วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑๒)

“การนับอายุของสวรรค์และพรหมโลก”

: จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

การนับอายุของสวรรค์ และพรหมโลก

การกำหนดนับอายุของผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์และพรหมโลกนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งเพราะมีอายุยืนยาวจนไม่สามารถคำนวณด้วยภาษามนุษย์  แต่ท่านได้แสดงไว้พอให้ เห็นเป็นตัวอย่าง  ครั้นจะข้ามไป  ไม่กล่าวถึงอายุเทวดาและอายุพรหม  การเล่าเรื่องภพภูมิในพระพุทธศาสนาก็จะไม่สมบูรณ์  ต่อไปนี้  จะเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างอายุของผู้ที่เกิดในสวรรค์กับอายุของมนุษย์

(๑) จาตุมหาราชิกาภูมิ  มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์  ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๙ ล้านปีในเมืองมนุษย์

(๒) ตาวติงสาภูมิ มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์  ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๓๖ ล้านปีในเมืองมนุษย์

(๓) ยามาภูมิ  มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์  ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๑๔๔ ล้านปีในเมืองมนุษย์

(๔) ดุสิตาภูมิ  มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์  ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๕๗๘ ล้านปีในเมืองมนุษย์

(๕) นิมมานรดีภูมิ  มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๒,๓๐๔ ล้านปีในเมืองมนุษย์

(๖) ปรนิมมิตวสวัตดีภูมิ  มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์  ท่านเปรียบเทียบเท่ากับ ๙,๒๑๘ ล้านปีในเมืองมนุษย์ 

ทั้งหมดตามที่กล่าวนี้เป็นอายุของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น

ส่วนอายุของผู้ที่เกิดในพรหมโลกนั้นไม่สามารถเทียบได้กับอายุของโลกมนุษย์  เพราะพรหมนั้นมีอายุยืนยาวมาก  เกินจำนวนนับด้วยภาษามนุษย์  ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงอายุของพรหมแต่ละชั้นไว้ ดังนี้

  1. พรหมปาริสัชชาภูมิ  มีอายุ ๑/๓ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
  2.  พรหมปุโรหิตาภูมิ  มีอายุ ๑/๒ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
  3.  มหาพรหมาภูมิ มีอายุ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
  4.  ปริตรตาภาภูมิ มีอายุ ๒  มหากัป
  5.  อัปปมาณาภาภูมิ มีอายุ ๔  มหากัป
  6.  อาภัสสราภูมิ มีอายุ ๘ มหากัป
  7. ปริตตสุภาภูมิ มีอายุ๑๖ มหากัป
  8.  อัปปมาสุภาภูมิ มีอายุ ๓๒ มหากัป
  9.  สุภกิณหาภูมิ มีอายุ ๖๔ มหากัป
  10. เวหัปผลาภูมิ มีอายุ ๕๐๐  มหากัป
  11. อสัญญสัตตภูมิ มีอายุ ๕๐๐  มหากัป
  12. อวิหาภูมิ มีอายุ ๑,๐๐๐  มหากัป พรหมชั้นนี้บำเพ็ญสัทธินทรีย์  คือ บำเพ็ญบารมีด้านศรัทธา
  13. อตัปปาภูมิ มีอายุ ๒,๐๐๐มหากัป พรหมชั้นนี้บำเพ็ญวิริยินทรีย คือบำเพ็ญบารมีด้านความเพียรพยายาม

14. สุทัสสาภูมิ มีอายุ ๔,๐๐๐ มหากัป พรหมชั้นนี้บำเพ็ญสตินทรีย คือบำเพ็ญบารมีด้านสติ

15. สุทัสสีภูมิ มีอายุ ๘,๐๐๐ มหากัป พรหมชั้นนี้บำเพ็ญสมาธินทรีย คือบำเพ็ญบารมีด้านสมาธิ

16. อกนิฏฐาภูมิ มีอายุ ๑๖,๐๐๐ มหากัป พรหมชั้นนี้บำเพ็ญปญญินทรีย คือบำเพ็ญบารมีด้านปัญญา

17. อากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป

18. วิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุ ๔๐,๐๐๐  มหากัป

19. อากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป

20. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐  มหากัป

 ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  มนุษย์เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิทั้ง ๓ นี้ตามแต่บุญกรรมที่ได้กระทำไว้แตกต่างกัน   บางครั้งต่ำลง  บางครั้งสูงขึ้น หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่ รู้จักจบสิ้น  จึงเรียกว่า “สังสารวัฏ”

พระพุทธองค์เห็นภพภูมิเหล่านี้ตามความเป็นจริงด้วยญาณที่เกิดจากการบำเพ็ญทางด้านจิต  จนบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเหนือการรับรู้ด้วยตาของมนุษย์เราทั้งหลายจึงได้แจกแจงสั่งสอนไว้  สิ่งเหล่านี้คนส่วนมากไม่เชื่อพร้อมทั้งปฏิเสธ  โดยให้เหตุผลว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ไม่สามารถมองเห็นได้  และเป็นเรื่องงมงาย

แท้จริง  พระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้คนเชื่อ แต่สอนความจริง  ใครจะเชื่อความจริงหรือไม่ก็ตาม  ความจริงก็เป็นความจริง  เพราะความจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ  หากใครเห็นตามนั้นก็สามารถนำความจริง (ธรรมะ) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตได้ 

เหมือนความร้อนของไฟ  ถ้ามีคนบอกว่าไฟร้อน  เราจะเชื่อหรือไม่ก็ตามก็ไม่มีผลอะไรต่อความร้อนของไฟ  เพราะไฟยังคงร้อน  และทำหน้าที่ของไฟอยู่ตามธรรมชาติ  หากใครเห็นตามนั้นก็สามารถนำไฟไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตได้เช่นกัน

นรกสวรรค์  บุญกรรม  การเวียนว่ายตายเกิดก็เช่นเดียวกัน  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือไม่เชื่อของใคร  แต่นรกสวรรค์ก็ยังคงดำเนินไปตามธรรมชาติ

อาศัยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อสรรพสัตว์จึงได้ออกเที่ยวสั่งสอนผู้คนให้รู้ ถูกรู้ผิด  ให้เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่ง  ตลอดจนความเป็นไปของสรรพสัตว์  ที่เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ เพื่อจะได้ตั้งใจทำความดีและเพียรพยายามงดเว้น จากความชั่ว  ในขณะที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด  จะได้หลีกเลี่ยงความทุกข์  ความเดือดร้อนที่จะเกิดในกาลเบื้องหน้า  และเพียรพยายามเพื่อก้าวข้ามภพชาติต่อไป

ลูกหลานต่างก็ไม่มีใครรู้ได้ว่า  สังขารร่างกายโยมแม่ใหญ่จะเป็นไปได้อีกนานแค่ไหน

นับวันกำลังก็ยิ่งโรยแรงลงไป  คนวัย ๘๓ ปี  อายุมิใช่น้อย  โยมพ่อใหญ่ก็จากไปแล้วด้วยวัย ๘๐ ปี  เป็นสิ่งยืนยันถึงความเป็นจริงที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ถึงแม้จะรู้เช่นนี้  อาตมาก็ยังรู้สึกหดหู่ใจ  ยิ่งเห็นท้องทุ่งก็ยิ่งอดคิดถึงโยมพ่อใหญ่ไม่ได้

โยมพ่อใหญ่มีชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเรียบง่าย  ไม่ทำตนเองให้ลำบากเดือดร้อน  และไม่ทำผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อน

ใครจะดีใครจะชั่วก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ  ยังคงทำงานตามหน้าที่ของตนอย่างเงียบๆ จากวัยหนุ่มตราบจนชรา แล้วก็จากไปอย่างเงียบๆ

 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  อาตมามีโอกาสกลับบ้านเห็นท้องนา  หมู่ไม้  ดูมันเงียบเหงายังไงบอกไม่ถูก  เหมือนมีอะไรสักอย่างขาดหายไป  แน่นอนสิ่งที่ขาดหายไปคงหนีไม่พ้นชายชราวัย ๘๐ ปี ผู้เป็นเจ้าของท้องนาแห่งนี้  ชายชราที่เคยสอนให้อาตมารู้จักท้องนาและสายน้ำ  สอนให้รู้คุณค่าของการดำรงชีวิตอย่างสงบเสงี่ยม  เรียบง่ายตามกำลังความสามารถและความเพียรพยายามของตน  ไม่คดโกง  ไม่เบียดเบียน  ไม่กล่าวร้ายใครๆ  มีศรัทธาตั้งมั่นต่อพระพุทธศาสนาไม่คลอนแคลน

ชายชราคนนี้ได้จากพวกเราไปแล้ว  เหมือนจะยืนยันคำสอนของพระพุทธองค์ว่าความตายเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้

จำได้ว่าเมื่อยังเป็นเด็ก  พอถึงฤดูน้ำหลาก  อาตมาชอบนั่งเรือดูกอบัวยืดก้านหนีน้ำจอกแหนไหลตามกระแสน้ำ  เหมือนผู้คนไหลตามกระแสของอำนาจกิเลส  ต่างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น  เข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน  เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายกิเลส ที่ตนเองต้องการ

บางคนก็กล่าวร้าย  บางคนก็ใส่ร้าย  บางคนก็ทำร้ายผู้อื่น  เหมือนไม่รู้ว่าชีวิตนี้สั้นนัก เพราะอำนาจ วาสนา ฐานันดรศักดิ์  และคำยกยอปอปั้นที่โลกมนุษย์สมมติให้

ดอกบัวบานสะพรั่ง  แทงยอดหนีน้ำหลาก  รับแสงอาทิตย์ดูงดงาม  บนสายน้ำแห่งนี้เองที่โยมพ่อใหญ่  เกิด  เติบโต  ทำมาหาเลี้ยงชีพตราบจนชรา แล้วจากไปอย่างเงียบๆ  บนท้องทุ่งแห่งนี้  คงมีผู้คนเกิดเติบโตและจากไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่รู้จักจบสิ้น  แน่นอน  โยมพ่อใหญ่มิใช่คนสุดท้ายของทุ่งแห่งนี้  อย่างน้อยก็ลูกหลานที่เกิดตามโยมพ่อใหญ่มา  ที่เราเห็นกันอยู่  ซึ่งก็รวมทั้งอาตมาด้วย

นึกแล้วเหมือนตัวเองกำลังแสวงหาอะไรสักอย่างที่ตัวเองไม่สามารถรู้ได้แม้จะแสวงหาจนแล้วจนเล่าก็ยังไม่อาจค้นพบ

บางครั้งอาตมาก็เกิดความคิดว่า  ตัวเองไม่รู้เป็นลูกเป็นหลานประสาอะไร  ไม่ สามารถอยู่ดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้  เหมือนลูกหลานใครอื่นเขา  อยากอยู่ใกล้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย  อยากปรนนิบัติ  อยากทำเหมือนอย่างที่ลูกหลานใครอื่นเขาทำ  แต่ก็เป็นได้เพียงความคิดเพราะมีบางอย่างย้ำเตือนให้เดินตามเส้นทางของตนเอง  เส้นทางที่จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทอดขนาดไปสู่จุดหมายใด

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำก็คือความอบอุ่นที่ได้รับจากวัยเยาว์

        จดหมายฉบับนี้ค่อนข้างพูดยาวไปหน่อย  พอเขียนแล้วก็หาที่ลงไม่ได้  ดูน่าเบื่อ  ภาษาก็ออกจะฟังยาก  เห็นจะต้องหยุดเสียที  หากมีเวลา  อาตมาจะเขียนมาอีกครั้ง

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย  และด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ  ปัญญา  อันเกิดจากการที่อาตมาได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา  และที่เคยได้บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติตลอดจนถึงชาติปัจจุบัน  ขอให้โยมแม่ใหญ่มีพระพุทธเจ้า  มีพระธรรมเจ้า  และมี พระสังฆอริยเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เสมอ  อย่าได้ประมาท  มีสุขภาพกายที่ดีและสุขภาพใจแช่มชื่นรื่นเริงเบิกบานในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป

กรุงเทพมหานคร,วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๒

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑๒ จบ) “การนับอายุของสวรรค์และพรหมโลก” : จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here