เนื่องด้วยวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นวันครบรอบ ๖ ปี วันพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จึงขออาราธนาธรรมนิพนธ์ เรื่อง มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มาเป็นธรรมบรรณาการ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๑๐)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน พระพุฒโฆษาจารย์

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีต

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๑๐) ค้นไปค้นมา คอมมิวนิสต์หาย หาไม่เห็น : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๑๐)
พระพิมลธรรม

ถึงตอนนี้ แน่นอนว่า จะต้องแก้ปัญหาโดยด่วน อย่างน้อยหาพระเถระที่จะมาดำรงตำแหน่งดูแลรับผิดชอบส่วนงานที่อ้างว้าง หัวหน้าหายไปเรื่องหนึ่งที่ท่านผู้ใหญ่รีบเข้ามาแก้ไข คือ การรักษาบรรยากาศให้มีความอบอุ่นหรืออุ่นใจ และร่วมใจให้มั่นกันอยู่ ไม่ให้ใจหาย หรือเตลิดเพริดกันไปเสีย

ปรากฏว่า แทบจะทันทีนั้น องค์สภานายก คือพระพิมลธรรม นอกจากคงจะยุ่งกับการช่วยแก้ไขปัญหาในระดับงานบริหารแล้ว ก็ลงมาพบปะใกล้ชิดกับพระนิสิตทั้งหลาย

ที่ว่าแทบจะทันที คือ ในวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๐๓ มีคำแจ้งมาให้นิสิตชั้นปีที่ ๓ รวมเข้าห้องเดียวกับชั้นปีที่ ๔ แล้วองค์สภานายกก็เข้ามาสนทนาอย่างกันเอง กลับนิสิตทั้ง ๒ ชั้นนั้นพร้อมทีเดียว และที่เดียวกัน ทำนองหลวงพ่อพูดคุยกับพระเณรในวัด

พระพิมลธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ขอขอบคุณ ภาพจากหนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
พระพิมลธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ขอขอบคุณ ภาพจากหนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง

เวลานั้น ตึกใหญ่ ๓ ชั้นยังไม่เสร็จ พระนิสิตเรียนอยู่ที่ตึกโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ตามที่จำได้ น่าจะไม่ผิดว่า วันนั้น นิสิตชั้นปีที่ ๓ และปีที่ ๔ รวมกันในห้องท้ายสุดด้านตะวันออก ของตึกชั้นบน คือชั้นที่สอง

หลวงพ่อเข้ามาแล้ว ก็พูดทักทาย ให้ความรู้ เล่าเรื่องราวต่างๆ เมื่อพูดแล้ว ท่านก็ถามบ้าง พอจะถาม ก็เป็นธรรมดาว่า สามเณรที่มีอยู่องค์เดียว ซึ่งแปลกหมู่ กลายเป็นจุดเด่น หรือเป็นจุดสนใจ ท่านก็ถามผู้เล่านี้ว่า คำว่า “กุศโลบาย” หมายความว่าอย่างไร ผู้เล่าก็กราบเรียนตอบไป คงจะพูดยืดยาว จบแล้ว ท่านบอกว่าไม่ควรพูดอะไรง่ายๆ…แต่ยังเป็นเณร ไม่เป็นไร เด็กๆ ยังไม่ค่อยคิดอะไร

จากนั้น ท่านสั่งว่าเลิกเรียนแล้วให้ไปหา ท่านพูดท่านถามอะไรบ้าง จำรายละเอียดไม่ได้ ลงท้ายว่า ให้รักษาตัวให้ดี อย่าให้เป็นอัตตกิลมถานุโยค และขาดเหลืออะไรให้บอก แล้วให้ไปค้นศัพท์ “กุศโลบาย” และเขียนมาถวายท่านในวันรุ่งขึ้น
นี่เล่าไว้ให้เห็นบรรยากาศ เป็นเมตตาคุณของท่านผู้ใหญ่ แต่ความใกล้ชิดและบรรยากาศนี้ ไม่อาจดำเนินไปได้ เพระองค์สภานายกเองก็ประสบเหตุการณ์ร้าย อยู่ในข่ายของร่างแหที่ว่ามาแล้วนั้นด้วย และเรื่องราวข่าวร้ายก็กำลังกระชั้นเข้ามา ทำให้ท่านต้องใช้เวลากับเรื่องเหล่านั้น

ดังนั้น ต่อจากนี้ เท่าที่จำได้ ก็ไม่มีการพบปะอย่างนั้นอีก ได้แค่เห็นเวลาท่านมีกิจผ่านไปในบริเวณวัด แต่ก็เห็นได้ว่าท่านมีเมตตาแก่ผู้เล่าเรื่อยมา พบเห็นคราวใด แม้แต่ไกล ท่านก็กวักมือเรียก หรือยิ้มให้ จนในที่สุด ทุกอย่างก็จบสิ้นไปตามกาล
ปัญหาอันกระทบมหาจุฬาฯ ครั้งนี้ เป็นเรื่องหยุดยาว ในสถานการณ์ช่วงนี้ งานอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ที่กำลังเริ่มเตรียมการกันอยู่ ก็พลอยถูกปัญหากลบทับหมดความสำคัญไป ดังที่เรื่องราวดำเนินต่อไปว่า ในวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๒๕๐๓ (รักษาการ) อธิการบดี ได้มีคำสั่งให้งดการจัดงานอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ประจำปี ๒๕๐๓ โดยจะมีเพียงพิธีที่จัดเป็นการภายใน ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ

อย่างที่ว่าแล้ว เคราะห์ของชาวมหาจุฬาฯ ที่ถูกบังคับให้งดการจัดงานอนุสรณ์ฯ อีนี้กลายเป็นโชคดีของผู้เล่า ที่พ้นไปได้จากภาระของกิจกรรมออกงาน อันขัดต่ออัธยาศัย

ดังได้เล่าแล้วข้างต้น ในเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๐๓ คือประมาณ ๕ เดือน หลังจากที่พบกับนิสิตปี ๓-๔ ดังเล่าข้างต้นแล้ว อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสภานายกมหาจุฬาฯ โดยตำแหน่ง ได้ถูกถอดสมณศักดิ์ ฐานขัดพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และจากความเป็นสภานายกมหาจุฬาฯ

พอถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยข้อกล่าวหาในคดีคอมมิวนิสต์ทำนองเดียวกับสั่งการเลขาธิการ (ข้อหาที่แจ้งคราวนี้ว่า “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร”) อดีตพระพิมลธรรมก็ถูกจับไปดำเนินการให้สละเพศและคุมขังไว้ที่สันติบาล

ต่อจากนี้ ขอเล่าอย่างย่นย่อรวบรัดว่า อดีตพระพิมลธรรมพำนักในที่คุมขังที่กองบังคับการตำรวจสันติบาล ๔ ปี จนกระทั่งเมื่อศาลทหารกรุงเทพ (ในสมัยปฏิวัติ) พิพากษายกฟ้อง ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงกลับสู่วัดมหาธาตุ และต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากมหาเถรสมาคมมีคำสั่งให้ระงับอธิกรณ์ของท่านแล้ว ก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน

พระพิมลธรรม ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม หลังต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๑ ปี)
พระพิมลธรรม ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม หลังต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๑ ปี)
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขอขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขอขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ครั้นแล้ว ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๑๘ นายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้มีบัญชาให้ ดร. นิพนธ์ ศศิธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อัญเชิญพัดประจำตำแหน่งไปถวายคืนแก่พระพิมลธรรม ที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ

นับแต่เกิดคดีความใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อพระพิมลธรรมพ้นจากตำแหน่งแล้ว พระธรรมรัตนากร (สวัสดิ์ กิตติสารเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และเป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสืบมา โดยได้รับสถาปนาเป็นที่ พระธรรมปัญญาบดี ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วต่อมา ถึงมรณภาพ เมื่อมีอายุ ๙๒ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๓

 เมื่อพระธรรมปัญญาบดีถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ แล้ว พระพิมลธรรมก็คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และเป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกวาระหนึ่ง รวมเวลาที่อยู่ปราศจากตำแหน่งทั้งสองนั้น ๒๐ ปี

ต่อมา ในปี ๒๕๒๘ พระพิมลได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้วในที่สุด ถึงมรณภาพเมื่อมีอายุ ๘๖ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๒  

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

กราบขอบพระคุณที่มา : เว็บไซต์ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com และ ธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” ได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604 , https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here