ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ” (พระพุทธพจน์)
“การมาของวัยชราทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้ ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง
“แม้ระหว่างนี้จะยังอยู่ในช่วงที่โทษของวัฏฏะตามบีบคั้นอย่างไม่ลดละ สถานการณ์ชีวิตพลิกผันไปตามความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในแต่ละวัน แต่เมื่อคำนึงถึงพระพุทธพจน์ข้างต้น ก็ทำให้ไม่อาจวางใจลงในความประมาทได้ จึงหาเวลาสนทนากับโยมพ่อด้วยเรื่องสัพเพเหระ ตามโอกาสอันควร อันจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาในใจให้ถึงความบริบูรณ์
“บางแง่มุมในการสนทนา ก็เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชราของโยมพ่อ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านอันธรรมดาแต่ก็แฝงไว้ด้วยปูมหลัง พื้นประวัติ ภูมิปัญญา คติชน และความเชื่อ อันเป็นรากฐานของชุมชน บางแง่มุมในการสนทนาของบางวัน กลับดิ่งลึกลงไป ในความคิดอันแหลมคม ทำให้เห็นชีวิตในความหมายของคำว่า “พ่อ” ยิ่งกว่าบทเทศนาว่าด้วยความกตัญญูใด ๆ
“นับจากวันนั้น (พุทธศักราช ๒๕๖๔ ) หลังการสนทนาจบลงในแต่ละครั้ง จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มเรียบเรียงถ้อยคำของโยมพ่อ ออกเป็นตัวหนังสือ เป็นที่มาของ ๕๕ ความเรียงจากบทสนทนา ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา…”
ญาณวชิระ (บางส่วนจากคำนำ “ชรัง อนตีโต เมื่อความชรามาเยือน”)
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๒ “บักฟ้าแลบ บักส่วงตาบ บักหน้าด่างใบโพธิ์ และวัวควายในคำนิยามของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๒. บักฟ้าแลบ บักส่วงตาบ บักหน้าด่างใบโพธิ์ และวัวควายในคำนิยามของพ่อ
วัวควายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบ้านเรา สำหรับพ่อแล้ววัวควายเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งความหวังของครอบครัว
พ่อมักพูดอยู่เสมอ ว่า
“ มีงัวมีควายไว้เป็นหมู่*(*เป็นหมู่ คือ เป็นเพื่อน) เห็นงัวเห็นควายย่างนำไฮ่นำนาแล้ว เฮ็ดให้ไฮ่ให้นาบ่เงียบบ่เหงา,
มีงัวมีควายไว้ขี้ใส่ไฮ่ใส่นา งัวควายขี้ใส่ไฮ่ใส่นา ใส่ฮั้วใส่สวน เหยียบย่ำไปมา กะเป็นปุ๋ย เถิงยามดำไฮ่ดำนา ข้าวกะงาม,
มีงัวมีควายแล้วคือมีข้าวมีของอยู่ในเฮือนในซาน, มีงัวมีควายอยู่ในบ้านแล้วสำบายใจ
“มีวัวควายไว้เป็นเพื่อน เห็นวัวเห็นควายเดินตามไร่ตามนาแล้วทำให้นาไม่เงียบเหงา, มีวัวควายไว้ขี้ใส่ไร่ใส่นา วัวควายขี้ใส่นา เหยียบย่ำไปมา ก็เป็นปุ๋ย ถึงเวลาทำนาข้าวก็งาม, มีวัวควายแล้วเหมือนมีข้าวมีของอยู่ในเรือน, มีวัวควายอยู่ในบ้านแล้วสบายใจ”
นี่คือนิยามคำว่า “วัวควาย” ในความหมายของพ่อ
แม้การมีวัวควายอยู่ในบ้านจะทำให้สบายใจเพราะทำให้ครอบครัวมีหลักประกัน “มีสิ่งมีของอยู่เฮือน” แต่การรู้ลักษณะวัวควายก็มีความจำเป็นต่อการมีวัวควายไว้ในบ้านเช่นกัน
พ่อเริ่มรู้จักลักษณะวัวควายจากพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม พ่อเถ้า*ของพ่อ (*พ่อเถ้า คือ พ่อตา พ่อของแม่)
ในยุคนายฮ้อย การรู้ลักษณะคุณและโทษของวัวควายเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย แม้ในยุคของพ่อจะไม่ใช่ยุคนายฮ้อยอย่างตา แต่การรู้ลักษณะคุณและโทษของวัวของควายก็มีความจำเป็นต่อการหาซื้อวัวควายมาไว้ในบ้าน เพราะหากซื้อวัวควายลักษณะไม่ดีมาเลี้ยง นอกจากจะมีโอกาสหลุบทึน (*หลุบทึน หรือ หลุบทุน คือ ขาดทุน)ใช้งานไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เป็นสินแล้ว ยังจะเป็นโทษกับเจ้าของอีกด้วย
วัวควายที่เป็นคุณจะเชื่อง เลี้ยงง่าย รู้ภาษาคน ขุนแล้วพี* (*พี คือ อ้วน) ส่วนวัวควายไม่เป็นคุณจะแห จับเนื้อต้องตัวไม่ได้ จะดีด* (*ดีด คือ ถีบ) พูดไม่รู้ภาษาคน ชนเจ้าของ กินฮั้วกินสวน ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ทำให้เลี้ยงยาก เวลาไถนาบอกฮ่องก็ไม่รู้จักฮ่อง บอกฮอยก็ไม่รู้จักฮอย ไม่รู้ซ้าย ไม่รู้ขวา ถึงเวลาเข้าแหล่งเข้าคอกก็ไม่รู้จักเข้าแหล่ง ไม่รู้จักเข้าคอก เรียกว่า ควายมีลักษณะไม่เป็นคุณ
วัวควายที่มีลักษณะไม่เป็นคุณจะแพ้เจ้าของ* ใครซื้อมาเลี้ยงก็จะมีแต่เรื่องแต่ราว มีเหตุให้เดือดร้อน หากไม่แพ้ตัวเองก็จะแพ้คนในบ้าน ทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย (*แพ้เจ้าของ คือ เป็นโทษกับเจ้าของ)
“งัวฟ้าแลบ งัวตาบส่วงบ่ส่ำกัน งัวหน้าด่างใบโพธิ์ บ่ดี”
-คำพ่อ-
พ่อเล่าว่า พ่อเคยซื้อวัวตัวหนึ่งมาเลี้ยงแล้วพ่อก็ล้มป่วย กินยาอย่างไรก็ไม่หาย ไม่สร่างไข้ พอที่จะลุกได้ก็ลุกไม่ได้ เป็นอย่างนั้นอยู่นาน พ่อใหญ่เล็ดเห็นพ่อนอนซมลุกไม่ขึ้นก็ว่า “มึงคือนอนซมลุกบ่ขึ้น บ่แม่นมันเป็นนำงัวโตนี่บ้อ” แล้วพ่อใหญ่เล็ดก็เดินไปดูวัวที่พ่อซื้อมาใหม่ จึงบอกว่า เป็นเพราะวัวฟ้าแลบตัวนี้ ซื้อมาอย่างไรจึงไม่รู้จักดูให้ดี วัวแบบนี้มันแพ้เจ้าของ
พ่อใหญ่เล็ดบอกพ่อว่า ถ้าวัวมีสีขาวแลบออกมาจากสองขาหนีบข้างหน้า เรียกว่า “วัวฟ้าแลบ” เวลาเดินจะมองเห็นสีขาวแลบ ๆ ออกมาตามจังหวะก้าวเดินเหมือนฟ้าแลบ จึงเรียกว่า “บักฟ้าแลบ” ใครมีวัวลักษณะนี้จะแพ้เจ้าของ พ่อใหญ่เล็ดจึงบอกให้พ่อเอาไปขาย พ่อจึงขายต่อให้พ่อใหญ่พรหม ธาระวงศ์
พ่อใหญ่พรหม บอกว่า “มันสิเป็นอิหยัง ส่ำงัวซื่อ ๆ มาขายให้กูนี่ กูสิซื้อไปเลี้ยงเอง”
พอขายวัวฟ้าแลบให้อ้ายพรหมได้ไม่กี่วัน พ่อก็สร่างไข้ ลุกขึ้นได้
ต่อมา พ่อใหญ่พรหมไล่วัวฟ้าแลบที่ซื้อต่อจากพ่อไปนา ก็เผอิญรถวิ่งมาชนควายพ่อใหญ่พรหมตาย ต้องเสียทั้งควายเสียทั้งเงินค่าซ่อมรถให้กับเจ้าของรถ พ่อใหญ่พรหมบอกว่า “มันเป็นนำงัวโตตัวนี้ละกูจังเสียเงิน”
“ตอนเจ้าของยังน้อย ๆ แน่ อีพ่อซื้อควายเถิกใหญ่มาโตหนึ่ง เลากะล้มป่วยลงคือกัน เป็นไข้หนาวสั่นเข้า ตอนนั้น อีแม่ไห้โงก ๆ ว่าผัวซื้อควายแพง บาดคนมาถามซื้อขายไปบ่ทันมุ้มคืน ผัดส่วงไข้ลุกย่างได้”
พ่อเล่าความหลังเกี่ยวกับงัวฟ้าแลบไป หัวเราะไปอย่างอารมณ์ดีว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครเขาถือกันแล้ว ขอแค่ซื้อไปเลี้ยงขายได้ราคาก็ว่าดี แล้วพ่อก็เปรยถึงพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอมว่า “คนว่าพ่อเถ้าบ่ดี คบหมู่นักเลง แต่เพิ่นกะดีกับพ่อ สอนวิชางัววิชาควายให้ พ่อจังอยากหัดบักฟ้า* ให้มันฮู้จักงัวฮู้จักมอไว้นำแน่ บัดลางเถื่อเฮียนหนังสือมาแล้ว บ่มีงานเฮ็ด กะยังมีวิชางัววิชาควายไว้หากิน” (*บักฟ้า คือ ชื่อที่พ่อเรียกหลานชาย)
ด้วยความที่อยากสอนหลานให้เรียนรู้วิธีดูวัวควายเอาไว้ พ่อเคยเอาเงินใส่กระเป๋าให้หลานชายเจ็ดหมื่นบาท ไปทดลองซื้อวัวมาเลี้ยง วันนั้นตำรวจเรียกตรวจรถ เห็นเงินในกระเป๋าเด็กจำนวนมากผิดปกติ จึงถามว่า ไปทำอะไรมาจึงมีเงินในกระเป๋ามากอย่างนี้ พ่อบอกว่า ตำรวจคงคิดว่า เด็กอาจค้ายาหรือขายของผิดกฎหมายจึงมีเงินติดตัวมาก แต่หลานก็เอาตัวรอด บอกตำรวจว่า เรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย กำลังจะไปซื้อวัวมาเลี้ยง
นอกจากงัวฟ้าแลบ พ่อยังพูดถึงลักษณะวัวควายที่เป็นโทษอีกว่า “งัวตาบส่วงบ่ส่ำกัน บ่ดี” คือ วัวควายที่มีซี่โครงไม่เสมอกัน ซี่หนึ่งสูงซี่หนึ่งต่ำ ก็เป็นวัวลักษณะไม่ดี เช่นกัน ถ้าวัวควายซี่โครงไม่เสมอกัน เขาจะไม่ซื้อมาเลี้ยง เพราะวัวควายลักษณะนี้ขุนไม่ขึ้น เรียกว่า “โครงวัวไม่ดี หรือทรงไม่ดี” เพราะวัวควายแบบนี้ ถ้าซื้อไปแล้ว ถึงจะหาน้ำหาหญ้าให้กินดีอย่างไร ขุนดีอย่างไรก็ไม่อ้วน ไม่พี ทำให้เสียเวลาเปล่า
ส่วนงัวหน้าใบโพธิ์ไม่ดี คือ งัวหน้าด่างเป็นรูปใบโพธิ์ เชื่อว่าเป็นงัวไม่ดี แต่ถ้ามีด่างไปปรากฏที่อื่นด้วย เช่น ที่หาง หรือที่เท้าทั้งสี่เท้า เรียกว่า “งัวซอด” จึงเป็นงัวดี ( คืองัวด่อนเป็นรูปใบโพธิ์เฉพาะตรงหน้า ส่วนอื่นไม่มี)
“งัวหน้าใบโพธิ์บ่ดี คือ งัวหน้าด่างเป็นรูปใบโพธิ์ มันเป็นงัวบ่ดี พ่อแม่เพิ่นว่าจังซั้น ถ้าหน้าด่างแต่ว่ามันซอดออกไปทางหาง ทางตีน จังเป็นงัวดี”
หลังออกเรือนกับแม่ พ่อก็เริ่มเรียนรู้ลักษณะวัวควายจากพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม พ่อเถ้าของพ่อ แต่พ่อก็เรียนวิชาวัววิชาควายจากนายฮ้อยอาชีพได้ไม่ทันไร พ่อใหญ่เล็ดก็มาตายก่อน พ่อต้องเรียนถูกเรียนผิดด้วยตัวเอง แล้วพ่อก็ชำนาญในการดูลักษณะวัวควาย จนวันหนึ่งพ่อกล้าพอที่จะตัดสินใจซื้อวัวเซ็กจากพ่อค้ามหาสารคาม ที่เอามาขายไกลถึงอุบล ด้วยราคาค่อนค้างสูงลิบ ซึ่งวัวเซ็กเป็นวัวพันธุ์ ตัวใหญ่ ใช้เทียมเกวียนแล้วสง่างาม ที่บ้านเราไม่ค่อยได้เห็น
นั่นคืองัวเกวียนคู่งามที่สุดเท่าที่พ่อเคยมี ใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะแวะชม แวะถามว่าพ่อได้วัวงามมาจากไหน ซึ่งเป็นความภูมิใจสำหรับคนเล่นวัวอย่างพ่อ ก่อนที่ยุคแห่งการเล่นงัวเกวียนจะหมดไปจากหมู่บ้าน
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๒ “บักฟ้าแลบ บักส่วงตาบ บักหน้าด่างใบโพธิ์ และวัวควายในคำนิยามของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร