ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

อาจาริยบูชา “๙ มีนาคม” วันสลายสรีรสังขาร เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก ด้วยเศียรเกล้า

 ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ เกิดขึ้นเพราะการทำงานอย่างมุ่งมั่น ของพระสงฆ์ไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านงานการเผยแผ่ที่เรียกว่า พระธรรมทูตสายต่างประเทศ แต่กว่าจะเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ

    เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระเถระผู้ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ทำให้เกิดวัดไทย ในต่างประเทศซึ่งเป็นโอกาสให้พระสงฆ์ไทย ได้แสดงความสามารถ จนเป็นที่ยอมับในเวทีนานาชาติ นับเป็นก้าวใหม่ และย่างก้าวที่สำคัญแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยในเวทีโลก และวันนี้ พระพุทธศาสนาได้เดินทางไปสู่ทั่วทุกมุมโลกแล้ว 

    เย็นหิมะในรอยธรรม รวบรวมขึ้นจากโอวาท เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชประทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจว่าเหตุไร ที่ประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธทั่วโลก จึงออกแถลงการณ์ร่วมให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก 

“มองอนาคตพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ผ่านสายตาหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ตอนที่ ๒ “อีกร้อยปีเมืองไทยจะไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างทุกวันนี้ ? ” จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “เย็นหิมะในรอยธรรม”

ทุกวันนี้เกิดขึ้นแล้วเราก็เห็น เพราะดาบที่ฟันคอเณรอายุ ๑๓ ปี ก็เป็นดาบเล่มเดียวกับที่ฟันคอพระที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ในประเทศอินเดีย เณรน้อยอายุ ๑๓ ปี ถือบาตรออกไปเดินบิณฑบาต ไม่มีอาวุธอะไร มีแต่บาตร อยู่ดีๆ ก็เอาดาบมาฟันคอ ไม่รู้ว่า เณรน้อยอายุ ๑๓ ปี ไปมีพิษมีภัยอะไรกับใคร จนถึงต้องทำอย่างนั้น

นี่ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย พระไปอยู่ต่างประเทศได้สบาย มีวัดเยอะไปนอนได้ คนอื่นก็ได้วิ่งกันหัวซุกหัวซุน แล้วพระเราก็ต้องช่วยผู้คนให้มีที่พักพิงอาศัย และได้ปฏิบัติธรรทให้เห็นความจริงของชีวิต อย่างนี้เรามองไม่เห็น ปัญหามันจะเกิดขึ้นวันหนึ่งข้างหน้าแน่นอน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ เพียงแต่จะเกิดขึ้นข้างหน้า “เอานานหน่อยก็ ๑๐๐ ปี แถวกรุงเทพฯ นี้จะเป็นของใครก็ไม่รู้ ” คนไทยอาจกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปถ้าไม่คิดกันให้ดี เอานานหน่อย อีก ๑๐๐ ปี เมืองไทยจะไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างทุกวันนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ),  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ภาพถ่ายในโอกาสรับอาราธนาฉันภัตตาหารเพลที่บ้านคุณกนก-ยุพา ประนิช กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในภาพคือ คุณกนก กับบุตร (นรนิติ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ภาพถ่ายในโอกาสรับอาราธนาฉันภัตตาหารเพลที่บ้านคุณกนก-ยุพา ประนิช กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในภาพคือ คุณกนก กับบุตร (นรนิติ)

แม้เมืองไทยจะยังมีอยู่ แต่ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไม่มีพระพุทธศาสนาเลยนะ แต่ไม่มีพระพุทธศาสนาอยู่ในลักษณะอย่างปัจจุบันนี้ แต่จะอยู่ในอีกลักษณะหนึ่ง อย่างหลวงพ่อนี่ไม่ทันได้เห็นหรอก แต่พวกเราไม่แน่

แต่ก็มีข้อแม้ว่า ถ้าคิดให้ดี แก้ให้ดี ก็อาจจะยืดออกไปได้อีกหน่อย อย่างหลวงพ่อไม่ทันหรอก

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร)
พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร)

พูดถึงความเปลี่ยนแปลง วัดสระเกศเมื่อหลวงพ่อมา ทีแรกถนนยังไม่มี รถยนต์เข้าวัดไม่ได้ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ที่หลวงพ่ออยู่ด้วย ท่านพูดว่า

“ถ้ารถยนต์เข้ามารับถึงบันไดกุฏิได้เมื่อไร จะไปสระบุรีไหว้พระบาท”

พระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง)
พระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง)

หลวงพ่อพริ้งท่านเป็นอาจารย์หลวงพ่อและท่านก็เป็นเพื่อนกับเจ้าคุณธรรมเจดีย์ด้วย สมัยนั้น มีโยมศรัทธา จะพาท่านไปไหว้พระพุทธบาทที่สระบุรี จึงมานิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ไปด้วย ท่านก็บอกว่า “ถ้ารถเข้ามารับได้ถึงหัวบันไดกุฏิเมื่อไร จึงจะไป”

สมัยนั้น ไปสระบุรีไหว้พระพุทธบาทต้องออกตั้งแต่ ๖ โมงเช้า บ่ายจึงจะไหว้เสร็จ แล้วกลับถึงกรุงเทพก็พอดีค่ำ เพราะทางสมัยนั้นลาดยาง ไปถึงแค่รังสิต เลยนั้นไปเป็นลูกรังทั้งนั้น รถสมัยนั้นเป็นรถสองแถวแบบสี่ล้อเท่านั้น ถ้าเดี๋ยวนี้ไปกลับ ๑๐ เที่ยวก็ยังไม่มืด

ภายในวัดสระเกศสมัยนั้น สภาพไม่ได้เป็นอย่างนี้ ถนนสำหรับเดินในวัดทำด้วยอิฐ วางซ้อนเรียงกันเป็นแถว ถ้าเป็นต่างประเทศ เช่น ที่ฝรั่งเศส ถนนทำด้วยอิฐ อย่างนี้ถือว่ามีคุณค่ามาก หลวงพ่อเป็นเณร เข้ามาในวัดครั้งแรกรู้สึกแปลก เพราะวัดเป็นตึก ๒ ชั้น ทำไมวัดเป็นอย่างนี้ คิดในใจแต่ไม่ได้พูดออกมา พระโผล่หน้าออกมาทางหน้าต่างมองดู ท่านคงสงสัยว่าเป็นใคร เพราะได้ยินเสียงเท้าเดินผ่านเข้ามานึกว่า เอ๊ะ! ทำไมพระอยู่กันอย่างนี้ เพราะเคยอยู่กุฏิแบบพระในต่างจังหวัด จำได้เลยเป็นเณร ตอนนั้นอายุย่าง ๑๓ ย่าง ๑๔ ขวบเท่านั้น

ปีพ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามโลก ทหารเอาปืนใหญ่ ปตอ.(ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน) มาตั้งรอบภูเขาทอง พวกเณรก็สนุกมาดูปืนใหญ่กันตามประสาเด็ก

มีระเบิดมาทิ้งภูเขาทองแต่ไม่ถูก ระเบิดไปตกที่ผ่านฟ้าน่าอัศจรรย์ ภูเขาทองออกใหญ่โตไม่น่าพลาด คงเป็นพระบารมีพระบรมสารีริกธาตุ

ตอนนั้น “ท่านพลเอกประมาณ อดิเรกสาร” เป็นทหารม้า มียศพันโท เอาม้ามาเลี้ยงที่ลานพระวิหาร ท่านจึงคุ้นเคยกับที่วัดมาจนถึงปัจจุบัน

พอปี พ.ศ.๒๔๘๕ น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ จึงรู้ว่าบริเวณวัดสระเกศนั้นสูงเพราะที่อื่นน้ำท่วมมาก แต่ที่วัดสระเกศท่วมน้อย บริเวณภูเขาทอง ไม่ท่วมเลย ที่เล่ามาอย่างน้อยพวกเราจะได้รู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร

“ตอนนี้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ยังอยู่ จึงทำให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ยังเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสิ่งอื่น แต่ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงเร็ว”

ต่อไปสังคมจะหมุนเร็ว พระศาสนาก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย จะไม่ใช่อย่างทุกวันนี้แล้ว

ทุกวันนี้ พระเณรยังได้เรียนนักธรรม เรียนภาษาบาลี และในหลวงยังพระราชทานสมมณศักดิ์ ยังได้เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ ต่อไปข้างหน้าจะไม่มีอย่างนี้แล้ว แต่นั่นไม่ใช่หลักที่สำคัญ หลักที่สำคัญนั่น ก็คือ การศึกษาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เร็ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ

“พระเณรต้องมีการศึกษา จึงจะนำพาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอดได้”

ดังนั้น ในอนาคตมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง จะต้องเป็นหลักให้พระเณรได้ไปศึกษาเล่าเรียน มิเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่รู้จะเรียนอะไรกันอย่างไรเลยกลายเป็นพระพุทธศาสนาไร้หลัก ถ้าไม่มีการเรียนการสอนเป็นของเราเอง ก็ต้องไปเรียนกับชาวบ้าน ถ้าไปเรียนกับชาวบ้าน เณรกับเด็กจะต่างอะไรกัน

ไม่ต้องอื่นไกล ก็เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อสถาบันศาสนาไม่มี พระเณรก็ต้องไปเรียนร่วมกับชาวบ้าน พ.ศ.๒๕๑๘ ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีสถาบันพระพุทธศาสนา แล้วพระเณรต้องไปเรียนกับชาวบ้าน เหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป ตื่นเช้าก็ต้องสะพายย่ามถือร่มถือกระเป๋านักเรียน ไปยืนเข้าแถวร้องเพลงชาติเหมือนเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง แล้วอย่างนี้ ศาสนาจะเหลืออะไร

“พระเณรถูกสั่งให้เลิกเรียนอย่างพระ แล้วให้ไปเรียนอย่างชาวบ้าน พระเณรเลิกการเรียนธรรมวินัยแล้วจะเหลืออะไร อย่างนี้พระศาสนาก็หมด”

แม้แต่พระมหากษัตริย์ หากไม่หนีออกนอกประเทศ ก็ถูกส่งออกไปท้องนาทำกสิกรรมอย่างชาวบ้านทั่วไป

“นี่ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง”

“มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนี้ ต้องทำเป็นหลักเข้าไว้ ต้องเป็นหลักในการให้การศึกษาแก่พระเณร หาไม่แล้ว พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็จะไม่ต่างอะไรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเห็นกันอยู่แล้ว”

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

“มองอนาคตพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ผ่านสายตาหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก ตอนที่ ๒ “อีกร้อยปีเมืองไทยจะไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างทุกวันนี้ ? ” จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “เย็นหิมะในรอยธรรม”

ธรรมนิพนธ์ "เย็นหิมะในรอยธรรม" โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “เย็นหิมะในรอยธรรม” โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here