จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๒)

บรรพ์ที่  ๔ ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

(๕) “การทำประทักษิณ (เดินเวียนขวารอบสีมา) ”

โดย ญาณวชิระ

ขอขอบคุณ ภาพการเตรียมบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพการเตรียมบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

การทำประทักษิณ(เดินเวียนขวารอบสีมา)

การทำประทักษิณ คือ การกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การหมุนไปทางขวา คือ การหมุนไปสู่ความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตรงกันข้ามกับการหมุนไปด้านซ้ายเป็นการหมุนทวนความดี คือ การกระทำที่เป็นทุจริตทางกาย  วาจา  และใจ

การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาก่อนเข้าโบสถ์บวชเป็นพระภิกษุ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า  สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  

นอกจากนั้น การทำประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบท  ยังเป็นช่วงเวลาให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิ รวบรวมจิตใจไม่ให้ตกประหม่าตื่นเต้นจนเกินเหตุ ญาติของนาคจึงไม่ควรส่งเสียงหรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรี อันจะเป็นการรบกวนสมาธิของนาค

การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมา เป็นการแสดงความเคารพ เพื่อให้ผู้บวชก้าวไปสู่ความดีงาม  จึงไม่ควรให้นาคขี่คอ  ขึ้นคานหาม หรือแบกหามซึ่งจะดูไม่เรียบร้อย หากพลัดตกลงมาอาจเป็นอันตรายจนถึงบวชไม่ได้  จึงควรให้นาคเดินตามปกติ

คติเกี่ยวกับการให้นาคขี่คอ สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าออกผนวชด้วยการขี่ม้ากัณฑกะ  จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  เที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์   ในสมัยต่อมาผู้ที่จะบวชจึงนิยมขี่ม้าแห่แหนกันอย่างเอิกเกริกก่อนเข้าโบสถ์ประกอบพิธีอุปสมบท  

แต่เนื่องจากบางท้องถิ่นหาม้าได้ไม่ง่าย  จึงให้นาคขี่คอคนแทนม้า   บางแห่งให้นาคนั่งบนเตียงที่มีคนหามแทนการขี่คอ  จึงกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับสืบทอดกันอย่างกว้างขวาง ว่าผู้ที่จะบวชต้องขี่คอ   เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ขี่ม้าออกผนวช  

เนื่องจากการเดินเวียนขวารอบสีมาเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณ จะใช้เฉพาะกรณีที่ต้องการแสดงความเคารพเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ผู้บวชจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ข้อปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเดินประทักษิณเวียนขวารอบสีมาควรปฏิบัติ  ดังนี้ 

เมื่อแต่งชุดนาคเสร็จแล้ว  ให้นาคประณมมือโดยมีดอกไม้ที่เตรียมไว้อยู่ในมือเดินทำประทักษิณ *(๑) (เวียนขวา) รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ จะมีผู้กั้นสัปทนให้นาคก็ได้ การทำประทักษิณให้เริ่มต้นจากสีมาตรงกลางด้านหน้าอุโบสถ (เริ่มจากสีมาที่จะวันทา) ส่วนญาติๆ ถือบริขารพร้อมทั้งเครื่องไทยทานที่จัดเตรียมไว

ตามความนิยมโดยทั่วไป บิดาสะพายบาตรถือตาลปัตร ส่วนมารดาถือพานแว่นฟ้าสำหรับใส่ผ้าไตรครองเดินตามหลังนาค แถวถัดมาเป็นธูปเทียนแพ เครื่องไทยทานสำหรับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด และเครื่องบริขารอย่างอื่นโดยลำดับ ในขณะเดินให้นาคสวดบทพุทธคุณ  ธรรมคุณ สังฆคุณ ดังนี้

 “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต  โลกะวิทู อะนุตตะโร  ปุริสะทัมมะสาระถิ  สัตถา  เทวะมะนุสสานัง   พุทโธ   ภะคะวาติ ฯลฯ”

หรือจะภาวนา “พุทโธ” ตามจังหวะเท้าที่ก้าวย่างก็ได้

การวันทาสีมา

เมื่อเดินครบ ๓ รอบแล้ว นาคต้องวันทาสีมาหน้าอุโบสถก่อนเข้าไปในเขตสีมา โดยเริ่มต้นตามขั้นตอนการวันทาต่อไปนี้ 

นาควางดอกไม้เครื่องสักการะไว้บนพานที่เตรียมไว้ บางแห่งให้จุดธูปเทียนด้วย  แต่โดยมากนิยมให้ดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานหรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่จัดเตรียมไว้ โดยมากไม่จุดธูปเทียน นาคกราบสีมา ๓ หน แล้วยืนขึ้นว่า

คำวันทาสีมา

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต // สัพพัง   อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต// มะยา  กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง// สาธุ/ สาธุ / อนุโมทามิ ฯ

คำแปล

  ขอโอกาสขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ท่านขอรับ  ขอท่าน  จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ สาธุ  กระผมขออนุโมทนา  

นั่งคุกเข่าประนมมือว่า

สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  อุกาสะ  ทะวารัตตะเยนะ  กะตัง  /  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ เม ภันเต ฯ

คำแปล

ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย  ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวง  ที่กระผมได้ทำทางทวารทั้ง ๓  ทาง (คือ กาย วาจา และใจ)  

กราบ ๑ หน แล้วยืนขึ้นว่า

วันทามิ  ภันเต  // สัพพัง  อะปะราธัง ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง//  สามินา  กะตัง ปุญญัง  มัยหัง ทาตัพพัง//  สาธุ / สาธุ /   อนุโมทามิ  ฯ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ  กระผมขออนุโมทนา 

นาคนั่งคุกเข่ากราบ ๓ หน จากนั้นเข้าไปภายในพระอุโบสถ ในขณะเข้าประตูโบสถ์ไม่ควรยกนาคข้ามธรณีประตู หรือยกขึ้นเพื่อเอามือแตะคานประตูตามที่นิยมปฏิบัติกันโดยขาดความเข้าใจ เพราะอาจพลัดตกลงมาแขนขาหักได้  ให้นาคเดินเข้าโบสถ์ตามปกติ  โดยบิดามารดาและญาติจะแตะที่ตัวนาคตามเข้าไปก็ได้ 

การโปรยทาน

การโปรยทาน หมายถึง การสละเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นทานแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยถือคติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสละราชสมบัติออกผนวช ไม่ปรารถนาแม้ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน การโปรยทานก่อนเข้าโบสถ์ เป็นการแสดงว่า ต่อจากนี้ไปนาคได้สละสมบัติทุกอย่างแล้ว เพื่อดำเนินชีวิตตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  นอกจากนั้น การโปรยทานยังเป็นการสอนคนให้รู้จักเสียสละโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

การโปรยทานนั้นจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว เนื่องจากไม่ใช่พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการบวช  ถึงไม่มีการโปรยทานก็บวชสำเร็จเป็นพระได้ 

ดังนั้น วัดใหญ่ๆ บางวัด ที่มีแบบแผน และเป็นหลักในการประกอบพิธีบวช จึงไม่นิยมให้มีการโปรยทาน  เพราะการโปรยทานไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีบวช โดยยึดเอาขั้นตอนและพิธีบวชเป็นหลัก  พิธีกรรมใดไม่เกี่ยวเนื่องกับขั้นตอนการบวชก็ไม่ให้มี เพราะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย  เกิดเสียงเอิกเกริกเฮฮา  อันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อสถานที่

     เจ้าภาพจึงควรปรึกษากับพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพิธีการบวชให้เข้าใจว่า วัดนั้นโปรยทานได้หรือไม่ เพราะเมื่อเตรียมของสำหรับโปรยทานมาแล้ว พอถึงเวลาปรากฏว่าทางวัดไม่อนุญาต จะได้ไม่รู้สึกเกิดความไม่สบายใจ  หรือถ้าเจ้าภาพเตรียมมาแล้ว  หากท่านไม่อนุญาตให้โปรยทาน จะถวายเป็นค่าน้ำค่าไฟที่วัดก็เห็นจะเกิดประโยชน์ได้เช่นกัน


*(๑) การทำประทักษิณ คือ การเดินเวียนขวา  หมายถึง ขวามือพระประธาน  ไม่ใช่ขวามือของนาค  เป็นการแสดงความเคารพตามประเพณีโบราณ

ขอขอบคุณ ภาพการบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here