“เลื่อยของพ่อถูกเก็บมานานแล้ว หลังการเข้ามาของเลื่อยเครื่อง วิถีเลื่อยไม้สร้างบ้านของคนบ้านปากน้ำเริ่มเปลี่ยนไป หลังของพ่อเริ่มหง่อม แรงของพ่อก็เริ่มหมดลงตามอายุ ฟันใบเลื่อยที่พ่อเคยใช้รับจ้างเลื่อยไม้หาเงินซื้อข้าวกิโลเลี้ยงลูก เริ่มถูกสนิมกัดกิน เพราะร้างตะไบฝนคมมานานหลายสิบปี ไม่ต่างจากฟันของพ่อที่ผุกร่อนไปตามอายุ…”
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๔ “เรื่องของคนเลื่อยไม้” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๔
เรื่องของคนเลื่อยไม้
การเลื่อยไม้เป็นทักษะเฉพาะทางอย่างหนึ่ง ต้องรู้จังหวะดึง จังหวะผ่อนของอีกฝ่าย ฟันเลื่อยจึงจะกินเนื้อไม้ตรงกับเส้นถ่านที่ดีดไว้ ทำให้ไม่เสียเนื้อไม้ และไม่กินแรงคู่เลื่อยไม้
จากเผาถ่านขายพ่อก็เริ่มฝึกหัดเลื่อยไม้ เพื่อหาเงินอีกทางหนึ่ง
พ่อเล่าว่า พ่อนี้แหละที่หาตัดไม้เผาถ่านขายอยู่ตามริมบุ่งริมมูล ใช้เลื่อยมือช่วยกันตัดกับแม่ ที่บ้านเราพ่อเริ่มเผาถ่านฟากบุ่งขายเป็นคนแรก ๆ เพราะไปเห็นคนบ้านบัวท่าข้ามมาเผาถ่านขายจึงทำบ้าง ตอนนั้น คนบ้านเราจะเผาถ่านตามหัวไร่ปลายนาเอาไว้ใช้เอง ไม่ค่อยมีใครเผาถ่านขาย จะขายบ้างก็ไม่ได้เป็นกิจลักษณะ บางทีถางป่าโค่นต้นไม้ลงก็เผาทิ้งเปล่า ๆ
ต่อมา พอมีคนเห็นว่าพ่อเผาถ่านฟากบุ่งขายได้เงิน ก็เริ่มมีคนทำตาม คนบ้านบัวท่าเห็นว่าพ่อเผาถ่านฟากบุ่งขายได้เงินก็หลั่งไหลกันมาเผาถ่านตามริมบุ่งริมมูลมากขึ้นเหมือนกัน
มีอยู่ปีหนึ่ง พ่อใหญ่พิมพ์ปลูกบัวอยู่ท่าโฮงแมบไปถางหัวป่าแซง ขึ้นไปทางยอดบุ่งเพื่อปลูกปอ ตัดไม้กองไว้เป็นกอง ๆ เต็มไปหมด กำลังจะสุมทิ้ง* (*สุม คือ จุดไฟเผา) พ่อไปเห็นเข้าจึงขอซื้อ พ่อใหญ่พิมพ์บอกว่า “มึงอยากได้ เอาเหล้ามาให้กูกลมหนึ่ง” พ่อจึงซื้อเหล้าไปให้หนึ่งขวด เพราะแกชอบกินเหล้า
ช่วงนั้น พ่อหัดเลื่อยไม้จนชำนาญแล้ว จึงซื้อเลื่อยมาไว้เป็นของตัวเอง พอหาคนจับคู่เลื่อยไม้ได้ก็เริ่มไปรับจ้างกับกลุ่มเลื่อยไม้หาเงินอีกทาง
ส่วนแม่กับลูกเล็ก ๆ ช่วยกันตัดไม้เผาถ่าน พ่อเอาผ้าขาวม้าผูกเลื่อยข้างหนึ่งให้ลูกช่วยกันจับตัดไม้เผาถ่านซากันกับแม่(*ซากัน คือ ช่วยกันดึง) แม่ลูกช่วยกันตัดไม้เผาถ่านได้ถึงสามสิบสี่สิบกระสอบ
พอเย็นเลิกจากเลื่อยไม้พ่อก็เอาเกวียนมาแก่กระสอบถ่าน ต้องขึ้นค้อย*ที่ท่าซาละวัน (*ค้อย คือ ตลิ่ง, มอ, ที่ลาดเอียง) ขนกระสอบถ่านขึ้นเกวียนจนเต็ม พ่อกลัววัวหนักลากเกวียนขึ้นค้อยไม่ไหว จึงให้ลูก ๆ ช่วยกันดันท้ายเกวียนช่วยแรงวัว แต่ก็กลัวเกวียนจะถอยหลังเหยียบลูก จึงบอกลูกว่า ถ้าเห็นเกวียนถอยหลังให้พากันรีบกระโดดออก
ปีนั้นพ่อขายถ่านได้ถึง ๑,๖๐๐ บาท เห็นเผาถ่านขายได้เงินมาก ครูบาจะบวชเณรจึงไม่อยากให้บวช อยากให้ช่วยแม่เผาถ่านขายออย*ไว้อย่างไรก็ไม่ฟัง (ออย* คือ พูดหลอกล่อ,พูดหว่านล้อม) จะบวชอย่างเดียว ตอนนั้น พ่อก็ไม่คิดอย่างทุกวันนี้ คิดแต่ทางหาอยู่หากินให้หนีทุกข์หนียาก
แม้ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอกินพอใช้ พ่อจึงคิดหาเงินลายใหม่ ไปขอเลื่อยไม้กับกลุ่มพวกรับจ้างเลื่อยไม้ ที่ไหนใครจะทำบ้านใหม่ก็รับจ้างเลื่อยแป้นพื้น แป้นแอ้ม ค้าว ขื่อ และไม้เครื่องเรือนต่าง ๆ ตามขนาดที่จะใช้สร้างบ้าน
พ่อเล่าว่า เวลาป้ำ*ต้นไม้ใหญ่ (*ป้ำ คือ โค่น) ต้องมีวิธี จะให้ไม้ล้มไปทางไหน ต้องบากทางนั้นออกก่อน จึงเอาเลื่อย ๆ อีกด้าน แล้วใช้ลิ่มตอกเข้าไปตามปากเลื่อย ต้นไม้จะค่อย ๆ เอียงไปทางด้านที่เอาขวานบากไว้ พอตัดใกล้ขาด ต้นไม้ก็จะล้มไปตามทางที่ต้องการ
ตอนต้นไม้จะล้ม ต้องระวังอย่าให้ต้นไม้หนีบเลื่อย หรือบางที ต้นไม้อาจไม่ล้มไปตามทางที่ต้องการ ต้องคอยดูทิศทางให้ดี อาจเกิดความผิดพลาด ไม้ล้มทับได้รับบาดเจ็บล้มตายได้
พอไม้ล้มลงแล้วก็กะขนาดตัดออกเป็นท่อน ๆ ตามที่จะใช้งาน จากนั้น จึงกืงท่อนไม้ขึ้นขนาง* (*กืง คือ งัด,ผลัก,กลิ้ง *ขนาง คือ คานคู่สำหรับวางท่อนไม้) แล้วใช้เชือกชุบน้ำถ่านดีดให้เป็นเส้น เลื่อยเปิดปีกไม้ออกก่อน ให้เหลือเนื้อไม้สี่เหลี่ยม จึงค่อยดีดให้เป็นเส้น เพื่อเลื่อยแป้นพื้น แป้นแอ้ม ตามขนาดที่ต้องการ
พอได้เงินเป็นรายวัน พ่อเริ่มสนุกกับการรับจ้างเลื่อยไม้ นานเข้าก็เกิดความชำนาญ สุดท้ายพ่อได้กลายเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่มักถูกเลือกจับคู่เวลามีคนว่าจ้างเลื่อยไม้
ตอนหลวงตาเลื่อยไม้สร้างศาลา สร้างกุฏิที่วัด พ่อก็ได้ร่วมเลื่อยไม้ด้วยทุกครั้ง หลวงตาท่านใช้ไม้มาก เพราะท่านชอบสร้าง พอมีคนบริจาคต้นไม้ให้ พ่อใหญ่เลิศ ประสานพิมพ์ก็จะไปหาคนเลื่อย ก็รวมกันเป็นคณะของคนนั้นคนนี้ไปเลื่อย แล้วแต่ว่าช่วงนั้น ใครว่าง ใครไม่ว่าง
เกิดจากความร่วมแรงของชาวบ้านปากน้ำ
ยิ่งตอนสร้างอาคารเรียน โรงเรียนบ้านปากน้ำ สร้างสถานีอนามัย ไม่ว่าจะสร้างหลังไหน พ่อก็ได้เลื่อยไม้สร้างด้วยทุกหลัง
เกิดจากความร่วมแรงของชาวบ้านปากน้ำ
พอหมดหน้านาก็รับจ้างเลื่อยไม้ เลื่อยของเจ้านี้เสร็จก็ไปต่ออีกเจ้า มีงานเข้ามาไม่ขาด ช่วงไหนไม่มี ก็ไปทำอย่างอื่นรอพรรคพวกมาเรียกมาหา จึงเริ่มเก็บกำเงินได้บ้าง
เกิดจากความร่วมแรงของชาวบ้านปากน้ำ
“ห่าลางมื้อกินข้าวแลงข้าวงายแล้ว กะนอนถ้าฟังเบิ่งว่า สิมีหมู่มาเอิ้นไปเลื่อยไม้เลื่อยตอกบ่ พอมีหมู่มีพวกมาบอกมาเติน กะส่วงใจว่ามีลายหาเงินแล้ว”
“แต่กี้ เล้าข้าวหลังเก่าเป็นไม้ขัดแตะ เอาขี้ทาลาน*โบกพอได้ใซ้ อยู่ต่อมาพ่อกะมาหัดลูกเลื่อยไม้เฮ็ดเล้าก่อน คึดว่า คันลูกเป็นแล้ว พอได้เลื่อยไม้เฮ็ดเฮือนซาพ่อ กะได้เล้าข้าวที่ใซ้มาทุกมื้อนี้ล่ะ แนวเด็กน้อย ฝึกเลื่อยไม้ใหม่ ๆ ปากเลื่อยมันกะบ่อยากตรงปานใด๋ จังว่าได้ไม้เฮ็ดเล้าข้าวบ่งาม โตกะอยากใจฮ้ายให้ลูกแน่ แม่เพิ่นฮ้องใส่ว่า แนวพ่อมันบ่ดีลูกมันคือสิดี พอหัดเป็นแน่แล้วกะจังเลื่อยไม้ซาลูกเฮ็ดเฮือน”
(*ขี้ทาลาน คือ กรรมวิธีระบายความชื้นของเล้าข้าว ด้วยการเอาแกลบคลุกกับขี้งัวขี้ควายแล้วนำไปโบกไม้ขัดแตะแทนปูน ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการระบายอากาศ ป้องกันไม่ให้ข้าวในเล้าเกิดความชื้นจนเน่าเสีย)
ต่อมา พ่อคิดจะสร้างบ้านหลังใหม่ จึงสอนลูกให้เลื่อยไม้ เริ่มฝึกจากเลื่อยไม้ทำเล้าข้าวใหม่ก่อน ก็ได้เล้าข้าวที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ พ่อเลื่อยไม้รับจ้างไป ก็หาพรรคพวกช่วยเลื่อยไม้เครื่องเรือนเก็บสะสมเอาไว้ด้วย เตรียมทำบ้านของตัวเอง คนเลื่อยไม้ด้วยกัน จ้างตางขอขอตางจ้าง ต่างคนต่างขอกันไปมา ช่วงไหนไม่มีงานก็เลื่อยกับลูกเก็บสะสมเอาไว้ ก็ลดค่าใช้จ่ายในการเลื่อยไม้ไปได้มากเหมือนกัน
จากบ้านไม้เป็นบ้านปูน มาถึงปัจจุบัน คนรุ่นใหม่สร้างบ้านใหม่ ใช้โครงเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน
เลื่อยของพ่อถูกเก็บมานานแล้ว หลังการเข้ามาของเลื่อยเครื่อง วิถีเลื่อยไม้สร้างบ้านของคนบ้านปากน้ำเริ่มเปลี่ยนไป หลังของพ่อเริ่มหง่อม แรงของพ่อก็เริ่มหมดลงตามอายุ ฟันใบเลื่อยที่พ่อเคยใช้รับจ้างเลื่อยไม้หาเงินซื้อข้าวกิโลเลี้ยงลูก เริ่มถูกสนิมกัดกิน เพราะร้างตะไบฝนคมมานานหลายสิบปี ไม่ต่างจากฟันของพ่อที่ผุกร่อนไปตามอายุ
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร