เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

กำเนิด “พระธรรมทูตในประเทศไทย” ในมุมหนึ่ง จาก “โครงการพระธรรมจาริก”

พระธรรมทูตไทยเกิดจาก “โครงการพระธรรมจาริก” ซึ่งเป็นโครงการเผยแผ่ศาสนธรรมควบคุู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยภูเขา โดยเกิดมาจากอดีตหัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ คือ นายประสิทธิ์ ดิศวัฒน์ ได้ลาราชการเข้ารับการอุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ เป็นเวลา ๑ พรรษา ศึกษาหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาชุมชนชาวเขาทางด้านจิตใจ เป็นประโยชน์ต่อการปกครอง และการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาฯ สมกับประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อันเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชนเผ่าไทย ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดของประเทศไทย

อีกประการหนึ่ง รัฐได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา มีดังนี้
๑. นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาดอยมูเซอ อำเภอเมือง จังหวัดตาก

๒. นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

๓. นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาม่อนแสนใจ ม่อนแสนเจริญ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
๔. นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล เขตต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลยตั้งอยู่ที่บ้านแม้วทับเบิก (ภูแปงม้า) อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

เมื่อพระประสิทธิ์ลาสิกขา จึงได้นำความคิดกราบเรียนปรึกษาหารือกับพระธรรมกิตติโสภณ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ซึ่งขณะนั้น ได้รับหน้าที่จากศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทยเป็นประธานอนุกรรมการสาขาวัฒนธรรมทางจิตใจ ทั้งสองฝ่ายต่างเล็งเห็นประโยชน์ร่วมกัน จึงได้ร่างโครงการเสนอกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการว่า “พระธรรมจาริก” ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านได้เป็นประธานคณะพระธรรมจาริก ทั้งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย มีพระธรรมจาริกรุ่นแรกออกปฏิบัติศาสนกิจจำนวน ๕๐ รูป แบ่งเป็น ๑๐ สาย ๆ ละ ๕ รูป เป็นการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กองสงเคราะห์ชาวเขา ในพื้นที่ ๕ จังหวัด คือ ตาก เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา ๑๐ หมู่บ้าน จำนวน ๖ เผ่า คือ แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ อีกก้อ และกะเหรี่ยง

ผลการดำเนินงานครั้งแรกประสบความสำเร็จ ชาวเขา ๑๐ หมู่บ้าน ที่มีประชากรประมาณ ๑,๐๐๐ คน ได้รู้จักการกราบไหว้พระ การทำบุญตักบาตร การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะจำนวน ๘๐๐ คน สมัครเข้าบรรพชาเป็นสามเณร จำนวน ๑๒ คน นับได้ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยโครงการพระธรรมจาริกประสบความสำเร็จ ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ได้ก่อตั้งศูนย์อบรมพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรชาวเขา ที่วัดศรีโสดา ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระพุทธิวงศมุนี (สุวณฺณ โชตมหาเถร) ได้นิมนต์พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิธาดา เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา และอำนวยการสำนักงาน โครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “ ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ : (๕) กำเนิดพระธรรมทูตในประเทศไทยในมุมหนึ่งจาก “โครงการพระธรรมจาริก” จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here