“เมื่อครั้งที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อาพาธ ก่อนที่จะมรณภาพด้วยภาวะไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๔๑ นาฬิกา นับเป็นโชคดีของชีวิตอาตมาที่ได้ถวายการอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์จนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน และลมหายใจสุดท้าย ท่ายยังฝากให้ดูแลงานพระศาสนาต่อไป

“จำได้ว่า ราวสองเดือนก่อนท่านจะละสังขาร ที่ข้างเตียงผู้ป่วย ผิวกายท่านผ่องใส เนื้อหนังแดงด้วยเลือดฝาด ไม่เหมือนคนแก่ ไม่เหมือนคนป่วย ท่านพูดคุยเรื่องการพระศาสนา ปรารภถึงด้วยความห่วงใย แต่ก็เข้าใจความเป็นไป

“ท่านวิเคราะห์การคณะสงฆ์ในประเทศให้ฟัง และให้มองกว้างออกไปยังการพระศาสนาในต่างประเทศ เหมือนกำลังสอนมุมมอง ให้มองมุมกว้าง ให้มองหลายๆ มุม อย่ามองมุมเดียว ให้ใช้ชุดความรู้หลายๆ ชุด อย่าใช้เพียงชุดเดียว ในการทำความเข้าใจพระพุทธศาสนา”

(ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” เรื่อง “น้อมถวายพระราชกุศลฯ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จาก นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙)

น้อมเศียรเกล้าอภิวาทบูชา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พระเถระผู้เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและกล้าหาญทางธรรม “พระผู้นำพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ”

๘ ปีแห่งการจากไปเพียงสรีรสังขาร

รำลึกมรณกาล ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

หากเอ่ยนามพระสงฆ์ผู้มองการณ์ไกล และกล่าวได้ว่าท่านเป็น “พระผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่” ที่ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างรอบด้าน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

คือพระสงฆ์รูปนั้น เรียกได้ว่าท่านเป็นพระผู้สร้างพระสงฆ์และปิดทองหลังพระมาโดยตลอดอย่างเงียบๆ และกล้าหาญทางธรรม

ผู้เขียนเรียนรู้งานพระศาสนาของท่านมากมาย จากการทำงานของศิษยานุศิษย์ของท่าน ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่ผู้เขียนศรัทธาและเคารพบูชาอย่างสูงสุดมาโดยตลอด ในช่วงหลังจากที่หลวงพ่อสมเด็จฯ มรณภาพไปแล้ว งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกด้านของหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ถูกบันทึกไว้ในปณิธานและการทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการตื่นรู้ของพระเถระและพระหนุ่มเณรน้อยที่ท่านเพียรสร้างทุกลมหายใจเข้าออกมาตลอดชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์

เรียกได้ว่า หลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นพระเถระผู้สร้างพระสงฆ์ได้มากที่สุดในยุคปัจจุบันที่ผ่านมากว่า ๕๐ ปี เพื่อสืบทอดลมหายใจพระพุทธศาสนาให้แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปให้มากที่สุด เพื่อเกื้อกูลและช่วยเหลือคนทุกข์ในทุกมุมโลกให้ได้รับธรรมะอันฉ่ำเย็นจากทาน ศีล และภาวนา จากการประพฤติปฏิบัติส่วนตนจนเข้าสู่กระแสพระนิพพานจนในที่สุดไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของท่านในการนำพระพุทธศาสนาออกสู่โลกกว้างในต่างประเทศ ไปทั่วโลก ท่านยังเป็นห่วงพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาโดยตลอด ท่านจึงวางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างมั่นคงในทุกด้าน ท่านจึงส่งเสริมและสนับสนุนการบวชเรียนอย่างเต็มกำลังเพื่อสร้างพระให้ทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม

พระพุทธศาสนาในยุคสมัยของท่านจึงมีชีวิตชีวา ตอบโจทย์ช่วยเหลือคนทุกข์ยากได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยอย่างหนักในปีพ.ศ.๒๕๕๔ และความไม่สงบในห้าจังหวัดชายแดนใต้ในเวลาต่อมา จนก่อเกิดโครงการ “ธรรมะเยียวยาใจ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” และพระธรรมทูตจิตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ในนามพระวิทยากรจิตอาสากลุ่ม “เพื่อชีวิตดีงาม” และ กลุ่ม “ใต้ร่มพุทธธรรม” ที่ช่วยกันทำงานอย่างหนักและทุ่มเท ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อดำเนินกิจการพระพุทธศาสนาเชิงรุกในการช่วยเหลือคนทุกข์ให้ทันท่วงทีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กราบขอบพระคุณ ภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙) เปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ ในปี พ.ศ.๒๕๕๑
กราบขอบพระคุณ ภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙) เปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ ในปี พ.ศ.๒๕๕๑

ในยุคสมัยของท่านอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระผู้มาก่อนกาล ชาวพุทธและประชาชนบางส่วนในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อาจตามความคิดท่านไม่ทัน อาจไม่เข้าใจคำว่า “งานพระพุทธศาสนาเชิงรุก” เท่าไร เพราะไม่ได้ติดตามการทำงานของท่าน แต่สำหรับพุทธบริษัทและประชาชนที่สนใจงานของท่าน และได้เคยผ่านกิจกรรมค่ายเยาวชนจิตอาสา หรือค่ายพระพุทธศาสนาในหลากหลายรูปแบบ สำหรับทุกกลุ่มอาชีพ ก็ได้เรียนรู้ในการนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตให้อยู่เหนือความขัดแย้ง ไม่ตกอยู่ในอารมณ์ และเท่าทันกิเลสที่อาจชักนำไปในทางที่ผิดได้

พระวิทยากรที่จบหลักสูตรจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ มากมาย ที่ยังคงดำเนินกิจกรรมค่ายพระพุทธศาสนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้รอดพ้นจากมหันตภัยในทุกด้าน

มาจนถึงยุคโรคระบาดโควิด -๑๙ เราก็ยังเห็นได้ว่า พระสงฆ์จิตอาสาท่านเป็นหลักใจในการให้ธรรมโอสถแก่ประชาชนอย่างเสียสละ ไม่เพียงให้ธรรมะเป็นยารักษาใจ และยังให้ธรรมะเป็นยารักษากายด้วย

ธรรมะเป็นยารักษากายที่ว่า คือ ปัจจัยสี่นั่นเอง เพื่อตอบแทนชุมชน ตอบแทนชาวบ้านที่ใส่บาตรเลี้ยงดูพระสงฆ์ให้ปฏิบัติสมณธรรมจนพบกับความสุขความสงบ และความหลุดพ้นจากความทุกข์เฉพาะตนแล้ว ในการนี้ พระสงฆ์ก็ได้เผยแผ่ธรรมในทุกด้านเพื่อให้เพื่อนมนุษย์เห็นแจ้งในอริยสัจสี่ สัจธรรมอันประเสริฐ เป็นการตอบแทนประชาชนให้มีกำลังกาย กำลังใจ ในการดูแลตนเองในภาวะวิกฤติชีวิตให้ผ่านไปได้จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายมาเยือน รวมทั้งช่วยชาวบ้านสร้างงานในชุมชน

สำหรับการเจริญพระพุทธมนต์ทุกวันก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างสูงสุด ที่ทำให้จิตใจของชาวพุทธมีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เมื่อเราได้รับฟัง และสวดมนต์ไปด้วยทางออนไลน์ หรือสวดอยู่ที่บ้าน ก็ทำให้เกิดความสงบ จนเกิดสติปัญญาในการป้องกันตนเอง และรักษาตนเอง เป็นทางเลือก ทางรอดอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้การแพทย์สมัยใหม่ไม่ต้องทำงานหนักมากขึ้น หากเราดูแลตัวเองด้วยธรรมโอสถเป็น

พระสงฆ์และพระธรรมทูตจิตอาสา จึงช่วยผู้คนในทุกด้าน แล้วยังมีกุศโลบายในการให้ธรรมะไปด้วย ตั้งแต่ทำอาหารแจก ช่วยต้มน้ำสมุนไพรรักษาโควิดในเบื้องต้น อาทิ ฟ้าทะลายโจร และน้ำกระชายผสมมะนาวน้ำผึ้งแจกผู้ป่วยจนหายจากโรคโควิด -๑๙ อีกทั้งยังช่วยไปดูแลชุมชน พ่นน้ำยาป้องกันโรคระบาด คัดกรองผู้ป่วย จัดทำศูนย์พักคอยในวัด จัดทำโรงพยาบาลสนาม จัดงานศพ เผาศพ และเก็บกระดูกผู้ป่วยจากโรคระบาดให้ญาติพี่น้องที่ไม่สามารถมาร่วมงานศพในช่วงโรคระบาดนี้ด้วย

และที่สำคัญคือ พระสงฆ์ยังคงเป็นพลังใจให้กับคนทุกข์เพื่อประคองชีวิตในทุกช่วงเวลาแห่งความทุกข์ให้เข้าใจในทุกข์ และผ่านความทุกข์ไปจนสิ้นทุกข์ ผ่านการเทศน์ออนไลน์ และการปฏิบัติธรรมออนไลน์มากมาย เพื่อให้ผู้ชมและผู้ฟังมีหนทางเลือก -ทางรอดจากโควิดด้วยธรรมโอสถ และการใช้ชีวิตอย่างมีสติในวิถีธรรม

จนกระทั่ง แม้แต่ความตายที่จะต้องเผชิญ เมื่อเวลาของเรามาถึงอย่างเข้าใจในเหตุปัจจัย และกฏแห่งไตรลักษณ์ ที่จะทำให้เราจากไปอย่างสงบ เพื่อเดินทางในสัมปรายภพอย่างมีสติปัญญาไปจนกว่าจะเกิดใหม่อีกครั้ง หากเรายังไม่สามารถทำจิตให้ละจากกิเลสได้หมดเกลี้ยง แต่ก็เบาบางลงแล้ว และด้วยการทำทาน ศีล ภาวนาไว้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ลมหายใจเข้าออกอย่างไม่ย่อท้อ เราก็อาจจะได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อย่างมีต้นทุนด้วยบุญกุศลที่สั่งสมไว้ เพื่อสั่งสมบารมีไปจนกว่าจะดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงในสังสารวัฏ

หากเราศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจนเข้าถึงพระรัตนตรัย เราจะไม่งมงาย เราจะสามารถพึ่งตน พึ่งธรรมที่ปรากฎในใจเราได้อย่างไม่ประมาท และมีที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่กลัว แม้ความตายมาเยือนอยู่ตรงหน้าของเราในขณะนี้

ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ท่นมองการณ์ไกล จึงเน้นให้พระเณรที่บวชเข้ามา ได้มีโอกาสศึกษาทางธรรมและทางโลกด้วย ที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เพื่อให้พระสงฆ์มีธรรมในตนและรู้จักโลก จะได้ช่วยเหลือชาวโลกได้ตรงประเด็นกับความทุกข์ของเขา

พระสงฆ์ที่เติบโตมาในยุคของท่านจึงเป็นพระที่อยู่ในพระธรรมวินัย และทันสมัยในการปรับตัวที่จะช่วยเหลือผู้คนแก้ทุกข์ได้อย่างทันท่วงที พระสงฆ์จึงต้องทันโลก ทันเหตุการณ์ เพื่อช่วยเหลือชาวโลกได้อย่างรวดเร็วในทุกเรื่อง ดังที่พระสงฆ์ท่านช่วยกันจัดกิจกรรมค่ายพระพุทธศาสนาที่สร้างสรรค์และหลากหลายในยุทธวิธีที่ประยุกต์ธรรมจากพระไตรปิฎกออกมาเป็นหลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม และหลักสูตรพระวิทยากรบรรยายธรรม ตลอดจนโครงการพระนักเขียน ที่สร้างพระวิทยากรให้เขียนบทความเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อในกระแสและสื่อออนไลน์ ในนาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์

ที่สร้างพระ เพื่อไปสร้างคนให้เป็นคนที่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ทั้งในคุณภาพและปริมาณ ส่งผลไปถึงการเลี้ยงดูเด็กๆ ในครอบครัว ทำให้เด็กดื้อ กลายเป็นเด็กดี ในโรงเรียนก็สร้างครูให้มีเทคนิคการสอนที่สร้างสรรค์ ทำให้เยาวชนมีความสุขกับการเรียนที่มีรากฐานทางธรรมที่สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างน่าสนใจ ช่วยให้เยาวชนมีสติ สมาธิ และปัญญา ในการขวนขวายการศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียร ช่วยเหลือพ่อแม่ และตั้งใจเรียน จนเติบโตเรียนจบเป็นผู้ใหญ่ที่มีการงานที่ดี มีความรับผิดชอบในสังคม

ในขณะที่หนุ่มสาว นักธุรกิจ คนทำงานที่ได้ผ่านกิจกรรมการเข้าค่ายพระพุทธศาสนาจากพระวิทยากร ก็ก่อเกิดปณิธานในใจที่จะเป็นจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ใช้ชีวิตอย่างมีสติและปัญญา เป็นพลังให้กับครอบครัว สังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคตพระพุทธศาสนาก็จะงดงามในใจคนก่อเกิดความร่มเย็นและเผยแผ่ไปกว้างไกลให้เกิดความสันติในสังคมอย่างมีรากฐานอันมั่นคงไม่คลอนแคลน

นี้คือ “ความไม่ประมาท” ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ที่หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ได้ถอดรหัสธรรมพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ฝากไว้กับหน่อเนื้อสมณะและพุทธบริษัทตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันให้มองเห็นภัยของพระพุทธศาสนาที่อาจมาถึงในอนาคตประดุจน้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

ท่านจึงไม่ให้ประมาทในการปฏิบัติส่วนตนเพื่อพ้นทุกข์ และไม่ประมาทในการงานสืบทอดลมหายใจพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในพระรัตนตรัยตราบชั่วกาลนาน เพราะพระพุทธศาสนาคือลมหายใจแห่งแผ่นดิน และดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดกล่าวว่า

“ลมหายใจของพระสงฆ์

คือลมหายใจของพระพุทธศาสนา”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

“เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา บนผืนแผ่นดินไทย ด้วยใบหน้าที่เปิดยิ้ม ฉายแววแห่งความเมตตา ทักทายผู้คนทุกชนชั้นที่พบเห็น

“เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ และนำพระพุทธศาสนาขจรขจายไปก้องโลก เรื่องราวชีวิตของท่านจึงน่าสนใจยิ่ง น่าสนใจเนื่องเพราะ ความคิด ปฏิปทา และจริยาวัตรของท่าน ได้จุดประกายอุดมการณ์ความคิดฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่ ทำงานพระศาสนาอย่างอุทิศชีวิต

“แทบไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของพระสงฆ์รูปหนึ่ง เมื่อแรกตั้งใจบรรพชาเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชรา และสามารถสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้อย่างน่าอัศจรรย์

“เหมือนชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา ๔๐ ปี ที่รอยเท้าเหยียบย่างลงบนหิมะอันหนาวเหน็บ ณ แผ่นดินนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนา กว่าบัวจะบานกลางหิมะ กว่าพระธรรมทูตจะยืนได้อย่างสง่า และกว่าพระพุทธศาสนาจะเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก

“จากนี้ไป โลกจะจดจำจารึกเรื่องราวชีวิตของผู้บุกเบิกแผ่นดินแห่งใหม่ให้กับพระพุทธศาสนา ในนาม “พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก”

(ส่วนหนึ่งจากคำนำ “คณะผู้จัดทำ” ธรรมนิพนธ์ “ชีวิตและความคิด : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก ” : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙) ในวันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

น้อมเศียรเกล้าอภิวาทบูชา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) พระเถระผู้เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและกล้าหาญทางธรรม “พระผู้นำพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ” รำลึกมรณกาล ๘ ปีแห่งการจากไปเพียงสรีรสังขาร ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here