วันนี้ วันพระ วันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓

บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

๖. การอธิษฐานของพระอานนท์  

  เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๖. การอธิษฐานของพระอานนท์


              ย้อนเวลากลับไปในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพ  มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ  ภัยธรรมชาติในนครเวสาลี เกิดภัยแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย เกิดโรคระบาดชาวเมืองล้มตายกันมาก  ชาวเวสาลี จึงส่งทูตมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้ทรงช่วยเหลือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระอานนท์นําพระสาวกไปสวดรัตนปริตร  เป็นการสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย  แล้วน้อมนำคุณของพระรัตนตรัยมาปกป้องคุ้มครองชาวเวสาลีเป็นเวลา ๗ วัน  และในวันที่ ๘ พระองค์ทรงเสด็จไปสวดเอง หลังจากครบ ๙ วัน เกิดฝนตกใหญ่ชะล้างโรคระบาดให้หมดไป  จากความแห้งแล้ง และโรคระบาดก็เปลี่ยนเป็นความสดชื่น  ต้นไม้เมื่อได้รับความชุ่มเย็นของน้ำฝนก็แตกยอดอ่อน  ต้นข้าวก็ผลิใบ เกษตรกรก็เบิกบาน

ในสมัยพุทธกาลดังที่ได้ยกตัวอย่างมานี้  อธิบายได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการอธิษฐานจิต การสวดรัตนปริตร เป็นการให้กำลังใจ  เรียกขวัญกลับคืนมา ให้มั่นคงในพระรัตนตรัย  ศูนย์รวมดวงใจให้เป็นหนึ่ง  เพื่อให้ผู้คนหายตื่นตระหนกในภัยพิบัติก่อน  น้อมจิตกลับมาหากาย สลายความกลัวด้วยสติ สมาธิ  จนปัญญาก่อเกิดในการแก้ไขปัญหา ใครเจ็บป่วยก็รักษา ใครตายจากโรคระบาดก็นำไปเผา ไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย  เช่นนี้ ไม่ถือเป็นการบนบาน  เพราะประชาชนชาวเมืองเวสาลีมิได้ต้องตอบแทนสิ่งใดๆ  ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด 

การสวดสาธยายมนต์จึงไม่ใช่การบนบาน  แต่เป็นการกำหนดจิตให้มีสติอยู่กับบทสวดมนต์   เพราะเมื่อใดที่เรามีสติระลึกรู้  เมื่อนั้นสมาธิจะตามมา  และปัญญาจะก่อเกิดให้คลายความกลัว ความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น  แม้มีโรคระบาด มีศพเกลื่อนกล่น ก็ตั้งสติ กลับมาอยู่กับลมหายใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อสติตั้งมั่น ก็ประดุจมีปราการที่ทำให้กายกับใจเป็นหนึ่งเดียวกัน  ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น  เมื่อจิตใจแข็งแรง ลมหายใจก็เข้ามาทำความสะอาดร่างกายอย่างทั่วถึง  สามารถต้านทานโรคร้ายในขณะนั้นได้  เป็นเหตุเป็นผล  เกิดบารมีที่ทำให้มั่นใจขึ้น  สั่งสมความมั่นใจในดวงจิตได้เพิ่มขึ้น  พระรัตนปริตรมีอานุภาพเช่นนี้ 

 เช่นเดียวกับการฟังธรรม  ก็ได้ปัญญาบารมี นำไปแก้ไขปัญหาชีวิตที่เผชิญได้  หากเราสงบกาย วาจาใจเป็นศีลบารมี มีสติ มีสมาธิ ทำจิตให้เป็นหนึ่งในขณะฟังธรรม ปัญญาก็ก่อเกิด  นี่เอง  การปลีกตัวเข้าปฏิบัติธรรมเป็นเนกขัมมบารมี ก็จะทำให้การอธิษฐานจิตมีพลังเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต และท้ายที่สุดแล้วก็จะเห็นสัจธรรมว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็จะไม่สามารถที่จะทำให้ความทุกข์ทางโลกหมดไปได้  นี่เอง จึงเป็นเหตุให้การอธิษฐานจิตในพระพุทธศาสนาเป็นไปเพื่อตั้งมั่นไปสู่จุดดหมายปลายทางคือ พ้นทุกข์ในสังสารวัฏสถานเดียว 

              การอธิษฐานจึงเป็นหมุดหมายที่จะต้องทําให้ได้ผลที่ตรงเป้าหมายมีขอบเขตชัดเจน  ดังเช่น การบําเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ก็มีหลักธรรมที่เรียกว่า พุทธการกธรรม คือ ธรรมที่ทําให้เป็นพระพุทธเจ้า หรือบารมี ๑๐ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ อธิษฐานบารมี ถ้าหากไม่มีบารมีข้อนี้การ บําเพ็ญบารมีข้ออื่นๆ ก็อาจไม่มีจุดหมายที่แน่นอน และพระโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ 

อธิษฐานจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีการกําหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตอกย้ำความตั้งใจเดิม  ทําให้เกิดความแน่วแน่แห่งจิตใจ 

สำหรับในเรื่องการทําบุญแล้วอธิษฐานนี้  มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่หลายแห่ง เช่น ในทานนุปปัตติ มีการบรรยายผลที่เกิดจากการให้ทานไว้ดังนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักและเครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใดก็หวังสิ่งนั้นตอบแทน เขาเห็นพวกขัตติยมหาศาล  พราหมณ์มหาศาลหรือคหบดีมหาศาล  ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมบําเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ  จึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ  หลังจากตายแล้ว  เราพึงเกิดร่วมกับพวกขัตติยมหาศาล  พราหมณ์มหาศาล  หรือคหบดีมหาศาล  เขาตั้งจิตนั้นอธิษฐาน จิตนั้น เจริญจิตนั้นอยู่ จิตของเขานั้นน้อมไปในทางต่ำให้เจริญให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้  ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น  ข้อนั้นแล  เรากล่าวไว้สําหรับผู้มีศีล  ไม่ใช่สําหรับผู้ทุศีล  ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มโนปณิธานของท่าน ผู้มีศีลย่อมสําเร็จได้เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์

              การอธิษฐานตามความหมายทางพระพุทธศาสนา  ถ้ามองผิวเผินอาจเหมือนกับการอ้อนวอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  แต่เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างที่ยกมานี้  จะเห็นได้ว่า  การอธิษฐานในแง่ที่เป็นการตั้งความปรารถนานั้น  มิได้ตั้งขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย  แต่เป็นการอธิษฐานเพื่อจะไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน คือโพธิญาณ หรือ การบรรลุสัจธรรมอย่างสูงสุด  โดยใช้การกระทําของตนที่เป็นไปเพื่อการลดด ละ เลิก กิเลสน้อยใหญ่อย่างยิ่งยวด  โดยอาศัยเหตุปัจจัยกล่าว คือ อาศัยบุญกุศลคุณงามความดีของตนเป็นพื้นฐาน  มิใช่เพื่ออ้อนวอนขอจากสิ่งภายนอก
              จากที่กล่าว  มาการอธิษฐานหรือหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับอธิษฐาน  ทําให้สังเกตได้ว่า การอธิษฐานที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนานั้น คือ การอธิษฐานด้วยจิตอันเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์  หรือเป็นเหตุปัจจัยที่นําไปสู่ความพ้นทุกข์

อ้างอิง

– พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร). ( ๒๕๔๓). พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์เรียนรู้พุทธธรรม จากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตดีงาม. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๘). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๖. การอธิษฐานของพระอานนท์    เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here