แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อ และโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๘ “เรื่องฮ่มคร้อและลายจักสานของพ่อใหญ่” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๘ เรื่องฮ่มคร้อและลายจักสานของพ่อใหญ่
เครื่องจักสานและลายจักสาน คือ ส่วนผสมของชีวิตที่ชาวบ้านปากน้ำขาดไม่ได้ เฮือนหลังไหนผู้เฒ่าผู้แก่มีฝีมือในทางจักสานก็จะเป็นอันรู้กันทั้งหมู่บ้าน ยิ่งใครสานได้ประณีต มีลวดลายและทรงสวยงามเฉพาะตัวก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของลูกหลาน ถึงขั้นต้องออดอ้อนขอให้สานให้กันเลยทีเดียว
ท่าซาละวันมีต้นคร้อและประดู่สูงใหญ่อยู่ใกล้เถียงนาพ่อใหญ่ ใครไปใครมาก็ต้องมานั่งเล่น นอนเล่น พักผ่อนที่ใต้ฮ่มคร้อของพ่อใหญ่ จะลงบุ่ง ลงท่า ยามมอง ยามลอบ ยามไซ ลงต้อน หรือล้อมเผือกเอาเยาะ ก็พักกินน้ำกินท่า เอนหลังที่เตียงปีกไม้ พอหายเหนื่อยก่อนจึงค่อยไป
ถัดฮ่มคร้อลงไปก่อนถึงท่าน้ำจะเป็นดงบักผีผ่วน บักยางเครือ บักคายข้าว ต้นพะยอม ต้นเชือก สะแบง และจิกใหญ่ แล้วก็เป็นฮ่อมน้อยที่พ่อใหญ่ทำคูดินกั้นน้ำไว้พอให้ควายได้ลงแช่แก้ร้อนในหน้าแล้ง (*บัก คือ หมากไม้ หมายถึง ผลไม้ชนิดต่าง ๆ )
ภาพจำฮ่มคร้อในตำนานของท่าซาละวัน คือ ภาพพ่อใหญ่โทนนั่งก้มหน้าก้มตาจักตอก เหลาตอก วันแล้ววันเล่า สานครุ สานกระบุง กะต่า* (*กะต่า คือ ตะกร้า)ให้ลูกหลานใช้ จนรอบฮ่มคร้อเต็มไปด้วยเศษขี้ฝอยเหลาไผ่จากคมพร้าของพ่อใหญ่ ส่วนแม่ใหญ่จะคอยกวาดรวมกันไว้ เป็นกอง ๆ แล้วหอบลงเผาให้เป็นปุ๋ยในไฮ่นา*(*ไฮ่นา คือ คันนา)
ใต้ฮ่มคร้อใหญ่ใบดกหนา อายุมากพอ ๆ กับพ่อใหญ่ ยืนเด่นแผ่กิ่งก้านยาวเฟื้อยแทบระดิน พ่อใหญ่ใช้ปีกไม้มาต่อกันทำเป็นเตียงขนาดใหญ่ คนนั่งล้อมวงกินข้าวได้ราว ๑๐ – ๒๐ คน เอาไว้อาศัยร่มเงา พักกลางวัน กินข้าวกินปลากับลูกหลาน
บางทีถึงหน้าแล้งไม่มีฝนก็ไม่ต้องขึ้นนอนบนเถียงนา พอค่ำมาก็กางมุ้งนอนกันตรงนี้ ลมส่งมาจากบุ่งสระพังเย็นสบาย สุมไฟไล่ยุงตอนหัวค่ำ พอตกดึกอากาศเย็นยุงก็ผายหนี
ท่าซาละวัน มองมาจากที่ไกล จะเห็นยอดคร้อ ยอดประดู่ครึ้มเขียว ยืนเด่นอยู่รำไร คนหัวบุ่งใช้เป็นเครื่องหมายจดจำทางไปทางมา เวลาไล่ควายกลับจากเลี้ยงฟากบุ่งหรือข้ามไปสักสุ่ม ขัวหอย ขุดมัน ดกผือ ต้องมองดูยอดต้นคร้อ หรือยอดต้นประดู่ใหญ่ ที่ท่าซาละวัน นาพ่อใหญ่เอาไว้ จะได้ไม่หลงทิศ
ยิ่งหน้าน้ำขึ้นสูง เวลาพายเรือลึกเข้าไปซ้งแม่ใหญ่ดา ซ้งกกไคร้ และคูมูล ต้นไม้บังหูบังตา ยิ่งต้องจดจำเครื่องหมายท่าที่จะขึ้นให้ดี
ระหว่างง่ามขนาดใหญ่ของโคนต้นคร้อ มีดินโพนเกิดจากจอมปลวกทิ้งรัง พ่อใหญ่จะเอาโอ่งดินใส่น้ำกินไปตั้งไว้ตรงง่ามนั้น ความชื้นจากดินที่โคนต้นคร้อจะทำให้น้ำในโองเย็นชื่นใจอยู่ตลอด ใครไปใครมา หิวน้ำหิวท่าก็ตักกินได้ ไม่จำเป็นว่าเจ้าของจะอยู่หรือไม่ เป็นอันรู้กันทั่วทั้งหัวบุ่ง อย่างดีไม่พบเจ้าของก็ร้องบอกดัง ๆ ว่า “พ่อใหญ่ขอน้ำกินแน่เด้อ” แค่นี้ก็พอ
รอบฮ่มคร้อจะเต็มไปด้วยท่อนไม้ไผ่ ริ้วไผ่ และตอกที่พ่อใหญ่เหลาไว้สานครุ สานกระบุง สานตะกร้า สานข้อง และกระติบข้าวให้ลูกหลานใช้ ลูกหลานคนไหน ใครขาดเหลืออะไร พ่อใหญ่เป็นต้องจักต้องสานให้ทุกคน
บางทีมีคนมาจ้างวานสานครุ สานกระบุง พ่อใหญ่ก็สานให้ ช้าบ้าง เร็วบ้าง ตามแต่จะมีเวลา เพราะไม่ได้สานไว้ซื้อไว้ขาย สานไป ทำงานอย่างอื่นไปตามแต่โอกาสจะอำนวย
พูดถึงเรื่องจักสาน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่บ้านปากน้ำ คือ การสานครุ, กระบุง, ตะกร้า, ข้อง, กระเบียน หรือ กระติบข้าว บริจาควัดเพื่อให้ลูกหลานจับสลากในงานบุญเดือนสี่ (บุญผะเวส)
เมื่อบุญเดือนสี่มาถึง ลูกหลานกลับจากกรุงเทพกรุงไทจะเป็นเวลาแห่งการแสดงฝีไม้ลายมือจักสานของผู้เฒ่าผู้แก่ ตามแต่ใครจะสานอะไร คนละอย่างสองอย่าง
สมัยนั้นหมู่บ้าน แบ่งออกเป็นสี่คุ้ม คือ คุ้มบ้านใหญ่ คุ้มบ้านกลาง คุ้มบ้านน้อย และคุ้มบ้านโนน หากปีไหนไม่รวมกันสานที่วัดก็จะมีคนไปเดินแผ่*(*แผ่ คือ ขอรับบริจาค) ตั้งแต่บ้านโนน มาบ้านน้อย ถึงบ้านกลางจึงเป็นบ้านใหญ่ พอให้ลูกให้หลานจับสลากสนุกสนานในงานบุญเดือนสี่
“แผ่ กระบอก ตอง ปูน พรู ยา” มุ้ง! มุ้ง!(เสียงฆ้อง)
เสียงผู้เฒ่าผู้แก่เดินขอรับบริจาคสิ่งของดังสลับกับเสียงฆ้องถูกตีเป็นสัญญาณยังแว่วอยู่ในจิตวิญญาณของหมู่บ้าน วิถีการรับบริจาคได้เปลี่ยนไปจากอดีตพร้อมกับการมาของการรับบริจาคผ่านสื่อโซเชียล
ทุกวันนี้ หมู่ขยายตัวออกไปมากจนไม่เป็นคุ้มเป็นหมู่ แม้พ่อใหญ่แม่ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นหลักของหมู่บ้าน หลายต่อหลายคนจะไม่อยู่แล้ว แต่ลายจักสานและฮ่มคร้อของพ่อใหญ่ ยังเป็นตำนานที่มีชีวิต เถียงนาหลังเก่าที่ลูกหลานรักษาเอาไว้ยังบอกเล่าเรื่องราวของท่าซาละวันให้คนรุ่นหลังฟัง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๘ “เรื่องฮ่มคร้อและลายจักสานของพ่อใหญ่” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร