ขอถวายความเคารพบูชาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ด้วยเศียรเกล้า เนื่องในวันครบรอบ ๖ ปีน้อมรำลึก ” ๙ มีนาคม” วันสลายสรีรสังขาร จึงขออาราธนาธรรมนิพนธ์ “เย็นหิมะในรอยธรรม” มานำเสนอเป็นธรรมบรรณาการ

“กว่าบัวจะบานกลางหิมะ” บทบันทึกย่างก้าวที่สำคัญ แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเกิดวัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก มาเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ที่ผู้นำทุกคนต้องอ่าน ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วกว่าหนึ่งแสนเล่ม

ธรรมนิพนธ์ "เย็นหิมะในรอยธรรม" โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “เย็นหิมะในรอยธรรม” โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ให้มองไปข้างหน้าอีก ๕๐ ปี โดยกำหนดดูผลแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งละ ๑๐ ปี ในทุก ๑๐ ปี ก็ต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี และในแต่ละปีนั้น ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ วันอีกด้วย กว่าจะถึง ๕๐ ปี เพื่อให้คาดการณ์ว่า อีก ๕๐ ปี ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”

ท่านยังบอกกับลูกศิษย์อีกว่า มองไปข้างหน้า ๑๐ ปี ร้อยปี พระพุทธศาสนาจะล้มครืนลงวันใดวันหนึ่งก็ได้ ถ้าพระผู้ใหญ่ทั้งหลายเป็นแบบนี้

โอวาทสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ในโอกาสที่ส่งพระสงฆ์ไปดูงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ณ ประเทศสแกนดิเนเวีย พุทธศักราช ๒๕๔๗

ผ่านไปแล้ว ๑๖ ปี พระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็เป็นอย่างที่เห็นอยู่ พระสงฆ์ลดน้อยลงไปมาก …ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่เอื้อในการคุ้มครองพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อไม่เอื้อให้คุ้มครองพระสงฆ์ก็จะมีผลในการไม่คุ้มครองพระพุทธศาสนาไปด้วย เพราะเพราะสงฆ์คือหนึ่งในพระรัตนตรัย มีการกำหนดให้มีการบวชเรียนยากขึ้น อีกทั้งไม่สนับสนุนนวัตกรรมจากพระสงฆ์ผู้คิดค้นและประยุกต์ธรรมให้นำสมัย ใช้เทคโนโลยีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ทุกด้านที่สามารถช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตกาลที่เคยรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมหลากหลายพื้นบ้านพื้นเมืองที่ห่อหุ้มแก่นไว้กำลังถูกกัดเซาะ กำลังถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนาบ้างล่ะ พระพุทธศาสนาที่รุ่มรวยด้วยภูมิปัญญาจากพระพุทธเจ้าที่สืบเนื่องโดยพระอริยสงฆ์และสมมติสงฆ์ในหลายๆ พื้นที่กำลังถูกเลาะเปลือกออกจนอาจไม่เหลือแม้แต่กระพี้ที่จะรักษาแก่นไว้ได้ในที่สุด…

๑. พระพุทธศาสนาคือลมหายใจแห่งแผ่นดิน

พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน

ในโลกปัจุบัน การรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระเณรได้มีความรู้ มีการศึกษาทั้งธรรมะ และวิชาการทางโลก ความรู้อย่างพระก็ต้องรู้เพราะเป็นเรื่องพระศาสนา แต่ก็ต้องรู้ความรู้ชาวบ้านของเขาด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการวางแผน เพื่อให้พระพุทธศาสนา ไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ผู้ที่จะรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ ก็คือ “พระเณร” นั่นเอง จึงจำเป็นจะต้องให้พระเณรมีการศึกษา รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อายุยังน้อยต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อย่าอยู่เฉยๆ เพราะพระเณรจะต้องรับภาระธุระพระศาสนา แต่หลวงพ่อแก่แล้ว คนแก่จะทำอะไรได้ แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว

พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน ซึ่งกำลังแทรกแซงเข้ามาทุกรูปแบบ พระพุทธศาสนาอาจจะล้มลงวันใดก็ได้ แต่พระก็ยังเหมือนปลาอยู่ในน้ำเย็น จึงตายใจว่า พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทย เลยไม่รู้สึกถึงความล่มสลาย ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา

ให้มองไปข้างหน้าอีก ๕๐ ปี โดยกำหนดดูผลแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งละ ๑๐ ปี ในทุก ๑๐ ปี ก็ต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี และในแต่ละปีนั้น ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ วันอีกด้วย กว่าจะถึง ๕๐ ปี เพื่อให้คาดการณ์ว่า อีก ๕๐ ปี

“ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น” ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แล้วเราจะทำอย่างไร มองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต สังคม และของโลก

“ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา” แม้กระทั่งกับพระพุทธศาสนา มิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาในอินเดีย ในปากีสถาน บังคลาเทศ และในอัฟกานิสถาน เป็นตัวอย่าง ก็คงไม่ล่มสลาย

ถ้าสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคมและของโลกที่จะเกิดขึ้นในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า ก็จะทำให้สามารถเห็น ” ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทยด้วย ซึ่งก็คือ

“อนาคตของพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต จนเป็นเหตุให้พระที่ยอมสละชีวิต เพื่อพระพุทธศาสนา

“ต้องถูกฆ่าตายหมู่พร้อมกันมากกว่า ๘,๐๐๐ องค์”

เหตุการณ์นี้ เป็นสิ่งที่พระและชาวไทย ควรจะนำมาเตือนสติอยู่เสมอว่า “อย่าประมาท” อย่านึกว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มองไปที่ไหนก็มีแต่วัด มองไปที่ไหนก็เห็นแต่จีวรเหลืองอร่าม แล้วเหตุการณ์อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทาจะเกิดขึ้นไม่ได้

“น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

ชั่ววินาทีเดียว ทุกอย่างก็พลิกได้ นี่มองอย่างประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันมีเกิดขึ้นมาแล้ว อย่าประมาท ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ การพัฒนาประเทศไทย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทางบ้านเมือง ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธศาสนา”

กองบรรณาธิการ ธรรมนิพนธ์ “เย็นหิมะในรอยธรรม ” เล่มนี้ มีเชิงอรรถ ( footnote) ต่อท้ายงานเขียนของท่านในหน้า ๑๐ ว่า …มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่นาลันทคาม บ้านเกิดพระสารีบุตร เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระสาวกองค์สำคัญของพระพุทธเจ้า มหาวิทยาลัยนาลันทา รุ่งเรืองมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือราว ๑,๗๐๐ ปี หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ โดยกองทัพมุสลิมเตอร์ก เฉพาะที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีพระสงฆ์ถูกทหารมุสลิมเตอร์กฆ่าตายกว่า ๘,๐๐๐ รูป

ที่จริงการพัฒนาประเทศไทย ที่เรียกว่า “ความเจริญ” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพิ่งเริ่มมาได้ ๕๐ ปีนี้เอง ให้รู้ว่า ๕๐ ปีข้างหน้า ยังเปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้ ถ ้าลองนับต่อไปอีก ๕๐ ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงขนาดไหน เปลี่ยนสมัยก่อนนั้น มันเปลี่ยนแปลงช้า ระยะเวลา ๑๐ ปี สมัยก่อน เท่ากับ ๑ ปี ในสมัยปัจจุบัน และ ๑๐ ปีสมัยก่อน เดี๋ยวนี้เพียงปีเดียวเท่านั้นเอง “นี่ความเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้”

ทุกวันนี้ให้ดูความเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน “ให้จำคำของหลวงพ่อไว้” ไม่เกินพ.ศ.๒๕๙๕ บ้านเมืองจะไม่ใช่อย่างนี้แล้ว ถึงปีนี้นับไปอีก ๕๓ ปี

เหตุการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ลองคิดดูถ้านับไปอีก ๕๓ ปี ข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเป็นไปถึงขนาดไหน ความจริงที่จะพูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ และเตรียมวางแผนเพื่ออนาคตอย่างนี้ ไม่ใช่พวกเราพระหนุ่มเณรน้อยหรอก

แต่ว่าต้องเป็นพระระดับมหาเถรสมาคม ระดับเจ้าคณะภาค ที่จะต้องคิดต้องพูดกัน ถ้าเป็นทางบ้านเมือง ก็ต้องเป็นรัฐบาลที่จะต้องคิดเรื่องพวกนี้ ต้องวางแผนเพื่อ ๕ ปี ๑๐ ปี ข้างหน้า

ชิงอรรถ (footnote) กองบรรณาธิการ หน้า ๑๑ : พระสงฆ์ทั่วประเทศ รวมเรียกว่า “สังฆมณฑล” มีองค์กรปกครองสูงสุดเรียกว่า “มหาเถรสมาคม” แบ่งการปกครอง ออกเป็นระดับชั้น ดังนี้ เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส มีกฎหมายรองรับสถานะ องค์กรการปกครองสงฆ์ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์” ซึ่งสมัยรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า “กฎหมายพระสงฆ์”

“แต่น่าเสียดายไม่มีใครคิดอย่างนี้”

๓ ปีที่แล้ว หลวงพ่อเคยบอกเอาไว้ว่าให้ดูช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร นี่ผ่านมา ๓ ปีแล้วยังเป็นถึงขนาดนี้ ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา กับบ้านเมืองขนาดนี้ ลองคิดดู แล้วอีก ๗ ปี ข้างหน้า ต่อไปจะเป็นอย่างไรอีก ๑๐ ปี หลวงพ่อก็อายุ ๘๘ ปี ถ้าหลวงพ่ออยู่ไปอีก ๑๐ ปี อาจจะไม่ได้นั่งอย่างนี้แล้ว

“นี่เฉพาะการเปลี่่ยนแปลงของสังขารร่างกายคนเรา”

แต่ว่าสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราที่เปลี่ยนแปลงนั้น มันต้องแรงกว่านี้ อย่างพระพุทธศาสนาในเมืองไทย อีก ๕๐ ปี อาจไม่ใช่อย่างที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้ก็ได้ ประเทศไทยตรงนี้อาจไม่ใช่ประเทศไทย สำหรับพระพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้ว

ความไม่เที่ยงพระสอนเก่ง แต่ไม่รู้จักคิด วันข้างหน้าบ้านเมืองมันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร พระพุทธศาสนาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ส่วนมากพระไม่ได้คิด สอนเรื่องความไม่เที่ยงอย่างสูงสุด แต่ไม่คิดถึงความไม่เที่ยงอย่างธรรมดาที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา

ความไม่เที่ยงสูงสุด พระพุทธเจ้าหมายเอาความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์ แต่ความไม่เที่ยงในโลกนี้เหมือนกันทุกอย่าง เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบทอดกันไปหมด ไม่มากก็น้อย

ความไม่เที่ยงอย่างธรรมดาที่ต้องการให้คิด ก็คือ “ความไม่เที่ยงของพระพุทธศาสนา”

โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งมีมาแต่เดิม เมื่อรู้ว่า มันจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนแล้ว ทำไมเราไม่เตรียมการเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างรู้เท่าทัน

แม้การให้มีพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ การสร้างวัดขึ้นในต่างประเทศ การให้พระได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ก็เพื่อเตรียม “ต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา” ให้อยู่ในโลกต่อไป ไม่ใช่เพื่ออะไร

“ก็เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)  ภาพสามสมเด็จในอดีต เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพสามสมเด็จในอดีต เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา

ที่ทำนี้ก็ตามพระพุทธเจ้าสอน พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ ก็เพราะพุทธบริษัท แล้ว “พุทธบริษัท” คือ “ใคร” ที่เห็นได้ชัดก็คือ “พระเณร” และอุบาสกกับอุบาสิกาผู้ปวารณาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง รักษาศีล ๕ ศีล ๘ เพื่อดำรงตนในโลกอย่างมีสติปัญญา เกื้อกูลกันเพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ต่อไปนั่นเอง ถ้าไม่มีพระเณรสอนฆราวาสญาติโยมแล้ว ใครจะทำ

“ถ้าพระเณรไม่ทำแล้วใครจะทำ”

เชิงอรรถ (footnote) หน้า ๑๓ หนังสือ “เย็นหิมะในรอยธรรม” : พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ถูกตราขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑” และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงเปลี่ยนเป็น “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์” พ.ศ.๒๔๘๔

ข้อนี้คนทั่วไปไม่เข้าใจ แม้แต่พระระดับมหาเถรสมาคมบางองค์เองยังไม่เข้าใจ ยังคิดไม่ถึง กลับคิดไปว่า พระไปทำไมเมืองนอกเมืองนา พระไปเที่ยวไม่เหมือนชาวบ้าน ไปแล้วก็ผิดศีล รักษาวินัยไม่ได้ ถ้าพระจะผิดศีลผิดวินัยอยู่เมืองไทยก็ผิด ไม่ต้องไปคิดถึงเมืองนอกเมืองนาหรอก แต่ไม่ได้มองให้ทะลุไปไกลกว่านั้น ไม่ได้มองไกลออกไป จนเห็นว่าเพื่อเป็น “การอนุเคราะห์โลก

“อันนี้จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนเป็นอันมาก”

ไม่ต้องเอาอื่นไกลที่เมืองไทย หาก “พระโสณะ” และ “พระอุตตระ” ไม่เสียสละเดินมา แล้วจะมีพระพุทธศาสนาไหม สุวรรณภูมิก็คือ ต่างประเทศของอินเดียสมัยโน้นนั่นเอง

หากวันหนึ่งข้างหน้าเมืองไทยจะไม่มีที่สำหรับพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับสงฆ์ที่มหาวิทยาลัยนาลัยทาในอินเดีย อย่างน้อย

“พระพุทธศาสนาก็มีลมหายใจอยู่ต่อไปในต่างประเทศ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ขอขอบคุณ ภาพจาก CD วันพระราชทานเพลิง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจาก CD วันพระราชทานเพลิง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

“มองอนาคตพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ผ่านสายตาหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ตอนที่ ๑ “พระพุทธศาสนาคือลมหายใจแห่งแผ่นดิน” จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “เย็นหิมะในรอยธรรม” โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here