ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๕ “ให้ไก่สองตัวเป็นค่าพาไปบวชเณร”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๕. ให้ไก่สองตัวเป็นค่าพาไปบวชเณร
พ่อเล่าว่า ตอนครูบาจะบวชเณร เคยหากินกับบุ่งกับท่าก็ไม่เอา ลงหาปูหาปลาตามห้วยตามหนอง ที่เคยทำก็ไม่ทำ เคยยิงนกยิงหนูก็ทิ้งหมดเพราะอยากบวช พอไม่ให้บวชก็เอาผ้าห่มขอมหัวนอนอักอยู่ในบ้านไม่ยอมกินข้าวกินปลา เห็นลูกอยากบวช พ่อก็กำสุด ใจอ่อน จึงยอมให้บวช
ตอนครูบาบวชเณรยังอยู่บ้านหลังเก่า ลูกมาขอบวชก็ไม่อยากให้บวช มหาดุสิตหลานพ่อถ่านจากกุดประทาย เมืองเดชจะบวช มานอนที่บ้านแม่พ่อถ่าน ครูบาเห็นเข้าก็มาขอบวชอีก พ่อก็ไม่อยากให้บวช
ตอนนั้น พ่อไม่ได้คิดอย่างนี้ คิดว่าลูกโตพอจะใช้งานได้แล้ว อยากให้ช่วยแม่ทำงาน ตัดไม้เผาถ่าน เห็นว่าแม่ลำบาก ลูกอยากบวช มาบอกให้พาไปบวชกับพ่อถ่าน พ่อก็ไม่พาไป อีกอย่างคนบ้านเราใคร ๆ ก็ยำเกรงพ่อถ่านกันทั้งนั้น ยำเกรงมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ พอถึงรุ่นลูกก็กลัวตามกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตายก็ไม่มีใครไปหาท่าน ยิ่งออกเรือนแล้วพ่อนอนอยู่กับนา ไม่ได้ขึ้นบ้านเลยเหมือนเป็นคนป่าคนดง จึงไม่รู้จะพาลูกไปหาพ่อถ่านฝากนาคยังไงก็คิดหนักใจอยู่
พอพ่อไม่พาไป เห็นลูกไปหาพ่อใหญ่แดง แม่ใหญ่ตัน บุตรสง่า* (*แม่ใหญ่ตัน คือ น้องสาวพ่อถ่าน สกุลเดิม ประสานพิมพ์) ลูกบอกพ่อใหญ่แดงว่า ขอให้พาไปบวชจะให้ไก่สองตัว ก็กำสุด นึกเวทนาสงสารลูก ตอนนั้น ลูกเลี้ยงไก่ไว้สองตัว จึงยอมให้บวช แต่ให้หาใครบวชเป็นเพื่อนสักคน จึงได้เณรทัศน์บวชเป็นเพื่อนกัน พ่อใหญ่แดงก็พาไปฝากนาคกับพ่อถ่าน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าลูกจะอยู่ได้นาน แม่ก็ว่าให้ลองไปบวชดูคงอยู่ได้ไม่นานแต่ลูกก็อยู่มาได้
พอบวชแล้ว ตอนหลังเห็นเณรถือหนังสือผูกสะพายย่ามเดินลัดทุ่งบ้านโนนมาเรียนเทศน์เสียงกับพ่อใหญ่แดงอยู่พักหนึ่ง เพราะพ่อใหญ่แดงเคยบวชจนเป็นทิตเป็นจารย์มาก่อนจึงสูตรจึงเทศน์เป็น ต่อมา ก็ว่าพ่อถ่านจะส่งไปเรียนหนังสืออยู่หัวตะพานจึงเลิกเรียนเทศน์เสียงไป
ตอนมาอยู่วัดป่ากับมหามังกร เรื่องเป็นห่วงพ่อมันก็ห่วงเป็นธรรมดา เพราะลูกอยู่ป่าอยู่ดง บางทีมหามังกรไม่อยู่ต้องนอนคนเดียว ในเมื่อชอบอย่างนั้น คนเดียวก็ต้องอยู่ได้ แต่ก็ยังดีว่านาบักแสงเคอยู่ใกล้วัดป่า มีอะไรมันก็เดินมาบอก
ตอนครูบาไปอยู่กรุงเทพแล้ว ได้ไปอยู่วัดสระเกศกับท่านสมเด็จฯ เวลามีประชุมที่วัด พ่อนั่งอยู่หลังสุด พ่อถ่านก็ชะเง้อมองหา แล้วเรียกข้ามคนข้างหน้ามาว่า “เกิน! เห็นบ่ จั่งซี้ละ จั่งอยากให้ลูกไปกรุงเทพ เรียนหนังสือหนังหา พอไปแล้วมันกะได้ดีจั่งซี้ละ”
พ่อบอกว่า เจอกันทีไร พ่อใหญ่แดงแม่ใหญ่ตันก็มักพูดถึงอยู่ตลอดว่า สมกับที่ครูบาจะให้ไก่สองตัวขอให้พาไปบวช
“จะแม่นสมกับเพิ่น สิให้ไก่สองโต ขอให้พาไปบวชน้อ”
ตอนยังเด็ก ครูบาชอบเอาผ้าห่มขี้งามาห่มทำเป็นผ้าคลุม* (*ผ้าคลุม คือ ผ้าจีวร) ถือกะละมังเดินไปมาบนเรือนเหมือนพระบิณฑบาต ตอนนั้น พ่อนึกไปว่าลูกทำไปตามประสาเด็ก แต่พอลูกขอบวชก็นึกถึงคำแม่ใหญ่คูณ ผู้ใหญ่บ้านชิด (บุญเย็น) ตอนตัดสายแฮ่ครูบา แม่ใหญ่คูณว่า
“เห็นสายแฮ่ พาดบ่า คือกันกับผ่าสังฆาฏิญาครู ญาซา”
พอโตขึ้นมาหน่อย ใครดูหมอดูยามก็ว่าลูกคนนี้จะได้บวช
พ่อใหญ่แดงพาครูบาไปเข้านาคอยู่ ๒-๓ วัน พ่อถ่านก็ให้โกนผมบวช แพราะกลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อน ส่วนผ้าคลุม*กับบาตร ท่านก็เตรียมให้หมดทุกอย่าง(*ผ้าคลุม คือ ผ้าไตรจีวร)
เวลาบวช พ่อคงจะเดินหรือปั่นจักรยานให้ครูบาซ้อนท้ายพาไปบวชกับพระอุปัชฌาย์พรที่บ้านกุดลาด ตอนนั้น พระอุปัชฌาย์อยู่บ้านกุดลาด ใครจะบวชต้องไปบ้านกุดลาด ไปบวชกันสองคน คือ ครูบากับเณรทัศน์ พ่อกี๋ แม่เสริฐ เพราะคนอื่นบวชกันไปหมดแล้ว มหาดุสิต หลานพ่อถ่านจากบ้านกุดประทาย เมืองเดช กับ มหาดิษฐ์ พ่อใหญ่เลิศก็บวชไปก่อนแล้ว พ่อถ่านให้พาไปบวชเอง ท่านไม่ได้ไปด้วย แต่ท่านนิมนต์พระอุปัชฌาย์พรไว้ให้
ผ้าคลุมกับบาตรพ่อถ่านจัดหาให้หมด พ่อก็ได้เอาเงินในถงบูชาเอาจากท่าน ตอนนั้น จะบูชาเท่าไหร่ พ่อก็จำไม่ได้ มันนานมาแล้ว แต่ก็ได้บูชาท่าน
ตอนพาไปบวช ญาถ่านพรท่านสั่งสอนเณร พ่อนั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ยังพอจำได้อยู่ พอมาถึงศีลข้อไม่ให้ถือเงินถือทอง ท่านก็ว่า ทุกวันนี้ เรื่องเงินทองจะให้เคร่งครัดเหมือนเดิมมันก็ไม่ได้แล้ว เพราะวัดวามันมีค่าใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง ท่านพูดสั่งสอนเอง แล้วท่านก็แก้ของท่านเอง พ่อนั่งฟังอยู่
พ่อเล่าถึงน้าโรจน์* (*คือ น้าวัง) น้องชายของพ่อว่า ตอนน้าโรจน์ขอบวชเณร พ่อใหญ่ก็ไม่ยอมให้บวชเหมือนกัน น้าโรจน์อยากบวชก็ปีนต้นดู่ใหญ่ข้างฮ่มคร้อขึ้นไปนั่งอยู่บนง่ามต้นดู่ ไม่ยอมพูดยอมจา เรียกอย่างไรก็ไม่ยอมลง แม่ใหญ่กลัวลูกตกก็ไปยืนเรียกลูกว่า “ก้อนคำแม่ ลูกลงมา ก้อนคำแม่ ลูกลงมา” พ่อใหญ่จึงยอมให้บวช น้าโรจน์ก็ได้บวชพอลูกบวชแม่ใหญ่ก็ไม่ทิ้งวัดทิ้งวา วันศีลวันพรไม่เคยเว้น จังหันจังเพลก็ไม่ขาด เวลาทำอาหารการกินแลงงาย ถ้าปลาไม่ตายแม่ใหญ่ก็ไม่ทำ ต้องเป็นปลาตายหรือไม่ก็มีคนโผด*ให้ก่อนถึงจะทำ (*โผด แผงมาจากคำว่า โปรด คือ โปรดสัตว์ คนวัดคนวาผู้เฒ่าผู้แก่จะไม่พูดว่า “ฆ่า” แต่จะเลี่ยงมาใช้คำว่า “โผด” แทน)
อยู่ต่อมา พ่อถ่านก็ส่งน้าโรจน์ลงไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ไปอยู่วัดราชนัดดากับหลวงตาพิมพ์ ได้ยินข่าวจากหลวงตาพิมพ์ว่า มีญาติพี่น้องอยู่ทางโน้น
ตอนน้าโรจน์ไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพ แม่ใหญ่คงคิดถึงลูก ไม่รู้ว่ากรุงเทพอยู่ทางไหน ก็คอยถามอยู่ตลอดว่า กรุงเทพอยู่ทางไหน ได้ยินเสียงการ้องวอน ๆ อยู่ตามหัวไร่ปลายนาก็ใจวีใจวอนว่าอีกามาส่งข่าวลูก คอยมองทางลูกอยู่ตลอด
พ่อบอกว่า ตอนเรียนหนังสือ น้าโรจน์อ่านหนังสือไม่ค่อยคล่อง อ่านติด ๆ ขัด ๆ สู้เอื้อยไพร*ก็ไม่ได้ เอื้อยไพรอ่านหนังสือได้คล่องกว่า ลองให้อ่านหนังสือแข่งกันก็สู้เอื้อยไพรไม่ได้ แต่พอบวชเรียน น่าโรจน์ยังได้เป็นครูกับเขา (*คือ เอื้อยไพรวรรณ กรองมาลัย ลูกของป้าจันทร์ศรี พี่สาวของพ่อ)
ตอนน้าโรจน์เรียนครูนึกสงสารพ่อใหญ่กับแม่ใหญ่ อายุมากแล้วก็ยังลำบากเพราะลูกอยากเรียนหนังสือต้องหาเงินให้เรียน วัวมีเท่าไหร่ ควายมีเท่าไหร่ ต้องขายส่งลูกเรียนครู จนหมดเนื้อหมดตัว ต้นไม้ตามเหล่า ตามดอน ตามหัวไร่ปลายนาก็ตัดลงเผาถ่านขายส่งลูกเรียน
ตอนนั้น พ่อก็ไม่ได้ช่วยอะไรน้องมาก ให้น้องครั้งละ ๓๐๐ บาทบ้าง ๕๐๐ บาทบ้าง เพราะตัวเองก็ลำบาก เวลาพ่อใหญ่แม่ใหญ่ฝากเงินไปให้น้องเรียน พ่อก็ได้ฝากไปให้บ้างร้อยสองร้อยแต่ก็ไม่พอจะผ่อนแรงพ่อแม่ ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ก็ได้ช่วยตามมีตามเกิดเพราะทุกคนต่างก็ไม่มีเหมือนกัน
ตอนเป็นหนุ่ม พ่อเคยคิดอยากบวชจึงขอพ่อใหญ่ แต่พ่อใหญ่ไม่ให้บวชเพราะพ่อใหญ่เป็นคนเฉย ๆ หากินอยู่กับบุ่งกับท่า พอพ่อใหญ่ไม่ให้บวชพ่อจึงไม่ได้บวชจนทุกวันนี้ คิดว่าอายุมากจะวางมือจากการงาน เข้าวัดเข้าวาเหมือนคนอื่น แต่พอครูบามามีปัญหาใจก็ออก หมดกำลังใจไปเฉย ๆ
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๕ “ให้ไก่สองตัวเป็นค่าพาไปบวชเณร”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร