“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

: คำนำ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

          ตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนา ถือว่า กว่าบุคคลหนึ่งจะบังเกิดมาในโลก และตรัสรู้ค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่แห่งชีวิต จนนำไปสู่ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้นั้น ต้องผ่านการเวียนว่ายตายเกิดมาก่อนแล้วหลายชาติอสงไขย โดยอาจเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้ สัตว์นั้นอาจเป็นสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ มนุษย์นั้น  อาจเป็นคนทุคตะเข็ญใจ พราหมณ์ เศรษฐี พระราชามหากษัตริย์ หรือเทวดาก็ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำกล่าวว่า “การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากนักหนา”

          ตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนาอีกเช่นกัน ที่ถือว่า ในบรรดา “ชาติ” ทั้งหลายของผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น “ชาติ” สิบชาติสุดท้าย  ก่อนจะถือพระชาติที่ ๑๑ ซึ่งเสด็จมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และได้เสด็จออกบวชหรือมหาภิเนษกรมณ์ จนได้ตรัสรู้ในพระชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งเป็นสิบชาติสุดท้ายที่ใกล้ชิดติดพันกับพระชาติที่เป็นพระพุทธเจ้ามากที่สุด และแต่ละชาติได้บำเพ็ญบารมียิ่งใหญ่มหาศาล จนสามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้คนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามได้  ดังเช่นพระชาติที่ ๑๐ ที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ซึ่งนิยมเรียกกันว่า  “มหาชาติ” คือพระชาติอันยิ่งใหญ่ ที่บำเพ็ญทานบารมี ชาติทั้งสิบนี้จึงเป็นชาติสำคัญแห่งการดำรงชีพของพระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ                 

การดำรงชีพในแต่ละชาตินั้นก็ยากนักหนาจวนเจียนจะเสียชีวิตเสียหลายครั้ง  จนยากที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปจะอดทนมีชีวิตอยู่อีกในชาติต่อ ๆ ไปได้ คือ  ในที่สุดน่าจะละความเพียรและปณิธานแห่งพระโพธิสัตว์นั้นเสีย หากแต่ยังอดทนและมั่นคงแน่วแน่ในโพธิสัตว์ธรรมไม่เปลี่ยนแปลง เรียกว่า มีปณิธานที่ตั้งมั่นและพยายามสร้างบารมีสั่งสมไว้ด้วยอุดมการณ์อันสูงส่ง ชนิดพร้อมที่จะสละทรัพย์ เลือดเนื้อ อวัยวะ บุคคลที่รัก และชีวิต เพื่อเดินทางไปสู่การบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย และจะไม่เสด็จมาบังเกิดในโลกนี้อีก

          สิบชาติสำคัญนั้นรู้จักกันในชื่อว่า “ทศชาติ” และเพราะแต่ละชาติ  พระมหาโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีหนักเบาแตกต่างกันไป ทศชาติจึงคู่กับทศบารมี ซึ่งเหล่ามนุษย์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารพึงยึดเป็นแบบอย่าง  นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อจะสั่งสมเป็นแหล่งบุญไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิตได้

          ตามคตินิยมของไทย ถือว่า ผู้เกิดมาในอำนาจ และได้รับการยอมรับ นับถือจากประชาชน เช่น การเป็นพระมหากษัตริย์นั้น ทรงผ่านการบำเพ็ญบารมีมาแล้วเป็นอันมาก ยิ่งเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า ในพระชาตินี้ทรงสั่งสมคุณงามความดีนานาประการ ด้วยความเพียรและความเสียสละเป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ น่าจะเป็นการบำเพ็ญพระบารมีดุจพระมหาโพธิสัตว์ก็ว่าได้ คตินิยมนี้จึงสอดคล้องกับหลักทศชาติและทศบารมีในพระพุทธศาสนา

          คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสุขุมลุ่มลึกในพระพุทธศาสนา  ได้พร้อมใจกันเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ปรากฏอรรถรสความละเอียดชัดเจนและเรียบง่ายด้วยภาษาและสามารถสื่อสารสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นอย่างดี จนมีผู้พิจารณาเห็นประโยชน์อันควรนำออกเผยแพร่ให้กว้างขวาง จึงรับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสพิเศษแห่งการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ นับเป็นกิจอันควรแก่การอนุโมทนา ซึ่งรัฐบาลขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และขอให้กุศลผลบุญนี้ จงสำเร็จเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ดำรงคงมั่นอยู่ในพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาด้วยดีแล้วนั้นตลอดไป เทอญ

                                                          นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ : คำนำ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here