ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนนี้เป็นสมบัติของทุกคน ถ้าเรารักสมบัติของเราก็ต้องสนใจดูแล เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของเราทุกคนชาวไทย ถ้าเรารักก็ต้องร่วมกันปกป้องรักษา เพราะทุกอย่างล้วนเป็นสมบัติของเราชาวไทยที่จะต้องรักษาและปกป้องในฐานะผู้สืบทอดต่อไป”

เว้นวรรค ท่องเที่ยวระหว่างทางไป “เล ดาลัก” ตัดสลับกลับมาที่การถอดบทเรียนโครงการ “เยี่ยมพระพบปะโยม”  ณ โรงเรียนชุมชนวัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕-๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อลงพื้นที่ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กันต่อ

ในระหว่างการเดินทางครั้งนั้น ทำให้ระลึกถึงคำกล่าวของพระเดชพระคุณพระพิศาลสิกขกิจ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนการกุศลแจ้งวิทยา จังหวัดสงขลา ข้างต้นจึงนำมาเล่าสู่กันฟังว่า การที่เราช่วยกันดูแลปกป้องสมบัติสาธารณะของแผ่นดินก็เท่ากับเราได้ดูแลรักษาตัวเรา และปกป้องครอบครัว สังคมและลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต …

พลิกฟื้น “บวร” ในสังคมพหุวัฒนธรรม ก้าวไปด้วยกัน สันติสุข

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

“วัดป่าศรี” ตั้งอยู่กลางชุมชนแวดล้อมด้วยหมู่บ้านชาวพุทธ มี “โรงเรียนชุมนุมวัดป่าศรี” ระดับประถมศึกษา ป.๑ – ป.๖ ตั้งอยู่ข้างๆ มีเพียงกำแพงตั้งอยู่

“แต่เดิมมีนักเรียน ๒๒๐ แต่ปีนี้เหลือเพียง ๑๔๐ คน เป็นเด็กมุสลิม ๑๑๗ คน เด็กพุทธ ๒๓ คน”  รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนเล่าให้ฟัง ไม่ใช่จำนวนเด็กที่ลดลง เพียงแต่มีโรงเรียนเอกชนเพิ่มมากขึ้น “เด็กพุทธเหลือน้อยลงตามลำดับ ไม่นานคงหมด” ครูพูดด้วยน้ำเสียงอ่อยๆ

ครูพุทธส่วนใหญ่มาจากนอกพื้นที่ มีเพียง ๑ ท่านเท่านั้นที่เกิดที่หมู่บ้านป่าศรี บางคนอยู่มาเกือบ ๒๐ ปี เหตุผลที่ยังอยู่คือ “ความคุ้นเคย มีอะไรก็พร้อมช่วยเหลือกันตลอด และที่สำคัญเด็กๆ ที่ต้องการครู” ครูเล่าอีกว่า “ทุกครั้งพอมีเหตุการณ์รุนแรง ทางครอบครัวของครูจะโทรศัพท์มารบเร้าให้เดินทางกลับบ้าน ไม่ว่าจะให้เหตุผลอะไร ก็จะถูกถามกลับว่า แล้วมีอะไรสำคัญเท่า…ขีวิต! กลับมาบ้านเราเถอะ”

ทั้งที่รู้ว่าคนทางบ้านเป็นห่วง แต่ที่นี่ก็ไม่ต่างจากครอบครัวที่ผูกพันกันจนเรียกพี่ เรียกน้องกันได้แบบไม่เคอะเขิน ตอนนี้กำลังใจของครูยังดีอยู่

วันนั้น ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ พระธรรมทูตลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนก่อนเป็นที่แรก พอผ่านประตูรั้วโรงเรียนเข้าไป ก็เห็นครูและเด็กๆ ที่ใส่ชุดขาวบริสุทธิ์ก็ไหว้และพากันเดินเข้าไปนั่งในห้อง ทุกคนดูตื่นเต้น นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีพระจากต่างพื้นที่มาเยี่ยม รอฟังพระ “ทักทายพระกันก่อนนะ” พระธรรมทูตแนะนำ เด็กยังคงมองหน้าพระก่อนหันไปมองหน้ากันไปกันมา เหมือนจะหาคนนำ ก่อนจะมีเด็กนำกล่าว “กราบนมัสการเจ้าค่ะ/ครับ” เสียงดังขึ้นทันที

ครูเล่าว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่จะอยู่กับปู่ย่าหรือตายาย เพราะพ่อแม่ไปทำงานต่างอำเภอ หรือต่างจังหวัด ถ้าเป็นชั่วโมงพระพุทธศาสนาจะพานักเรียนเข้าวัด เพื่อให้เขารักวัด และจะใส่ชุดขาวทุก ๆ วันพระ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดี ความสงบที่เราพยายามจะรักษาไว้

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

เด็กๆ ชาวพุทธพากันเล่าให้พระธรรมทูตอาสาฟังถึงวิถีชีวิตการพึ่งพากันด้วยการแบ่งปันกัน บ้างก็เอามาแลกกัน หรือทำขนมขายกันเอง นี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนที่นี่ถึงอยู่ได้ เพราะเรียนรู้การพึ่งพากันเองตั้งแต่เด็ก

“หนูรู้ไหมเรื่องความรุนแรง แล้วกลัวไหม พระธรรมทูตอาสาถามเด็ก

“หนูรู้ แต่ไม่กลัว ถ้ามีพระมาบ่อยๆ”  น้องเชียร์ ป.๖ ตอบก่อน

“ครั้งหน้าถ้าพระมาอีกอยากให้ทำอะไรให้”

“หนูเคยเห็นพี่ๆ เข้าค่ายพุทธบุตรอยู่กัน สองสามคืน หนูอยากเข้าค่าย ถ้าพระมาเยี่ยมอีก” เสียงน้องฟาง ป.๔ เพื่อนตอบแบบไม่ต้องคิดมาก

วันนี้พระธรรมทูตอาสาได้รับงานจากเด็ก ป.๔ ที่อาจล่วงรู้ว่า ความสุข สงบในชีวิตนั้นควรมาจากการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความดีลงในชีวิตให้มาก …ตอนนี้เด็กๆ เหล่านี้อยากได้ เพียงแต่จะมีใครรับฟัง และร่วมสานฝันนั้นให้เป็นจริง…

สาธุกับครูที่เป็นความหวังของเด็ก และเด็กๆ ที่จะเป็นกำลังของความสุข สงบต่อไปในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เราต่างช่วยกันดูแลความสัมพันธ์กันประดุจญาติพี่น้อง สงเคราะห์กันและกันตามเหตุปัจจัย  เกื้อกูลกันให้อบอุ่น ปลอดภัย ดังในมงคลสูตร ข้อที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ พระพุทธองค์ตรัสว่า  “วิสา สา ปรมา ญาติ” ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อเราดูแลกันและกันประดุจญาติสนิทมิตรสหาย ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เกิดขึ้น ไปไหนก็ปลอดภัย เพราะต่างช่วยกันดูแลกันและกัน เป็นห่วงกัน ไม่หวาดระแวงกัน ตื่นก็เป็นสุข หลับก็เป็นสุข ชีวิตจะมีอะไรดีกว่านี้เล่า…

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ฯ

ท่องเที่ยวโลกกะธรรม

เรื่อง พลิกฟื้นบวร ในสังคมพหุวัฒนธรรมก้าวไปด้วยกัน สันติสุข

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ดร. ผู้เขียน
ผู้อำนวสยการสถาวันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันขาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here