ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๕๐. “บ้านตาเณศ ตามหลักฐานทางโบราณคดี” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๐. บ้านตาเณศ ตามหลักฐานทางโบราณคดี
หลายวันมานี้ได้คุยกับพ่อเกี่ยวกับวัดป่าหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขุดพบพระพุทธรูปเงิน เรื่องงัวหินหมอบที่หายไป และเรื่องที่พ่อถ่านให้พ่อมาเลื่อยไม้ดงพระคเณศไปสร้างวัด
เมื่อนำคำสนทนาของพ่อมาสืบค้นกับหลักฐานทางโบราณคดีก็พบข้อมูลสำคัญบ่งชี้ว่า สถานที่แห่งนี้น่าจะเปลี่ยนผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ผ่านความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายสลับกันไป จึงน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่ทับถมกันมา ๓ ยุคด้วยกัน คือ
ยุคอาณาจักรเจนละ (ราวพุทธศักราช ๑๑๐๐ – ๑๓๐๐ ปี) พบพระพิฆเณศวร์หินทราย, หินปลียอดปราสาท และโคอุสุภราชหินทราย หรืองัวกระทิงหมอบตามความเข้าใจของพ่อ ซึ่งในช่วงเวลานั้นกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ประทับที่เมืองอุบลราชธานี (พุทธศักราช ๒๔๓๖ – ๒๔๕๓) คงมีคนไปแจ้งว่า ได้มีชาวบ้านพบพระพิฆเณศวร์หินทราย, หินปลียอดปราสาทอยู่ที่ดงพระคเณศ บ้านบาก จึงให้คนออกมาตรวจสอบและนำไปเก็บไว้ที่ประทับ ณ ตำหนักวังสงัด ใกล้กับทุ่งศรีเมือง
ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม (พุทธศักราช ๒๔๔๖ ) ได้แนะนำกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ว่า ของสิ่งนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ในบ้าน ขอให้นำไปถวายวัด กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จึงนำไปถวายไว้ที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี พระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาท ซึ่งขุดพบที่ดงพระคเณศจึงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดสุปัฏนารามมาจนถึงปัจจุบัน
ใครถามถึงพระพิฆเณศวร์ซึ่งพบที่ดงพระคเณศ ชาวบ้านก็มักจะตอบตามที่รู้กันมาว่า อยู่วัดสุปัฏนาราม เมื่อก่อนจำได้ลาง ๆ ว่า พระพิฆเณศวร์หินทรายถูกตั้งแสดงไว้กลางแจ้งหน้าอุโบสถวัดสุปัฏนาราม (ราว พุทธศักราช ๒๕๒๙ ) ใครไปใครมาต่างก็บอกว่า พระคเณศจากดงพระคเณศ บ้านบาก ต่อมา ทางวัดได้นำเข้าไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
กระแสความหนึ่งฟังมาว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์รับนิมนต์ไปฉันเพล หรือจะไปเยี่ยมอาการป่วยของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ที่ตำหนักวังสงัด ได้เห็นพระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาทอยู่ในตำหนัก คงเห็นว่า ของสิ่งนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ในบ้านเรือน จึงแนะนำกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ให้นำไปถวายวัด กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จึงได้นำพระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาทไปถวายไว้ที่วัดสุปัฏนาราม
แต่อีกกระแสหนึ่ง ฟังจากคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านเล่าต่อกันมาว่า แต่เดิมพระพิฆเณศวร์องค์นี้ ผุดขึ้นมาพิงต้นบกใหญ่อยู่ใกล้ทางลงหาดบุ่งสระพัง ใครผ่านไปผ่านมาก็เห็น แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระอะไร มีความสำคัญอย่างไร อยู่ต่อมา ญาถ่านโสม วัดบ้านวังกางฮุง มาเยี่ยมน้องชายซึ่งมาได้เมียอยู่บ้านบาก เห็นเข้าจึงขอจากชาวบ้าน บอกว่า จะเอาไปถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสุปัฏนาราม ชาวบ้านก็ยกให้ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไว้ทำอะไร
ยังมีอีกกระแสความหนึ่ง ว่า บ้านเกิดสมเด็จพระมหาวีรวงศ์อยู่บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง ไปมาต้องผ่านบ้านปากน้ำ ท่านทราบว่า มีการพบพระพิฆเณศวร์อยู่ดงพระคเณศจึงให้พระมาเอาไปเก็บรักษาไว้ที่วัดสุปัฏนาราม ในเมืองอุบลราชธานี
ในยุคที่ข้อมูลถูกส่งต่อผ่านการบอกเล่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ข้อมูลจะถูกเล่าขานแตกต่างกันไปอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านพูดตรงกัน คือ หลังมีการค้นพบ พระพิฆเศณวร์ก็ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดสุปัฏนาราม
ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า เคยมีพวกยิงสัตว์เข้ามาทุบทำลายพระพุทธรูปในดงพระคเณศ เนื่องจากตามยิงสัตว์ไม่ได้ มันชอบหายไปในดงแห่งนี้ จึงคิดว่า เป็นเพราะพระพุทธรูป และยังมีคนต้องการที่ดินทำไร่อ้อยเข้ามาบุกเบิกถากถางป่าแห่งนี้ ได้ทุบทำลายพระพุทธรูปและได้เคลื่อนย้ายออกไป คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า พระพุทธรูปบางองค์ถูกกืงลงไปทิ้งในแม่น้ำมูลก็มี
การพบพระพิฆเณศวร์ไปพิงอยู่ต้นบกใหญ่ ใกล้ทางลงหาดบุ่งสระพัง จะมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์กืงพระลงน้ำมูลดังกล่าวนี้หรือไม่ ก็ยังสรุปไม่ได้
สำหรับองค์พระพิฆเณศวร์หินทรายซึ่งพบที่บริเวณดงพระคเณศนั้น จะมีเดือยสำหรับต่อกับแท่นหินเพื่อตั้งองค์พระพิฆเณศวร์ แต่ไม่ปรากฏเห็น แสดงว่า ยังมีส่วนที่เป็นแท่นหินสำหรับตั้งอยู่อีก อาจจะหนักเคลื่อนย้ายยากจึงไม่ได้นำขึ้นมา หรือขณะนั้นอาจจะพบเฉพาะส่วนองค์พระพิฆเณศวร์ก็เป็นได้ สำหรับโคอุสุภราชหินทรายได้หายไปจากวัดป่านานมาแล้ว แต่จะหายไปตอนไหนก็คงไม่มีใครรู้
ยุคทวารวดี (ราว พุทธศักราช ๑๑๐๐ – ๑๗๐๐ ปี) พบพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ๒ องค์ พระสังกัจจายหินทราย และพระพุทธรูปหินทรายปางต่าง ๆ อีกหลายองค์ ปัจจุบัน พระพุทธรูปปางนาคปรกหินทราย และพระสังกัจจาย ถูกอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดปากน้ำ
นอกจากนั้น บริเวณวัดป่ายังพบกลุ่มใบเสมาหินทรายหลากหลายขนาดตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามป่าเป็นจำนวนมาก เสมาบางอันติดพลอยหลากสีประดับประดาสวยงาม และยังได้พบโครงกระดูกคนโบราณหลายโครงด้วยกัน ชาวบ้านเรียกว่า “กระดูกคนแปดศอก” ต่อมา พ่อถ่านได้นำชาวบ้านสร้างธาตุบรรจุร่วมกันเอาไว้ เรียกว่า “ธาตุคนแปดศอก”
แต่เมื่อพิจารณาตามข้อมูลทางโบราณคดี ระหว่างเสมาหินทราย ยุคหินตั้ง* ซึ่งแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ตามความเชื่อพื้นถิ่น กับเสมาหินทรายที่ใช้กำหนดเขตแดนพัทธสีมา ในสังฆกรรมทางพระพุทธศาสนา ยุคทวารวดี และศาสนสถานพราหมณ์ตามอิทธิพลขอม ยุคเจนละ ที่ซ้อนทับกันอยู่ในบริเวณวัดป่า ก็เป็นการยากที่จะระบุให้ชัดลงไปได้ว่า ยุคไหนรุ่งเรืองและเสื่อมสลายก่อนหลังกัน เพราะมีช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกันอยู่ (*ในยุคโบราณ หลักเส คงจะใช้หินตั้ง ต่อมา สมัยหลังหินหายาก บางพื้นที่ก็ไม่มีหิน ชาวบ้านจึงหันมาใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝังตั้งตรงหลุมหม้อเถ้ากระดูกแทน แต่ยังเรียกว่า “หลักเส” ซึ่งก็น่าจะย่อมาจาก “หลักเสมา” ตามความเชื่อดั้งเดิมของประชาชนพื้นถิ่นในยุคโบราณ)
ปัจจุบัน ใบเสมาหินทรายบางส่วนยังอยู่ที่วัดป่า บางส่วนถูกขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดปากน้ำและถูกบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป คาดว่าน่าจะมีการขนย้ายขึ้นมา ช่วงที่ชาวบ้านย้ายหมู่บ้านหนีภาวะน้ำท่วมและหนีโรคห่าขึ้นมาอยู่ดงบากใหญ่ และขณะขุดดินเพื่อซ่อมศาล พระมหาไพทูลแจ้งว่า ได้พบใบเสมาหินอีกสองอันฝังอยู่ใต้ศาล มีขนาดไม่ใหญ่มาก คาดว่า หลวงพ่อน่าจะฝังไว้ตรงสะดือศาลตอนซ่อมศาลปู่ดงพระคเณศครั้งก่อน
ยุคพระวอ-พระตาตั้งเมืองดอนมดแดง (ราวพุทธศักราช ๒๓๑๑) ขุดพบพระพุทธรูปบุเงิน ศิลปะเชียงแสน ล้านช้าง (หลวงพ่อเงิน) ถูกฝังไว้ภายในกล่องหินภายในเต็มไปด้วยทราย พระผงหว่านจำปาสัก และพระในรูปแบบอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ปัจจุบัน อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ขณะขุดพบพระพุทธรูปนั้น บ้านบากขึ้นกับตำบลดอนมดแดง ก่อนจะมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่มาขึ้นกับตำบลกุดลาด อำเภอเมือง
เมื่อก่อนมักจะได้ยินเรื่องเล่าปรัมปราของหมู่บ้านเกี่ยวกับดงพระคเณศ ที่พูดถึงกองทัพช้าง กองทัพม้าของปู่วัดป่า ขึ้นมาเดินตรวจตราตามหมู่บ้านอยู่เสมอ บ้างก็ว่า มีดวงไฟเท่าจาวมะพร้าวสุกสว่างลอยจากหอปู่บุ่งสระพังมาดงพระคเณศ แล้วลอยจากดงพระคเณศขึ้นมาหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่จะบอกลูกบอกหลานว่า ปู่วัดป่าท่านขึ้นมาเยี่ยมกัน บ้างก็ว่า เห็นไฟพะเนียงพุ่งขึ้นจากดินแล้ววิ่งหายเข้าไปในป่าโนนบกบ้าง บางทีก็พุ่งขึ้นจากป่าโนนบกหายเข้าไปในวัดป่าบ้าง บางทีก็หายไปทางหนองสะทังบ้าง บางคนก็ว่า ปู่ย้ายสมบัติหนีเพราะกลัวคนหาเจอ ตกถึงวันพระใหญ่ก็มักจะเห็นแสงไฟสีเขียวเท่าลำตาลพุ่งขึ้นจากโนนบกสุกสว่างมาทางวัดป่ามองเห็นจากที่ไกลเป็นกิโลเมตร จากนั้น ก็จะตามมาด้วยเสียงฆ้องทองคำใหญ่ดังสะท้อนมาจากหนองสะทัง ใครเจตนาไม่ดี ไม่มีบุญไม่มีบารมี คิดจะไปเอาสมบัติปู่ หากไม่เจองูใหญ่ไล่ก็มีอันได้ว่ายบกกันทุกคน
ความยำเกรงที่ชาวบ้านปากน้ำมีต่อปู่บุ่งสระพังและปู่ดงพระคเณศถูกบอกต่อกันมา จนกลายเป็นเรื่องเล่าปรัมปราที่สะท้อนถึงความเชื่อความศรัทธาที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ แล้วส่งต่อสู่ลูกหลาน ผ่านการปฏิบัติตาม ฮีตคลอง ต้องเลี้ยงปู่เลี้ยงตาเป็นประจำทุกปี จนเป็นแบบแผนของชุมชน ไม่ว่าหลักฐานทางโบราณคดีจะบ่งชี้ไปอย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้แบบแผนชีวิต ฮีตคลอง และความเชื่อของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไป
เฉกเช่นเดียวกับพ่อ ไม่ว่าเรื่องของพระพุทธรูปเงิน ปู่วัดป่า งัวหิน และดงพระคเณศจะมีความเป็นมาอย่างไรก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ชาวบ้านเช่นพ่อจะต้องไปเข้าใจ แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อมีเหมือนลูกหลานชาวบ้านปากน้ำ คือ ความยำเกรงที่พ่อมีต่อสถานที่แห่งนี้
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร