วันนี้วันพระ
วันอังคารที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐
ศึกษาธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบจากกายใจ
และเรียนรู้ความเป็น “บ้าน” รากฐานแห่งความอบอุ่น
ของบรรพชนในครอบครัวชาวพุทธ
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
๒๓ “บ้านหลังเก่ากับเพลงของพ่อ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
“ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง อาตมาจึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา” ญาณวชิระ (ส่วนหนึ่งจากคำนำ “ชรัง อนตีโต เมื่อความชรามาเยือน“
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๓ “บ้านหลังเก่ากับเพลงของพ่อ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๓.บ้านหลังเก่ากับเพลงของพ่อ
“…ว่าสิพรรณาเรื่อง ทุกข์เป็นพ่อหม้าย เมียผมตายหนีจาก มาลำบากตั้งแต่เลี้ยงลูกน้อย ของสิป้อนกะบ่มี คันสิตีกะอดไว้ คิดอาลัยตั้งแต่บ่มีแม่ เห็นแต่หน้าลูกน้อย ตางหน้าอีแม่มัน อัศจรรย์ตั้งแต่ยามป้อนข้าว ยามมื้อแลงแอ่วพ่อ ยามหนาวมา ลูกผัดออด ๆ เว้าว่าอยากได้แพรลาย ลูกผู้ชายว่าอยากได้ผ้าห่ม พ่อกะจ่ม ทั้งทุกข์โศกี แม่บ่มี ลูกเอย…”
-เพลงของพ่อ-
กลางคืนพ่อชอบนอนไขว่ห้าง เอามือก่ายหน้าผากอยู่นอกชานบ้านหลังเก่า มองท้องฟ้ายามค่ำคืนไกล ๆ ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง บางที ก็ฮัมเพลงฮึมฮัมในลำคอ จับเนื้อเพลงได้กระท่อนกระแท่น
เนื้อเพลงบอกเล่าถึงความทุกข์ยากของชีวิตพ่อหม้ายลูกอ่อนที่เมียต้องมาตายหนีจาก ทิ้งลูกน้อยเอาไว้ให้ดูต่างหน้า ต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว ทั้งตัวเองก็ยากจน ยามลูกน้อยร้องไห้อยากกินนม จะหาอะไรป้อนก็ไม่มี ครั้นจะตีก็สงสารว่าลูกไม่มีแม่เหมือนคนอื่น ก็พอได้เห็นหน้าลูกน้อยต่างหน้าเมีย พอตกแลงมาได้เวลาป้อนข้าว ลูกน้อยก็อ้อนพ่อ ลูกสาวอยากได้แพรลาย ส่วนลูกชายอยากได้ผ้าห่ม ก็ได้แต่กล้ำกลืนความทุกข์โศกเอาไว้ บอกลูกว่า ลูกเอ๋ย เรามันคนจน ทั้งแม่ก็ไม่มีเหมือนเขา
บางที เวลาขับเกวียนไปนา พ่อก็ชอบฮัมเพลงนี้ในลำคอฮึมฮัมเสียงล้อเกวียนบดกับทางหินแฮ่ เสียงเพลาเกวียนเสียดสีกันออดแอด ๆ คลอกับเสียงเพลงของพ่อ แม้ท้วงทำนองจะดูบ้าน ๆ แต่ก็ไพเราะเหลือหลาย
บ้านหลังเก่าเป็นบ้านเสาไม้ ใต้ถุนสูง มีคอกวัวคอกควาย กี่ต่ำหูก ครกตำข้าว คราด ไถ เล้าไก่ และเล้าข้าวอยู่ใต้ถุน เวลาสุมไฟไล่ยุงให้ควายนอน ควันไฟจะลอยคลุ้งขึ้นมาบนบ้าน แสบตา นอนแทบไม่ได้ ต่อมา พ่อย้ายคอกควายและเล้าข้าวออกไปไว้ด้านนอก ข้างต้นหม่อนของแม่ จากเล้าข้าวแอ้มด้วยไม้ขัดแตะโบกด้วยขี้ทาลานจึงเปลี่ยนเป็นเล้าแอ้มด้วยไม้ นอกจากใต้ถุนบ้านจะใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ทำมาหากินจิปาถะของพ่อ แล้ว หน้าร้อนพ่อยังใช้เป็นที่ชุมนุมพบปะสังสรรค์กับเพื่อนของพ่ออีกด้วย
บนตัวบ้านแบ่งเป็นสามพัก*ลดหลั่นลงมาตามลำดับ (*พัก คือ ยกพื้นต่างระดับ)
พักบนสุด คือ“ในเฮือน” เป็นห้องโล่ง ๆ ไม่ได้กั้นห้อง แม่ใช้ตู้เก็บหมอนขิดกั้นเอาไว้ เพื่อแบ่งให้เป็นสัดส่วน มีกระติ๊กใส่น้ำแข็งลายสก๊อตวางอยู่ข้างตู้ เอาไว้ซ่อนของสำคัญของแม่ มีประตูเข้าออกอยู่สองข้าง ประตูบ้านทำจากไม้ทั้งบาน หนา ๆ แบบบ้านโบราณ ตรงบานประตูมีไม้เป็นดาล แม้จะผ่านการใช้งานมานานมากแล้ว ยังปรากฏรอยขวานถากหยาบ ๆ พ่อบอกว่า พ่อใหญ่เป็นคนเอาประตูบ้านเก่าย่าหอมมาติดให้ด้วยตัวเอง
ประตูหลักที่ใช้เข้าออกในเฮือนมีแม่กุญแจหัวสับเก่า ๆ คล้องเอาไว้ ดูแล้วก็ไม่น่าจะป้องกันอะไรได้เท่าไหร่ เหมือนล็อคไว้พอเป็นพิธี ส่วนลูกกุญแจ แม่จะเหน็บเอาไว้หัวเสา มีเชือกฟางผูกไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ใครจะเปิดเข้าเปิดออกในเฮือนก็เป็นอันรู้กันว่าลูกกุญแจเหน็บซ่อนไว้ตรงนั้น
“ย่าหอมม้างเฮือนสร้างใหม่ อีพ่อเป็นคนเอาบานปักตูเฮือนเก่า ย่าหอมมาใส่ให้เอง เฮือนหลังเก่ามีบานปักตู แต่บ่มีป่องเอี้ยม” พ่อพูดถึงที่มาของบานประตูบ้านหลังเก่า
ฟากหนึ่งของในเฮือนตรงกับประตูเข้าออกหลักจะเป็นที่นอน เอาไว้กางมุ้งนอน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครนอน ส่วนมากจะนอนอยู่ข้างนอกเพราะลมโกรกเย็นดี จะย้ายเข้าไปนอนในบ้านทีก็ตอนหน้าหนาว หรือไม่ก็ตอนพ่อนอนนาหาปลา แม่จะพาลูก ๆ เข้าไปนอนในบ้าน
อีกฟากหนึ่งของในเฮือน แม่ใช้เก็บเสื่อ สาด หมอน ถ้วยจานสำหรับเวลามีงานบุญ และของใช้สำคัญในครัวเรือน นอกจากนั้น แม่ยังเก็บกระสอบข้าวเปลือกสำหรับทำพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ปอและพืชผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เมล็ดพันธุ์ถั่ว เมล็ดพันธุ์แตง เมล็ดพันธุ์ฟักทอง และโอ่งข้าวสาร
ลดต่ำลงมาอีกพักหนึ่ง เป็น“นอกเฮือน” ไม่มีฝาแอ้ม ลมโกรกผ่านสะดวก เอาไว้นั่งเล่น นอนเล่น ระเบียงนอกเฮือนทั้งสองข้าง ใช้ไม้หน้าสามหรือไม้หน้าสี่ ตีเป็นราวแบบง่าย ๆ กันตก เวลาฝนตก หลังคาชอบรั่ว เพราะเป็นสังกะสีเก่าจากบ้านย่าหอม แม่ต้องเอาครุรองไว้เป็นจุด ๆ
ส่วนอีกด้านใกล้เฮือนไฟ เป็นมุมนั่งกินข้าว มีโอ่งน้ำกินยกสูงเหนือราวระเบียง ใต้โอ่งใช้กำหญ้าคาม้วนมัดเป็นวงกลมรองกันโอ่งกลิ้ง พ่อใช้มุมหนึ่งเก็บจักรยาน มีด พร้า สุ่ม มอง ข้อง เบ็ด ไถ เลื่อย และของใช้งานของพ่อ นอกจากนั้น ยังมีชั้นวางกระด้งเลี้ยงหม่อนของแม่อยู่มุมนี้อีกด้วย ถัดจากโอ่งน้ำกินไป มีต้นหม่อนอยู่สองสามต้น แม่เอาไว้เก็บใบเลี้ยงหม่อน
แม่บอกว่า เมื่อก่อนตอนออกเรือนใหม่ ๆ แม่เคยเลี้ยงหม่อนทำไหมอยู่พักหนึ่ง ต่อมาก็เลิกเพราะเลี้ยงยาก ต้องมีเวลาประคบประหงม ไม่อย่างนั้นจะถูกขี้ไข่ขางมาวางไข่กินตัวหม่อน กว่าดักแด้จะโตพอได้ไหม ต้องมีหลายขั้นตอน พอแม่ไปขายถ่าน ขายปลาที่ตลาด ไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิดจึงเลิกเลี้ยงหม่อนทำไหม
ลดลงมาอีกพักหนึ่ง เป็นพักต่ำสุดของบ้าน เรียกว่า “ซด” หรือ “นอกชาน” แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเฮือนไฟหรือเฮือนครัว จะเป็นส่วนที่มีหลังคามุง มีแป้นแอ้ม ในครัวมีคีไฟ* (*คีไฟ คือ คีงไฟ หรือกิบไฟ ก็เรียก) มีหิ้งขัดแตะสำหรับผึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด แตง ถั่ว และเมล็ดพันธุ์บักอื๋อ* (*บักอื๋อ คือ ฟักทอง) เพื่อให้ควันจากกิบไฟรมกันมอดกิน ก่อนจะเอาเข้าไปเก็บในเฮือน จะได้เอาไว้เพาะปลูกปีถัดไป มีตู้กับข้าว ตู้ถ้วยจาน ไหปลาแดกขี้ร้า พริกแห้ง และมัดหัวหอมแห้งห้อยอยู่บนขื่อ
ส่วนนอกชาน ปล่อยโล่ง ไม่มีหลังคา มีโอ่งน้ำอาบ และโอ่งน้ำใช้สำหรับล้างจาน บันไดขึ้นลงอยู่นอกชาน ผลักออกได้ เวลาไม่อยู่หรือเวลากลางค่ำกลางคืน ก่อนจะนอน ก็เงิก*หัวบันไดผลักออกกันหมาขึ้นเรือน (*เงิก คือ ยกขึ้น ผลักออก ใช้กับการผลักหัวบันไดออกจากชานเรือน)
หลังกินข้าวแลงเสร็จพ่อชอบนอนไขว่ห้าง ดูดยาเส้นอยู่นอกชาน บางทีก็นอนเอามือก่ายหน้าผาก มองท้องฟ้ายามค่ำคืนไกล ๆ ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ฮัมเพลงฮึมฮัมในลำคอ จับเนื้อเพลงได้กระท่อนกระแท่น
พ่อเล่าว่า บ้านหลังนี้พ่อสร้างตอนออกเรือนใหม่ ๆ เรียกว่า “เฮือนน้อย” เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ไปขอบ้านเลขที่ จึงต้องใช้เลขที่บ้านเดียวกันกับเฮือนพ่อใหญ่ คือบ้านเลขที่ ๒๓ เสาบ้านส่วนหนึ่งพ่อใหญ่โทน*ถากให้ (*คือ พ่อใหญ่โทน วงศ์ชอุ่ม พ่อของพ่อ) เสาบ้านอีกส่วนหนึ่ง พ่อใหญ่เล็ด*ถากให้ (*คือ พ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม พ่อของแม่) จึงได้เสาสร้างบ้าน บางคนบอกว่า พ่อใหญ่โทนถากเสาแฮก ส่วนพ่อใหญ่เล็ดถากเสาขวัญ แต่ตอนขึ้นเสาก็คงไม่รู้ว่า เสาไหนเป็นเสาแฮก เสาไหนเป็นเสาขวัญ เพราะเอามารวมกันแล้ว เสาแฮกเสาขวัญคงเป็นเชิงสัญลักษณ์ของเสาพ่อเฮือนแม่เฮือน ส่วนประตูบ้าน ไม้ปูพื้น แป้นแอ้ม สังกะสีมุง และเครื่องประกอบอื่น ๆ ได้มาจากย่าหอม* (*คือ ย่าทวดหอม วงศ์ชะอุ่ม เป็นแม่ของพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม จึงเป็นย่าทวด) พ่อบอกว่า ตอนนั้น ย่าหอมสร้างบ้านใหม่ จึงเอาไม้บ้านหลังเก่าและสังกะสีให้หลานไปสร้างบ้าน ย่าหอมให้เปล่า ๆ ไม่เอาเงินสักบาท ประตูบ้านหลังเก่าจึงเป็นบานไม้ทั้งบานหนา ๆ พ่อใหญ่โทนเป็นคนเอามา ติดตั้งให้เอง
พ่อเล่าถึงย่าหอมว่า แม่ต่ำผ้าแพรลายให้พ่อใช้เป็นก็เพราะย่าหอมเป็นคนจัดแจงแม่ใหญ่ให้สอนแม่ ตอนจะออกเรือน ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้พ่อออกเรือนกับแม่ คงเห็นว่าพ่อใหญ่เล็ดเป็นคนกว้างขวาง คบคนต่างถิ่น คนไปมาหาสู่มาก พวกค้าวัวค้าควายจะมาชุมกันที่บ้านพ่อใหญ่เล็ดทั้งนั้น พอมาชุมกันก็เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกัน คนก็พูดกันว่า พ่อใหญ่เล็ดเป็นนักเลง แต่พอออกเรือนมาแล้ว ย่าหอมก็บอกแม่ใหญ่ว่าให้สอนแม่ต่ำแพรลายให้เป็น แม่ใหญ่ก็สอนให้ แม่จึงต่ำผ้าแพรลาย ต่ำสาด เลี้ยงหม่อนทำไหมเป็น
ตอนนั้นทั้งย่าหอมทั้งแม่ใหญ่ ต่างก็ปลูกฝ้ายเลี้ยงหม่อนสาวไหม ปั้นด้ายทำแพรลายกันทั้งนั้น วันไหนเลิกเรียนมา เห็นย่าหอม เห็นแม่ใหญ่สาวดักแด้อยู่ก็วิ่งไปหยิบกิน พอออกเรือนแม่ใหญ่สอนให้แม่ต่ำแพรลายจนเป็น พ่อก็ได้ใช้แพรลายที่แม่ต่ำ แต่ก็ไม่ค่อยสวยเพราะแม่เพิ่งหัดต่ำเป็นใหม่ ๆ
พ่อใหญ่เล็ดกับพ่อใหญ่โทนอยากให้ลูกมีเรือนของตัวเองเป็นหลักเป็นฐานจึงช่วยกันถากเสาบ้านให้พ่อ ตอนออกเรือนสร้างบ้านใหม่ ๆ ไม้แอ้มฝาเรือนไม่พอ พ่อต้องเอาเผือกแอ้มเป็นฝาเรือนพอให้อยู่ได้ไปก่อน
บอกพ่อร้องเพลงที่ชอบนอนร้องอยู่นอกชานบ้านหลังเก่าให้ฟัง พ่อบอกว่าจำเนื้อเพลงไม่ค่อยได้แล้ว ฟันก็ไม่มีเหมือนเดิม ฟันซี่ที่โยกอยู่ตอนนี้หมอก็ไม่ยอมถอนให้ กลัวเลือดไหลไม่หยุดเพราะกินยาละลายลิ่มเลือด พ่อหยุดครู่หนึ่งเหมือนกำลังดึงความทรงจำกลับมาจากอดีตอันยาวนาน แล้วบทเพลงของพ่อก็ดังขึ้นแบบกระท่อนกระแท่น ปนเสียงลมที่ลอดออกมาตามช่องฟันที่หลุดร่วงไปเกือบหมดปาก
“…ว่าสิพรรณาเรื่อง ทุกข์เป็นพ่อหม้าย เมียผมตายหนีจาก มาลำบากตั้งแต่เลี้ยงลูกน้อย ของสิป้อนกะบ่มี คันสิตีกะอดไว้ คิดอาลัยตั้งแต่บ่มีแม่ เห็นแต่หน้าลูกน้อย ตางหน้าอีแม่มัน
อัศจรรย์ตั้งแต่ยามป้อนข้าว ยามมื้อแลงแอ่วพ่อ ยามหนาวมา ลูกผัดออด ๆ เว้าว่าอยากได้แพรลาย ลูกผู้ชายว่าอยากได้ผ้าห่ม พ่อกะจ่ม ทั้งทุกข์โศกี แม่บ่มี ลูกเอย..”
เสียงเพลงของพ่อถูกขับขานขึ้นอีกครั้งอย่างเบิกบานใจ หลังห่างหายการถูกขับร้องมาเนิ่นนาน ไม่ต่างจากเสียงเพลงที่ชานบ้านหลังเก่า แม้จะดูแหบพร่าลงไปมากตามสังขารที่ร่วงโรย แต่เสียงเพลงของพ่อ ยังคงถ่ายทอดความหมายของคำว่า “พ่อ” ผ่านท่วงทำนองเพลงได้อย่างลึกซึ้งกินใจ
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร