เพื่อเป็นการฝึกสติให้รู้ตัวทั่วพร้อม สัปดาห์นี้จึงขอนำผู้อ่านไปท่องเที่ยวให้เห็นธรรมระหว่างทางที่ดาลักกันต่อ อยากจะบอกว่า ยิ่งเราพิจารณาใคร่ครวญสิ่งใดก็ตามก่อนทำ เราจะค้นพบว่า นาฬิกาเดินช้าลง เช่นเดียวกับตอนนี้ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “ Slow life at Leh Ladakh”

ท่องเที่ยวโลกกะธรรม

“นาฬิกาเดินช้าๆ ที่ลาดัก”

(เล ดาลัก ตอนที่ ๒) โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

จากการที่เครื่องบินดีเลย์…

ตอนที่เรามารอต่อเครื่องที่สนามบินเดลี โดยบินมาจากปูเน่เพื่อต่อเครื่องไป leh Ladakh ทำให้เราได้ประสบการณ์การอยู่ในสนามบินนานขึ้น และเมื่อถึงสนามบินหลังจากที่เราได้รับการยืนยันว่ามีเครื่องบันไป Leh Ladakh แน่นอน เสียงปรบมือจากผู้โดยสารก็ดังขึ้น ท่ามกลางรอยยิ้มอย่างผู้ชนะของทุกคนที่ไม่หนีปัญหา แต่ฝ่าฟันจนสำเร็จ

เมืองนี้ตั้งอยู่กลางหุบเขา ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเดลีประมาณ ๑ ชั่วโมง การเดินทางด้วยเครื่องบินทำให้เห็นภูเขาตลอดทาง บางแห่งยังมีหิมะปกคลุม ในหุบที่มีน้ำไหลเป็นลำธารมีต้นไม้ขึ้นเขียวจะมีบ้านคนหลบซ่อนอยู่

เมือง leh Ladakh เป็นดินแดนที่แสงอาทิตย์เปล่งประกาย ท้องฟ้าใสเหมือนอัญมณี  เงียบแต่ยิ่งใหญ่  เมืองที่มีสายน้ำเชี่ยวกราก บ้านที่มีหลังคาเรียบๆ ไม่สูงโด่งเหมือนเมืองกรุง… เป็นคำบรรยายความรู้สึกของผู้คนที่เคยทางเดินทางมาที่นี่

และสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ต้องบันทึกเพิ่มเติม ก็คงเป็นช่วงนำเครื่องบินลง โดยเครื่องต้องอ้อมภูเขาก่อนจะเอียงตัวอ้อมกลับมาและดิ่งลงทันที ถ้ากัปตันไม่ชำนาญพอคงยากจะทำได้

จากสนามบินไปที่พักเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านพื้นที่โล่งข้างทางเป็นเขาหินสูง ไร้ต้นไม้ บางช่วงเป็นหน้าผา มองลึกลงไปเบื้องล่างเห็นแม่น้ำ บางแห่งมีน้ำใสไม่ต่างกระจกสะท้อนภูเขาจนยากจะแยกภาพจริงกับเงา บางช่วงเป็นแม่น้ำ ๒ สี สูงขึ้นไปมีวัดและเจดีย์ตั้งอยู่เชิงผา แคมป์ทหารมีตลอด ๒ ข้างทาง

คนพื้นที่เล่าว่า แต่ก่อนจะมีเครื่องบิน และถนนตัดเข้ามาคนที่นี่ต้องเดินทางเกือบ ๔๐๐กิโลเมตร ไปยังอีกเมืองใช้เวลาประมาณ ๒ อาทิตย์ อาชีพที่นี่ก็เน้นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แต่ที่นี่มีแก๊สธรรมชาติเยอะ และติดชานแดนปากีสถานจึงมีทหารอยู่กันมาก และเนื่องจากส่วนใหญ่ใน leh เป็นพื้นที่ทางทหาร การใช้สัญญาณโทรศัพท์จึงต้องขออนุญาตก่อน ช่วงนี้โทรศัพท์เป็นแค่ไฟฉายและนาฬิกาเท่านั้น

ตั้งแต่มีสนามบิน และถนนเชื่อมต่อกันระหว่างเมือง จึงมีนักเดินทางโดยเฉพาะฝรั่งเข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดบ้านพัก หรือบางคนก็มาอาศัยอยู่กับชาวบ้าน ส่วนชอบผจญภัยก็กางเต็นท์นอน

คนที่นี่มีใบหน้ายิ้มแย้ม เป็นกันเอง ยิ่งเห็นชาวพุทธด้วยกัน ยิ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ และทุกบ้านที่เราเข้าไปเยี่ยมจะมีห้องรับแขก เป็นเบาะวางกับพื้นแล้วมีโต๊ะขนาดไม่สูงนักวางอยู่ด้านหน้า สำหรับวางของรับประทานส่วนใหญ่เป็นชานมและขนม โดยเจ้าของบ้านจะเดินเสิร์ฟขนมและอาหารด้วยตนเอง จนเราต้องร้องว่า ‘พอ’

ด้วยวิถีชีวิตไม่รีบร้อนค่อยเป็นค่อยไป อารมณ์คนที่นี่เลยดูสงบเย็น และคนที่นี่มีเวลาทำงานและพักตามจังหวะชีวิต อย่างเวลารับอาหารเช้าก็ ๗-๘ โมงเช้า รับอาหารและทำงาน กลางวันบ่ายสามและค่ำตอนสี่ทุ่ม และเวลาที่นี่แทบไม่มีความหมาย ใครที่อยากเรียนรู้ slow life แนะนำที่นี่เลย ที่สำคัญคนที่นี่อายุ๘๐ กว่าๆ ยังเดินขึ้นเขาได้สบายๆ

อัตลักษณ์ของเมือง leh ladakh ตามที่มีคนบันทึกไว้ว่า… Leh Ladakh เป็นเมืองที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องผลิตสิ่งของใช้กันเอง ยกเว้นชาที่กลายเป็นเครื่องดื่มประจำท้องถิ่น อย่างบ้านก็ปลูกเองจากวัสดุง่ายๆ คือดินกับไม้ผสมกัน เสื้อผ้าก็ทำจากขนสัตว์ จนชาว leh ladakh ได้ชื่อว่ากินสัตตุ คือแป้งข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกเองคล้ายคุกกี้ นุ่งพัตตุคือผ้าขนสัตว์ และขี่ทัตตุคือม้าแคะที่ไม่ต้องหาพาหนะจากไหน ถ้านี่เป็นแนวคิดแบบพอเพียง คือ การพึ่งพาตนได้ leh ladakh ก็เป็นเมืองที่น่าศึกษาอีกเมือง

แม้เวลาจะหมุนไป แต่สิ่งหนึ่งที่บอกผ่านเวลาคือตัวตนที่สวนทางกับเวลายังคงหลงเหลืออยู่

ท่องเที่ยวโลกกะธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒)
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here