ตามรอยปฏิปทา พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า…

ณ  จุดเริ่มต้นชีวิตของ พระครูประโชติรัตนานุรักษ์  ที่  สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ)

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก …

โดย  พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

 

     เรื่องราวของอาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส จะไม่มีวันหายไปจากใจของศิษย์ และสาธุชนที่ได้สดับรับฟังเรื่องราวของท่าน และเคยได้พบท่าน สนทนากับท่าน ตลอดจนผู้ที่ผ่านไปมายังวัดรัตนานุภาพที่ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาส วัดซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านและที่จากไปของท่านในชั่วขณะลมหายใจสุดท้ายของชีวิต 

จากนี้ไป จะขอเล่าประวัติในส่วนของการอุปสมบทเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ และการจาริกไปอยู่จำพรรษาเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนเองกับครูบาอาจารย์ตามวัดต่างๆ จนมาตั้งหลักปักฐานจำพรรษาสร้างสำนักสงฆ์โคกโกให้สำเร็จเป็น วัดรัตนานุภาพ มีเสนาสนะที่เพียบพร้อมสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติศาสนกิจ สวยงามทั้งกุฏิ ศาลาโรงธรรม ศาลาหอฉัน และอุโบสถ พร้อมทั้งซื้อที่ดินขยายวัด ปลูกต้นไม้ภายในบริเวณวัดให้มีความร่มรื่น

        ผู้เขียนได้พูดคุยกับพระครูโฆษิตสุตาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรได้ร่วมงานกันหลากหลายบทบาท ท่านได้กล่าวถึงพระครูประโชติรัตนุรักษ์ว่า

อาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์
อาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์

        ๑.ในความเป็นพระนักเผยแผ่

        พระครูโฆษิตสุตาภรณ์เล่าให้ฟังว่า เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้เข้าอบรมธรรมทายาทรุ่นเดียวกัน กลับมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พระครูประโชติฯก็ได้เริ่มงานบวชสามเณรภาคฤดูร้อน เริ่มทำค่ายพุทธบุตรสมัยที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำใส อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยการนำของพระครูปลัดสุพัน สุวณฺโณ และพระครูสังฆรักษ์วรรชรพล ธมฺมโชโต 

        ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้มาร่วมงานกัน ค่ายแรกที่จดจำท่านได้ชัดเจนคือ ค่ายโรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส คณะพระวิทยากรจะไปพักที่โรงเรียนก่อนหนึ่งคืนก่อนงาน เอาเครื่องเสียงใส่รถกระบะเก่าๆ คันหนึ่ง เตรียมสถานที่ ประชุมครู ภาพแรกที่รู้จักท่าน ท่านทำหน้าที่นำทำวัตรสวดมนต์ นำนั่งสมาธิ และทำหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยรวม ท่านมีบุคคลิกอ่อนโยน เด็กๆ ชอบเข้าหามีอะไรก็ปรึกษา มีเสน่ห์กับเด็กๆ เรียบร้อย ฉายาของท่าน “เทพบุตรหน้าหยก ตัวเล็กๆ หน้าตาดี ออกแขกๆ”  

        การจัดค่ายพุทธบุตรสมัยก่อน แต่ละรูปจะต้องเตรียมความพร้อมกว่าจะได้บรรยายเวทีใหญ่จะต้องผ่านการดูแลเด็กล้างจาน นำเด็กรับประทานอาหาร ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปกครองโดยรวม แล้วก็ค่อยขยับบรรยายกิจกรรมภาคกลางคืน ในภาคกลางวันก็จะมีฐานการเรียนรู้ ๔ ฐาน คือ

        ๑.ศาสนพิธีที่ควรรู้ ฐานนี้เป็นฐานประจำพระครูประโชติฯ ท่านจะสอนเรื่องการกราบจนเห็นความอ่อนน้อมที่เด็กแสดงออกมา การถวายสังฆทานเริ่มต้นอย่างไร ไหว้พระรับศีล กล่าวคำถวาย ให้เด็กฝึกเอง เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง

        ๒.การเข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นการบอกความหมายของพระรัตนตรัย และเป็นการน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ คุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์

        ๓.เป้าหมายชีวิต เป้าหมายทางโลก เรียนจบไปแล้วจะไปทำอะไร เป้าหมายทางธรรม ใช้ธรรมะไปดูแลชีวิตตลอดไป อาชีพประกอบด้วยธรรม

        ๔.สนทนาธรรม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน บางครั้งเด็กมีอะไรที่ติดค้างอยู่ในใจจะได้ถามให้คลายความสงสัย

        วันที่จบโครงการ “อธิษฐานจิตเพื่อชีวิตใหม่” ก็มีการให้เด็กๆ มากราบครู กราบพระอาจารย์ทุกรูป เด็กๆ จะเข้ามากราบฝ่ายปกครองรูปที่ดุที่เข้มงวด บรรยากาศเหมือนเป็นดารามีการให้เซ็นต์ชื่อ หรือขอลายเซ็นต์ หลังจบค่ายก็ทำให้มีพลังในการที่จะทำงานต่อไป

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (ขวา)
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (ขวา)

        ๒.ในความเป็นพระนักปกครอง

ท่านเริ่มเป็นเจ้าสำนักสงฆ์โคกโก เป็นเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ เป็นเจ้าคณะตำบลสุไหงปาดี เป็นเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี บริหารกิจการคณะสงฆ์ปกครองพระภิกษุสามเณรในเขตปกครองด้วยพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ ประกาศมหาเถรสมาคม เอื้อเฟื้อเมตตาต่อพระภิกษุสามเณรผู้จำพรรษาในพื้นที่ เกื้อกูลต่อพุทธศาสนิกชน สนองงานของคณะสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์

๓.ในความเป็นพระนักการศึกษา

ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมทั้งทางธรรม และทางโลก ในทางธรรมท่านชอบการปฏิบัติธรรม เป็นนักเทศน์ นักบรรยาย นำปฏิบัติกรรมฐานให้กับญาติโยม นักเรียนนักศึกษา ในทางโลกท่านเรียนจบปริญญาตรี แล้วเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้มาพัฒนาบ้านเกิด ทั้งยังสนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้ไปศึกษาต่อในสำนักเรียนต่างๆ ทั้งแผนกธรรม แผกบาลี และระดับอุดมศึกษา สนับสนุนมอบทุนการศึกษา เมื่อมีการสอบได้ในระดับที่สูงขึ้นไป เป็นมหาเปรียญ จบระดับอุดมศึกษาก็จัดฉลองเป็นการแสดงมุทิตาสักการะให้กำลังใจในการศึกษา

๔.ในความเป็นพระนักศาสนิกสัมพันธ์

ท่านพูดภาษามลายูได้ ท่านมีเพื่อนเป็นมุสลิม ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ เราไปมาหาสู่กัน เราไปบ้านเขาก็รับประทานข้าวบ้านเขา เขามาบ้านเราก็รับประทานข้าวบ้านเรา ไปยิงนกตกปลาด้วยกัน ตอนเด็กๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นบาป พอโตขึ้นถึงรู้ก็เลิกทำ  มีครูเป็นมุสลิม ท่านก็จะถืออินทผลัมไปฝากครูมุสลิมเป็นประจำ เรียนในโรงเรียนมุสลิม มีรุ่นน้องเป็นมุสลิม ท่านก็ไปเลี้ยงข้าวหมกไก่รุ่นน้อง ท่านทำงานให้กับเด็กเยาวชนมุสลิม ท่านก็เลี้ยงไอติมให้กับเด็กมุลสิมในค่ายทุกครั้ง เวลาที่โรงเรียนมุสลิมต่างๆ ในพื้นที่จัดกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์ก็จะพามาทำกิจกรรมที่วัดท่าน เวลาที่วัดจัดงานอะไรก็เปิดโอกาสพ่อค้าแม้ค้าทั้งสองศาสนา ทั้งพุทธ มุสลิมเข้ามาค้าขายในพื้นที่ของวัดอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

๕. ในความเป็นพระนักสันติ

สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน ท่านในฐานะที่เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ท่านชอบความสงบ ไม่ได้คิดจะเบียดเบียดใคร ท่านดำรงตนในฐานะผู้เป็นแสงสว่างของชาวบ้าน ท่านขวนขวายในการที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเกิด มีการอบรม การเรียนอะไร ท่านก็เข้าอบรม เข้าเรียน ที่ผ่านมาท่านเข้าเรียนหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๔ ส.รุ่นที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล มีกิจกรรมอะไรเพื่อให้เกิดสันติสุข ท่านก็ยินดีไปร่วม ที่ผ่านมาท่านเข้าร่วมกิจกรรมตลอดกับกลุ่มถักถอสันติภาพชายแดนใต้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

๖.ในความเป็นนักสาธารณสงเคราะห์-พระธรรมทูตอาสา

ปณิธานหนึ่งของพระธรรมทูตอาสาที่เป็นเสมือนสัญญาใจของพระสงฆ์ผู้ทำงานร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่า พระธรรมทูตอาสาคือผู้เห็นความทุกข์ของชาวบ้านแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ จะต้องขวนขวายทำให้ชาวบ้านพ้นทุกข์ ที่ผ่านมาในยามยากลำบากเกิดอุทภัยก็ออกให้ความช่วยเหลือเท่าที่กำลังจะพอมี น้ำท่วมบ้านแต่น้ำใจก็ท่วมทับ เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ชาวบ้านมีความหวาดกลัวไม่กล้าที่จะเดินทางไปไหน ท่านก็ทำหน้าที่เดินทางไปเป็นขวัญและกำลังให้ชาวบ้าน ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย แม้ไม่มียาอันวิเศษเหมือนหมอ แต่ก็ได้ใช้ธรรมะชโลมใจให้ชาวบ้านได้คลายทุกข์ สงเคราะห์กันในฐานะเพื่อนมนุษย์ไม่ได้เลือกว่าจะเป็นศาสนาไหน  

๗.ในความเป็นพระนักสาธารณูปการ

ท่านได้เริ่มพัฒนาสำนักสงฆ์โคกโก จนยกฐานะเป็น วัดรัตนานุภาพ ได้สร้างเสนาสนะที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ที่ประกอบพิธีกรรม ปฏิบัติศาสนกิจ โดยเริ่มสร้างศาลาโรงธรรม ตั้งชื่อว่า ศาลาธรรมานุภาพ สร้างศาลาโรงฉัน ตั้งชื่อว่า ศาลาสังฆานุภาพ และสร้างพระอุโบสถ เป็นพุทธานุภาพ รวมกันเป็นวัดรัตนานุภาพที่ลงตัวสวยงาม ท่านมีความเข้าใจในเรื่องการตั้งชื่อสิ่งก่อสร้างภายในวัดให้มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดี

พระครูประโชติฯได้สร้างอนุสาวรีย์แห่งชีวิตให้โลกได้จดจำ ให้เราท่านทั้งหลายได้เจริญรอยตามระลึกถึงความดีที่ท่านได้ทำ แม้วันนี้ร่างกายท่านจะนอนทอดร่างไร้วิญญาณ ท่านก็ยังเป็นครูสอนเราให้ได้ทำความดี ให้สมกับปณิธานของท่าน ที่ท่านได้ใช้จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตว่า มีชีวิตอยู่วันเดียวแล้วทำประโยชน์ ยังมีคุณค่ามากกว่ามีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ถ้าตายก็ขอให้ผมได้ภูมิใจว่าไม่ตายเปล่า ผมตายเพราะได้ทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาจริงๆ แม้ไม่มีใครเห็นก็ตาม

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก …

โดย  พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

 

 อาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ กับเด็กๆ บนดอย ที่อาศรมบ้านดอกแดง จังหวัดเชียงใหม่
อาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ กับเด็กๆ บนดอย ที่อาศรมบ้านดอกแดง จังหวัดเชียงใหม่

คอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here