พระมหาเจดีย์พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล
พระมหาเจดีย์พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล

เกิดขึ้น -ตั้งอยู่ -ดับไป

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชวนให้คิด

เมื่อดับจิต จิตสว่าง กระจ่างใส

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางไว้อย่างไร

สาธุชน ใกล้ไกล มาไหว้โพธิ์

        ก้มกราบบาทบงส์พระทรงสิทธิ์

น้อมใจภักดิบูชิตจิตสุขโข

พระวินัยและพระธรรมล้ำภิญโญ

ดังรอยโคประทับไว้ในศิลา

        พุทธพจน์หมดจดแจ่มกระจ่าง

ทรงชี้ทางบอกไว้ให้ศึกษา

ทิ้งความหลงละกิเลสอวิชชา

แล้วหันมามองใจที่ในตัว

        เก็บใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นจากบนกิ่ง

น้อมจิตนิ่งนึกไว้ไม่คิดชั่ว

อบายมุขทุกอย่างยิ่งเกรงกลัว

ความหมองมัวเมินไปไม่พบพาน

        เกิดขึ้น-ตั้งอยู่ –ดับไป- ดับไม่เหลือ

ไฟหมดเชื้อทิ้งไปในสงสาร

พุทธองค์ทรงชี้ทางสู่นิพพาน

ทิ้งสังขารวางทุกข์ –คืนสู่ดิน

                                        สุคนธ์ โอวาทเภสัชช์

๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ 

คุณแม่สุคนธ์ คุณแม่ของมนสิกุล ผู้เขียนเองค่ะ
คุณแม่สุคนธ์ คุณแม่ของมนสิกุล ผู้เขียนเองค่ะ

ฉันกลับมานั่งอยู่ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดียอีกครั้ง กับคุณแม่ (พ.ศ.๒๕๕๔) หลังจากที่มาเมื่อช่วงต้นปีนี่เอง ก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกับใครหลายๆ คน ที่ดั้นด้นมาที่นี่ แม้ว่าการเป็นอยู่จะไม่สะดวกสบายเหมือนบ้านเราก็ตาม และเหตุผลประการเดียวนั้นก็คือ ต้นโพธิ์ต้นนี้ ซึ่งเป็นต้นที่เชื่อกันว่า เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ธรรม สามารถตัดกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในจิตได้อย่างสิ้นเชิง ความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่สามารถก่อภพชาติให้ท่านได้อีกต่อไป ท่านจึงเรียกตนเองว่า “ ตถาคต”  หรือ

“ตถตา” มีความหมายว่า “เช่นนั้นเอง”

ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง มีความหมายลึกซึ้งนัก ขณะเดียวกันก็เรียบง่ายสุดๆ เช่นกัน แต่กว่าที่จะบรรลุถึงความเรียบง่าย เจ้าชายองค์หนึ่งที่เป็นรัชทายาท เตรียมครองบัลลังก์ ไฉนจึงเลือกที่จะออกแสวงหาโมกขธรรม  ที่ปราศจากทุกอย่างที่ทางโลกชื่นชมยินดี แสดงว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ จะต้องมีอะไรที่พร่องอยู่อย่างแน่นอน

ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล
ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล

           เพราะถึงจะยิ่งใหญ่แค่ไหนเพียงใด ก็ต้องตายอยู่ดี สิ่งนี้เอง ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้พบเห็นธรรมทูตทั้งสี่ ก่อนที่จะตัดสินใจออกแสวงหาอะไรบางอย่างที่ไปพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ที่ทำให้สิ่งที่เราครองครองในชั่วขณะหนึ่ง ล้วนไม่มีความหมาย เมื่อลมหายใจสุดท้ายมาเยือน

คุณูปการของพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ก็คือ เคยเป็นที่กันแดด กันลม กันฝนให้กับเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้ธรรม แม้ว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้ จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าชายอธิษฐานจิตแล้วนั่งสมาธิภาวนาอานาปานสติ พิจารณาสติปัฏฐานสี่อย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่ข้ามวันข้ามคืนก็ตาม อีกทั้งยังไม่ใช่โพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธองค์นั่ง แต่ก็เป็นหน่ออ่อนที่ขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามที่ล้มลง  โดยมีเซอร์คันนิ่งแฮมได้ขุดหน่อที่สมบูรณ์ขึ้นมาปลูก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ และยังปลูกไว้ห่างจากพื้นที่เดิมที่เป็นชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราไปประมาณ ๑๐๐ เมตรก็ตาม ต้นโพธิ์ต้นนี้ก็ยังมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด เพราะเกื้อกูลให้เจ้าชายค้นพบความจริงอันประเสริฐสี่ประการ หรือ อริยสัจสี่นี่เอง

จากพระไตรปิฎกว่ากันว่า อริยสัจสี่นี้ พระพุทธองค์เมื่อพบแล้ว ทรงรำพึงกับตัวเองว่า แล้วจะไปบอกใครล่ะ ใครจะสนใจเรื่องการดับทุกข์ในวัฏสงสารอย่างสิ้นเชิงเล่า เพราะกิเลสมันยั่วยวนและหอมหวานนัก จะมีมนุษย์คนไหนบ้าง ที่จะสนใจธรรมอันลึกซึ้งเช่นนี้ ที่ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก  

ผ่านไปสองพันหกร้อยปี  ในปี ๒๕๕๕ ที่จะมาถึง เราเตรียมเฉลิมฉลองพุทธชยันตีเพื่อรำลึกถึงคืนวันสิ้นสุดแห่งทุกข์ในสังสารวัฏของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงเผชิญกับพญามารและกิเลสทุกรูปแบบ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงประมาทต่อพญามารและกิเลสเหล่านั้น ทรงนั่งไม่ลุกตลอดราตรี ย้อนวันเวลากลับไปหาอดีตชาติหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนชาติ จนเห็นเส้นทางของปฏิจจสมุปบาทไปตลอดสายตั้งแต่อวิชชาไปจนพบวิชชาในการตัดกิเลสมารจนสิ้นซาก

พระองค์ทรงค้นพบสภาวะจิตที่ไปเหนือความสุขและความทุกข์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพบแล้ว ทรงเห็นกับดักของสภาวะจิตอันละเอียดมากมายที่จะหยุดพระองค์ไว้กับความสงบอันประณีต  ในที่สุด พระองค์ทิ้งทั้งหมด ยิ่งทิ้ง ยิ่งรู้ ยิ่งรู้ก็ยิ่งวางในความรู้นั้น  จนพบกับนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่ง…

ฉันเองก็เพียงอ่านประสบการณ์ของพระองค์และนำมาเล่าสู่กันฟังด้วยความปีติ ที่ได้รู้จักมหาบุรุษผู้หนึ่ง ที่ได้ทำความเพียรเพื่อสันสิตสุขของมวลมนุษยชาติ อย่างไม่เห็นแก่ชีวิตตนเอง  ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงครูบาอาจารย์ของผู้เขียนที่สละชีวิตตนเองเพื่อธรรมไม่น้อย ตามรอยพระพุทธเจ้าเพื่อไปที่สุดแห่งทุกข์เช่นกัน

ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล
ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล

ทุกคนที่มาที่นี่ แน่นอนว่า ต่างมาหาหนทางการดับทุกข์ของตนตามรอยพระพุทธองค์กันทั้งนั้น นับวัน อริยสัจสี่ ยิ่งมีคนสนใจศึกษามากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ ยิ่งน้ำท่วมประเทศไทยที่ผ่านมา เราคงรู้ซึ้งว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดครองไว้ได้จริงๆ แล้วน้ำท่วมที่หนึ่ง ใช่ว่า จะไม่กระทบถึงที่อื่น ทุกอย่างกระทบกับไปหมด ดุจห่วงโซ่แห่งสังสารวัฏที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เราจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการแกะปมแห่งห่วงโซ่นี้ให้ขาดออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง

พระมหาเจดีย์พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล
พระมหาเจดีย์พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ปี ๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล

คำตอบเดียวก็คือ เราต้องเอาตัวเองเป็นครู และนักเรียน  เรียนรู้จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สมมติว่าเป็นของเรานี่เอง แล้วเดินทางเข้าไปสำรวจตรวจตรา ชำแหละความยโสโอหัง แล้วถอดถอนมันด้วย สติ สมาธิ และปัญญา ภายในกายและใจตามรอยทางที่พระพุทธองค์ทรงมอบให้คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ และมีมหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางดำเนินกายและจิตจนกว่าจะสิ้นทุกข์ ไม่มีทางลัดใดที่สั้นไปกว่านี้อีกแล้ว  

เรามีครูบาอาจารย์แล้ว เรามีหนทางที่พระพุทธองค์ได้เลือกเดิน ในขณะนั้น พระองค์ต้องหาหนทางเอง แต่เรานั้น โชคดี ที่มีพระอริยสาวกได้ช่วยบันทึกคำต่อคำมาให้อย่างละเอียดลึกซึ้ง และมีพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ตามรอยพระองค์ท่านมาโดยตลอด พร้อมใช้ในทุกกรณี

เรามีแผนที่นำทางไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ดีที่สุด เหลือเพียงแต่ว่า เราต้องเดินด้วยตนเอง…

ฉันเองก็เช่นเดียวกับผู้คนที่ต้องการออกไปจากทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจ จึงเลือกเส้นทางสายนี้ เพื่อคำตอบเดียวคือ พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่ มันคงไม่ง่ายนักที่จะพูดกันด้วยวาจา หากอยู่ที่การปฏิบัติของเราล้วนๆ การที่เราต่างเดินทางมาจากที่ไกลแสนไกลในหลาย ๆ ประเทศ เพื่่อมานั่งลงตรงนี้ เดินรอบรัตนเจดีย์และเจริญสติ ณ บริเวณพระศรีมหาโพธิ์แห่งนี้ ก็คงมีเหตุผลไม่ต่างกับฉันเท่าไรนัก คือ มาพิจารณาความไม่เที่ยงของชีวิต ที่ดุจใบไม้ที่ปลิดออกจากขั้วตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นใบอ่อน หรือใบแก่ เมื่อลมพัดแรง นกมาจิกกินเมล็ดโพธิ์ ใบโพธิ์ก็พร้อมที่จะร่วงหล่นลงมาทันที เช่นเดียวกับชีวิต ที่พร้อมแตกสลายทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่ว่า เรามักจะรู้ไม่เท่าทันมันนั่นเอง เมื่อมันมาทักทายและมาเผชิญกับเราอย่างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

คุณแม่สุคนธ์กับลูกสาว มนสิกุลค่ะ
คุณแม่สุคนธ์กับลูกสาว คือ ผู้เขียน มนสิกุลค่ะ

น้อมเศียรเกล้าบูชาพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า และพ่อแม่ครูอาจารย์ทุกท่าน

ด้วยความรักคุณแม่เป็นที่สุดและรำลึกถึงการงานที่รักยิ่ง

มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

“ความไม่เที่ยงของชีวิต ดุจใบโพธิ์ที่ปลิดออกจากขั้ว ( ดุจใบโพธิ์ที่ร่วงหล่น )” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ตีพิม์ครั้งแรกในคอลัมน์ soul นิตยสาร กายใจ หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here