การนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ข้ามปีในแต่ละวัน สำหรับผู้ที่กำลังมองหาว่าจะสวดบทไหนดีในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านวงปีของชีวิต จึงขอนำเนื้อหาจากหนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน
และ จากหนังสือ ” พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม” เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม ) พิมพ์ครัั้งที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน มาเป็นหลักในการอธิบาย
ความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ข้ามปี
(๔) ขันธปริตร และ ฉัททันตปริตร
พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันพุธ
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ขันธปริตร : ปริตรแห่งการป้องกันอสรพิษ และสัตว์ร้ายทั้งหลาย
ฉัททันตปริตร : ปริตรแห่งการป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลาย
พระพุทธมนต์สำหรับผู้ที่เกิดวัดพุธ
ขันธปริตร : ปริตรแห่งการป้องกันอสรพิษ และสัตว์ร้ายทั้งหลาย
เพื่อป้องกันยาพิษ อสรพิษ และสัตว์ร้ายทั้งหลาย
จาก พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกขันธกะ , สุตันตปิฎก อหิสูตร
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต และอรรถกถาขุทกนิกายชาดก ทุกกนิกาย
ขันธปริตร เป็นคาถาที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พระภิกษุแผ่เมตตาไปในบรรดาตระกูลงูที่มีพิษดุร้ายทั้งหลาย เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันตนเองจากสัตว์ร้าย ปรากฏทั้งในพระวินัยปิฎกและพระสุตันตปิฎก
เรื่องราวเกี่ยวกับการตรัสขันธปริตรชาดกเกิดขึ้นที่เมืองสาวัตถี ขณะนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ในเขตพระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฝ่าฟืนอยู่ใกล้ประตูเรือนไฟ (คือโรงเรือนที่สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ก่อไฟต้มน้ำร้อนสำหรับย้อมจีวร และใช้เป็นที่สำหรับอบกาย (ด้วยสมุนไพร) อันเป็นวิธีการรักษาสุขภาพของพระสงฆ์สมัยพุทธกาล ) ในเขตพระเชตวันมหาวิหาร
งูตัวหนึ่งได้เลื้อยออกจากกองไม้ผุกัดภิกษุนั้นที่นิ้วเท้า ภิกษุนั้นทนพิษไม่ไหวก็สิ้นใจตายทันที
เรื่องที่ภิกษุถูกงูกัดตาย ได้ถูกกล่าวขานกันไปทั่ววัด พระพุทธองค์เสด็จผ่านมา เห็นภิกษุกำลังสนทนากัน จึงตรัสถามถึงต้นเหตุ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พระองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุนั้นคงจะมิได้แผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ หากแผ่เมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ แล้ว ก็จะไม่ถูกงูกัดตาย ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คือ
๑. ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักษ์
๒.ตระกูบพญางูชื่อเอราบถ
๓. ตระกูลพญางูชื่อ ฉัพยาบุตร
๔. ตระกูลพญางูชื่อ กัณหาโคตมกะ
ต่อแต่นี้ไป เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลงูทั้ง ๔ นี้ เพื่อคุ้มครองป้องกันตน พระพุทธองค์ตรัสว่า สมัยที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ผู้คนทั้งหลายได้ออกบวชเป็นดาบส ได้แผ่เมตตาไปในตระกูลพญางูทั้ง ๔ เหล่านี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในครั้งนั้น พระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์แคว้นกาสี ครั้นเจริญวัยได้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นฤาษีตามความนิยมของผู้คนในสมัยนั้น ได้บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติ
(อภิญญาคือ ความรู้ชั้นสูงที่เกิดจากกำลังสมาธิ มี ๖ อย่างคือ ๑.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒.ทิพพโสตะ หูทิพย์ ๓.เจโตปริยญาณ ญาณที่ทายใจคนอื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๕. ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้สิ้นกิเลส)
(สมาบัติ คือ สภาวะที่สมาธิเข้าถึงความสงบประณีตมาก สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ญาณสมาบัติ ผลสมาบัติ เป็นต้น ที่กล่าวถึงบ่อย คือ ญาณสมาบัติมี ๙ ได้แก่ รูปญาณ ๔ อรูปญาณ ๔ รวมเป็น ๙ ในนิโรธสมาบัติ )
ภายหลังมีผู้ออกบวชตามเป็นจำนวนมาก พระองค์สร้างอาศรมอยู่ที่ริมคุ้งน้ำแห่งหนึ่งเชิงเขาหิมวันต์ แวดล้อมด้วยหมู่ฤาษีอยู่อย่างสงบสุข
ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้น เป็นที่อาศัยอยู่ของงูนานาชนิด และงูเหล่านั้นคอยฉกกัดทำอันตรายพวกฤาษีจนถึงแก่ความตายเป็นจำนวนมาก ฤาษีทั้งหลายจึงแจ้งให้พระโพธิสัตว์ทราบ พระโพธิสัตว์เรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหลาย กล่าวว่า หากพวกท่านแผ่เมตตาไปในตระกูลพญางูทั้ง ๔ งูทั้งหลายก็จะไม่กัดพวกเธอ ตั้งแต่นี้ไป พวกเธอจงแผ่เมตตาไปในตระกูลพญางูทั้ง ๔
ตั้งแต่นั้น เหล่าฤาษีทั้งหลายเชื่อฟังโอวาทของพระโพธิสัตว์ แผ่เมตตารำลึกถึงพระพุทธคุณ เมื่อฤาษีรำลึกถึงพระพุทธคุณอยู่อย่างนี้ บรรดางูทั้งหลายต่างก็หลีกไปไม่ทำอันตราย แม้พระโพธิสัตว์ก็เจริญพรหมวิหาร คือการเแผ่เมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หลังจากตายไปได้ไปเกิดในพรหมโลก
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า เหล่าฤาษีในครั้งนั้น ก็คือ พุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนฤาษีผู้อาจารย์ก็คือ พระองค์เอง และพระองค์ก็ทรงแนะนำวิธีการแผ่เมตตาจิตไปในตระกูลพญางูทั้ง ๔ ตามที่ปรากฏในขันธปริตรชาดก
อานุภาพการป้องกัน
ขันธปริตร นอกจากจะเป็นคาถาสำหรับป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลายแล้ว ยังสามารถป้องกัน อันตรายอันเกิดจายาพิษทั้งหลายได้ ด้วยในบทขัดตำนาน (บทเกริ่นนำ) ท่านได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพขันธปริตรไว้ดังนี้
บทขัดตำนาน ขันธปริตร
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
“พระปริตรใด สามารถขจัดพิษร้ายของอสรพิษทุกชนิดได้ ดุจมนต์ทิพย์และโอสถทิพย์ อนึ่ง พระปริตรใดสามารถขจัดอันตรายอย่างอื่นอันเกิดจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย ในเขตอำนาจพระปริตรทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อโดยประการทั้งปวง เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรนั้น เทอญฯ ”
ขันธปริตร
วิรูปักเขหิ เม เมตตัง เมตตัง เอราปะเถหิ เม
ฉัพยาปุตเตหิ เม เมตตัง เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ
อะปาทะเกหิ เม เมตตัง เมตตัง ทิปาทะเกหิ เม
จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม
มา มัง อะปาทะโก หิงสิ มา มัง หิงสิ ทิปาทะโก
มา มัง จะตุปปะโก หิงสิ มา มัง หิงสิ พะหุปปะโก
สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
สัพเพ ภัทรานิ ปัสสันตุ มา กิญจิ ปาปะมาคะมา
อัปปะมาโณ พุทโธ อัปปะมาโณ ธัมโม อัปปะมาโณ สังโฆ ปะมาณะวันตานิ สิริงสะปานิ อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที อุณณานาภี สะระพู มูสิกา กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตา ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ โสหัง นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง ฯ
คำแปล
ข้าพเจ้า มีเมตตาจิตต่องูตระกูลวิรูปักษ์ทั้งหลาย มีเมตตาจิตต่อตระกูลงูเอราบถทั้งหลาย บรรดางูตระกูลกัณหาโคตมกะทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็แผ่เมตตาจิตไปถึงด้วย
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิตต่อสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย บรรดาสัตว์สองเท้าทั้งหลาย ก็แผ่เมตตาจิตไปถึงด้วย ข้าพเจ้ามีเมตตาจิตต่อสัตว์ ๔ เท้าทั้งหลาย บรรดาสัตว์มีเท้าทั้งหลายก็แผ่เมตตาจิตไปถึงด้วย
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง และขอสัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งสิ้น จงประสบแต่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ทุกถ้วนหน้า จงอย่าได้ประสบสิ่งเลวร้ายใดๆ เลย
พระพุทธเจ้าทรงพระคุณสุดที่จะประมาณได้ พระธรรมมีพระคุณสุดที่จะประมาณได้ พระสงฆ์ก็มีพระคุณสุดที่จะประมาณได้
แต่สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู ก็ยังมีประมาณกำหนดได้
ข้าพเจ้าได้ทำการป้องกันรักษาแล้ว ได้ทำการคุ้มครองป้องกันแล้ว ขอสัตว์ทั้งหลายจงหลีกหนีไปเสียเถิด ข้าพเจ้ากำลังทำความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังทำความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ฯ
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ปรากฏพระนามในอาฏานาฏิยสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ดังนี้ (๑) พระวิปัสสีพุทธเจ้า (๒) พระสิขิพุทธเจ้า (๓) พระเวสสภูพุทธเจ้า (๔) พระกกุสันธะพุทธเจ้า (๕) พระโกนาคมนะพุทธเจ้า (๖) พระกัสสปะพุทธเจ้า (๗) พระอังคีรสะพุทธเจ้า)
ฉัททันตปริตร
เพื่อป้องกันยาพิษ อสรพิษ และสัตว์ร้ายทั้งหลาย
พระสุตันตปิฏก ฉัททันตชาดก ขุททกนิกายชาดก
ตำนานและอานุภาพการป้องกัน
โดยย่อ จากหนังสือ พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน ดังนี้
ฉัททันตปริตร เป็นปริตรที่แสดงถึงอานุภาพแห่งสัจจะที่น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเกิดเป็นพญาฉัททันต์ มาป้องกันอันตราย อันเกิดจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย
พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องพญาช้างฉันทันต์ ขณะพระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน ภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของตระกูลเศรษฐีในพระนครสาวัตถี เกิดความเบื่อหน่ายจึงออกบวช
วันหนึ่ง ภิกษุณีรูปนั้นได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุณีอื่นๆ นางได้เห็นพระรูปโฉมของพระพุทธองค์ประทับเหนือธรรมมาสน์ ทรงกำลังแสดงพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า เมื่อตนเกิดและตาย ท่องเที่ยวอยู่ในภพได้เคยเป็นบาทบริจาริกา (คือ ภรรยา) ของมหาบุรุษผู้นี้บ้างหรือไม่
ทันใดนั้น นางก็กลับระลึกชาติได้อย่างน่าประหลาด นางพบว่า ในอดีตชาติ ตนเคยเป็นบาทบริจาริกา เมื่อครั้งที่พระองค์เกิดเป็นพญาช้างฉันทันต์ เมื่อนางระลึกได้เช่นนั้นก็เกิดปีติปราโมทย์อย่างรุนแรงจนไม่สามารถอดกลั้นความยินดีไว้ได้จึงหัวเราะออกมา แล้วคิดต่อไปอีกว่าตนเคยมีบุญคุณต่อพระองค์หรือไม่ เมื่อนางระลึกไปก็ได้เห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วตนได้กระทำผิดต่อพระพุทธองค์ไว้อย่างใหญ่หลวง ด้วยการใช้นายพรานให้เอาลูกศรอาบยาพิษยิงพญาช้างฉัททันต์ให้ตาย แล้วนางภิกษุณีก็เกิดความเศร้าโศกจนไม่อาจอดกลั้นไว้ได้ จึงร้องไห้สะอึกสะอื้นออกมาอย่างดัง…
อานุภาพการป้องกัน
ฉัททันตปริตร เป็นปริตรที่แสดงถึงอานุภาพแห่งสัจจะที่น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ แม้ถูกนายพรานยิงด้วยลูกธนูอาบยาพิษเจ็บปวดเจียนตายก็ไม่คิดร้ายตอบ เพราะเหตุแห่งความเคารพที่มีต่อผ้ากาสาวพัสตร์ ให้เกิดเป็นพุทธานุภาพในการป้องกันอันตราย การที่พระสงฆ์เจริญฉันทันตปริตร อันเป็นคาถาที่พญาช้างฉัททันต์ตั้งสัตยาธิษฐาน ผูกเป็นคาถาไม่ให้สัตว์ร้ายในป่าใหญ่ทำอันตรายนายพรานก็เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย ทั้งป้องกันสัตว์ร้ายไม่ให้เข้ามารบกวนในเขตที่อยู่อาศัยด้วย
ฉัททันตปริตร นอกจากจะเป็นคาถาสำหรับป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลายแล้ว ยังสามารถป้องกันอันตรายจากยาพิษทั้งหลายได้ด้วย ฉัททันตปริตรใช้สวดต่อท้ายขันธปริตร แต่ในงานทำบุญโดยทั่วไป ท่านนิยมเลือกสวดปริตรใดปริตรหนึ่ง เนื่องจากมีอานุภาพอย่างเดียวกัน
ฉัททันตปริตร
วะธิสสะเมนันติ ปะรามะสันโต
กาสาวะมัททักขิ ธะชัง อิสีนัง
ทุกเขนะ ผุฏฐัสสุทะปาทิ สัญญา
อะระหัทธะโช สัพภิ อะวัชฌะรูโป
สัลเลนะ วิทโธ พยะถิโตปิ สันโต
กาสาวะวัตถัมหิ มะนัง นะ ทุสสะยิ
สะเจ อิมัง นาคะวะเรนะ สัจจัง
มา มัง วะเน พาละมิคา อะคัญฉุนติ ฯ
คำแปล
พญาช้างโพธิสัตว์ชื่อ ฉัททันต์นั้น จับพรานป่าด้วยจิตที่คิดจะฆ่าให้ตาย ครั้นเอางวงคลำไปพบผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยแห่งฤาษีทั้งหลายเข้าแล้ว แม้จะเจ็บปวดทุกขเวทนาปางตายเช่นนั้น ก็ยังสำนึกได้ว่า เป็นธรรมดาสัตบุรุษมิบังควรฆ่าคนที่มีธงชัยของพระอรหันต์
พญาช้างฉัททันต์ ถูกนายพรานโสณุตตระยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษจนยืนดำรงกายอยู่ไม่ได้ แต่ก็ยังไม่คิดทำร้ายผู้มีกาสาวพัสตร์ ถ้าคำที่พญาช้างกล่าวนี้เป็นความสัตย์ ขอสัตว์ร้ายทั้งหลายในป่า อย่ากล้ำกรายข้าพเจ้าเลย ฯ
ความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ข้ามปี (๔) ขันธปริตร และ ฉัททันตปริตร พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันพุธ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)