วันนี้วันพระ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๘)

“เพ่งความสนใจลงไปที่อิริยาบถ ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

เพ่งความสนใจลงไปที่อิริยาบถ

เพ่งความสนใจลงไปที่อริยาบถ จิตรวมดวงลงที่อิริยาบถเป็นสมถะ จิตถอนออกเห็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

ไม่มีผู้ยืน มีแต่รูปยืน ไม่มีผู้เดิน มีแต่รูปเดิน ไม่มีผู้นั่งมีแต่รูปนั่ง ไม่มีผู้นอนมีแต่รูปนอน เห็นความไม่เที่ยงของรูปเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการเห็นอริยสัจในอิริยบถก็เป็นวิปัสสนา

ญาณวชิระ

เพ่งความสนใจลงไปที่การเคลื่อนไหว จิตรวมดวงลงที่อาการเคลื่อนไหว ไม่มีผู้เคลื่อนไหว มีแต่การเคลื่อนไหวก็เป็นสมถะ จิตถอนออกจากการรวมดวงที่อาการเคลื่อนไหว พิจารณาเห็นรูปมีการเคลื่อนไหว และเห็นองคาพยบต่างๆ เคลื่อนไหวตามอยู่ตลอด มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับไปข้างหลัง มีการแล การเหลียว การลิ้มรส การครองจีวร การทาบสังฆาฏิ การสวมใส่เสื้อผ้า เป็นต้น มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการเห็นอริยสัจ แม้ในความเคลื่อนไหวก็เป็นวิปัสสนา

เพ่งความสนใจลงไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตลอดจนอวัยวะส่วนอื่นๆ จิตรวมดวงลงที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการใดอาการหนึ่ง ก็เป็นสมถะ จิตถอนออกมาพิจารณาเห็นอวัยวะ มีความไม่สะอาดเป็นของปฏิกูล เป็นรังของโรคชนิดต่างๆ  จิตเกิดความท้อถอยการยึดถือในอวัยวะต่างๆ ก็เป็นวิปัสสนา

เพ่งความสนใจลงไปที่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จิตรวมดวงลงไปที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมก็เป็นสมถะ จิตถอนออกมาพิจารณาเห็นความไม่มีอยู่จริงความเปลี่ยนแปลงความเป็นทุกข์ของธาตุในกาย ไม่มีส่วนใดน่ายึดถือ ก็เป็นวิปัสสนา

เพ่งความสนใจลงไปที่รูปกายเป็นประหนึ่งซากศพ  ทั้งรูปกายของตนเองและผู้อื่น จิตรวมดวงลงที่รูปกายเป็นประหนึ่งซากศพ ทั้งซากศพที่ตายใหม่ ซากศพที่กลายสภาพขึ้นอืดเขียวช้ำเลือดช้ำหนอง น่าสะอิดสะเอียน สภาพศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกมา สภาพศพที่เน่าเปื่อย สภาพศพที่เหลือแต่โครงกระดูก สภาพศพที่กระดูกย่อยสลายเป็นผุยผง เป็นสมถะ

เมื่อจิตพลิกขณะถอนออกมาพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดสลดสังเวชเกิดความเบื่อหน่ายในการเกิด เห็นโทษของการมีครอบครัว ต้องคอยเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องประคับประคองดูแลเติมไม่รู้จักเต็มเหมือนมหาสุมทรที่พร่องอยู่ตลอดเวลา ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็เป็นทุกข์

เห็นโทษในความขัดแย้ง

ต้องแก่งแย่งชิงไหวชิงพริบ

เห็นโทษของการใส่ความกัน

เห็นการลงโทษทัณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม

เห็นการทรมาน

เห็นการจับกุมคุมขัง

เห็นโทษในสังสารวัฏ

จนขนพองสยองเกล้า

รู้สึกว่าสังสารวัฏลุกเป็นไฟอยู่ตลอด

อยากหนีไปให้พ้น ก็เป็นวิปัสสนา

ญาณวชิระ

เพ่งความสนใจลงไปที่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตรวมดวงลงไปที่ขันธ์ ๕  เมื่อจิตถอนออกมาพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕  แม้รูปก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้เวทนาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้สัญญาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้วิญญาณก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพ่งความสนใจลงไปที่อายตนะทั้งภายในและภายนอกคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ จิตรวมดวงลงไปที่อายตนะทั้งภายในและภายนอก ก็เป็นสมถะ จิตถอนออกจากการเพ่งอายตนะมาพิจารณาเห็นอายตนะเป็นประหนึ่งไฟลุกโชนด้วยราคะ โทสะ โมหะอยู่ตลอด เห็นความไม่เที่ยงของอายตนะ เกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่ายท้อถอยในความทุกข์ร้อน และความไม่มีอยู่จริงของอายตนะ ก็เป็นวิปัสสนา

เพ่งความสนใจลงไปที่อริยสัจ จิตรวมดวงลงไปที่ทุกข์เป็นสมถะ เห็นความทุกข์เป็นสภาพที่เป็นทุกข์ เห็นการเกิดเป็นทุกข์จริง เห็นความเจ็บป่วยเป็นทุกข์จริง เห็นความตายเป็นทุกข์จริง ความเศร้าโศกเสียใจก็เป็นทุกข์จริง ความอยากได้ใคร่ดีแล้วไม่ได้ดั่งใจก็เป็นทุกข์จริง ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์จริง พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์จริง

มองอริยสัจเข้ามาที่ใจ

เห็นใจเป็นทุกข์ ก็เห็นอริยสัจที่ใจ

ญาณวชิระ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๘) “เพ่งความสนใจลงไปที่อิริยาบถ ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here