พระรูปหนึ่งที่นั่งอยู่ในหัวใจของชาวบ้าน

เรียนรู้ปฏิปทาพระสุปฏิปันโน

ผู้เดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์

พระผู้อยู่ในความทรงจำของโลกตลอดไป…

๑๓ เมษายน น้อมเศียรเกล้าอภิวาท ชาตกาล พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก) , เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาตี และประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา จังหวัดนราธิวาส  (๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ )

จุดเริ่มต้นชีวิต 

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ 

(สว่าง จนฺทวํโส)

ณ  สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ)

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

             ผู้เขียนได้อ่านเรื่องราวของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งท่านได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองไว้ จึงขอเล่ามาเล่าต่อเพื่อทุกท่านได้ทราบเรื่องราวของท่าน และระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านสร้าง

             ก่อนที่จะกล่าวถึงการเริ่มต้นของการใช้ชีวิต ณ สำนักสงฆ์โคกโก ข้าพเจ้าพระปลัดสว่าง  จนฺทวํโส ขอเล่าความเป็นมาถึงต้นสายปลายเหตุ แห่งชีวิตสมณะของข้าพเจ้า พอให้ได้ทราบเรื่องราวแบบย่อ ๆ    

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

             ข้าพเจ้าเข้าสู่เพศสมณะอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ อุโบสถวัดประชุมชลธารา อำเภอสุไหงปาดี  จังหวัดนราธิวาส โดยมีพระครูมงคลคณาบดี เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดีในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นพระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูสถิตสีลขันธ์ เจ้าคณะตำบลสุไหงปาดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการประสพ กิตฺติโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

             หลังจากถือกำเนิดเป็นสมณะศากยบุตรแล้ว ได้พักพิงอาศัยอยู่วัดประดิษฐ์บุปผา ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี โดยมีพระอธิการเพชร อติพโล เป็นเจ้าอาวาส ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าพรรษาแรก จะด้วยกรรมบันดาลหรือเพราะเหตุปัจจัยอะไรก็ไม่ทราบ ต้องเคลื่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ วัดน้ำขาว-ยะกา ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

             พอเข้าสู่พรรษาที่ ๒ วัดเขาเข็มทอง อำเภอแว้ง พรรษาที่ ๓ วัดลอยประดิษฐ์ อำเภอสุไหงปาดี  อยู่กับอาจารย์ พระครูสถิตสีลขันธ์ พรรษาที่ ๔-๕ ศูนย์ปฏิบัติธรรมถ้ำน้ำใส ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และหลังจากนั้นได้เดินทางกลับมายังวัดที่อุปสมบท คือ วัดประชุมชลธารา ตั้งใจเพื่อมาขอลาสิกขา แต่บุญยังมี เพราะได้ฟังคำพูดของพระอุปัชฌาย์ว่า อยู่ช่วยกันก่อน ผมไม่มีใครแล้ว เพราะช่วงนั้นพระปิลา สิกขาพอดี สุดท้ายจึงตัดสินใจรับใช้พระอุปัชฌาย์เพื่อทดแทนบุญคุณท่าน และรับใช้พระพุทธศาสนาเรื่อยมา

             เมื่อกลับมาวัดประชุมชลธาราแล้ว ต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ด้วยบุญหรือกรรมก็หามิได้ พรรษาที่ ๖ พ.ศ.๒๕๔๐ วัดประดิษฐ์บุปผาขาดพระภิกษุจำพรรษา จึงต้องไปจำพรรษาเป็นเนื้อนาบุญให้ชาวบ้านเหมือนอย่างที่ผ่านมาแต่ละพรรษา เพราะนึกสงสารวัดและชาวบ้านที่เขาต้องการทำบุญ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงกลับมายังวัดประชุมชลธาราอีก เพราะต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์สักหนึ่งพรรษาตามที่ตั้งใจไว้

             ในพรรษาที่ ๗ นี่เองข้าพเจ้าได้เห็นถึงความต้องการของคณะชาวบ้านโคกโก ที่อยากนิมนต์พระภิกษุไปจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์โคกโก เพื่อเป็นเนื้อนาบุญของพวกเขา

“สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นคือ หยดน้ำตาและคำขอร้องจากคนชรา ที่มานิมนต์พระภิกษุไปจำพรรษา และเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านในช่วงเข้าพรรษา”

ข้าพเจ้าได้พบกับคณะชาวบ้านโคกโก ๒ ครั้ง คือในช่วงตอนบ่ายมานิมนต์พระไปจำพรรษา และตอนเย็นเวลาประมาณ  ๑๘.๐๐ น. ซึ่งตอนนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักหรอกว่าคณะชาวบ้านนั้นเป็นคนหมู่บ้านใด เพราะข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาอยู่ในเขตอำเภอสุไหงปาดี ไม่รู้จักใคร ในตอนบ่ายวันนั้นที่ชาวบ้านไปนิมนต์พระเพื่อมาอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์โคกโก พระภิกษุบางรูปต่างพากันหนีกลับบ้าน กลัวถูกนิมนต์มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านโคกโก คณะชาวบ้านเลยแห้วไปตามเคย กลับไปพร้อมความเศร้าและคราบน้ำตา พอมาถึงช่วงตอนเย็นคณะชาวบ้านโคกโกกลับมายังวัดประชุมฯ อีกครั้ง มีความเพียรมาก

             ทีนี้แหละได้เรื่องข้าพเจ้าได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น จึงจัดแจงนุ่งสบงทรงจีวรมาทำวัตรสวดมนต์ นึกว่าระฆังทำวัตรเย็น แต่ไม่ใช่เป็นสัญญาณระฆังทำวัตร แต่เป็นสัญญาณเรียกพระมาประชุม เพื่อคัดหาพระภิกษุไปจำพรรษายังสำนักสงฆ์โคกโก และวัดโบราณสถิตย์ 

             ข้าพเจ้าจำได้ว่า พระสมใจ กิตฺติสาโร (ปัจจุบันเป็นพระครูบริหารสุทธิวัตร) เสนอให้เอาพระที่มีพรรษามากๆ ไป  ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๓ รูป (พระสังเวียน ,พระเล่ง และข้าพเจ้า) แต่ไม่มีใครไป พระสมใจจึงเสนอให้จับฉลาก ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกรำคาญ ด้วยความสงสารญาติโยม และมีพระอรรถพร กิตฺติโก อยู่รูปเดียวเป็นกำลังอยู่แล้ว จึงได้ประกาศขอไม่จับฉลาก เพราะต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์สักหนึ่งพรรษาตามที่ได้ตั้งใจไว้ และได้ประกาศในระหว่างที่ประชุมนั้นว่า “ถ้าหากไม่มีใครไป…! ผมไปเอง แต่ผมไม่จับฉลาก” เป็นอันตกลงว่าไม่มีใครจับฉลาก ทำให้ในปีนั้นต้องออกมาจากวัดประชุม ฯ อีกครั้ง

                  ญาติโยมชาวบ้านโคกโกรับข้าพเจ้ามาอยู่จำพรรษา ที่สำนักสงฆ์โคกโก ในปี พ.ศ.๒๕๔๑  ซึ่งข้าพเจ้านำพระภิกษุมาจากวัดประชุมชลธารา ๓ รูป ซึ่งมีอยู่ที่สำนักอยู่แล้ว ๒ รูป จึงทำให้มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป ในปีแรกของการจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ถือเป็นรุ่นที่ ๒ ของสำนักสงฆ์ฯ  ข้าพเจ้าคิดว่า หลังจากจำพรรษาเสร็จแล้วก็จะกลับไปยังวัดประชุมฯ ต่อ   

             แต่ด้วยความสงสารญาติโยมที่มีความศรัทธา และตั้งใจที่สร้างวัดขึ้นให้ได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อ เพื่อสร้างความหวังของญาติโยมให้เป็นจริง แม้บ้างครั้งจะต้องเจอกับอุปสรรคในการสร้างวัด เช่น บางคนก็ไม่ให้ความร่วมมือ บางคนขัดขวาง บางคนดูถูกว่าไม่เป็นวัด สร้างวัดไม่ขึ้น สารพัด ฯลฯ แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถที่จะขัดขวางความเพียร ความพยายาม ความสามัคคีของผู้ศรัทธา คณะญาติโยมที่มีความตั้งใจไปได้ แม้บางคนจะล่วงลับดับชีวิตไปก่อนที่จะได้เห็นประกาศการตั้ง “วัดรัตนานุภาพ” แต่ดวงวิญญาณของผู้ศรัทธาเหล่านั้นคงรับรู้อนุโมทนาบุญในครั้งนี้

ท่านเล่าให้ฟังว่า ในชีวิต ผมไม่อยากได้ยินคำว่า มีวัดร้างในพื้นที่ที่ผมอยู่ เคยมีช่วงหนึ่ง มีวัดหนึ่งชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง อยากทำบุญ อยากฟังธรรม แต่ไม่มีพระ ผมคุยกับชาวบ้านโคกโกว่า วันพระ ช่วงเช้าจะไปที่โน้นให้ชาวบ้านได้ทำบุญ ต้องเดินเท้าไปแต่ช่วงเย็นของอีกวัน ไปถึงก็ดึก ตื่นเช้ามาชาวบ้านทำบุญเสร็จ ก็ต้องรีบเดินทางกลับมาให้ทันเพลที่วัดโคกโก เพราะชาวบ้านรออยู่

“ท่านมหาลองนึกภาพดู มีวัดแต่ไม่มีพระอยู่ เจ็บปวดใจนะ คนเฒ่าคนแก่มาวัด เห็นจีวรตากหน้าศาลาก็ยังอุ่นใจ ถ้าไม่มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ นั่นหมายถึงลมหายใจของพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว”

ท่านพูดย้ำให้ฟังตลอดว่า พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่รักสูงสุดของผม ลมหายใจที่มีอยู่ขอถวายเป็นพุทธบูชา และขอทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ”

             วัดรัตนานุภาพ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เดิมชื่อ สำนักสงฆ์บ้านโคกโก เพราะตั้งอยู่ ณ บ้านโคกโก หมู่ที่ ๒ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่อยู่ติดกับโรงเรียนบ้านโคกโก และเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ตามเจตนาของชาวบ้านเพื่อจะสร้างวัด  แต่เนื่องจากที่ดินที่จะสร้างให้เป็นวัดนั้น ไม่พอตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เนื่องจากพื้นที่วัดแบ่งไปตั้งเป็นสถานศึกษา นั่นคือโรงเรียนบ้านโคกโกเสียส่วนหนึ่ง คณะชาวบ้านบ้านโคกโก โดยการนำของพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ซึ่งในสมัยนั้น ท่านเป็นเจ้าสำนักฯ  และโดยความเห็นชอบของ พระเดชพระคุณพระอรรถโมลี เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส สมณะศักดิ์ในสมัยนั้น ได้ทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินซื้อที่ดินเพื่อตั้งเป็นวัด และได้จัดซื้อที่ ในราคา แปลงละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท  เป็นพื้นที่จำนวน ๙ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา     

“ผมเกิดที่นี่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายผมเป็นคนที่นี่…นราธิวาส ผมเรียนที่นี่ รุ่นผมมีชาวพุทธสองคน ทุกคนเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะศาสนาไหน ผมภูมิใจที่สุด ครั้งหนึ่งได้ไปเลี้ยงอาหารรุ่นน้องที่โรงเรียน ไปเยี่ยมครูสอน ไปเยี่ยมผู้อำนวยการ เป็นความสุขที่หาอะไรมาเปรียบไม่ได้ เพราะนี่ คือบ้านเกิดของผม บ้านที่ผมรัก”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

“ชีวิตผมเกิดมาชาติหนึ่ง ได้สร้างวัดด้วยตนเองถวายเป็นพุทธบูชา ผมมาอยู่ที่นี่ (บ้านโคกโก) ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร ผมเริ่มสร้างศาลาหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญ (ศาลาโรงธรรม) ใช้ชื่อว่า ธรรมานุภาพ แล้วก็สร้างศาลาโรงฉัน ใช้ชื่อว่า สังฆานุภาพ สิ่งที่ผมจะสร้างเป็นสิ่งสุดท้าย คือ พระอุโบสถ เป็น “พุทธานุภาพ” รวมทั้งหมดเข้าด้วยจึงเป็น วัดรัตนานุภาพ”

.          สภาพพื้นดินที่ทำการซื้อนั้นเป็นผืนนาร้างและเป็นดินลอย ตั้งติดอยู่กับเส้นทางระหว่างบ้านโคกโก บ้านไอยือราและบ้านโต๊ะเด็ง เมื่อทำการซื้อแล้วพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นคูระบายน้ำให้น้ำแห้งเพื่อตั้งเสนาสนะให้พออยู่ได้ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร และคณะชาวบ้านได้ทำการรื้อถอนกุฎิเสนาสนะบางส่วนจากที่สำนักสงฆ์เดิม มาตั้งยังสำนักสงฆ์ใหม่  สภาพสำนักสงฆ์ (วัดรัตนานุภาพ)  เดิมนั้นเป็นทุ่งนาโล่งแจ้งไม่มีต้นไม้ เป็นป่าหญ้าปล้องและป่ากก เมื่อพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ยกเสนาสนะจากที่เดิมมาตั้งยังสำนักใหม่ วิธีการรื้อถอนเสนาสนะของคณะชาวบ้านนั้น ใช้วิธีรื้อแต่ส่วนหลังคาและฝาของเสนาสนะ สำหรับโครงร่างของเสนาสนะนั้น  คณะชาวบ้านได้ช่วยกันยกหามมาประกอบยังที่ตั้งใหม่

             หลังจากตั้งสำนักสงฆ์ใหม่ในที่แห่งนี้ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร และคณะชาวบ้านโคกโกได้ทำการพัฒนาสถานที่แห่งใหม่ มีการสร้างห้องน้ำ สร้างหอฉัน เป็นอาคารไม้โดยใช้ต้นหลาโอนทำเป็นเสาขุดบ่อ ขุดลอกคูสาธารณะด้านหลังสำนักสงฆ์ ถมดินหน้าสำนักสงฆ์เพื่อใช้เป็นที่จัดงานบุญต่างๆ เพราะที่ตั้งเสนาสนะนั้น เมื่อถึงเวลาฝนตกก็จะเกิดน้ำท่วมขัง เป็นอุปสรรคอย่างมากในการบำเพ็ญกุศลของคณะชาวบ้าน จากเหตุนี้เองจึงต้องถมดินด้านหน้าวัด

             ในไตรมาสแรกของการจำพรรษา  ณ  สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ในที่สถานที่แห่งใหม่ ปีแรกมีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน ๕ รูป หลังจากออกพรรษาเข้าสู่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ลาสิกขา ทำให้สำนักสงฆ์แห่งนี้ว่างจากเจ้าสำนัก (ผู้นำ) แต่ในขณะนั้นยังมีพระอรรถพร  กิตฺติโก ซึ่งเป็นพระภิกษุคนในพื้นที่บ้านโคกโกอยู่รูปเดียว และเมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะพุทธศาสนิกชนต่างขวนขวายหาพระภิกษุเพื่อมาอยู่จำพรรษาให้ครบองค์กฐิน

             พ.ศ. ๒๕๔๑ ปีที่ ๒ ของสำนักสงฆ์ คณะพุทธศาสนิกชนชาวบ้านโคกโก โดยการนำของนายกมล จุลเทพ ได้นิมนต์พระภิกษุจากวัดประชุมชลธารา ซึ่งข้าพเจ้าพร้อมกับพระภิกษุ ๓  รูป รวมกับพระภิกษุในสำนักสงฆ์โคกโก ๒ รูป ก็ครบ ๕ รูป  สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ก่อตั้งมาตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๔๐  และได้ยกขึ้นเป็นวัดโดยมีชื่อว่า “วัดรัตนานุภาพ” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๗ บริเวณวัดมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น  ๑๒  ไร่

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) และ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) และ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

ผู้เขียนเคยได้พูดคุยกับท่านถึงกำลังใจ แรงบันดาลใจในการทำงานยืนหยัดเพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มีแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ เมื่อครั้งหนึ่งคณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มากราบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ดำริให้จัดตั้งพระธรรมทูตอาสาขึ้น แล้วเจ้าประคุณฯ ก็ได้ให้โอวาท มีความตอนหนึ่งว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้ หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง แม้วันใดวันหนึ่งข้างหน้า พระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้พระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”

ทำให้ในปัจจุบันนี้หลายรูปได้ทำลายกำแพงแห่งความกลัวไป เหลือไว้แต่หัวใจที่เสียสละด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามปณิธานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ

นับแต่นั้นมาพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่นี่มาตลอด จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

"จุดเริ่มต้นชีวิต  ณ  สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ) จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ 
“จุดเริ่มต้นชีวิต ณ สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ) จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ 
"ความดีคืออนุสาวรีย์ชีวิต" จากคอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
“ความดีคืออนุสาวรีย์ชีวิต” จากคอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

“๑๓ เมษา อาจาริยบูชา ชาตกาลพระครูประโชติรัตนานุรักษ์” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำำนักงานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากบทความเรื่อง “ความดีคืออนุสาวรีย์ชีวิต” คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ และ บทความเรื่อง “จุดเริ่มต้นชีวิต ณ สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ)” คอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) และ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here