วันฝนตก ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ข้าพเจ้าทำความสะอาดหลังบ้าน ท้องร่อง บริเวณที่กางเต็นท์ และกวาดใบไม้

หลังฝนตก…ความสกปรกภายนอกหายไป แต่ความสกปรกภายในจิตยังมากมาย

คงต้องใช้เวลาขัดเกลาอีกนาน …อาจตลอดชีวิตก็ยังไม่พอ

ความทุกข์มากมายถาโถม ประดุจสึนามิระลอกแล้วระลอกเล่า

จิตที่ยังไม่ได้ฝึกมิอาจมีพลังที่จะหยัดยืน

หลังพายุผ่านพ้น ก็ยังมีพายุลูกใหม่มาอีก

สติก็ปัญญายังไม่แก่กล้าอยู่ดีที่จะยอมรับความเจ็บปวดทุกข์ทนมหาศาล

ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงหนังสือเล่มนี้

“ดาไลลามะ สนทนากับคนไทย ที่ธรรมศาลา : ขั้นตอนภาวนา ,มรรควิถีโพธิสัตว์ และ ธรรมาธิปไตย” ที่ช่วยให้กำลังจิตฟื้นคืนมา…

หนังสือ "ดาไลลามะ สนทนากับคนไทย ที่ธรรมศาลา " จัดพิมพ์โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หนังสือ “ดาไลลามะ สนทนากับคนไทย ที่ธรรมศาลา ” จัดพิมพ์โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ




กับ วิธีปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ๓๗ ประการ

จึงขอนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน ที่อาจได้เปิดมาพบเจอ

และอาจกำลังทนทุกข์กับชีวิตที่ไร้ทางออก

และกำลังหาหนทางแห่งปัญญาในการแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยวิธีแห่งพุทธะ

ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพและสังฆานุภาพ

ข้าพเจ้าขออัญเชิญ วิธีการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ๓๗ ประการ

มาบันทึกไว้ ณ พื้นที่กลางอากาศแห่งนี้ …

เพื่อคนทุกข์ จักได้มีอีกหนึ่งหนทางในการเยียวยาหัวใจตนเอง

และแบ่งปันความทุกข์จากผู้ที่เขารักและศรัทธาสุดหัวใจ…

องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากงานเสวนา “หนึ่งจุดหมาย หลายหนทาง” ณ ประเทศอินเดีย
โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ขอนอบน้อมแด่พระอวโลติเกศวร

ท่านเห็นสรรพสิ่งไม่มาและไม่ไป

กระนั้นท่านยังขวนขวาย

เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์อย่างแน่วแน่

ข้าแด่ครูผู้ยิ่งใหญ่ และเทพผู้พิทักษ์เชนเรสิก

ข่าพเจ้าขอคารวะแด่ท่านด้วยกาย วาจา ใจ

ข้าแต่พระสัมมาสัมพุทธะทั้งปวง

ผู้เป็นแหล่งกำเนิดของประโยชน์และความสุข

อันเกิดจากการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง

ซึ่งต้องอาศัยความรู้ว่า จะปฏิบัติอย่างไร

ณ บัดนี้ ข้าจะอธิบายวิถีปฏิบัติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์

บัดนี้ เธอได้กายมนุษย์อันล้ำค่า

เหมือนนาวาวิเศษที่หาได้ยาก

พึงเงี่ยหูฟังธรรม ตริตรองใคร่ครวญ
และเจริญสมาธิอยู่อย่างหมั่นเพียรทั้งกลางวันกลางคืน

เพื่อปลดปล่อยตัวเองและผู้อื่นให้เป็นอิสระจากสังสารวัฏฏ์

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒.

ความรักของญาติมิตร ไหลวนเหมือนน้ำ

ความเกลียดต่อศัตรูเผาลนเหมือนไฟ

เพราะม่านมืดอวิชชาบังไว้

เราแยกไม่ออกว่า อะไรควรรับ อะไรควรปฏิเสธ

พึงละเรือนเสียเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓.

พึงละทิ้งสถานที่อันไม่เอื้ออำนวย

ทุกข์ใจจะค่อยๆ คลายลง

เนื่องเพราะไม่ถูกดึงออกนอกทาง

กุศลกรรมจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ

เมื่อจิตแจ่มใส ศรัทธาต่อพระธรรมก็ก่อเกิด

พึงแสวงหาความวิเวกเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๔.

มิตรและญาติที่คุ้นเคยจะจากพราก

ทรัพย์ที่หามาด้วยความเหนื่อยยากจะจากพราก

วิญญาณผู้เป็นแขกจะต้องลาจากเรือนรับแขกคือกายนี้

พึงปล่อยวางชีวิตนี้เสียเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๕.

เมื่อมิตรภาพกับใครทำให้โลภ โกรธ หลง งอกงาม

ทำให้คุณภาพของการฟังธรรม ตรึกตรองธรรม และการภาวนาลดลง

ทั้งยังทำลายซึ่งความเมตตา กรุณา

พึงละมิตรภาพเช่นนั้นเสียเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๖.

เมื่อพึ่งพาใครแล้วอกุศลกรรมลดลง

และกุศลกรรมเพิ่มขึ้น ดังพระจันทร์ข้างขึ้น

พึงเทิดทูนเพื่อนทางธรรมคนนั้น ยิ่งกว่ากายของตน

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๗.

ตนยังถูกขังอยู่ในเรือนจำแห่งสังสารวัฏฏ์

แล้วโลกียเทพจะคุ้มครองใครได้

ดังนั้น พึงพึ่งพระรัตนตรัยซึ่งไม่ทรยศต่อเธอเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๘.

ทุกข์ในภูมิต่ำทั้งหลาย ยากนักจะหลีกเลี่ยงได้

พระพุทธองค์สอนว่า นี่เป็นผลจากอกุศลกรรม

ดังนั้น พึงลดทอนอกุศลกรรมเถิด

แม้จะต้องสละชีวิต

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๙.

ทุกข์ในสามโลกนั้นเปรียบเสมือนน้ำค้างบนใบหญ้า

ไม่ช้าก็เหือดแห้งไป

พึงขวนขวายต่อภาวะการหลุดพ้นอันประเสริฐ

ซึ่งไม่ไหวเอนเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๐.

นับแต่ก่อนจุดเริ่มต้นแห่งกาลเวลา

มารดาทั้งมวลได้เลี้ยงดูฟูมฟักเธอมา

ถ้าท่านเหล่านั้นยังทุกข์ในบัดนี้

ความสุขของเธอจะมีความหมายอะไร

ดังนั้น เพื่อปลดปล่อยสรรพสัตว์อันไม่จำกัด

เธอพึงบ่มเพาะโพธิจิตให้งอกงามเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๑.

ทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะปรารถนาจะหาความสุขใส่ตน

พระสัมมาสัมพุทธะท้งมวลเกิดขึ้นเพื่อหวังประโยชน์ผู้อื่น

ดังนั้น พึงแลกความสุขของเธอกับความทุกข์ของผู้อื่นเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๒.

แม้่ว่าคนโลภจะขโมยทรัพย์ทั้งมวลของเธอทั้งหมด

หรือยุให้คนอื่นขโมย

พึงอุทิศร่างกายและทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้เขาผู้นั้นเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๓.

ถ้ามีคนตัดหัวของเธอ

ถึงเธอจะไม่ได้ทำผิดแม้แต่น้อย

อาศัยอำนาจของกรุณา

พึงเอาความผิดของเขามาเป็นของตน

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๔.

แม้มีคนตามกล่าวร้ายเธอชั่วพันล้านชาติ

เธอพึงเมตตาตอบแทน

ด้วยการยกย่องคุณความดีของเขาด้วยใจจริงเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๕.

แม้จะมีคนนำความผิดที่เธอปิดบังไว้

มาเปิดเผยต่อสาธารณชน

และใช้ความผิดนั้นเยาะเย้นถากถางเธอ

เธอพึงเห็นเขาเป็นกัลยาณมิตร

และโค้งคารวะเขาด้วยความเคารพเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๖

ถ้าคนที่เธอรักปานลูกในไส้ถือว่าเธอเป็นศัตรู

เธอพึงรักเขาผู้นั้นยิ่งกว่าเดิม

ดังมารดาปฏิบัติต่อลูกตนเองที่เจ็บป่วยเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๗

แม้คนที่เสมอกันหรือด้อยกว่าเธอ

ลุกขึ้นมาดูหมิ่นเหยียดหยามเธอ

ด้วยความยโสโอหัง

เธอพึงวางเขาไว้เหนือเศียรเกล้า

ด้วยความเคารพดังที่เธอเคารพครูเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๘

แม้จะขัดสนจนยากและถูกดูหมิ่นอยู่เสมอ

แม้จะแสนทุกข์ทรมานเพราะป่วยหนัก

และถูกผีร้ายเข้าสิงสู่

เธอยังคงน้อมรับทุกข์และอกุศลกรรมของสรรพสัตว์

มาเป็นของตนอย่างไม่ย่อท้อ

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๑๙.

แม้จะมีชื่อเสียงและโดดเด่น

เป็นที่ค้อมคารวะของผู้คน

แม้จะร่ำรวยดังเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง

เธอพึงเห็นโลกวิจิตรนี้ไร้แก่นสารสาระ

และอยู่อย่างปราศจากความยโสโอ้อวดเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๐.

ถ้าเธอไม่สามารถสยบศัตรูคือความโกรธของตนเองได้

การต่อสู้กับศัตรูภายนอกก็จะยิ่งทำให้เกิดศัตรูเพิ่ม

ดังนั้น เธอพึงฝึกจิตของเธอให้เชื่อง

ด้วยกองทัพเมตตาและการุณย์เถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๑.

กามสุขทั้งหลายเหมือนน้ำเกลือ

ยิ่งดื่มมากยิ่งกระหายมาก

ดังนั้น ถ้าความยึดติด(ในรสของกาม) ของเธอถูกปลุกขึ้นมาเมื่อใด

พึงปล่อยวางในทันทีเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๒.

สรรพสิ่งที่เรารับรู้คือจิตของเราเอง

และจิตเดิมแท้นั้นอยู่เหมือนอาการของจิตทั้งปวง

รู้เช่นนี้แล้ว ดำรงอยู่อย่างอิสระ

จากการยึดถือสัญลักษณ์ทั้งปวงว่าเป็นเขาเป็นเรา

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๓.

เมื่อพบสิ่งต้องใจ

ดังเห็นสายรุ้งในฤดูร้อน

พึงไม่เห็นว่านั่นเป็นของจริง

และปล่อยวางความยึดมั่นในสิ่งนั้นเสีย

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๔.

ทุกข์ทั้งปวงเหมือนดั่งความตายของลูกรักในความฝัน

ถ้าถือว่าฝันนั้นเป็นของจริง เราก็จะทุกข์เปล่าๆ

ดังนั้น เมื่อพบสิ่งที่ไม่พึงพอใจ

ให้เห็นเสียว่า นั่นคือมายา

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๕.

ผู้มุ่งรู้แจ้งย่อมเต็มใจสละแม้ร่างกายตน

จะเอ่ยไปไยถึงสิ่งของภายนอก

ดังนั้น พึงให้โดยไม่หวังรางวัลหรือผลประโยชน์เถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๖.

ถ้าขาดวินัยละเมิดศีลแล้วเสียประโยชน์ตน

ที่หวังประโยชน์ผู้อื่นก็เป็นเพียงเรื่องตลก

ดังนั้น พึงรักษาวินัยจำเริญศีลโดยไม่หวังโลกิยผลเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๗.

สำหรับโพธิสัตว์ผู้แสวงหาอริยทรัพย์

คนที่ทำร้ายเราทุกคนคือขุมทรัพย์

ดังนั้น พึงเจริญขันติธรรม

โดยปราศจากความขุ่นข้องใดๆ ทุกเมื่อเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๘.

ถ้าพระสาวกและพระปัจเจกพุทธ

ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังประโยชน์ตนเท่านั้น

เธอพึงขยายน้ำพุแห่งกุศลกรรมทั้งปวงออกไป

ด้ววยวิริยภาพอย่างขมีขมัน

ดังรีบขวนขวายดับไฟที่กำลังไหม้บนหัวตนเองเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๒๙.

วิปัสสนาที่กรปรด้วยสมถะอย่างเต็มเปี่ยม

ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวงได้สิ้นเชิง

เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว

พึงเจริญสมาธิภาวนาให้ไปพ้นอรูปฌาณ ๔ เถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๐.

เจริญบารมีทั้ง ๕ ข้อต้นโดยไม่เจริญปัญญา

ย่อมก้าวไม่ถึงความรู้แจ้งที่สมบูรณ์

ดังนั้น พึงเจริญปัญญาที่ไปพ้นสมมติบัญญัติในโลกสาม

ด้วยอุปายะอันประเสริฐสุด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๑.

ถ้าเธอไม่วิเคราะห์ความผิดพลาดของตนเอง

เธออาจจะประพฤติอธรรมขณะวางท่าว่าปฏิบัติธรรม

ดังนั้น พึงวิเคราะห์ความผิดพลาดของตนเองอยู่เสมอ

และละวางเสียให้ได้เถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๒.

เพราะพบกับความทุกข์

เธอจึงนินทาว่าร้ายพระโพธิสัตว์

ดังนั้น พึงอย่าตำหนิ

ผู้ก้าวอยู่แล้วบนหนทางอันยิ่งใหญ่

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๓.

เพราะเธออยากได้ลาภและการปรนนิบัติ

จึงนำไปสู่การโต้แย้ง

และทำให้การฟังธรรม ใคร่ครวญธรรม

และจำเริญสมาธิภาวนาเสื่อมลง

ดังนั้น จงละวางความยึดมั่นในหมู่คณะทางโลก

ญาติมิตร และผู้อุปัฏฐากเสียเถิด

นี้คือ ข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๔.

ถ้อยคำหยาบคายย่อมรบกวนจิตผู้อื่น

และสั่นคลอนข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

ดังนั้น พึงละถ้อยคำหยาบคาย

และไม่ระรื่นหูต่อผู้อื่นเสีย

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๕.

เมื่อเธอเคยชินกันความทุกข์

กาารแก้ทุกข์ด้วยธรรมคู่อริก็ยากขึ้น

ดังนั้น พึงใช้อาวุธสำหรับเยียวยา

คือสติ และการใคร่ครวญ

กำจัดความทุกข์ เช่น ความยึดมั่นถือมั่นเสีย

อย่างเด็ดขาดทันทีที่มันปรากฏเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๖.

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรอยู่

พึงสำรวจสภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ

หมั่นทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไม่ท้อถอย

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

๓๗.

เมื่อปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งดะังที่กล่าวมานี้

ด้วยปัญญาอันอิสระจากสมมติบัญญัติของสามโลกแล้ว

พึงอุทิศส่วนกุศลที่เกิดขึ้น เพื่อขจัดทุกข์ของมวลสัตว์ไม่มีประมาณเถิด

นี้คือข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์

หนังสือ "ดาไลลามะ สนทนากับคนไทย ที่ธรรมศาลา " จัดพิมพ์โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หนังสือ “ดาไลลามะ สนทนากับคนไทย ที่ธรรมศาลา ”
จัดพิมพ์โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here