พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" กับคณะสงฆ์ และชาวบ้าน ณ พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” กับคณะสงฆ์ และชาวบ้าน ณ พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๙

“ความเป็นผู้รู้จักบุญคุณคน

เป็นเครื่องหมายของคนดี”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๒)

(ตอนที่ ๕)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

จดหมายธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ

ให้เกิดความรัก ความศรัทธาแห่งความกตัญญู

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” (ภาพในอดีต)

“ความเป็นผู้รู้จักบุญคุณคน

เป็นเครื่องหมายของคนดี ”

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า)
และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

คราวที่แล้ว อธิบายเรื่อง คุณค่าของความกตัญญูกตเวที ครั้งนี้จะอธิบายเกี่ยวกับอภิชาติบุตร

ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยข้าวปลาอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติภายนอกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทำได้ง่าย ซึ่งโดยทั่วไป คนที่มีการศึกษา เป็นคนดีมีความกตัญญูก็ทำกันทั้งนั้น เรียกว่า แม้จะเลี้ยงกายให้มีความสุขไม่ให้ลำบากเดือดร้อนพ่อแม่ ก็ยังมีโอกาสไปอบายภูมิ  แต่ลูกที่ให้ทรัพย์ที่แท้จริงได้นั้นมีน้อย  เพราะลูกที่ปิดประตูอบายภูมิให้พ่อแม่นั้นทำได้ยาก เช่น ชักนำพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาให้เกิดศรัทธา ไม่มีศีลธรรมก็ชักชวนให้มีศีลธรรม ไม่ทำบุญให้ทาน เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวก็ชักชวนให้ทำบุญให้ทานเป็นการหยิบยื่นสวรรค์ให้พ่อแม่

ลูกที่ทำเช่นนี้ได้เป็นการยากนั้น หากลูกคนใดทำได้ก็เป็นลูกที่ประเสริฐเพราะให้ ทรัพย์ที่แท้จริงแก่พ่อแม่  พระพุทธองค์จึงเรียกลูกเช่นนี้ว่า “อภิชาตบุตร”

ทรัพย์ที่แท้จริงนี้ ไม่ว่าจะเกิดชาติใดภพก็ใดจะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบากเดือดร้อน คนไทยแต่โบราณจึงถือว่า  ถ้าลูกชายที่คิดจะให้ทรัพย์ที่แท้ จริงแก่พ่อแม่ บวชเรียนเขียนอ่านเพราะการบวชเป็นการตอบแทนพระคุณ อย่างสูงสุดเป็นการจูงมือพ่อแม่ ออกจากคือมุมมืดอบายภูมิ แล้วนำเข้าสู่มรรคาแห่งสวรรค์

ความกตัญญูกตเวทีนี้เป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นแก่มนุษย์อย่างยิ่งเพราะเป็นคุณธรรมที่สร้างสรรค์มนุษย์ให้เป็นคนดีมีความเจริญก้าวหน้าและช่วยพยุงสังคมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกๆ ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความกตัญญูเช่นไร จงปฏิบัติพ่อแม่ของตนด้วยความกตัญญูเช่นนั้น เพราะเราปฏิบัติกับพ่อแม่ของตนอย่างไรจะได้รับการปฏิบัติตอบจากลูกๆ ของเราอย่างนั้นเช่นกัน  หากเราปฏิบัติต่อพ่อแม่ ของเราด้วยความกตัญญู  ลูกๆ ของเราจะจำเป็นแบบ และปฏิบัติต่อเราด้วยความกตัญญูเช่นนั้น  

ตรงกันข้าม  หากเราปฏิบัติไม่ดีกับพ่อแม่ ก็จะได้รับการปฏิบัติไม่ดีเช่นนั้นตอบจากลูก ของตน  นี่เป็นความอัศจรรย์ของความกตัญญูและอกตัญญู

บางคนคร่ำครวญว่า  ทำไมลูกเราไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนลูกคนอื่นบ้าง  แต่เขาก็ไม่ ได้ถามตัวเองว่า เคยปฏิบัติกับพ่อแม่เช่นนั้นบ้างหรือเปล่า

ความกตัญญูนี้ เปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้พ่อแม่ลูก เกิดความอบอุ่นอย่างแน่นแฟ้น  หากขาดความกตัญญู  สายใยที่เชื่อมความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกก็ขาดสะบั้นลง และหากสังคมขาดความกตัญญูกตเวที ทุกคนไม่สำนึกในบุญคุณและตอบแทนบุญคุณท่านผู้มีบุญคุณแก่ตนจนถึงขนาดได้ชื่อว่า “ลูกเนรคุณ” ก็นับว่าน่าใจหาย  เพราะเท่ากับว่าเขาได้ฆ่าตนเองให้ตายจากความดี

ลูกที่เนรคุณพ่อแม่ได้  ก็อย่าหวังว่า เขาจะสามารถพอกพูนคุณความดีอย่างอื่นให้ เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นในจิตใจได้ อย่าได้หวังว่า  เขาจะทำความดีอย่างอื่นได้ และจะทำให้ชีวิตเขาบกพร่อง กลายเป็นคนมีจิตใจต่ำ  หยาบกระด้าง ก้าวร้าวรุนแรง อาฆาตพยาบาท มองโลกในแง่ร้าย  มีแต่ความเห็นแก่ได้ มุ่งแต่ประโยชน์ตน

พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า

“สำหรับคนอกตัญญูแล้ว แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ไม่สามารถทำให้คนอกตัญญูพอใจได้”

 ภาษาบาลีว่า

“อะกะตัญญุสสะ โปสัสสะ   นิจจัง วิวะระทัสสิโน

สัพพัญเจ ปะฐะวิง ทัชชา      เนวะ นัง อะภิรา ธะเยฯ”

พระพุทธดำรัสบทนี้ พระองค์ทรงมุ่งแสดงให้เห็นว่า ลักษณะของคนอกตัญญูนั้น  อย่าว่าแต่จะให้มรดกทรัพย์สมบัติเท่าที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีอยู่เลย  แม้แต่จะให้แผ่นดินทั้งหมดก็ไม่สามารถทำให้คนอกตัญญูพอใจได้

นอกจากนั้น ความกตัญญู  ยังเป็นคุณธรรมที่ใช้เป็นเครื่องวัดระดับจิตใจคนด้วย  ถ้าอยากรู้ว่า  คนๆ นั้นมีจิตใจสูงหรือต่ำ ท่านให้สังเกตที่ความกตัญญูเป็นเบื้องแรก และคนไทยมักจะเปรียบผู้ที่ขาดความกตัญญูกตเวทีว่า มีฐานะต่ำกว่าสุนัข อาจเป็นเพราะสุนัข  เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดคนมากที่สุด  การเลี้ยงสุนัขก็เพื่อเฝ้าบ้าน  ให้ป้องกันขโมยเข้าบ้าน   ความดีของสุนัข คือ ความซื่อสัตย์ที่มันมีต่อเจ้าของ  สุนัขจะไม่ลืมบุญคุณเจ้าของที่เลี้ยงดูมัน  มันจะแสดงความรักต่อเจ้าของ และคอยป้องกันอันตรายแก่เจ้าของ ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

คนโบราณแสดงคุณค่าของสุนัขว่า เป็นสัตว์ซื่อตรงไม่คดโกง คนที่ขาดคุณธรรมคือ ความกตัญญูกตเวที  จึงขาดคุณธรรมของมนุษย์ คนไทยจึงเปรียบคนเช่นนี้ว่า “ต่ำกว่าสุนัข”

เมื่อเราขาดความกตัญญู ซึ่งเป็นคุณธรรมของมนุษย์แล้วจะต่างอะไรจากสัตว์  อย่างที่ได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า  ลูกคนโน้นคนนี้เนรคุณ ฆ่าหรือทำร้ายพ่อแม่ของตน  ลูกเช่นนี้เป็นมนุษย์เพียงแต่รูปร่าง แต่จิตใจเลวทรามต่ำช้ากว่าสัตว์เดรัจฉาน 

พระพุทธองค์ แสดงโทษของคนอกตัญญูเนรคุณพ่อแม่จนถึงฆ่าว่าเป็น “อนันตริยกรรม” คือ กรรมหนักที่สุด เท่ากับฆ่าพระอรหันต์ และทำร้ายพระพุทธเจ้า ประตูสวรรค์ปิดแต่ประตูนรกเปิดรอเขาอย่างเดียว

ความกตัญญูกตเวทีนี้ จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญและจำเป็นต้องตระหนักให้มาก และนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง  เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

นอกจากความกตัญญูกตเวทีจะเป็นเครื่องวัดระดับคุณค่าจิตใจมนุษย์แล้ว  ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นคนดีด้วย  แม้คนรอบข้างก็ตาม เราคิดจะคบค้าสมาคมกับใคร  เราก็ต้องการที่จะคบคนดี  และเราจะรู้ว่าใครเป็นคนดีก็ต้องสังเกตสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวเขา คือ สังเกตความประพฤติดีนั่นเอง

ความประพฤติที่พอจะบ่งบอกได้ว่าใครเป็นคนดี และเป็นที่สังเกตได้ง่ายนั้น คือ ความกตัญญูกตเวที

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

นิมิตตัง สาธุ รูปานัง กตัญญูกตเวทิตา

ความเป็นผู้รู้จักบุญคุณคน เป็นเครื่องหมายของคนดี

ถ้าอยากรู้ว่า คนรอบข้างเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่า เขาแสดงพฤติกรรมต่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้มีพระคุณของตนอย่างไร  ถ้าคนใดแสดงพฤติกรรมที่หยาบกระด้าง ก้าวร้าว ร้ายกาจ มีวาจาหยาบคาย เหมือนเข็มทิ่มใจพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พูดกับพ่อแม่ไม่นุ่มนวลชวนฟัง ทำให้เกิดความสะเทือนใจ  ก็ให้รู้ว่า เขายังไม่มีเครื่องหมายของคนดี คือ  ยังไม่มีความกตัญญูเป็นเครื่องหมายที่จะบอกได้ว่าเป็นคนดี

ควรตั้งข้อสังเกตในการคบค้าสมาคม และอาจเป็นคนไม่น่าไว้วางใจในการคบค้าสมาคม

ขอให้เชื่อได้ว่า  คนที่มีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณและสนองคุณผู้อื่นนั้นเป็นคนดีอย่างแท้จริง  เราสามารถคบค้าสมาคมกับคนประเภทนี้ได้อย่างอบอุ่นใจ  ไม่มีโทษภัยประการใด และเป็นที่มาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

ตรงข้าม หากเราไปคบกับคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน  และขาดความกตเวที ไม่รู้จักตอบแทนคุณผู้อื่นจะไม่เป็นผลดีแก่ผู้ที่ไปคบด้วย มีแต่จะนำโทษภัยมาให้ และเป็นที่มาแห่งความพินาศล่มจมในที่สุด

เพราะคนอกตัญญูมีเสนียดในตัวเองใครคบก็นำฉิบหายมาสู่ผู้นั้น

คนที่มีความกตัญญูนั้น เป็นผู้มีสิริมงคลในตัว  โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิริมงคลจากที่ไหนมาเสริม  เขาย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต  ในหน้าที่การงานโดยธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ที่มีดิน ปุ๋ย น้ำและอากาศดี ย่อมมีความเจริญงอกงาม ออกดอกออกผลโดยธรรมชาติ

ตรงข้าม หากคนใดขาดความกตัญญู มีความประพฤติเนรคุณต่อผู้อื่น  เช่น ลูกเนรคุณพ่อแม่  ศิษย์เนรคุณครูบาอาจารย์  ประชาชนเนรคุณต่อแผ่นดิน  ย่อมประสบความวิบัติอย่างน่าประหลาด เพื่อนฝูงมักห่างหาย ไม่มีผู้เคารพนับถือ  ในเบื้องแรก พี่น้องร่วมท้องเริ่มทำตัวเหินห่าง  ต่อมาญาติใกล้ชิด  ตลอดจนเพื่อนฝูงคนรู้จัก  เริ่มห่างหาย  คนเหล่านี้หาความเจริญไม่ได้  แม้ดูเหมือนว่าเจริญก็เพียงเพราะกรรมยังไม่ได้ ช่อง  แต่เมื่อใดกรรมได้ช่องก็จะตกต่ำในเบื้องปลาย  กลายเป็นหนักสองเท่า  ที่เบาก็ กลายเป็นหนัก  ที่หนักก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น  เขาจะถูกสาปแช่งว่า เป็นคนชั่วช้าเลวทรามไม่รู้คุณคน

แต่คนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ และเป็นผู้มีความก้าวหน้า  ที่ดีอยู่ก็แล้วจะดียิ่งๆ ขึ้นไป  เมื่อถึงคราวเคราะห์ ที่หนักก็จะกลายเป็นเบา  เพราะผลของเกาะแก้ว คือ ความกตัญญูของตนนั่นเอง

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ความเป็นมาของพระอภิธรรม
เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  พระองค์มิได้เพียงสอนให้คนมีความกตัญญูอย่างเดียว แต่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้ ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายาอย่างที่ไม่เคยแสดงแก่ใครมาก่อนด้วยการเสด็จไปจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรมซึ่งถือว่าเป็นปรมัตถธรรมคือ ธรรมอันสูงสุด * มีข้อความลึกซึ้งแก่พระนางสิริมหามายาเพื่อทดแทนคำข้าว ป้อนน้ำนม ที่พระพุทธมารดาได้ทรงให้กำเนิดและเลี้ยงดูพระองค์มา  พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนา สามารถโปรดพระพุทธมารดาให้สำเร็จโสดาปัตติผล

ส่วนพระพุทธบิดาคือ พระเจ้าสุทโธทนะนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดจนสามารถบรรลุ มรรคผลชั้นสูง

เพราะฉะนั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้รับการยกย่องว่า “เป็นยอดกตัญญู”  เพราะทรงได้สนองพระคุณของมารดาบิดาด้วยการบำรุงจิตใจให้บรรลุมรรคผลนิพพานดังกล่าวแล้ว

สำหรับบุคคลผู้เป็นตัวอย่างด้านความกตัญญูกตเวทีมีอยู่มาก ทั้งในสมัยพุทธกาล และสมัยปัจจุบันนี้

คุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีที่กล่าวมานี้  จัดว่าเป็นคุณธรรมสำคัญของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี

ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป  และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

ผู้ที่ได้รับอานุภาพแห่งความกตัญญูกตเวทีคุ้มครองป้องกัน มีตัวอย่างมาก  จะขอแสดงตัวอย่างเพียง “สุวรรณสาม” คนเดียว  ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสเล่าไว้จะขอนำมาเล่าให้โยมทั้งสองฟังต่อไป…

โปรดติดตาม “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป “สุวรรณสาม ตำนานคนกตัญญู”

จดหมายธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ

ให้เกิดความรัก ความศรัทธาแห่งความกตัญญู

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here