ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
๓
เรื่องของโนนพระเจ้าเรื่องของคนนาหัวบุ่ง
น้ำบุ่งปีนี้ลดลงไปมากแล้ว(พุทธศักราช ๒๕๖๕) แต่ก็ยังลดลงช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา ยังไม่พ้นจากโนนพระเจ้าเลยด้วยซ้ำ
ทุกปีของเดือนนี้น้ำบุ่งจะลดลงจนถึงโนนพระเจ้า เมื่อน้ำบุ่งลด ดินบริเวณรอบโนนพระเจ้ามีรสเค็ม พอถูกแดดเผาจะขึ้นคราบเกลือขาวโพลนเป็นหย่อม ๆ ตามแต่จุดไหนจะมีคราบเกลือมากน้อย
คนหัวบุ่งจะใช้กระทากวาดดินเกลือไว้เป็นกอง ๆ แล้วนำขึ้นแช่ที่โฮงเกลือ เพื่อให้ได้น้ำเกลือ จากนั้นจึงปล่อยน้ำเกลือหยดลงในปี๊บ แล้วนำน้ำเกลือไปต้มบนกระทะใหญ่ เคี่ยวให้ได้เกลือ เก็บใส่ไหใส่กระทอเกลือเอาไว้เอือบ*ปลา หรือหุงหาอาหาร (*เอือบปลา คือ หมักปลา เป็นสูตรทำอาหารแบบหนึ่งของชาวบ้าน) บ้างก็ขายในชุมชนตัวเอง
การต้มเกลือเช่นนี้ เป็นกรรมวิธีทำเกลือแบบบ้าน ๆ ของคนหัวบุ่ง ที่ตกทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ยุคสมัยเปลี่ยน อยากได้เกลือก็ซื้อหาเอาจากตลาด วิธีทำเกลือแบบนี้ ไม่มีให้เห็นแล้ว
ตกมาปีนี้หนาวจนจะหมดหนาว ปีใหม่ก็ล่วงมา มกราคมก็เลยผ่าน นี่ก็ย่างเข้าปลายกุมภาพันธ์แล้ว น้ำบุ่งลงช้ากว่าทุกปี ลูกหลานจึงต้องพายเรือมาแก้บนที่โนนพระเจ้า
ตั้งแต่คนเกิดที่นาหัวบุ่งมีเรื่องมีราวเมื่อหลายปีก่อน (พุทธศักราช ๒๕๖๑ ) พลอยทำให้คนหัวบุ่งไม่สบายใจกันไปทั้งหัวบุ่ง คิดอะไรไม่ออก บอกความทุกข์ให้ใครฟังไม่ได้ ก็ได้แต่ชวนกันมาเล่าความทุกข์อกทุกข์ใจที่โนนพระเจ้า ให้ปู่สังกะสา ย่าสังกะสีได้เห็นความทุกข์ของลูกของหลาน
“ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี เอ๋ย! ผู้หูแก้วตาทิพย์ มื้อนี้วันนี้ ลูกหลานมากราบมาไหว้ ฮ้ายให้กวดหนี ดีให้กวดใส่ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ แม่ป้า พ่อลุง เบิ่งแงงลูกเบิ่งแงงหลานแน่เด้อ ผู้เพิ่นเกิดนาหัวบุ่งนั่น แต่กี้แต่ก่อน ตั้งแต่เพิ่นยังเล็กยังน้อย เพิ่นแล่นนำเจ้า เจ้าพายเฮือหาปลา เพิ่นกะนั่งหัวเฮือไปนำเจ้า, ไปเหล่าไปดอน,ไปนำฮั่วนำสวน,ไปยามต่งยามมอง,ไปลงฮวงลงต้อน เพิ่นกะแล่นไปนำ
บาดนี้ เพิ่นตกทุกข์ได้ยาก จักเป็นจังใด๋ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ เจ้ากะอย่าถิ้ม อย่าปะเพิ่น ให้นำกุ้ม นำหุ้ม ลูกหลาน เด้อ”
“พ่อใหญ่โหง่น,พ่อใหญ่หยู่,พ่อใหญ่เขี่ยม,พ่อใหญ่เบย, พ่อใหญ่พวง,ยายดอน เจ้ากะคือกัน เห็นเพิ่นตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย แล่นตำหน้าตำหลัง เลี้ยงงัวเลี้ยงควาย อยู่นำหมู่นี้ ตั้งแต่นาลุ่มไปหานาทามน้อย ตั้งแต่นาขุมดิน ไปหานาเทิง จนฮอดหัวนาแหลม ข้ามฟากบุ่ง ไปเลี้ยงงัวเลี้ยงควาย จนฮอดท่ากกถ่ม เพิ่นกะไปเถิง
ให้เจ้ามาตุ้มมาโฮมกันอยู่โนนพระเจ้า ตามกุ้ม ตามหุ้มผู้เพิ่นเกิดเป็นลูกเป็นหลานนาหัวบุ่งของซุมหมู่เจ้า เด้อ บาดนี้”
แม่เล่าว่า โนนพระเจ้ามีมาตั้งแต่ปู่สังกะสาย่าสังกะสี ตั้งแต่พระวอพระตาโน้น บนโนนพระเจ้าจะมีอุ่มไผ่ อุ่มแกขึ้นอยู่รอบ ๆ ตรงกลางเป็นลานกว้าง เวลาเลี้ยงควายมาถึงหัวบุ่ง แม่จะขึ้นไปนอนหลบร้อนที่ร่มไผ่ ร่มแก บนโนนพระเจ้า บางทีคนหาปลาก็จะขึ้นไปทำตูบพักอยู่บนนั้น เมื่อถามว่าปู่สังกะสาย่าสังกะสี พระวอพระตาเป็นใคร แม่ก็ตอบว่าไม่รู้ “มีมาแต่พู้น! แต่ตำอิดตำก่อพุ้น* พ่อแม่เพิ่นว่าจังซั้น เพิ่นว่ามาแต่พ่อแต่แม่พู้น” (*ตำอิดตำก่อ คือ ตั้งแต่แรกเริ่มปฐมกาล)
พ่อเล่าว่า โนนอื่น ๆ ถูกน้ำเซาะก็พังลงมาจนราบเป็นฮ่องน้ำ แต่โนนพระเจ้าแปลกกว่าที่อื่น ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือจะลง จะกี่ปีต่อกี่ปี โนนพระเจ้าก็ยังคงเป็นโนนพระเจ้าอยู่อย่างนั้น ไม่พังลงมา แม้ทางการจะขึ้นทะเบียนเป็นแค่โพนปลวก(จอมปลวก)ก็ตาม แต่สำหรับคนหัวบุ่งแล้ว ที่แห่งนี้ คือ โนนพระเจ้า
โนนพระเจ้าเป็นสถานที่ที่คนหัวบุ่งยำเกรง เล่าขานกันมาตั้งแต่ปู่ย่า ไม่ว่าวัวควายสิ่งของหาย ทุกข์ร้อนอันใดให้มาบอกกล่าวที่โนนพระเจ้าก็ได้คืนสมดังที่ขอ แต่จะด้วยเหตุไรจึงเรียกเช่นนั้นก็ยังสืบหาถึงที่มาที่ไปไม่ได้
เกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต พอจำความได้ คนหัวบุ่งก็เรียกเนินดินที่หัวบุ่งแห่งนี้ ว่า “โนนพระเจ้า” พอถึงหน้าน้ำท่วม มองไปกลางน้ำ ก็จะเห็นโนนพระเจ้าเป็นเกาะอยู่โดดเดี่ยวกลางน้ำบุ่ง คนหัวบุ่งจึงเรียกว่า โนนพระเจ้า จากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันมาชั่วนาตาปี
“เห็นลูกเป็นจังซั้น เว้านำพ่อ มันกะทุกข์อกทุกข์ใจนำลูก ไปม้องใด๋ใผกะถามว่า ลูกเป็นจังใด๋ แล้วเบิ่ดแหล่วบ่ มันกะแล่นตำหัวใจขึ้นมา จังว่า ไปวัดไปวากะบ่อยากไปคือเก่า มันบ่ม่วนซื่นในใจ ใผมาเอิ้นกะบ่อยากไปงานสังคมทางใด๋ ไปแต่นำบุ่งนำนา แม่กะนั่งเหงาต่อส่ออยู่คือกัน ไปเลี้ยงปู่เลี้ยงตานำท่าน้ำคำ นำหอปู่ นำดงพระคเณศ กะเว้ากะว่าไปเบิ่ด ให้ปู่เบิ่งแงงลูกหลาน
เว้านำเรื่องบะเรื่องบนกะไปบะไปบนไว้หลายม้องหลายบ่อน*อยู่ (*ม้อง-บ่อน คือ บริเวณ, สถานที่) คันแม่นลูกพ้นเคราะห์พ้นโศก ได้กลับคืนมาคือเก่าคือหลัง หัวหมูใหญ่ ๆ สี่หัวห้าหัว บะ*ไว้ม้องใด๋กะสิได้นำไปแก้ (*บะ หรือ บ๋า คือ บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์) หมู่ผัดว่า คันเพิ่นพ้นอีหลี เว้าหยังส่ำสี่หัวห้าหัว เอาเก้าหัวให้มันดังไปโลด พ่อกะเลยบอกหมู่ว่า เก้ากะเก้า บ่มีกะสิหาไปแก้”
“เว้ากับแม่มื้อหนึ่ง จังว่าแม่เพิ่นว่า จักสิมาเว้าหยังอยู่นำเฮือนนำซาน คันสิบะสิบน คือ บ่ไปหาปู่หาตาพู้น”
พ่อเปรยถึงการบนบานปู่ตาขึ้นมาขณะเล่าเรื่องโนนพระเจ้า
รอมาจนจะสิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่แล้ว น้ำบุ่งก็ยังลดลงไม่พ้นจากโนนพระเจ้า ได้เวลาแก้บนให้กับคนเกิดที่นาหัวบุ่ง ลูกหลานจึงได้ชวนกันพายเรือมาโนนพระเจ้า บอกเล่าเก้าสิบให้ปู่ ย่า ตา ยายฟัง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓ “เรื่องของโนนพระเจ้าเรื่องของคนนาหัวบุ่ง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๙๓๓๗๘-๖-๗
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์ เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร