ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๕ “เรื่องท่าโฮงแมบ ท่าของพ่อที่นาลุ่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕
เรื่องท่าโฮงแมบ ท่าของพ่อที่นาลุ่ม
พ่อใหญ่แม่ใหญ่มีนาหัวบุ่งอยู่หลายแปลง นาลุ่มและนาทามน้อยอยู่ใกล้บุ่งสระพัง ส่วนนาเทิงและหัวนาแหลมอยู่ห่างจากบุ่งสระพังออกไปอีก นาลุ่มเป็นนาที่พ่อใหญ่แม่ใหญ่แบ่งให้พ่อทำกิน นาทามน้อยเป็นของน้า(ตามศักดิ์แล้วเป็น อาว คือ อา) ส่วนหัวนาแหลมเป็นของป้า
นาทามน้อยมีท่าชื่อ “ท่าซาละวัน” นาลุ่มมีท่าชื่อ “ท่าโฮงแมบ” ส่วนหัวนาแหลมของป้าไม่มีท่าน้ำ เพราะอยู่ห่างจากบุ่งสระพังขึ้นไปอีกจึงเรียกหัวนาแหลม ด้วยความที่นาทามน้อยและนาลุ่มอยู่ใกล้กับบุ่งสระพังจึงมักถูกน้ำท่วมแทบทุกปี แต่จะท่วมน้อยหรือท่วมมากก็ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นน้ำมูลหนุนบุ่งสระพังขึ้นมามากน้อยแค่ไหน
ลูกหลานคนนาหัวบุ่งเจอกัน จึงมักถามกันถึงน้ำบุ่ง จนเป็นคำทักทายกันของคนนาหัวบุ่ง
“ปีนี้ น้ำบุ่งขึ้นหลายอยู่บ่”
“ปีนี้ น้ำบุ่งขึ้นหลายปานใด๋”
“ปีนี้ น้ำบุ่งลงแล้วยัง”
“ปีนี้ น้ำบุ่งลงพ้นตลิ่งแล้วบ่”
พ่อเล่าว่าที่ท่านาของพ่อชื่อ “ท่าโฮงแมบ” เพราะเรียกตามชื่อเครื่องดักปลาชนิดหนึ่ง ทำจากสังกะสีเอาใส่เรือพายไปตามน้ำ พอสังกะสีกระทบกับแสงอาทิตย์ก็จะเกิดแสงสะท้อนกับน้ำระยิบระยับ ภาษาอีสาน เรียกว่า “เหลื่อมแมบๆ” พอแสงสะท้อนลงน้ำจะทำให้ปลากุ่มปลาสร้อยตกใจกระโดดขึ้นเหนือน้ำไปมาแล้วตกใส่เรือ
ท่าน้ำที่คนแมบปลามาจอดเรือพัก จึงถูกเรียกว่า “ท่าโฮงแมบ”
บริเวณเดิ่นเนินดินใกล้ตลิ่งใต้นาหัวบุ่งจะมีกอไผ่ป่าเกิดอยู่ตลอดแนว คนหาปลาด้วยวิธีทำโฮงแมบจะมารวมกันที่ท่านาลุ่ม จะทำเทิบหรือตูบอยู่ตามเดิ่นริมตลิ่ง สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว บางคนก็ถางกอไผ่ป่าให้เป็นโพรงทำเพิง หรือตูบใต้ร่มไผ่ป่า ร่มเบ็ญ ร่มแก อุ่มพี้และฝ้ายน้ำ เพื่ออาศัยร่มไผ่หลบร้อนไปในตัว ต่ำลงไปจนถึงริมน้ำ พ่อใหญ่พิมพ์จะถางอุ่มพี้ให้เป็นโพรงเพื่ออาศัยร่มเงาพอได้จอดเรือเฝ้าสวนบัว
เทิบหรือตูบจะมีลักษณะเป็นเพิงหมาแหงน ไม่นิยมสร้างหลังใหญ่ และไม่สร้างกึ่งถาวรเหมือนกับเถียงนา สร้างแค่พอได้พักอาศัยร่มเงาชั่วคราวเท่านั้น เพราะพอถึงหน้าฝน น้ำบุ่งขึ้นก็จะท่วม จะมีบางคนที่มากันเป็นครอบครัว และอยู่นานหลายเดือนจนกว่าน้ำจะท่วมเท่านั้นจึงจะทำแบบกึ่งถาวรเหมือนเถียงนา
โฮงแมบจะทำจากสังกะสี ส่วนคนที่หาสังกะสีไม่ได้ก็จะทำจากกาบกล้วย ปลาที่เข้าโฮงแมบโดยมากจะเป็นจำพวกปลากุ่ม ปลาสร้อย แต่จะเพราะด้วยเหตุใด ปลาสองชนิดนี้เห็นโฮงแมบจึงกระโดดก็ยากจะเข้าใจได้ อาจจะเพราะตื่นตกใจแสงสะท้อนจากสังกะสี
“ปีใด๋ฟ้าส่ง ฝนดี ข้าวนาลุ่มมันกะพอได้ดีอยู่”
“แต่กี้เจ้าของยังน้อย ๆ กะนอนอยู่นำท่านำกอไผ่กอเผ่ยไปทั่วทีปทั่วแดน จากท่าซาละวันขึ้นมาฮั่นเขาเอิ้นท่าโฮงแมบ ท่านาเฮานั่น จักเป็นหยังจังเอิ้นท่าโฮงแมบ คือสิแม่นแต่กี้พวกพายเฮือแมบปลาพากันมาขึ้นพักอยู่ท่าฮั่น กะเลยเอิ้นท่าโฮงแมบ”
“โฮงแมบบางคนกะเอาสังกะสีเฮ็ด บางคนกะเอากาบกล้วยเฮ็ด สมัยแต่กี้ เขาพายเฮือไป ปลามันกะเต้นเข้าเฮือ มันตื่น ได้เป็นเฮือกะมี เขาว่า แสงสะท้อนใส่ตา ปลามันกะพากันตื่นตกใจเต้นเข้าเฮือ เขากะมาเซาเฮ็ดหว่างใด๋ฮั่น”
“แต่กี้ท่าโฮงแมบบางคนกะเอิ้นท่าพ่อใหญ่เมฆ นาพ่อใหญ่เมฆแม่ใหญ่มิ่งอยู่ม้องฮั่น กะเลยเอิ้นท่าพ่อใหญ่เมฆ”
“ตอนพ่อยังน้อย ๆ กะยังพอทันได้เห็นอยู่ บางคนเอากาบกล้วยแนบ ๆ ต่อกันให้เป็นแผ่นคือสังกะสี แล้วเฮ็ดเป็นโฮง เขากะพายเฮือไป แต่กี้ปลามันคือสิหลาย ปลากุ่มปลาสร้อยกะเต้นเข้าเฮือ เขาได้หลายอยู่ ตั้งแต่เจ้าของยังน้อย ๆ พุ้น”
พ่อเล่าว่า ทุกวันนี้การดักปลาด้วยวิธีทำโฮงแมบไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วนจะเลิกไปเมื่อไหร่นั้นพ่อก็จำไม่ได้ จะเป็นเพราะปลากุ่มกับปลาสร้อยน้อยลงหรือเพราะมีวิธีจับปลาด้วยมอง(ข่าย)เข้ามาแทนที่ จึงทำให้การหาปลาด้วยวิธีทำโฮงแมบหายไป
เมื่อวิธีจับปลาด้วยโฮงแมบหมดไป ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำโฮงแมบก็หายไปจากบุ่งสระพังด้วย จึงไม่มีใครเคยเห็นการจับปลาด้วยวิธีนี้อีกเลย
ท่าโฮงแมบที่เคยเปล่าแปนมองเห็นไกลสุดลูกตาจนถึงโฮงเกลือโนนพระเจ้า เดี๋ยวนี้กลับรกเรื้อเต็มไปด้วยอุ่มพี้ อุ่มแก อุ่มฝ้ายน้ำ อุ่มหนามจ่าง และไผ่ป่า เพราะไม่มีใครมาทำตูบทำเพิงพักหาปลาเหมือนเก่าก่อน โฮงแมบจึงเป็นเพียงหนึ่งเรื่องเล่าของบุ่งสระพังคู่กับท่าโฮงแมบที่นาลุ่มของพ่อ
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๕ “เรื่องท่าโฮงแมบ ท่าของพ่อที่นาลุ่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๙๓๓๗๘-๖-๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร