ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระพุทธองค์ทรงเมตตาพุทธบุตร พุทธสาวิกาทุกคน
และปรารถนาจะให้ทุกคนพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ
สามารถพึ่งตนเองได้ ดับทุกข์ได้ด้วยกำลังสติปัญญาของตนเอง
หากทว่า ระหว่างการเดินทางจากต้นทางไปสูปลายทางแห่งทุกข์
สหธรรมมิก กัลยาณธรรม สังฆะ …
และ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในชีวิต
ที่จะช่วยให้เราอบอุ่นใจที่จะเดินไปบนหนทางนี้
จนกว่าจะผ่านพ้นอุปสรรคทั้งภายนอกและกิเลสภายในใจไปได้
อย่างโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย
ใครมีเพื่อน ที่เมตตาเราประดุจพี่น้อง
หรือได้เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณา
จึงนับว่าโชคดี
ที่นอกจากจะได้เกิดในแผ่นดินไทย ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว
ยังได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมและบวชเรียนกับพระอุปัชฌาย์ที่เอาใจใส่ทุกย่างก้าว
จนจิตสามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยได้ในที่สุด
ตลอดเส้นทางของการฝึกตน จึงต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะอันบริบูรณ์
กรปรไปด้วย สติ สมาธิ และปัญญารู้รอบในกายใจ
และที่ขาดไม่ได้คือ สหธรรมมิกบนหนทางธรรม
ที่จะช่วยให้เรากลับมาเรียนรู้ตนเอง
จนกว่าจะแจ่มแจ้งในธรรมที่ปรากฏทุกลมหายใจเข้า-ออก
ตามรอยเท้าพระพุทธองค์ ตลอดสองพันหกร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเปิดบันทึกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ในพื้นที่ซึ่งถูกเก็บไว้ในลิ้นชักกลางอากาศ
บทความนี้ได้เคยตีพิมพ์มาแล้วสองครั้ง
ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และ นสพ.คมชัดลึก เมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๖๐
ในวันนี้ วันที่ข้าพเจ้าระลึกถึงสายสัมพันธ์ทางธรรมตลอดสิ่สิบกว่าปีที่ผ่านมา
แล้วข้าพเจ้าก็พบครูบาอาจารย์ที่อยู่บนเส้นทางนี้ตลอดสาย
ระหว่างการเดินทางไปวัดหนองป่าพง กับ วัดสระเกศฯ
จึงขอน้อมนำบทความแห่งสายสัมพันธ์ฉันครูกับศิษย์มาแบ่งปันกันอีกครั้ง
ในวันที่ฝนตกลงมาด้วยความเมตตาต่อผืนแผ่นดิน
จนเขียวชะอุ่มไปทั่วผืนปฐพี…
จากที่มาของสายสัมพันธ์อันงดงาม
ที่ถักทอมาตั้งแต่สมัย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
กับ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร )
สู่ “สายธารธรรม จากวัดหนองป่าพง ถึงวัดสระเกศ
จาก หลวงพ่อสมเด็จฯ ถึงหลวงปู่ชา”
จากต้นเรื่องโดยท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้น
เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง จากหนังสือเล่มนี้…
ธรรมะปรารภยามเช้า-ค่ำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
“ก่อนที่พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) จะอาพาธ ท่านได้ฝากให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) ช่วยดูแลวัดหนองป่าพงด้วย โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่เป็นฝรั่ง ท่านเกรงว่า พระฝรั่ง จะอยู่ในเมืองไทยลำบาก อันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และความไม่เข้าใจของฝ่ายปกครอง
“ความผูกพันที่ก่อตัวขึ้นจากวัยหนุ่มสู่วัยชรา หาได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯจะได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ จนเมื่อหลวงพ่อชาละสังขารไปแล้ว แต่ความผูกพันก็หาได้ลดน้อยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยังคงถูกถักทอผ่านคำบอกเล่า ระหว่างลูกศิษย์ของทั้งสองฝ่ายรุ่นแล้วรุ่นเล่า
“ลูกศิษย์ที่อยู่ในสาขาต่างๆ ของหลวงปู่ชา หรือแม้แต่ลูกศิษย์ในสาขาต่างประเทศ หากผ่านมากรุงเทพฯ ก็จะมาแวะกราบคาราวะเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เสมือนครั้งเมื่อหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ หากวันไหนตรงกับวันพระอุโบสถ ก็จะร่วมลงสังฆกรรม ฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ร่วมกับพระสงฆ์ ในพระอารามด้วยทุกครั้ง แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ หากผ่านไปทางวารินทร์ ก็จะแวะไปที่วัดหนองป่าพงเสมอ บางครั้งหากลูกศิษย์วัดสระเกศ มีความประสงค์จะปฏิบัติพระกรรมฐานเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะส่งให้ไปอยู่วัดหนองป่าพงเช่นกัน …”
นำมาสู่ ความงดงามของสายสัมพันธ์ทางธรรม ที่ยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบัน
จากเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ คณะศิษย์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) จากหลากหลายประเทศ เดินทางมาสักการะรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) และเข้ากราบคารวะ พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร นำโดย พระวิเทศพุทธิคุณ (พระอาจารย์อมโร) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (พระอาจารย์เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี พระอามิต อุปสโม (วัดป่านานาชาติ) พระแกรม รุจิโร (วัดอัมราวดี) และ พระแฟร์นันโด รฏฺฐปาโล (วัดป่านานาชาติ)
ซึ่งจริง ๆ แล้ว วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์จากวัดหนองป่าพงและครูบาอาจารย์วัดสระเกศ มิได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ หากสืบเนื่องมาตั้งแต่สายสัมพันธ์ของอาจารย์กับศิษย์ นับเนื่องตั้งแต่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ กับ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา
ดังที่ หลวงพ่อสุเมโธกล่าวไว้ว่า
” พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นปีแรกที่อาตมาได้มาเมืองไทย ก็ได้พบ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีนั้น ขณะที่ท่านกำลังจะไปเวียงจันทร์ อาตมายังเป็นฆราวาสอยู่ และเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ตั้งใจจะบวชเป็นพระ
“หลังจากบวชเป็นพระที่วัดศรีสะเกษ จ.หนองคายแล้ว ท่านเจ้าคุณพระธรรมปริยัติมุนี พระอุปัชฌาย์ก็ส่งไปอยู่กับหลวงพ่อชา ที่จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น พระอุปัชฌาย์อาตมาก็พามาพบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสระเกศ ตอนนั้นท่านสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านบอกว่า เวลาเวลาที่มีกิจมากรุงเทพฯ ก็ให้มาพักที่วัดสระเกศได้ ซึ่งตอนนั้นได้มาพักที่วัดสระเกศหลายสัปดาห์ ทำเรื่องวีซ่า ธุระหลายอย่าง หลังจากนั้นก็เวลามากรุงเทพฯ ก็มาพักที่วัดสระเกศเป็นประจำ”
“เวลามาพัก เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ชอบชวนสนทนาเรื่องการปฏิบัติ ท่านอยากรู้ว่า เราปฏิบัติอย่างไร แล้วท่านก็นิยมชมชอบหลวงพ่อชามาก ท่านอยากจะช่วยหลวงพ่อชาตามกำลังความสามารถของท่าน เพื่อให้คำสอนของหลวงพ่อชาเผยแผ่ไปให้ประชาชนชาวไทยได้”
“เวลาหลวงพ่อชาส่งอาตมาไปอยู่ประเทศอังกฤษ เจ้าประคุณสมเด็จก็ช่วยเป็นธุระให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ เพื่อเกื้อกูลให้ชาวต่างประเทศได้บวชเรียน หลังจากที่หลวงพ่อชาอาพาธเป็นอัมพาตถึง 10 ปี จนมรณภาพ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ช่วยพระในวัดหนองป่าพงมาก ท่านเป็นห่วงพระเวลาอาพาธ ท่านจึงรับเป็นเจ้าคณะภาค 10 เพื่อช่วยพระในวัดหนองป่าพงด้วย อาตมาอยู่ประเทศอังกฤษก็พยายามกลับมาทุกปีเหมือนเดิน เวลากลับมาก็ได้มากราบสมเด็จพระพุฒาจารย์ก่อน และพักที่วัดสระเกศ ”
จากนั้นเป็นต้นมา คณะศิษย์สายวัดหนองป่าพงจึงถือเป็นวัตรปฏิบัติต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ที่วัดสระเกศ เช่นเดียวกับพ่อแม่ครูอาจารย์ที่วัดหนองป่าพง จนถึงทุกวันนี้
ทุกปีคณะศิษย์จากวัดหนองป่าพงทั่วโลกที่เดินทางกลับมาร่วมงานอาจาริยบูชา หลวงปู่ชา ก็จะเดินทางมาพักที่วัดสระเกศ โดยยังคงรักษาวัตรปฏิบัติปกติ อาทิ บิณฑบาต และลงปาติโมกข์กับคณะสงฆ์ที่วัดสระเกศทุกครั้ง
จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดอมราวดี ในประเทศอังกฤษ ได้หล่อรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้สักการะบูชาด้วยความกตัญญูเช่นกัน
เจ้าประคุณสมเด็จฯ แสดงธรรมไว้ใน “ธรรมะปรารภยามเช้า-ค่ำ “ ตอนหนึ่งว่า
“…อย่าให้กิเลสทำลายความเป็นพี่น้อง
ขอโอกาสย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างยาวนาน
แต่ถ้าเรามีความรู้สึกแยกจากกันเมื่อไร พระพุทธศาสนาจะมั่นคงอยู่ได้แค่ไหน เพียงไรนั้น เราก็ไม่สามารถจะคาดเดาได้
ถ้าเรายังปฏิบัติกันในลักษณะอย่างเป็นพี่น้องกัน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกัน เราก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ “
ดังเช่นสายธารธรรม จากวัดหนองป่าพง ถึงวัดสระเกศ จาก หลวงพ่อสมเด็จฯ ถึงหลวงปู่ชา สืบเนื่องมาจนถึง หลวงพ่อสุเมโธ หลวงพ่ออมโร พระอาจารย์ปสันโน พระอาจารย์ชยสาโร และอีกหลายๆ ท่าน มาจนถึงพระอาจารย์เกวลิน และศิษย์รุ่นต่อๆ มาอย่างไม่ขาดสาย
ดังในวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ชา สุภัทโท ก็ได้มีดำริสร้างกุฏิหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศฯ ไว้ด้วย
เป็นวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่าง จากพี่ถึงน้อง ที่ผูกพันกับอย่างเป็นหนึ่งเดียว ไม่เพียงสองวัดนี้เท่านั้น หากหมายถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ทั้งสังฆมณฑลด้วย