ผู้เขียนเดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพุทธารามเกาหลีครบหนึ่งเดือนพอดี

หลายคนมีความสงสัยถามว่า การเดินทาง ความเป็นอยู่

กิจวัตรของพระสงฆ์ที่เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจที่นี่เป็นอย่างไร

วันนี้ก็เลยจะถือโอกาสเล่าให้ฟัง …

หนึ่งเดือนของการปฏิบัติศาสนกิจ

ณ วัดพุทธารามเกาหลี  

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

วัดพุทธารามเกาหลี  เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้

หนึ่งเดือนของการปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ก่อนจะกล่าวถึงการเดินทางทั่วไปในประเทศเกาหลี

ขอเล่าถึงการเดินทางมาประเทศเกาหลีก่อน พอหลายคนรู้ว่าจะไปจำพรรษาเกาหลี ก็บอกว่าเตรียมตอบคำถาม ตม. (ตรวจคนเข้าเมือง) ให้ดีนะ การไปเกาหลีนั้น ตม.จะเข้มงวดพอสมควร แต่จริงๆ แล้วสำหรับพระสงฆ์ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร หลายรูปก็เข้าออกปกติ พระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธ ประสงฆ์วัดพุทธารามเกาหลีเคยเล่าให้ฟัง คนไทยเวลาเดินทางมาเกาหลีจะมีความกังวล พอถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง มีคุณโยมกลุ่มหนึ่งปกติอยู่อีกแถวหนึ่ง แต่พอเห็นพระก็เดินมาต่อหลังพระ ถามว่า เป็นพระไทยไหม ก็ตอบว่าเป็นพระไทย คุณโยมก็ดีใจคิดว่า พระช่วยจะคุ้มครองให้ผ่านตม.ได้อย่างสบาย พอเล่าให้ฟังว่า พระก็เคยถูกเรียกเข้าห้องเย็นเหมือนกัน คุณโยมรีบเดินไปต่อแถวเดิมอย่างเร็ว

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางครั้งพระก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับโยมได้ในบางสถานการณ์ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ดีที่สุด

ขอเล่าถึงการเดินทางจากสนามบินอินชอนมาวัดพุทธารามเกาหลีนิดหนึ่ง เผื่อมีใครที่ยังไม่ทราบ การเดินทางสะดวกมาก หลังจากที่เราผ่านตม.แล้ว ผ่านการตรวจสัมภาระแล้ว ก็ออกมาประตูไหนก็ได้ เราจะเจอที่ขายตั๋วรถบัส เครื่องหยอดเหรียญ (Bus Ticket Vending Machine) ซื้อซ่องไหนก็ได้ หรือใครก็หยอดเหรียญก็แล้วแต่สะดวก ไปลงอันซันหย๊อก (Ansan Stn.) จะเป็นรถเบอร์ 7,000 ราคาอยู่ที่ ๖,๕๐๐ วอน ที่ขึ้นรถจะอยู่ป้าย 8A-5 ให้สังเกตเสาต้นใหญ่ๆ เหมือนใต้ทางด่วนบ้านเราจะติดเลข 8A ตัวใหญ่มาก ใช้เวลาในการนั่งรถหนึ่งชั่วโมงพอดีถึงที่หมาย เดินอีกประมาณ ๕-๑๐ นาที แค่นี้ก็ถึงวัดแล้ว

 การเดินทางสัญจรไปมาของพระสงฆ์ในประเทศเกาหลีใต้นั้น ส่วนใหญ่เวลาญาติโยมนิมนต์ไปตามที่ต่างๆ ก็ให้พระสงฆ์นั่งรถไฟไปเอง หรือไม่ก็รถเมล์ การเดินทางก็เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไร เวลาขึ้นรถไฟก็ต้องเดินต่อแถวเหมือนคนทั่วไป ไม่มีที่ว่างก็ต้องยืน หลายคนก็สงสัยอยู่ในเมืองที่คนไม่ได้รู้จักพระสงฆ์ ไม่ได้รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่ได้รู้จักวิธีการปฏิบัติตัวต่อพระสงฆ์ พระสงฆ์ปฏิบัติตัวอย่างไรในเมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับการเดินทาง สัญจรไปตามที่ต่างๆ

ด้วยความไม่รู้ในการปฏิบัติตัวต่อพระสงฆ์ของชาวเกาหลีทั่วไป เวลาเดินทาง เวลานั่งรถเมล์ รถไฟ พระสงฆ์เราก็ต้องเป็นผู้ระวัง ระวังทั้งตัวเองด้วย ระวังทั้งญาติโยมด้วย โดยปกติทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนพระสงฆ์ก็เป็นผู้ระวังตัวเองอยู่แล้ว จะยืนจะนั่งก็หาที่อันเหมาะสมกับสมณะสารูปของตัวเอง อย่างเช่น ที่นั่งบนรถไฟที่มีผู้หญิงนั่ง พระสงฆ์ก็จะไม่นั่งรวม แม้จะต้องยืนเป็นชั่วโมงก็ต้องยืน อย่างนี้พระสงฆ์ก็จะต้องปฏิบัติตัวให้ถูก แม้ชาวบ้านทั่วไปจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

           ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ เกี่ยวกับสถานที่ สำหรับวัดพุทธารามเกาหลี มีที่ตั้งเหมาะสม ไปมาสะดวก มีรถไฟรถเมล์ผ่าน จะอยู่ทางเหนือทางใต้ วัดจะอยู่กึ่งกลางพอดี ปัจจุบัน วัดยังเช่าอาคารอยู่ แต่ก็มีการแบ่งสัดส่วนไว้เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ มีห้องโถงใหญ่สำหรับไหว้พระสวดมนต์ทำกิจของสงฆ์ ญาติโยมมาสวดมนต์ มาปฏิบัติธรรม มาทำบุญ ๔๐-๕๐ คนก็รองรับได้ มีห้องครัวเป็นสัดส่วน มีห้องรับรอง (ห้องพระแก้ว) มีห้องสำนักงาน มีห้องรับรองอาคันตุกะพระสงฆ์มาพัก มีห้องน้ำ อาจจะลำบากหน่อยก็แต่ห้องพักพระสงฆ์ที่มาปฏิบัติศาสนกิจประจำ เพราะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ดัดแปลงเป็นห้องนอน ซึ่งตั้งอยู่บนดาดฟ้า เวลาแดดก็ร้อนมากกลางวันอยู่ไม่ได้ ฝนตก หิมะลง เปิดประตูมาก็เจอฝน เจอหิมะเลย ไม่ต่างจากห้องพักแรงงานที่มาทำงานในเกาหลี เกาหลีในฤดูร้อนก็จะร้อนมาก ๓๕-๔๐ องศา ฤดูหนาวก็หนาวมากหิมะตก

           กฎหมายสำหรับผู้เช่าอาคารของประเทศเกาหลี เวลาที่ผู้เช่าจะดัดแปลงตกแต่งภายในอย่างไร สามารถตกแต่งได้ จะทำสวยขนาดไหนก็ได้ เวลาที่เราหมดสัญญาเช่าหรือเลิกเช่า เราจะต้องรื้อกลับให้เหมือนเดิมก่อนเช่า ซึ่งค่าใช้จ่ายปรับปรุงกับรื้อ ราคาก็เท่าๆ กัน ก็เลยมีข้อจำกัด เวลาจะปรับปรุง ตกแต่งอะไร ก็ต้องคิดถึงการรื้อถอนด้วย

ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในเรื่องของอาหาร ไม่มีความลำบาก ในแต่ละวันจะมีคนไทยที่มาทำงานในเกาหลี ร้านอาหารต่างๆ ที่เปิดในเกาหลี รับเป็นเจ้าภาพภัตตาหารเช้าเพล ปกติมีพ่อครัวประจำวัดทำอาหารถวายทุกเช้าเพล ในแต่ละวันก็มีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ไม่ไกลวัดปวารณานิมนต์พระสงฆ์ไปรับอาหารที่ร้านอาหารในทุกวัน วันอาทิตย์ร้านอาหารก็จะนิมนต์พระสงฆ์ให้ไปรับบิณฑบาต โยมก็จะใส่ข้าวสาร อาหารแห้งของใช้ทั่วไป

พระมหาวราวุธ ปญฺญาวโร เล่าให้ฟังถึงความไม่เข้าใจของคนไทยบางส่วนที่อยู่ในประเทศไทย เวลาเห็นภาพพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตทางสื่อออนไลน์ ในฤดูที่หิมะตกพระสงฆ์ใส่รองเท้าบ้าง ใส่หมวกไหมพรหมบ้าง ถึงกับต่อว่า ส่งข้อความตำหนิก็มี ก็ต้องอาศัยความอดทน อาศัยกาลเวลา วันหนึ่งญาติโยมได้มาสัมผัสก็รู้ได้ด้วยตัวเอง ขนาดญาติโยมใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้าเดินออกนอกอาคารไปนิดเดียว ก็มีอาการน้ำมูกไหลแล้ว แล้วจะให้พระสงฆ์ไม่ใส่เสื้อกันหนาว รองเท้า สิ่งเหล่านี้ ก็ต้องปรับไปตามสภาพของภูมิอากาศ พระสงฆ์ไม่ได้ใส่เพื่อประดับตกแต่ง

สำหรับกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ผู้เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจ ที่หลักๆ ก็มีทำวัตรเช้าเย็นร่วมกัน ฉันเช้าฉันเพลร่วมกัน ในแต่ละวันรูปไหนรับหน้าที่ไปรับอาหาร ไปรับบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาก็ไป รูปไหนอยู่ต้อนรับโยมที่วัดที่มาทำบุญ สนทนาธรรมตามกาลเวลา ทุกรูปมีหน้าที่หมด วันอาทิตย์จะเป็นวันพิเศษเป็นวันหยุดทุกคนกำหนดร่วมกันว่า เป็นวันพระ ไม่ใช่วันพระทางการอะไร แต่เป็นวันพระประจำใจ ญาติโยมก็จะมาวัดเยอะเป็นพิเศษ มาสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา มาฟังธรรม มาใส่บาตร มาทำบุญ ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ แล้วก็ร่วมกันรับประทานอาหาร ถ้าจะว่าไปแล้ววัดก็เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยในวันหยุด

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ก็เปิดโอกาสให้ญาติโยมมาถือศีลปฏิบัติธรรม ตามแต่ที่ทุกคนสะดวกมีเวลามากน้อยไม่เท่ากัน  ๒ คืน ๓ วัน ๑ คืน ๒ วัน หรือ ๑ วัน ซึ่งผู้เขียนมาอยู่ ๑ เดือนก็มีญาติโยมมาถือศีลปฏิบัติธรรมครั้งละ ๕ คน ๓ คน ๑ คน เราก็สอน ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้มาถือศีลปฏิบัติธรรม ในการนำปฏิบัติธรรมก็ได้ปรับประยุกต์ตามความเหมาะสม ได้แนะนำแนวทางปฏิบัติ ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ถามตอบปัญหา สนทนาธรรม ฟังพระเล่าบ้าง ฟังโยมเล่าบ้าง เป็นการปุจฉา -วิสัชนา

ได้เล่าหลายเรื่องให้ญาติโยมได้ฟัง ขอนำมาเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

เรื่องพระกับต้นไม้

พระรูปหนึ่งตื่นมาเห็นใบไม้หล่น ตัวเองต้องทำกิจวัตรกวาดใบไม้ กวาดไปก็บ่นไป จะหล่นอะไรมากมาย

พระอีกรูปหนึ่ง ตื่นมาเห็นใบไม้หล่น รูปนี้ไม่กวาด ไปใช้ให้คนมาตัดต้นไม้ทิ้งเลย คิดว่าต้นไม้คือปัญหา ตัดปัญหาทิ้งเลย

พระอีกรูปหนึ่ง ตื่นมาเห็นใบไม้หล่น ไปจับไม้กวาดมากวาดด้วยความสุข กวาดไปก็คิดไป เราได้ทำประโยชน์ วัดก็สะอาด คนมาวัดเห็นวัดสะอาดก็สุขใจ เราก็ได้บุญด้วย

ชีวิตจริงเราก็ไม่ต่างกับเรื่องของพระกับต้นไม้ ที่จะต้องเกี่ยวเนื่องกับคน การงาน การดำเนินชีวิตชีวิต อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเป็นแบบไหน เราเลือกที่จะตัดต้นไม้ทิ้งก็ได้ หรือเราเลือกที่จะมีความสุขกับการกวาดใบไม้ก็ได้ ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับคนอื่น การทำงานทุกอย่างก็เหมือนกัน

หนึ่งเดือนของการปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

การทำอะไรก็แล้วแต่ เรื่องเล็กๆ เช่น ตื่นนอนมาเก็บที่นอน ล้างแก้ว ล้างจาน กวาดใบไม้ ไม่ต้องเรื่องใหญ่ ถ้าเราไม่มีใจที่จะทำ คือไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ก็ไม่มีความสุข หรือแม้กระทั่งกินข้าว (ก็กินแต่ความคิด) ลองทำอะไรด้วยความรู้สึกเต็มร้อย เอาใจไปอยู่กับสิ่งที่ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ มีสติอยู่กับสิ่งที่ทำ เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ไม่มีเสียงในหัว ว่าทำไมต้องเป็นเรา ที่ต้องล้างแก้ว ต้องทำความสะอาด  เวลาอยู่กันหลายคน คนอื่นเยอะแยะ

ล้างแก้ว เพื่อล้างแก้ว คุณค่าของการล้างแก้ว คือ แก้วสะอาด ไม่มีน้ำยาตกค้าง เราใช้ก็เกิดประโยชน์ คนอื่นใช้ก็เกิดประโยชน์ ไม่มีสารพิษ แล้วชีวิตเราจะมีความสุข ทำอะไรให้อยู่กับสิ่งที่ทำเต็มร้อย ใส่ความเต็มใจ ใส่ความเต็มร้อยลงไปในสิ่งที่ทำ ทำอะไรให้เห็นคุณค่าแท้ของสิ่งที่ทำ

ถ้าเรื่องเล็กๆ เรายังทำไม่ได้ เรายังทำด้วยความสุขไม่ได้ เราจะทำเรื่องยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ชีวิตคนเราไม่มีใครไม่ทุกข์ ไม่มีใครไม่มีปัญหา เวลาที่ทุกข์ มีปัญหา สำคัญที่ว่าเราวางใจต่อทุกข์ ต่อปัญหาอย่างไร

ติดตามการปฏิบัติศาสนากิจของพระสงฆ์ไทยในประเทศเกาหลีใต้ในตอนต่อไป

หนึ่งเดือนของการปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี  เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้

คอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้ พระธรรมทูต สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
ณ วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
พระธรรมทูต สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here