จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช
(ตอนที่ ๒๙) บรรพ์ที่ ๕
(๑ ) สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจ
เกี่ยวกับกิริยามารยาท
โดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
บรรพ์ที่ ๕
สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิริยามารยาท
กิริยามารยาทของความเป็นพระภิกษุ
คำพูดสำหรับพระภิกษุ
การรับประเคน
วินัยกรรมเกี่ยวกับการพินทุ
อธิษฐาน วิกัปป์ และเสียสละ
การอ่านภาษาบาลีเบื้องต้น
สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิริยามารยาท
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ชีวิตความเป็นคฤหัสถ์สิ้นสุดลง ณ มณฑลแห่งการบรรพชาอุปสมบท ภาวะความเป็นพระภิกษุปรากฏขึ้น ภายหลังการสวดญัตติจตุตถกรรมวาจาของพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์จบลง ระเบียบแบบแผนของความเป็นพระภิกษุนั้นมีมาก ทั้งในส่วนที่เป็นพระวินัย ทั้งในส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีที่เกี่ยวกับทางบ้านเมือง
พระภิกษุใหม่จึงต้องศึกษากิริยามารยาท วัตรปฏิบัติ และแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของความเป็นพระภิกษุด้วยความตั้งใจ มั่นคง และแน่วแน่
กิริยามารยาทแห่งความเป็นพระภิกษุ
พระภิกษุมีชีวิตแตกต่างจากคฤหัสถ์ เพราะเป็นชีวิตแห่งการสำรวมระวัง แม้แต่เครื่องนุ่งห่มก็เปลี่ยนไป จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะฉัน(รับประทาน) จะพูด จะคิดต้องทำอย่างพระภิกษุ
การรับประเคน
ธรรมเนียมพระภิกษุไทย เมื่อจะรับสิ่งของจากสตรีต้องใช้ผ้ารับประเคน ไม่ให้รับต่อจากมือ สำหรับผู้ชายให้รับต่อจากมือได้
การยืน
พระภิกษุไม่ควรยืนถ่างขาจนเกินงาม ควรยืนให้เท้าชิดกันปลายเท้าแยกพอประมาณ มือทั้งสองประสานกันข้างหน้า โดยมือขวาจับที่ข้อมือข้างซ้าย
การเดิน
พระภิกษุไม่ควรเดินแกว่งแขนจนเกินงาม หรือไม่ควรเดินส่ายไปส่ายมา ขณะก้าวเท้าเดินไปควรยกเท้าให้พ้นพื้น สายตาทอดมองไปหน้าประมาณ ๔ วา หากเดินตามกัน ในวินัยระบุว่าให้เดินตามลำดับอาวุโส และเว้นช่วงระยะพอคนเดินผ่านได้
การนั่ง
พระภิกษุไม่ควรนั่งทับผ้าสังฆาฏิ และไม่ควรนั่งเท้าแขนเอนไปทางด้านซ้ายหรือขวามือ ควรนั่งให้ตรง มือทั้งสองประสานกันวางไว้ระหว่างตัก เมื่อจะสลับเท้าเปลี่ยนข้างควรสลับจากด้านหลัง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
การจำวัด (การนอน)
พระภิกษุเมื่อจะจำวัดควรปิดประตูห้องให้เรียบร้อย ควรมีสติสัมปชัญญะมั่นคง กำหนดสบงจีวรที่นุ่งห่มให้ดีเสียก่อนแล้วจึงจำวัด
การวิ่ง
พระภิกษุไม่ควรวิ่ง เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม หากมีเหตุจำเป็นจะเดินเร็วไม่เป็นไร สิ่งที่วิ่งแล้วดูไม่งามมีอยู่ ๔ อย่าง คือ สตรีที่แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามวิ่งไม่งาม พระเจ้าแผ่นดินที่แต่งเครื่องทรงพระมหากษัตริย์วิ่งไม่งาม ช้างทรงของพระแผ่นดินที่ประดับตกแต่งแล้ววิ่งไม่งาม และสมณะวิ่งไม่งาม
การพูด
พระภิกษุไม่ควรพูดเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย คะนองปาก ไม่ควรพูดคำหยาบ และแสดงอาการกระด้างก้าวร้าวรุนแรง ตลอดจนไม่ควรหัวเราะดังจนเกินงาม
การฉัน(รับประทาน)
พระภิกษุจะฉันข้าวหรือน้ำต้องนั่งให้เรียบร้อย ไม่ควรยืนหรือเดินฉัน อันเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะแก่ความเป็นสมณะ แม้แต่จะถ่ายปัสสาวะก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย
การขอ
พระภิกษุไม่ควรเอ่ยปากขอสิ่งของจากบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ และไม่ใช่ปวารณา เพราะนอกจากจะเป็นอาบัติแล้ว ยังทำให้เสียสมณสารูปอีกด้วย ญาติ คือ ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน และเหลน ปวารณา คือ ผู้ที่เอ่ยปากบอกไว้ว่าต้องการอะไรที่สมควรแก่สมณะใช้สอยให้บอก
การหัวเราะ
พระภิกษุไม่ควรหัวเราะเสียงดังจนเกินงาม หรือพูดจาเฮฮาหัวเราะกระซิกกระซี้ ซึ่งเป็นอาการไม่สำรวม ผิดสมณวิสัย จะยิ้มแย้มบ้างไม่เป็นไร
การรับไหว้
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว มีศีล ๒๒๗ ข้อ จึงไม่รับไหว้จากบุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุ หากมีญาติโยมกราบหรือไหว้ ให้พระภิกษุนั่ง หรือยืนในท่าที่สงบสำรวม ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพตามสมณวิสัย
คำพูดสำหรับพระภิกษุ
คำพูดที่ใช้สนทนาระหว่างพระด้วยกัน พระภิกษุนิยมใช้คำแทนตัวเองว่า “ผม” เช่น ผมจะไปทำวัตร ผมจะไปบิณฑบาต ฯลฯ ส่วนคำรับใช้คำว่า“ครับ”หรือ“ครับผม” เช่น “หลวงพี่พงษ์พลินครับ ช่วยกวาดลานวัดด้วยนะ” พระพงษ์พลินรับว่า “ครับ” หรือ “ครับผม” “ได้ครับ” หรือ “ได้ครับผม” ฯลฯ
คำเรียกแทนพระรูปอื่นใช้ คำว่า “ท่าน” “ท่านพระมหา” “พระอาจารย์” “หลวงพี่” “หลวงพ่อ” “หลวงตา” “หลวงปู่” “พระเดชพระคุณ” หรือ เรียกตามสมณศักดิ์ เช่น “ท่านพระครู” “ท่านเจ้าคุณ” “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ” ตามความเหมาะสมแก่ฐานานุศักดิ์ เช่น ท่านอรรถกฤษครับ หลวงพี่ภูริศญ์ครับ… วันนี้ทำวัตรเวลากี่โมงครับ ฯลฯ
คำพูดสำหรับสนทนากับญาติโยม
คำพูดที่ใช้สนทนากับญาติโยม ใช้คำว่า อาตมา, อาตมาภาพ, รูป แทนคำว่า ผม, ฉัน เช่น อาตมากำลังจะไปทำวัตร อาตมาภาพกำลังจะไปบิณฑบาต ฯลฯ ส่วนคำว่า รูป เป็นคำโบราณที่พระภิกษุใช้เรียกแทนตัวเอง เช่น รูปจะไปทำวัตร รูปจะไปบิณฑบาต ปัจจุบัน คำนี้ไม่นิยมใช้แล้ว คงยังมีใช้แต่คำว่า อาตมา และ อาตมภาพ
ใช้คำว่า เจริญพร, ขอเจริญพร แทนคำรับว่า ครับ, ครับผม เช่น ญาติโยมถามว่า “พระคุณเจ้าจะไปทำวัตรแล้วใช่ไหม” พระภิกษุรับว่า “เจริญพร…ขอเจริญพร อาตมาจะไปทำวัตรแล้ว”
ใช้คำว่า “บพิตร” “มหาบพิตร” “บรมบพิตร” สำหรับเรียกเจ้านายตามฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายพระองค์นั้น และใช้คำว่า “ถวายพระพร” เป็นคำนำหน้า หรือปิดท้ายประโยค เป็นการแสดงความสุภาพ
ในกรณีที่โยมมาทำบุญ หรือมาเยี่ยม เมื่อโยมจะกลับ พระภิกษุจะเพิ่มคำว่า “ขออนุโมทนา” ตามหลังด้วยก็ได้ เช่น “พระคุณเจ้า โยมจะกลับแล้วนะ” พระภิกษุรับว่า “เจริญพร ขออนุโมทนา”
ใช้คำว่า “โยม” เป็นคำนำหน้าบุคคลหรือชื่อบุคคล คำนำหน้าบุคคล เช่น โยมพ่อ, โยมแม่, โยมพี่, โยมป้า, โยมลุง, โยมน้อง, โยมเพื่อน ฯลฯ คำนำชื่อบุคคล เช่น โยมวชิรชัย, โยมกนกศักดิ์, โยมพิชามญชุ์ ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังสามารถใช้คำว่า “คุณ” หรือ “คุณโยม” เป็นคำนำหน้าชื่อบุคคลได้อีก เช่น คุณสหวัตรหรือ คุณโยมสหวัตร, คุณศิริชัย หรือ คุณโยมศิริชัย ฯลฯ หากเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของสังคม โดยทั่วไปนิยมใช้คำว่า “ท่าน” เป็นคำนำหน้า เช่น ท่านบุญชู, ท่านวิภาค, ท่านผู้พัน, ท่านรัฐมนตรี, ท่านนายก ฯลฯ
คำพูดอื่นๆ ที่ควรทราบ
อาบน้ำ พระภิกษุใช้คำว่า สรงน้ำ
ดื่มน้ำ พระภิกษุใช้คำว่า ฉันน้ำ
กินข้าว พระภิกษุใช้คำว่า ฉันข้าว
นอน พระภิกษุใช้คำว่า จำวัด
เข้าพรรษา พระภิกษุใช้คำว่า จำพรรษา
โกนผม พระภิกษุใช้คำว่า ปลงผม
เจ็บป่วย พระภิกษุใช้คำว่า อาพาธ
ตาย พระภิกษุใช้คำว่า มรณภาพ
ห่ม/สวม/ใส่/จีวร พระใช้คำว่า ครองจีวร
ให้ พระภิกษุใช้คำว่า ประเคนหรือ ถวาย
เงิน พระภิกษุใช้คำว่า ปัจจัย
เงินเดือน พระภิกษุใช้คำว่า นิตยภัตร
เชิญ พระภิกษุใช้คำว่า นิมนต์
ยินดีด้วย พระภิกษุใช้คำว่า โมทนา/อนุโมทนา
ชื่อภาษาบาลี พระภิกษุใช้คำว่า ฉายา
สวดมนต์เช้า-เย็น พระภิกษุใช้คำว่า ทำวัตรเช้า-เย็น
(โปรดติดตามตอนต่อไป )
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด