จิรํ ติฏฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช" โดย ญาณวชิระ  จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ  บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์  ติดต่อขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ
จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์
ติดต่อขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช

(ตอนที่ ๑๑)

” ควรทำความเข้าใจ เรื่อง การเตรียมตัวก่อนบวช”

โดย ญาณวชิระ

พิธีการเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พิธีการเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

บรรพ์ที่  ๓

เมื่อแรกคิดที่จะบวช

ควรทำความเข้าใจ  เรื่อง  การเตรียมตัวก่อนบวช  

                เมื่อแรกคิดที่จะบวช ผู้ขอบวชและญาติควรพิจารณาว่าตนเอง และผู้ประสงค์จะให้บวชมีลักษณะควรแก่การบรรพชาอุปสมบทหรือไม่  คือ  ไม่มีลักษณะของคนต้องห้ามบรรพชาอุปสมบท ตามพระธรรมวินัยแต่ประการใด  

ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมเสีย เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม มีกิริยาวาจาเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่น ติดสุราเรื้อรัง หรือยาเสพติด เป็นต้น   ไม่เป็นคนจรจัดไร้หลักฐาน  ไร้ผู้รับรอง มีความรู้อ่านและเขียนได้ ไม่เป็นผู้มีความเห็นผิด บวชเพียงเพื่อจับผิดพระศาสนา

ไม่เป็นคนล้มละลายหรือมีหนี้สินผูกพัน มีร่างกายสมบูรณ์  เช่น ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถ ทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ จนไม่สามารถปฏิบัติกิจสงฆ์ได้  ซึ่งจะเป็นภาระแก่เพื่อนสหธรรมิก มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย  สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง  

ข้อสำคัญ เมื่อบวชแล้ว เชื่อมั่นว่าตนเองจะมีความเคารพนับถือ  เชื่อฟัง  ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์  อาจารย์  ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ระเบียบแบบแผนของวัด   และคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัดทุกประการ  ไม่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ   เพื่อให้ผู้คนห้อมล้อมยกย่องนับถือตน 

เพราะโดยมาก  ในปัจจุบัน  บวชยังไม่ทันไร  ก็มักตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์  ทำวิธีการให้แปลกไปโดยประการต่างๆ เพื่อมุ่งให้เกิดลาภสักการะ  มุ่งให้เกิดความยกย่องนับถือ มุ่งให้มีบริวารลูกศิษย์มากมายห้อมล้อม

พระเทพรัตนมุนี ในพิธีการเตรียมบรรพชาของนวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระเทพรัตนมุนี ปัจจุบัน รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในพิธี การเตรียมบรรพชาของนวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

การเตรียมตัวก่อนบวช

เมื่อพิจารณาว่า ผู้ขอบวช ไม่มีลักษณะของคนต้องห้ามบรรพชาอุปสมบทตามพระธรรมวินัย และไม่ขัดต่อแบบแผนขนบธรรมเนียมพระสงฆ์แล้ว    ควรพิจารณาต่อไปว่า จะบวชเพื่ออะไร  และบวชที่วัดไหน  เนื่องจากการรับผู้ขอบวชในแต่ละวัด มีระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติ อันเป็นกติกาของวัดแตกต่างกันออกไป     และเมื่อเกิดความแน่ใจแล้ว  ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

(๑) ให้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือได้นำผู้จะบวชไปติดต่อเจ้าอาวาส หรือพระอุปัชฌาย์ที่จะบวช  เพื่อกำหนดวันบวช   เมื่อไปติดต่อ ต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขอบวชให้เจ้าอาวาส หรือ พระอุปัชฌาย์ทราบ   ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้จะบวชที่ควรบอก  คือ เวลา/วัน/เดือน/ปีเกิด วุฒิการศึกษา หน้าที่การงาน และยศตำแหน่ง  ในกรณีมีใบขออนุญาตอุปสมบทจากที่ทำงานก็ควรนำไปแสดงด้วย     เช่น  ผู้ที่เป็นข้าราชการมาขอบวช ต้องมีเอกสารอนุญาตจากผู้บังคับบัญชามาแสดง  เป็นต้น    

ส่วนมากบิดามารดามีความปรารถนาดีต่อลูก  ถึงแม้ลูกมีความประพฤติเสียหายก็พยายามจะให้ลูกบวช โดยปกปิดข้อประพฤติเสียหายนั้นไว้  ไม่ยอมบอกให้พระอุปัชฌาย์ทราบ  เพราะเกรงจะไม่ได้รับอนุญาตให้บวช และคิดว่าบวชแล้วระเบียบวินัยจะขัดเกลาให้ลูกกลับตัวเป็นคนดีได้ 

การทำเช่นนี้จะเป็นผลเสียต่อตัวผู้บวชเอง และต่อพระศาสนาโดยรวม  เพราะนอกจากตัวผู้บวช จะไม่ได้อะไรเท่าที่ควรแล้ว  ยังอาจสร้างความเสียหายให้แก่พระศาสนาได้

ในอีกด้านหนึ่ง  พระอาจารย์ที่มีหน้าที่ดูแลอบรมตักเตือนสั่งสอน ก็ไม่สามารถให้คำแนะนำได้ตรงตามอุปนิสัย

พระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะน้ัน
พระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะน้ัน

โดยทั่วไป วันบวชไม่ได้ดูฤกษ์งามยามดี แต่จะดูวันเวลาตามความเหมาะสมระหว่างผู้บวชและพระอุปัชฌาย์ เพราะถือว่าทำความดีเวลาไหนก็เป็นสิ่งดีงาม และจะนิยมดูฤกษ์งามยามดีวันลาสิกขา   เพื่อให้สอดคล้องกับคตินิยมของชาวบ้าน   คือ ไม่ให้ขัดต่อความรู้สึกของชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม  ผู้ขอบวชจำเป็นต้องบอกรายละเอียดวันเดือนปีเกิดให้พระอุปัชฌาย์ทราบ   เพื่อความแน่ใจว่าผู้บวชมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดเกี่ยวกับอายุผู้บวช และไม่ทำให้พระอุปัชฌาย์ต้องอาบัติ 

เนื่องจากมีข้อกำหนดทางวินัยว่า พระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรผู้มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ส่วนพระคู่สวด และพระอันดับผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์ในพิธีต้องอาบัติทุกกฎ   ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่รู้  ไม่ต้องอาบัติ  แต่ผู้บวชก็ไม่ได้สำเร็จเป็นพระอยู่นั่นเอง

ในกรณีที่ผู้บวชต้องการบวช แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ยังขาดเดือน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้นับอายุในท้องเพิ่มเข้าไปได้อีก ๙  เดือนจากวันที่เกิด   เท่ากับว่าผู้มีอายุ ๑๙ ปี ๓ เดือน  บวกในท้องอีก ๙ เดือน เป็น ๒๐ ปีบริบูรณ์ สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของพระอุปัชฌาย์ด้วย  

อีกประการหนึ่ง  ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระยะเวลาการบวชอยู่มาก  โดยมากเชื่อกันว่าหากอยู่ในระหว่างการเข้าพรรษาจะบวช  ๗ วัน  ๑๕ วัน  หรือ ๑  เดือนไม่ได้  เพราะเมื่อบวชแล้วต้องอยู่จนครบพรรษา  ๓  เดือน  ถ้าบวชอยู่ไม่ครบ ๓ เดือน ลาสิกขาในระหว่างพรรษากาลถือว่าเป็นการแหกพรรษา

ความเป็นจริง  แม้จะอยู่ในระหว่างพรรษากาลก็สามารถบวชและลาสิกขาได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  ไม่ได้มีข้อกำหนดอะไร เนื่องจากผู้บวชไม่ได้ตั้งใจอธิษฐานอยู่จำพรรษา 

ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนายึดถือกันว่า  หากตั้งใจบวชอธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว ไม่นิยมลาสิกขาในระหว่างพรรษากาล เพราะเป็นการทำลายความตั้งใจของตน  ทำให้เป็นคนโลเลเหลาะแหละจิตใจไม่มั่นคง  ทำอะไรก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อตั้งใจบวชอธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว จึงไม่นิยมให้ลาสิกขาในระหว่างพรรษากาล  ส่วนผู้ที่ตั้งใจบวช ๗ วัน  ๑๕ วัน  หรือ ๑  เดือน  ก็สามารถบวชและลาสิกขาได้ตามปกติ  เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจบวชอยู่จำพรรษา

 (๒) เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว ผู้ขอบวชต้องหมั่นท่องบทขานนาคให้ขึ้นใจ  ฝึกการออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักอักขรวิธี  ซักซ้อมการกราบ การประเคน การยืน การนั่ง ตรงไหนสงสัยให้สอบถามพระอุปัชฌาย์  อาจารย์ หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล

(คำอธิภายภาพประกอบ : นักเรียนตำรวจนายร้อยสามพรานในภาพได้อุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และเฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ของประชาชนชาวไทยในโครงการ “นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ “ จำนวน ๖๕ ท่าน โดยมีพิธีบรรพชาสามเณร ณ ลานโพธิ์ลังกา วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม และ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ก็เดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา และพิธีอุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย )

พิธีการเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พิธีการเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

(๓) ก่อนวันบวชต้องซ้อมขานนาคกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อจะได้เข้าใจในขั้นตอนการบวช ไม่เก้อเขินขณะประกอบพิธีในวันอุปสมบทจริง    บางแห่งนิยมให้ผู้จะบวชนอนค้างที่วัด ๓ วัน ๗ วัน เพื่อจะได้มีเวลาท่องคำขานนาค และซักซ้อมความเข้าใจ  ตลอดจนฝึกหัดกิริยามารยาทระเบียบปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุ

แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไป ส่วนมากผู้จะบวชมีภาระหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป  จึงไม่สะดวกในการที่จะนอนค้างวัด   จึงนิยมกำหนดซักซ้อมขานนาคตามวันเวลาที่สะดวกระหว่างนาคและพระสงฆ์ที่ทำหน้าในการซักซ้อม


(ซ้าย) พระครูสิริวิหารการ ในขณะนั้น และ  พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท (ขวา)  ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในพิธีเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่น ๗ ในปี พ.ศ.๒๕๖๐
(ซ้าย) พระครูสิริวิหารการ ในขณะนั้น และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท (ขวา) ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในพิธีเตรียมบรรพชา นวกะโพธิ รุ่น ๗ ในปี พ.ศ.๒๕๖๐

หมายเหตุ : สหธรรมิก  หมายถึง  เพื่อนพระภิกษุที่บวชปฏิบัติธรรมด้วยกัน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นามปากกา "ญาณวชิระ ผู้เขียนและเรียบเรียง หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช" ในขณะนั้น และ พระศรีคุณาภรณ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์  ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นามปากกา “ญาณวชิระ ผู้เขียนและเรียบเรียง หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” และ พระศรีคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๑)” ควรทำความเข้าใจ เรื่อง การเตรียมตัวก่อนบวช” โดย ญาณวชิระ

โปรดติดตามตอนต่อไป

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

จิรํ ติฏฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ
จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์
ติดต่อขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here