เนื่องในมงคลสมัยพระชนมายุครบ ๙๒ พรรษา
๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพรมหาเถร) พระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขอน้อมนำ “ปฐมบรมโอวาท” ของพระองค์ท่านเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐ มาเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต

“ความพร้อมเพรียงแห่งชน ผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ”

          “ขออำนวยพรอุบาสก อุบาสิกาที่มาร่วมประชุมวัดราชบพิธฯ อนุโมทนา มีจิตมุทิตาแสดงความปิติ ยินดีวาระที่ได้สถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช ท่านทั้งหลายมาตากแดด ตากลม ก็รู้สึกว่ามีขันติ ความอดทนอย่างมาก นั่นเพราะศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสศรัทธาพระรัตนตรัย เป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการยิ่งนัก และการที่เรามีสมานฉันท์ ร่วมกันบำเพ็ญกุศลมุทิตาแก่อาตมา และในฐานะที่ท่านทั้งหลายมาวัดราชบพิธฯ บ่อยๆ

“ขอฝากให้นำเอาภาษิตธรรม ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้นคือ “สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ”

ขอให้รักษาคำนี้ไว้ ขอให้จดจำ ยึดถือและนำไปปฏิบัติ หากเราแตกแยกกันอะไรจะเกิดขึ้น เช่น การพายเรือ หากต่างคนต่างพาย เรือจะหมุนไปทางไหนก็ไม่รู้ เป็นต้น…ขออำนวยพรให้สาธุชนทุกคนประสบแต่ความสุขความเจริญ ซึ่งพรนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยความสามัคคี”

        ปฐมบรมโอวาท.สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (อัมพร อมฺพโร) เมื่อวันที่ ๑๓ และ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐ ผ่านไปสองปีกว่าแล้ว  ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเปิดให้คณะสงฆ์ และประชาชน เข้าสักการะเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นเวลา ๓ วัน หลังพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐  ท่ามกลางประชาชนเรือนแสนที่เดินทางมาเข้าคิวรอกันอย่างอดทนข้ามวันข้ามคืน พร้อมดอกไม้ธูปเทียนบูชาที่ตั้งใจมาถวายสักการะพระองค์ท่านด้วยจิตศรัทธาอันเปี่ยมล้น   

ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งที่ติดตามไปต่อคิวเข้าแถวอยู่หน้าวัดราชบพิธฯ กับเพื่อนตลอดทั้งวันอย่างอดทนไม่ย่อท้อในวันนั้น เพื่อชื่นชมบารมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ของชาวไทย และเขียนบทความลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ที่ข้าพเจ้าเคยทำงานอยู่ ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในกลางปี พ.ศ.๒๕๖๐

และเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ เพื่อนก็ชวนกันไปถวายผ้าไตรจีวรอุทิศแด่คุณแม่กับพระองค์ท่านที่วัด หลังจากที่พระองค์ทรงลงปาฏิโมกข์แล้ว และเดินลงมาจากพระอุโบสถด้วยรอยยิ้มแห่งความเมตตา ทักทายกับอุบาสก อุบาสิกาที่มาฟังพระปาฏิโมกข์อยู่รอบนอกพระอุโบสถ ต่างนั่งรอที่จะถวายสังฆทานกับพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ก็เมตตารับด้วยพระองค์เอง และส่งต่อให้คณะสงฆ์ พร้อมกับคำอวยพรว่า “โมทนา ขอให้สมความปรารถนาทุกประการที่หวังไว้”

ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ต่างกล่าวคำ “สาธุ” โดยพร้อมเพรียง

ณ เวลานั้น นึกไม่ถึงว่า พระองค์จะถามกลับมาว่า “สาธุ” แปลว่าอะไร

เราทุกคนในที่นั้นต่างอึ้ง ตอบไม่ถูกได้แต่พึมพำๆ ว่า “ดีแล้ว ” ใช่ไหมคะ

พระองค์ทรงยิ้ม และตรัสว่า เราชาวพุทธจะต้องรู้นะ เวลากล่าวสาธุๆๆ นั้นหมายความว่าอย่างไร

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ภาพจาก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ภาพจาก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

พระประวัติโดยสังเขป

          สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร)  มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๒๔๗๐ ที่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดา ชื่อนายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

          ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ต่อมาได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมี พระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย จ.ราชบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.๒๔๘๓ สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.๒๔๘๔ สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.๒๔๘๖ สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๐ ย้ายมาอยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับเจ้าประคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) และให้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังอุปสมบท ท่านศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และพ.ศ.๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

          ต่อมาสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษา รุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๙ เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีพระขันติปาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐ นิวเซาท์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

          ท่านยังสร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย อาทิ งานด้านการศึกษา เป็นอาจารย์สอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

          งานด้านสาธารณูปการ เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา และเป็นประธานสร้างวัดอีกมากมายหลายแห่ง

          ส่วนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นรองแม่กองงานพระธรรมทู ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

          งานด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาโดยตลอด  งานด้านการสาธารณสงเคราะห์ ท่านเป็นรอง ประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระสาสนโสภณ

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ในครั้งนั้น สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับ ภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัย ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง

ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๑๐ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (อัมพร อมฺพโร)

ความหมาย คำว่า “อนุโมทนา ” และ “สาธุ” มักใช้คู่กัน

อนุโมทนา แปลว่า ความยินดีตาม, ความพลอยยินดี หมายถึงการแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ

อนุโมทนา อาจทำได้ด้วยการพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เวลาพระท่านทำวัตรแล้ว เราได้ยินเสียงย่ำกลอง ฆ้องระฆัง เราก็ยกมือประนมแล้วเปล่งวาจาว่า “สาธุ” หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้นสาธุ เป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย

สำหรับคำว่า “สาธุ” ก็ความหมายดุจเดียวกัน

เพียงแต่เป็นการตอบรับเมื่อพระสงฆ์กล่าว “อนุโมทนา”

ฆราวาสญาติโยมที่ไปทำบุญถวายจตุปัจจัยไทยทานก็จะกล่าวรับว่า “สาธุ”

หรือแม้แต่ใครไปทำบุญมา แล้วบอกแก่เรา ก็สามารถกล่าว่า “อนุโมทนา” พร้อมกับการประนมมือ คือยินดีกับการไปทำบุญของเขาด้วย แล้วผู้ที่เล่าความดีเกี่ยวกับการทำบุญให้เราฟังก็จะกล่าวรับว่า “สาธุ”

ดังในหนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๔ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความว่า

สาธุ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ดี ถูกต้อง ยอดเยี่ยม ประสบผลสำเร็จ ใช้เป็นคำแสดงว่า เห็นด้วยกับเรื่องที่พูดหรือสิ่งที่ทำ หรือใช้ในประโยคคำสั่งหรือขอร้องเพื่อแสดงความสุภาพ

สำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปจะเปล่งเสียงคำว่า สาธุ ในสถานการณ์ต่าง ๆ กันดังนี้

๑. เปล่งเมื่อพระภิกษุผู้เป็นหัวหน้าสงฆ์สวดแสดงอานิสงส์ของศีล

๒. เปล่งเมื่อพระภิกษุแสดงธรรมเทศนาจบ เช่น พอหลวงพ่อเทศน์จบ อุบาสกอุบาสิกาก็เปล่งวาจาว่า สาธุ

๓. เปล่งเมื่อพระภิกษุให้พร เช่น พอหลวงพ่อให้พรเสร็จ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็เปล่งวาจา สาธุ สาธุ สาธุ ดังไปทั่วทั้งโรงธรรม พร้อมกับยกมือที่ประนมไว้ขึ้นเหนือศีรษะ

๔. เปล่งเพื่ออนุโมทนาบุญที่บุคคลได้ทำไปแล้ว เช่น สาธุ ขอให้บุญกุศลที่เราทั้งปวงได้กระทำน้อมนำให้พวกเรามีสติ ยึดมั่นในคุณงามความดี และตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทเถิด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here