วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ศึกษาวิถีไทย วิถีพุทธ วิถีธรรม จากหนังสือ “ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน” เขียนโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของบรรพบุรุษลูกหลานชาวนาไทย และเกษตรกรไทย ในดินแดนพระพุทธศาสนา ที่ได้ชื่อว่า กระดูกสันหลังของชาติ ที่ดำรงชีพอย่างอดทนและลำบาก เพื่อให้ลูกได้บวชเรียนตามมโนปณิธานที่จะตามรอยพระพุทธเจ้า บูรพาจารย์ พระอุปัชฌาย์อาจารย์จนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๔๒. ต้นจิกใหญ่ในนาของพ่อ
ลมหนาวท้ายฤดูพัดแรง หอบเอาอากาศหนาวเหน็บมาจากบุ่งสระพัง ฝุ่นละออง เศษฟาง ใบไม้ หญ้าแห้งปลิวตลบไปตามแรงลม พะยอมหัวนาเริ่มแตกช่อบาน ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว อากาศหนาวท้ายฤดูเย็นอยู่แล้ว ถูกลมจากบุ่งสระพังพัดเข้าไปอีก ยิ่งเย็นยะเยือกจนถึงกระดูก อากาศหน้าหนาวเย็นอยู่แล้ว ถูกลมจากบุ่งสระพังพัดเข้าไปอีก ยิ่งเย็นยะเยือกจนถึงกระดูก
พ่อยืนมองต้นจิกใหญ่ที่ถูกพายุโนรูพัดโค่นล้มอยู่กลางนา ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่กลางปีที่ผ่านมา (พุทธศักราช ๒๕๖๕) แม้น้ำจะลดลงไปนานหลายเดือนแล้ว จนจะพ้นหน้าหนาว เข้าสู่หน้าแล้ง พ่อได้แค่ยืนมองซากต้นจิก แต่ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะตัดมันออกจากนา
หากเป็นเมื่อก่อน ร่างกายยังพอมีแรง พ่อก็คงไม่ปล่อยให้ต้นจิกล้มขวางนา ข้ามเดือนข้ามปีมาจนถึงเดี๋ยวนี้
ต้นจิกใหญ่อายุมากพอ ๆ กับพ่อ ยืนเด่นอยู่กลางนามาตั้งแต่พ่อใหญ่แม่ใหญ่แบ่งที่ทางให้พ่อทำมาหากิน จนกลายเป็นสัญลักษณ์นาของพ่อไปแล้ว พ่อบอกว่า มีคนมาขอซื้ออยู่บ่อย ร่ำ ๆ พ่อจะขายมาหลายรอบ แต่แม่ก็ห้ามไว้ ไม่ยอมให้ขายจึงอยู่มาได้จนแก่เฒ่า แล้วถูกพายุพัดโค่นล้มลงแช่น้ำตายอยู่กลางนา
ตั้งแต่ผ่าตัดใส่เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจเมื่อหลายปีก่อน สองสามปีมานี้ พ่อเริ่มบ่นเหนื่อย ใช้แรงไม่ได้เหมือนเดิม เห็นนารกร้าง เต็มไปด้วยหญ้าผีหมอบ ก็ได้แต่ยืนมองเท่านั้น คันนาบางช่วงถูกหนูนาขุดรูทำรัง พอฝนมาถูกน้ำเซาะก็กิ่วขาด พ่อก็ยังไม่มีแรงที่จะขุดดินถมให้เต็มหรือสับหญ้าผีหมอบออกจากคันนา
ภาพจำจนคุ้นตา ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก พ่อจะเอาผ้าขาวม้าเคียนหัวแบกจอบถือพร้าเดินไปตามคันนา เห็นพุ่มไม้ก็จะตัดทิ้ง เห็นหญ้าผีหมอบขึ้นก็จะสับออก ไม่ปล่อยให้นารกเรื้อ
พอเหนื่อยก็จะขึ้นมานอนพักขาไขว่ห้างฮัมเพลงอยู่ใต้ร่มหว้าที่หัวนาอย่างอารมณ์ดี ครู่หนึ่งก็แบกจอบถือพร้าลงทุ่งอีก ตรงไหนมีรอยหนูขุดรู พ่อจะเปิดหน้าดินออกก่อน แล้วตัดกิ่งไม้อุด เหยียบให้แน่น จากนั้นจึงขุดดินอัดเข้าไปกันไม่ให้น้ำซึมผ่านไปตามรูหนู พ่อบอกว่า ถ้ามีน้ำซึมผ่านรูหนู เมื่อฝนมาจะทำให้คันนาพังขาด ต้นข้าวล้มเสียหาย
ก่อนเข้าหน้านา พ่อจึงต้องเดินสำรวจไปตามคันนาจนทั่ว
มาปีนี้เรี่ยวแรงพ่อตกลงไปมาก อย่าว่าแต่จะตัดต้นจิกที่ล้มลงเลย แม้แต่หญ้าผีหมอบ พ่อก็ไม่มีเรี่ยวแรงพอจะจับจอบจับพร้าขุดสับมันออกจากนา
พ่อบอกว่า มองดูนาแล้วเห็นเป็นนาเฮื้อ*ก็ไม่แกบใจ* ถึงแม้ร่างกายจะไม่ไหวแล้ว พ่อก็มีหัวใจที่ยังอยากทำเพราะเห็นนารกร้างอดวังเวงใจไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องปลงให้กับสังขารร่างกาย (*นาเฮื้อ คือ นาถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง *ไม่แกบใจ คือ ไม่อุ่นใจ)
“เห็นเขาซื้องัวซื้อควายแพง กะยังอยากซื้ออยากขายนำเขาอยู่ มันเคยเฮ็ดเคยทำ มีแต่คนห้าม เขาย้านเมื่อย เว้านำซื้อขายงัวควายแพง กะพ่อนี้ละซื้อขายก่อนหมู่”
“เห็นต้นหว้าใหญ่กะอยากตัดออกจากนา มันห่มไฮ่ห่มนา แต่กะเฮ็ดบ่ได้ดอก มาเถิงปานนี้แล้ว บ่มีแฮงสิเฮ็ด เอาแต่ผู้ยังอยู่สิเฮ็ดเอา”
พ่อเปรยแบบปลง ๆ หลังเห็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับพ่อเริ่มจากไปทีละคน ในขณะที่เรี่ยวแรงพ่อเองก็เริ่มตกลงทุกวัน
“เห็นน้ำเซาะนาว่าอยากข่วยดิน*ถ่มไฮ่นาให้น้ำไปทางอื่นแน่ พอบ่ให้น้ำไหลเข้าสา*(*สา คือ สระน้ำ) ผัดคึดนำเครื่องใส่หัวใจ ย้านมันกระเทือน จ้างบักภีมขุดดินถมร้อยหนึ่ง ผัดว่าอยากได้สองร้อย ข่วยดินกะบ่พอสิเป็นหยังย้อน คือคนบ่มีแฮง ขุดดินกะได้เถื่อละก้อนน้อย ๆ” (*ข่วย หรือ ขวย คือ ขุดดินเพื่อกั้นน้ำ หรือ ขุดดินเพื่อเปิดให้น้ำไหลไปอีกทาง)
“ไฮ่นาคันบ่มีคนเอาใจใส่แน่ มันกะคือสิเป็นนาฮกนาเฮื้อเป็นม้องเลี้ยงงัวเลี้ยงควายไปซั้นตี้ จังว่า คึดไป มันกะบ่แม่นของโตจักแนวแล้วละ”
พูดแล้วพ่อก็หัวเราะร่วนในลำคอ
“เบิ่ง ๆ ไปแล้วว่าซั้นดอก มันกะบ่แม่นของโตจักแนว มันกะสิเปลี่ยนไป ๆ เรื่อย ๆ คือพ่อแม่เปลี่ยนมานี้ตั๊ว คึดเบิ่งแล้ว นานี้มันกะเป็นของคนอื่น ก่อนสิมาเป็นของอีพ่อ จังมาเป็นของโต นาทามน้อยกะเป็นของบักเวิน จังมาเป็นของบักเผิ้ง ต่อไปจักสิเป็นของไผ บางเถื่อรักสมรักษาบ่ได้กะสิพากันขายถิ้มคือเห็นเขาเป็นมา”
พ่อพูดเหมือนรำพึงกับตัวเอง อย่างคนเข้าใจสัจธรรมของชีวิต เหมือนได้คิดอะไรบางอย่าง จากการที่ต้นจิกโค่นล้มลง
“ตอนมีนาโคกอยู่ เว้านำข้าว บ่อึดกินอึดอยาก เจ้าของไปหาซื้อนาโคก ว่าสิแก้นาน้ำท่วม สุดท้ายกะโงมาหานาน้ำท่วมคือเก่า กะเลยแก้บ่ได้ ไปหาซื้อนาโคกกะได้ขาย ได้กลับมาหานาน้ำท่วมคือเก่า”
“แต่กี้ อีแม่ไห้ย้อย ๆ ย้อนน้ำท่วมนา เถิงยามขึ้นบ้านบ่ได้ข้าวนำเขา จังว่าคึดเห็นแม่ไห้ ย้อนน้ำท่วมนา เจ้าของกะเลยดิ้นรนไปหาซื้อนาโคก ซื้อไปซื้อมากะได้ขายถิ้ม กะสิกลับมาอีหลูบเก่าตั๊ว ลูกเต้าบ่มีผู้อยากหัวสาไปเบิ่งไปแงง จังได้ขายนาโคก กลับมาหานาน้ำท่วมอยู่หัวบุ่งคือเก่า”
“คึดเบิ่งว่า อยากมีนาไว้แน่ พอให้ลูกให้หลานบ่อึดกินอึดอยาก มาขายถิ้ม*(*ขายถิ้ม คือ ขายทิ้ง) กะเลยบ่ได้นาไว้”
“แต่กี้ไผสิอยากได้นานำหัวบุ่งหัวบิ่ง เบื่อมันนาน้ำท่วม แม่นอยู่! หาปลาแลกข้าว มันง่ายอยู่ แต่นาน้ำท่วมบ่มีไผอยากเอา”
“เขาแบ่งนาบ้านให้พ่อใหญ่โทน อยู่ท่งข้าวเม่า เพิ่นกะบ่เอานำเขา มาเอานาหัวบุ่ง จังว่ายายจูมเมียเพิ่นได้ไห้ย้อย ๆ อยู่ยามน้ำท่วมนา เขาให้นาบ้าน เพิ่นกะบ่เอา เพิ่นว่านาใกล้บุ่งหาปลากินง่าย
พอพูดถึงพ่อกับแม่ของตัวเอง พ่อก็หัวเราะสุขใจ เหมือนได้ระลึกถึงความหลังครั้งพ่อใหญ่แม่ใหญ่ยังมีชีวิตอยู่
“แต่กี้ อีพ่อเลากะหาปลาแลกข้าว ได้ส้มปลากะไปแลกข้าวกับทางอื่นเขา ไปแลกนำพี่นำน้องทางอำเภอเดช นำบ้านนาโพธิ์พู้น ปีใด๋น้ำท่วมนา บ่ได้ข้าวนำเขาคือกันกับปีนี้ บ่อนใด๋มีพี่มีน้อง แม่ใหญ่จูมเลากะเอาปลาไปหาแลกข้าว จังว่าพ่ออยากได้นาโคกไว้แน่ พอลูกหลานสิได้บ่อึดบ่อยาก กะเลยบ่ได้”
“เดียวนี้ เบิดเฮื่อเบิดแฮงสิเฮ็ดสิทำแล้วล่ะ ส่ำต้นจิกล้มกะยังบ่มีแฮงสิตัดออก ไปวนตัดกับบักฟ้ากะยังบ่แล้ว ย้อนบักฟ้ายากนำเฮียนหนังสือ ตัดได้แต่หง่าน้อย ๆ กองออเยาะไว้ บักเผิ้งมาวนซื้ออยู่ ขายให้แน่นาพ่อลุง จักมันสิเอาไปเฮ็ดหยังของมัน”
“จิกต้นนี้อยู่มาจักทอใด๋ซาติทอใด๋เส่นแล้ว บ่แม่นต้นไม้เกิดมื้อวานนี้”
แม่พูดแทรกพ่อขึ้นมาในระหว่างการสนทนา
“โอ้ย! มันอยู่มาตั้งแต่คราวแม่ใหญ่โม้แม่ใหญ่หอมพู้น แต่กี้เป็นดอนเสียวมีต้นไผ่ป่าขึ้นมาหัวนา มันเป็นคู่กันกับต้นหว้าใหญ่ แต่ต้นหว้ามันโกน ตอนขุดสาใส่ดอนหัวนาเลยตัดต้นหว้าออก ยังเหลือแต่ต้นจิก มันกะเลยเหลือเป็นคู่กันมากับต้นจิกของอีกิดแม่ย่าศรี มันมาขายหว่างใด๋ฮั่น ต้นของอีกิดกะบักใหญ่คือกัน มันเป็นคู่กันกับต้นนี้”
พ่อสนับสนุนคำพูดแม่หนักแน่น
“แต่กี้ ต้นไม้ดู่ใหญ่ติดไฮ่ติดนามีอยู่สองต้น ต้นหนึ่งงาม ๆ อีพ่ออีแม่เพิ่นทานเข้าวัด ตอนพ่อถ่านสร้างศาลา กะเลยเหลือติดนามาเถิงโตต้นหนึ่ง ต่อมากะมาขายได้เงินหกพันบาท คันแม่นยังอยู่มาเถิงทุกมื้อนี้ เขาขายกันเป็นแสนสี่แสนห้า”
พ่อบอกว่า ไม้จิกเป็นไม้แก่น เป็นพวกไม้เนื้อแข็ง ทนแดดทนฝน ไม้ที่คนนิยมตัดมาทำเสาบ้าน ก็มีไม้จิก ไม้แดง ไม้พันชาติ ไม้ดู่ เอามาทำเสารั้วจะทนแดดทนฝน จนกลายเป็นไม้แก่นหล่อน ตากแดดตากฝน อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ชั่วตาปีตาชาติ
“เว้านำไม้จิก เฮ็ดเสาฮั้วเสาสวน เสาเฮือนเสาซาน ซาติมันทางแก่น เสาฮั้วไม้จิกมันทน อยู่จนเป็นแก่นหล่อน ตากแดดตากฝน อยู่จังใด๋กะอยู่จังซั้น ทอใด๋ซาติทอใด๋เส่น ย้อนมันเป็นไม้แก่น”
เห็นนารกร้าง แม้อยากทำ แต่ก็ไม่มีแรงจะบุกเบิก พ่อจึงได้แต่รำพึงอย่างคนเริ่มปลงกับชีวิต
พ่อบอกว่า พ่อกรากกร่ำชีวิตมาตลอด ต่อให้ไม่สบาย พอลุกได้ ถึงเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เคยหยุด ขนาดไปใส่เครื่องหัวใจมา ก็ยังแบกไม้ไง้ขอนอยู่ แต่ปีสองปีมานี้รู้สึกเหนื่อย
“มีนาน้ำท่วม ส่ำขอข้าวเขากิน มีครอบมีครัว เป็นเฮือนเป็นซานแล้ว เว้าหยังให้เว้านำกัน ให้พร้อมพับกับกัน”
“คันได้ยินว่า ลูกบ่สำบาย ลูกทุกข์ลูกยาก ลูกลำบากแหล่ว เว้านำพ่อ มันบ่ม่วนในหัวใจ”
พ่อทิ้งคำพูดไว้สั้น ๆ
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๒. “ต้นจิกใหญ่ในนาของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร