล่วงสู่มหาปรินิพพานตามที่ท่านเจ้าได้กรุณาออกวาจาชักชวนเห็นปานนี้ได้ …แม้จะเป็นพระคุณอย่างล้นเหลือ แต่ข้าเจ้าไม่มีอำนาจใดจักไปฝ่าฝืนพุทธพยากรณ์ที่ได้ทรงตรัสพยากรณ์ไว้แล้วดังนี้…ฉะนั้น ขอพี่ท่านจงได้โปรดอดโทษแก่ข้าเจ้าผู้น้องที่มิอาจสนองความปรารถนาดีของพี่ท่านในกาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด…” (Cr. Chwalit Seeno)
ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมครูบาศรีวิชัย จึงได้มุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากเดือดร้อนไปทุกด้าน งานสร้างสรรค์ศิลปะ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นอุดมมงคลของชีวิต ไม่วาจะเป็นงานการเย็บผ้าจีวร การปฏิสังขรวัดวาอารามที่ชำรุด สร้างถนนหนทาง ที่เรียกว่างานนวกรรม ก็เป็นสิ่งจำเป็น
พระสงฆ์จึงไม่เพียงมีหน้าที่ในการภาวนาส่วนตนเพื่อไปสู่ความหลุดพ้นเฉพาะตนเท่านั้น หากยังมีหน้าที่ในการดูแลเสนาสนะให้สะอาด สว่าง สงบ เหมาะกับเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมและช่วยผู้คนให้พ้นทุกข์ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าพาดำเนิน และด้วยเส้นทางสายกลางนี้กว่าจะไปถึงปลายทาง พระโพธิสัตว์แต่ละองค์แต่ละท่านก็พบกับอุปสรรคขวากหนามไม่น้อย ทั้งเสี่ยงตาย และต้องเอาชีวิตเข้าแลก สุดท้ายมิได้เพื่อสิ่งใด ก็เพื่อมุ่งมั่นโพธิญาณ หนทางสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ดังที่ครูบาศรีวิชัยได้บำเพ็ญมา
ประวัติและปฏิปทาครูบาศรีวิชัย
จาก Wikipedia และเพจ หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล
ครูบาศรีวิชัย หรือ พระสีวิไชย เป็นพระเถระชาวจังหวัดลำพูน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า ตนบุญแห่งล้านนา
ครูบาศรีวิชัยเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ปีขาล เวลาพลบค่ำ ขณะนั้นมีพายุฟ้าร้องรุนแรง จึงตั้งชื่อว่า อินตาเฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง บิดาชื่อควาย ส่วนมารดาชื่ออุสา โดยครูบาศรีวิชัยมีเชื้อสายกะเหรี่ยงแดงจากฝั่งบิดา และอาจมีเชื้อสายกะเหรี่ยงขาวและยองจากฝั่งมารดา
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ท่านคิดว่าชาตินี้เกิดมายากจนเพราะในอดีตไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ จึงควรออกบวชรักษาศีลปฏิบัติธรรมไว้เพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า และจะได้ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาทางหนึ่งด้วย ท่านจึงลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ (หรือครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) จนอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย” มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเดินทางไปหนแห่งใดก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธา จากที่ได้ธุดงธ์ไปทั่วแผ่นดินล้านนาได้พบเห็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินล้านนาเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดวาอารามโบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไม่อาจจะนับได้ อาทิ บริเวณหน้าวิหารหลวงและพระบรมธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน (พ.ศ. ๒๔๖๓)
๑๐๘ วัดที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างและบูรณะ
หลังจากกลับจากกรุงเทพฯ แล้วท่านก็ไปบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ. ๒๔๖๔ ) สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ. ๒๔๖๕) บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย บูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ. ๒๔๖๖) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๖๗) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. ๒๔๖๘) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน ๕,๔๐๘ ผูก (พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๑ ) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๗๔) และผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสาธุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ. ๒๔๗๘) สร้างวิหารวัดบ้านปาง (พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จปี พ.ศ. ๒๔๘๒) วัดจามเทวี (พ.ศ. ๒๔๗๙ ) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) – (หนองตอง) เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณปฏิสังขรณ์รวม ๑๐๘ วัด) ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า พระศรีวิชัย ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ครูบาศรีวิชัยบ้าง ครูบาวัดบ้านปางบ้าง ครูบาศีลธรรมบ้างซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านตั้งให้ ด้วยความนับถือ
ตำนานการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว
การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา ๕ เดือน กับ ๒๒ วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘