พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

ธรรมะอกาลิโก

โชคดียังมีพระ…สอนธรรมให้รู้จักตนเอง

เรียนรู้ทักษะการจัดการอารมณ์ ฝึกซ้อมใจให้มีสติ …สิ่งจำเป็นสำหรับคนยุคใหม่  

ความหวังยังคงมี

ณ นาทีที่มีสติ “รู้สึกตัว”

เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน กับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ออกช่่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน กับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ออกช่่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่

         เสียงเพลงเป็นสิ่งจรรโลงใจอย่างหนึ่งของคนเรา  หลายคนใช้เสียงเพลงช่วยเติมเต็มหัวใจยามเหนื่อยท้อ  และบางคนก็ใช้เสียงเพลงเรียกร้องความยุติธรรม สร้างสรรค์อุดมการณ์ผ่านบทเพลง  ตัวโน้ตไม่กี่ตัวถูกเรียบเรียงเป็นทำนองร้อยรัดด้วยเนื้อหาที่กินใจ  ทำให้หลายๆ คนล่องลอยไปแสนไกลได้ไม่รู้จบ  จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเปิดเพลงเมื่อยามที่อยู่คนเดียว 

ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีเสียงเพลงเป็นน้ำรดดินแล้งทำให้ความรู้สึกมันชุ่มชื่นขึ้นมาบ้าง  โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์สะเทือนความรู้สึก   ความสนุกในวัยเด็กไม่ได้เตรียมให้เราพร้อมที่จะเจอเรื่องเหล่านี้  และก็…

ไม่เคยมีใครบอกให้เรารู้ว่าวันหนึ่งโลกใบเล็กของเรามันจะเปลี่ยนไป  ยังดีที่ไม่ได้ถลำไปไกลเกินรั้งไว้   มาบวชเณรพบพระธรรมะและความเมตตาของหลวงพ่อเสียก่อน  ไม่เช่นนั้น ก็ยากจะคาดเดา 

นักร้องที่ผู้เขียนชอบฟังตอนเด็กๆ ผู้ที่เคยสร้างแรงบันดาลใจในวัยรุ่นและเติมพลังให้ในวันท้อ พวกเขากลับปลดปลงตนเองจากโลกไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยอัตวินิบาตกรรม  ก่อนหน้านั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจถึงกับทำใจยาก  เหมือนถูกเขาหักหลังว่า ทำไมในเมื่อเขาให้เราสู้ตัวเองกลับยอมแพ้  

เมื่อผู้เขียนมีธรรมะเป็นที่พึ่ง  ช่วยให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างชัดขึ้น  แม้จะไม่ทั้งหมดแต่ก็เพียงพอที่จะไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่เข้ามากระทบมากนัก  การประคับประคองใจให้ก้าวผ่านคืนวันอันลำบากจึงทำได้ไม่ต้องพึ่งเพลงเหมือนตอนวัยรุ่น 

นักร้องหรือดารา  เป็นกลุ่มคนที่สร้างอารมณ์ให้กับผู้ชมหรือเสพผลงานของศิลปิน  ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องสร้างอารมณ์ให้กับตนเองเพื่อผลิตผลงาน  นักร้องก็ต้องร้องให้ได้อารมณ์เพลง  ดาราก็ต้องแสดงให้ถึงอารมณ์ของตัวละคร 

โลกแห่งมายาและดนตรีค่อยๆ กลายเป็นภาพลวงตาสำหรับเขา  แฟนเพลงหน้าเวทีกลายเป็นเพียงแสงพลุ   สว่างชั่วครู่แล้วเขาก็ต้องกลับห้องอยู่เพียงลำพัง 

และอาจจะต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองเค้นค้นอารมณ์เพื่อสร้างสรรค์ทำนองเพลงใหม่ๆ ออกมา  เมื่ออารมณ์โดยธรรมชาติมันไม่ทันบางคนจึงหันไปพึ่งสารเสพติด  เคมีในสมองถูกกระตุ้นให้ออกมาเมื่อนานเข้า  สมองก็สับสนว่า ควรหลั่งสารอะไรตอนไหน  เกิดอาการสารเคมีในสมองไม่ปกติ  สารสื่อและระบบประสาททำงานไม่ประสานกัน  ส่งผลให้เกิดภาวะรู้ตัวต่ำลงเรื่อยๆ

ถ้าเขาคนนั้นเคยมีประสบการณ์อดีตอันเลวร้าย หรือกำลังผจญกับปัญหาอันกลัดกลุ้มหาทางออกไม่เจอ   และไม่รู้จะไปปรึกษากับใคร  ก็จะยิ่งส่งผลต่อจิตใจและระบบความคิด  นำไปสู่ความรู้สึกเศร้าเกินกว่าจะอธิบายให้ใครเข้าใจได้ 

บางคนถามว่า “เศร้าเพราะอะไร?” 

ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรได้แต่กลืนคำกลั่นไว้ภายใน เพราะคิดว่าพูดไปก็อาจจะทำให้คนอื่นไม่สบายใจไปเปล่าๆ สุดท้ายก็ไม่อาจจะทนมันได้

สภาวะที่กล่าวมาไม่ได้อธิบายอาการของคนใดคนหนึ่ง  แต่เปรยโดยรวมถึงความคิดความรู้สึกบางอย่างของคนที่กำลังมีเศร้ามากๆ  จนถึงขึ้นเป็นโรคซึมเศร้า  หรืออาจแค่อารมณ์เศร้าบางช่วงของชีวิตเท่านั้น   ทักษะการจัดการอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนยุคใหม่  

ความหวังยังคงมี ณ นาทีที่มีสติ “รู้สึกตัว” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป  จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ความหวังยังคงมี ณ นาทีที่มีสติ “รู้สึกตัว” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐

คนยุคใหม่แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิตให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น  แต่เรื่องของจิตใจ   เพียงวัตถุไม่อาจจะเติมเต็มให้ได้ทั้งหมด  คนสมัยนี้มีปัญหาเรื่องเดียวกันกับคนยุคก่อนนั่นแหละ  ลองดูละครประเภทย้อนยุคก็ได้  เนื้อหาแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันกับละครแนวปัจจุบัน 

         ฉะนั้น  เรื่องของจิตใจใช้ยุคสมัยเป็นตัวชี้วัดความเจริญไม่ได้ 

         การจัดการอารมณ์และดูแลความรู้สึกของตนเองอย่างเหมาะสม  จึงจำเป็นสำหรับคนทุกยุคสมัย  เพราะไม่ว่ายุคไหนๆ ใจของคนก็ยังคงมีความทุกข์อยู่  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยุคนี้ที่มีอะไรๆ ต่อมิอะไรถาโถมเข้ามาในชีวิตมากมาย  ต้องรับรู้ทั้งเรื่องตัวเองและสื่อออนไลน์ไกลแค่ไหนก็ยังต้องไปรับรู้เรื่องของเขาเหล่านั้น  ทำให้การแปรเปลี่ยนของความรู้สึกมันผันผวนไปตามสิ่งที่เราพบเห็น 

บางคนถึงกับครุ่นคิดทุกเช้าค่ำถึงชะตากรรมของบ้านเมืองในวันข้างหน้า  แต่ว่าตนเองทำได้แค่หาทางเอาชีวิตให้รอดไปวันๆ 

         “โรคซึมเศร้า”

ในทางจิตวิทยาถือว่าเกิดขึ้นจาก ๓ สาเหตุหลักคือ

 ๑) กรรมพันธุ์ 

เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือกแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลจากกรรมพันธุ์

 ๒) สารเคมีในสมอง 

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ดูจะคาดการณ์ยากเหมือนกัน เพราะบางคนตั้งครรภ์สารเคมีในระบบสมองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  แต่ที่ชัดเจนก็คือคนที่ใช้สารเสพติดทุกชนิดจะนำไปสู่ความเป็นโรคซึมเศร้า   

๓) ลักษณะนิสัย

คือ บางคนก็มีนิสัยเก็บกดไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์  หรือบางคนก็ก้าวร้าวเพื่อเรียกร้องความสนใจ  รวมทั้งนิสัยชอบมองโลกในแง่ร้าย  เป็นคนย้ำคิดย้ำทำ  วิตกจริต  โมโหง่าย  เศร้าง่าย  และมักจะคล้อยตามคนอื่นโดยไม่มีหลักการของตนเอง 

ในบรรดา ๓ สาเหตุนั้น  มีข้อ ๓ เท่านั้นที่ดูเหมือนจะปรับแก้ได้   และถ้าทำได้ก็จะส่งผลดีต่อ ๒ ประเด็นแรกเช่นกัน 

ฉะนั้นแล้ว   สิ่งที่จะช่วยให้เราเอาชนะความซึมเศร้าได้ เบื้องต้นก็ต้องตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนเป็นหลัก  ถ้ามีสติรู้ตัวดีว่า อะไรดีสำหรับตนเองมากที่สุด   จะเป็นเหมือนฐานวางใจที่มั่นคง  ทำให้ไม่หวั่นไหวไปง่ายๆ  กับสิ่งต่างๆ 

ความซึมเศร้า  ท้อแท้  หดหู่ ภาษาพระเรียกว่า ” ถีนมิทธะ”

ซึ่งเกิดจากจิตปรุงแต่ง  พูดง่ายๆ คือคิดไปเองว่า ตัวเองเหนื่อยท้อ  ทำไม่ได้  ตัวเองไม่มีค่า  หดหู่เมื่อรู้สึกว่าคนอื่นไม่เห็นค่าของตน   ทำให้พลังในการเผชิญสถานการณ์ในชีวิตดูเป็นเรื่องยากมาก  เลยไม่อยากจะทำอะไร  ตรมจมความเศร้าเกินกว่าจะพาตัวเองออกมาได้ 

         วิธีแก้ก็คือ

๑) ต้องปลุกตัวเองให้ตื่น 

กระตุ้นตัวเองด้วยใจอยู่เสมอ  ยิ้มและเคลื่อนไหวร่างกายให้เหมาะสม  เช่น การออกกำลังกายเป็นหมู่คณะ มีสติกับการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะวิ่ง เล่นกีฬา เต้นแอโรบิค ไม่ต้องคิดถึงอดีตอนาคต อยู่กับปัจจุบันขณะวิ่ง  แค่รู้สึกตัว ยิ้มหัวเราะไปกับเพื่อนๆ

 ๒) หลีกเลี่ยงเพื่อนที่มีอาการคล้ายกัน  

พระท่านว่า “คบคนเช่นไรย่อมเป็นคนเช่นนั้น”  เพื่อนที่ชอบชวนพูดเรื่องที่หดหู่ หรือชวนไปเสี่ยงกับสารเสพติดและสถานบันเทิงกลางคืน  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย  อาจจะแย่กว่าเดิมหรือเพิ่มปัญหาใหม่ด้วยซ้ำ 

๓) ลองเปลี่ยนวิถีชีวิต 

เราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  ถ้าเรายังคิดเหมือนเดิม  ทำเหมือนเดิมอยู่ 

ถ้าเราอยากให้สิ่งต่างๆ ในชีวิตเรามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  บางครั้งเราต้องตัดสินใจที่จะทำสิ่งใหม่  คิดใหม่ทำใหม่  เคยเที่ยวกลางคืนก็อาจจะลองนอนอ่านหนังสืออยู่บ้าน  สิ่งแวดล้อมที่ดีก็สามารถช่วยเยี่ยวยาจิตใจเราได้  เรียกว่า “รมณีย์”  คือสถานที่เหมาะแก่การดูแลใจตัวเอง  เพื่อให้เห็นตัวเองให้ชัด  จะนำไปสู่การจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างดียิ่งขึ้น 

บางทีเราอาจจะไม่ยังไม่ต้องคิดถึงจุดสุดท้าย (in the end) สำคัญคือต้องมีสติ  ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน (here and now)  ไม่ว่าจะอย่างไรฝึกที่จะบอกตัวเองว่า (talking  to yourself) ให้สู้เข้าไว้  ยิ้มไว้โลกนี้ไม่สิ้นหวัง  (life  is  beautiful)  ถ้าเราเปลี่ยนโลกไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลก

แต่เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตนเองเสียก่อน  จงตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง (self-esteem) และลมหายใจที่เรายังมีอยู่  เพราะมันคือสิ่งที่บ่งบอกว่า  “ความหวังยังคงมีอยู่เสมอ”

เราคงไม่ต้องรอให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า  แต่การฝึกซ้อมใจในขณะปกติอยู่นี่แหละ  จึงจะเป็นภูมิคุ้มใจไม่ให้ทุกข์ได้ดีที่สุด  

เพลงใหม่ยังคงใช้โน้ตตัวเดิมเล่น  แค่เปลี่ยนคีย์บ้างก็เท่านั้น  ชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นอาจเปลี่ยนแค่ความคิดเก่าที่ยังเศร้าอยู่  ขยับให้รู้สึกตัวและรู้สึกดีสักหน่อย  บางทีความเศร้าอาจจะหายไปในโน้ตตัวถัดไปนี่เอง 

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
จาก หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

ความหวังยังคงมี ณ นาทีที่มีสติ “รู้สึกตัว” จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here