ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
คำนำ
เมื่อพ่อใหญ่แม่ใหญ่*อายุใกล้ ๘๐ ปี (*ปู่กับย่า คือ พ่อใหญ่โทน-แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม) คิดว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า ต้องทำอะไรที่จะเป็นการวางจิตของโยมทั้งสอง ลงสู่ฐานะอันควร จึงเริ่มเขียนเล่าเรื่องธรรมะสิ่งละอันพันละน้อย ถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ผ่านจดหมายขนาดยาว ๔ ฉบับ (พุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ ) เหมือนการพูดคุยผ่านตัวหนังสือ
อีกไม่กี่ปีถัดมา พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ทยอยจากไปทีละคน นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว
ต่อมา จดหมายถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทั้ง ๔ ฉบับ ได้ถูกนำมาปรับปรุงให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” (พุทธศักราช ๒๕๔๗ )
ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากโทษของวัฏฏะอย่างหนักหน่วง กินระยะเวลายาวนานหลายปี (พุทธศักราช ๒๕๖๑ – ๒๕๖๗ : ขณะเขียนคำนำ) บางช่วงบางเวลา มีโอกาสได้นั่งทบทวนอะไรบางอย่าง วันคืนก็ล่วงไป ล่วงไป ไม่ได้ล่วงไปเปล่า แต่กำลังได้ถดถอยลงไปด้วย อายุมากขึ้น ชีวิตก็เหลือน้อยลงทุกขณะ อะไรที่ทำแล้ว และอะไรที่เคยตั้งใจเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็ควรลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ” (พระพุทธพจน์)
การมาของวัยชราทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้ ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง แม้ระหว่างนี้จะยังอยู่ในช่วงที่โทษของวัฏฏะตามบีบคั้นอย่างไม่ลดละ สถานการณ์ชีวิตพลิกผันไปตามความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในแต่ละวัน แต่เมื่อคำนึงถึงพระพุทธพจน์ข้างต้น ก็ทำให้ไม่อาจวางใจลงในความประมาทได้ จึงหาเวลาสนทนากับโยมพ่อด้วยเรื่องสัพเพเหระ ตามโอกาสอันควร อันจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาในใจให้ถึงความบริบูรณ์
บางแง่มุมในการสนทนา ก็เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชราของโยมพ่อ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านอันธรรมดาแต่ก็แฝงไว้ด้วยปูมหลัง พื้นประวัติ ภูมิปัญญา คติชน และความเชื่อ อันเป็นรากฐานของชุมชน บางแง่มุมในการสนทนาของบางวัน กลับดิ่งลึกลงไป ในความคิดอันแหลมคม ทำให้เห็นชีวิตในความหมายของคำว่า “พ่อ” ยิ่งกว่าบทเทศนาว่าด้วยความกตัญญูใด ๆ
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา (พุทธศักราช ๒๕๖๔ ) หลังการสนทนาจบลงในแต่ละครั้ง จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มเรียบเรียงถ้อยคำของโยมพ่อ ออกเป็นตัวหนังสือ เป็นที่มาของ ๕๕ ความเรียงจากบทสนทนา ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พุทธศักราช ๒๕๒๗) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ จึงไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง ทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำห้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น
บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๗
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๕ “พ่อสร้างเนื้อสร้างตัวจากสร้อยทองของแม่” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๕. พ่อสร้างเนื้อสร้างตัวจากสร้อยทองของแม่
พ่อเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากสร้อยทองของแม่ พ่อเล่าว่า ตอนจะออกเรือนใหม่ ๆ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ไม่อยากให้ออกเรือนกับแม่ เพราะเคยมีเรื่องเก่าเรื่องหลังกันมาแต่ครั้งยังหนุ่ม
ส่วนเรื่องเก่าเรื่องหลังนั้นก็เป็นแต่เพียงฟังกันมาว่า เมื่อสมัยพ่อใหญ่ยังหนุ่ม บ้านปากน้ำทางเข้าเมืองยังเป็นทางเกวียน ไม่มีรถประจำทางอย่างทุกวันนี้ ยังใช้เกวียนขนของไปขายในเมือง ใครมีเกวียนก็จะรับจ้างขนข้าวของไปขาย ถ้าไม่ขึ้นของตอนเช้ามืดก็ต้องขึ้นเอาไว้ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ตื่นมาย่ำรุ่งเห็นดาวเพ็กอยู่ยอดไม้ก็ได้เวลาออกเดินทาง ต่างคนต่างก็ออกเกวียนตามกันไปเป็นคาราวานตั้งแต่เช้ามืด กะไปถึงเมืองให้ฟ้าแจ้ง
วันหนึ่ง พ่อใหญ่ขึ้นของเอาไว้ตั้งแต่หัวค่ำ แล้วจอดเกวียนไว้ที่คูผีแปลง บริเวณนาพ่อใหญ่สี ใกล้กับคำขี้นาค เช้ามืดพอพุ่มพู่*(*พุ่มพู่ คือ เช้าพอสลัว ๆ, เช้ายังมืดขมุกขมัว) พ่อใหญ่สีเห็นคนตะคุ่ม ๆ อยู่เกวียนพ่อใหญ่โทน พอไปดูเห็นหวายผูกเกวียนถูกแก้ออกจึงผูกกลับให้ใหม่ เพราะถ้าไม่ผูก ตอนพ่อใหญ่โทนขับเกวียนไปโดยที่ไม่รู้ว่าหวายถูกแก้ ข้าวของก็จะร่วงลงมาระหว่างทาง พ่อใหญ่สีบอกว่าพ่อใหญ่เล็ดเป็นคนทำ เรื่องนี้ได้ยินถึงหูพ่อใหญ่โทน จึงหงำ*ใจกันมา (*หงำใจ คือ หมางใจ,เคืองใจ,เก็บความไม่พอใจไว้ในใจ )
ตอนจะออกเรือน พ่อใหญ่แม่ใหญ่จึงไม่อยากให้พ่อออกเรือนกับแม่ แม่ใหญ่บอกพ่อว่า
“ถ้าเป็นคนที่แม่ฮัก ๔ หมื่น ๕ หมื่น แม่กะสิหาเงินมาแต่งให้”
พ่อพูดติดตลกว่า แต่พอออกเรือนกับแม่มาแล้ว พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ไม่ว่าอะไร แม่ใหญ่ก็รักของแก ตอนแม่ปวดท้องจะคลอดลูกคนแรก แม่ใหญ่เห็นลูกสะใภ้ปวดท้อง ก็นั่งร้องไห้น้ำตาไหลย้อย ๆ ด้วยความสงสาร
พ่อเล่าว่า พ่อไม่มีความรู้อะไร พอออกเรือนมาไม่รู้จะทำมาหากินลายใด เห็นความทุกข์ความยาก ร่ำ ๆ อยากกลับไปอยู่กับพ่อกับแม่ นอนเอามือก่ายหน้าผากคิดลายหาอยู่หากิน
ตอนนั้นคนไปปักษ์ใต้กันมาก เดี๋ยวคนนี้ก็ไป คนนั้นก็ไป คิดจะไปหากินทางปักษ์ใต้กับเขาบ้างจึงไปขอเงินแม่ใหญ่ แม่ใหญ่แอบให้เงินมา ไม่ให้พ่อใหญ่รู้ พอพ่อใหญ่รู้เข้าจึงให้แม่ใหญ่มาตามเอาเงินคืน เพราะพ่อใหญ่ไม่ให้ไป
พ่อไม่รู้จะทำอย่างไร งุ่นง่านลงบุ่ง เห็นมองพ่อใหญ่ห้อยอยู่เถียงนา จึงแบกมอง*ลงบุ่ง (*มอง คือ ด่าง หรือข่ายดักปลา) กางไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทาง ปลาเกิดติดมองมากเหลือเกิน ไม่รู้ปลามาจากไหน หย่อนลงตรงไหน ปลาก็ติดเต็มไปหมด ปลดจนเมื่อยมือ แม่เอาปลาไปขาย ได้เงิน ๗๐๐ บาท รู้ลายหากินจึงค่อยโล่งใจ
ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของพ่อก็หากินอยู่กับบุ่ง เรือและมองจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อ
ปีนั้นคนบ้านเราลือกันว่าพ่อกางมองหาปลาขายได้เงินหกร้อย เจ็ดร้อยบาทก็แบกมองลงบุ่ง หาปลากันเต็มบุ่งเต็มท่า
มองแต่ละต่ง*มีหลายขนาด (*ต่ง คือ ลักษณะนามของมอง เช่น มองต่งหนึ่ง มองสองต่ง) ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้จับปลาอะไร ถ้าจับปลาขนาดกลางและเล็ก จะใช้มองเล็กจับปลาที่บุ่ง แต่ถ้าจะจับปลาใหญ่ ต้องใช้มองขนาดใหญ่ไปไหลมองที่แม่น้ำมูล
พ่อเล่าว่า หน้าหนาวของทุกปี พอหัวลมอ่วย(*หัวลมอ่วย คือ เริ่มมีลมเหนือพัดมาเข้าหน้าหนาว) น้ำบุ่งจะลดลง เป็นช่วงหาปลาขาย พ่อจะนอนอยู่ฮ่มคร้อหาปลากับพ่อใหญ่พวง* (*คือ พ่อใหญ่พวง วงศ์ชะอุ่ม) เพราะต้องกางมองตอนเย็น พอกางมองเสร็จทุกต่ง ก่อนพายเรือกลับไปกินข้าวแลงที่ฮ่มคร้อก็ลองยามมองย้อนกลับรอบหนึ่งก่อน เผื่อมีปลาติดจะได้ปลดโยนใส่เรือกลับไปด้วย พอกินข้าวแลงเสร็จก็เอนหลังดูดยาเส้นรอสักพัก ดึกพอประมาณก่อนจะนอนก็ไปยามอีกรอบ เอาปลาขังใส่กระชังไว้ พอใกล้สว่าง ดาวเพ็กคล้อยลงยอดไม้ก็ลุกไปกู้มอง*(*กู้มอง คือ เก็บมอง) เพื่อย้ายที่กางใหม่ ในเย็นวันต่อไป
แต่ถ้าเห็นว่า ที่เดิมปลายังติดมองดีอยู่ พ่อก็จะยังไม่ย้ายมองไปกางที่อื่น เพียงแต่เอาเท้ากวักน้ำไล่สาวมองสะบัดคราบไคลปลดเศษไม้ใบหญ้าออกให้มองสะอาด แล้วกางไว้ตามเดิม
แม่เล่าเสริมว่า พ่อนอนหาปลาอยู่นา ส่วนแม่นอนอยู่บ้านกับลูกเล็ก ๆ พอตีสามตีสี่ อากาศหนาว ๆ แม่ต้องตื่นไปปลุกแม่ใหญ่มี ไต้กระบอง*ส่องทาง (*กระบอง คือ จุดขี้ไต้) ชวนกันเดินตามดินทรายทางหลวงกระโสบ มาหาบเอาปลาจากพ่อไปขายที่ตลาดคิวตะการ ต้องกลับขึ้นมาจากบุ่ง ให้ทันรถเที่ยวแรก ซึ่งออกแต่เช้ามืด หากไม่ทันรถเที่ยวแรก จะเข้าเมืองสายก็จะขายปลาไม่ได้ราคา เพราะแม่ค้าปลาที่ขายปลีกในตลาด จะซื้อปลาเจ้าอื่นไปก่อน ถ้ามาสายจะมีคนเอาปลาจากที่ต่าง ๆ มาขายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องขายถูก บางทีต้องขอร้องเขาให้ซื้อ เพราะไม่อยากหาบปลากลับ
ถ้าอยากได้ราคาดีต้องเสียเวลานั่งขายปลีกที่ตลาด แต่ต้องใช้เวลามาก บางทีจะหารถกลับออกมาบ้านก็ยาก พ่อจึงให้แม่เหมาขายเป็นครุ ๆ ไปเลย ไม่ต้องเสียเวลา จะได้รีบกลับ
วันไหนกางมองได้ปลามาก พ่อก็จะหาบมาส่งขึ้นรถที่ถนนใหญ่ ให้แม่นั่งรถประจำทาง เอาปลาเข้าไปขายในเมือง พอกลับจากเมืองแม่ก็จะซื้อมันแกวบ้าง ขนมไข่หงส์ไข่ห่านบ้าง หมี่กระทิบ้าง เงาะและส้มบ้างมาฝากลูก ๆ นานทีปีหนถึงจะได้กินทุเรียน ส่วนพ่อชอบกินข้าวกับขนมผิงหรือไม่ก็น้ำอ้อย
แม่เล่าว่า ก่อนจะขายปลาแม่เคยหาบถ่านขายมาก่อน เอาถ่านเข้าเมืองมาขายทีละสองกระสอบจะได้ขายหมดไว เอากระสอบถ่านตั้งไว้ที่ตลาดคิวตระการ แล้วตักใส่หาบเดินถามขายไปจนถึงที่ตั้งโรงพยาบาลอุบลรักษ์ทุกวันนี้ อีกทางก็ไปจนถึงโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
ถึงหน้าร้านไหนก็ถามขายว่า “เอาถ่านบ่ ๆ ซื้อถ่านบ่” ไปเรื่อย พอขายหมดหาบ ก็กลับมาตักถ่านจากกระสอบใส่หาบไปเดินถามขายใหม่ ร้านไหนถ่านหมด เขาก็จะซื้อเอาไว้ บางร้านอยากได้ทั้งกระสอบ พ่อก็แบกไปส่ง
ต่อมา พ่อบอกว่าอายคนที่ให้แม่หาบถ่านขาย จึงให้หยุดมาขายปลาแทน ส่วนถ่านใครอยากได้ก็เอาใส่รถไปขายเป็นกระสอบไปเลย
จากนั้น พ่อก็คิดหาเงินลายใหม่ อยากได้วัวมาเลี้ยงแต่ไม่มีเงิน เห็นแม่มีสร้อยทองติดตัวมาด้วยตอนออกเรือน คงเป็นสร้อยคอพ่อใหญ่เล็ดซื้อให้ลูกสาว จึงขอแม่ขาย เอาเงินมาซื้อวัวเลี้ยง ตอนแรกแม่ก็ไม่ยอมขาย แต่ออยไปออยมา*แม่ก็ยอม (*ออย คือ อ้อน,พูดหว่านล้อม)
ตอนนั้น แม่ขายสร้อยทองได้เงินสามร้อยห้าสิบบาท จึงเอามารวมกับเงินขายปลาไปซื้องัวมาตัวหนึ่ง ๗๐๐ บาท พ่อขุนขายได้เงิน ๑,๕๐๐ บาท จึงไปซื้องัวตัวใหม่มาขุนอีก พอได้ราคาก็ขาย แล้วซื้อมาขุนใหม่ ทำอยู่อย่างนี้ ได้กำไรทีละสามร้อย ห้าร้อย ค่อย ๆ เก็บกำจึงค่อยหายใจคล่อง
พ่อบอกว่า คนบ้านเราสมัยก่อนจะมีสร้อยทองใส่ก็ยากนักหนา แต่แม่ก็ฝืนใจยอมถอดสร้อยออกจากคอขายเอาเงินมาเป็นทุนรอน เพราะทุกข์ยากอย่างนี้แม่จึงพูดอยู่เสมอว่า
“อุ้มลูกใส่แอว* (*แอว คือ เอว)
เลี้ยงลูกมา พาลูกใหญ่
สู้ทุกข์สู้ยาก บ่าหาบมือคอน
กว่าสิใหญ่เป็นท้าวเป็นนาง”