วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๑๐. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง ๑๑. เรียนกรรมฐานที่ป่าช้า เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๑๐.

ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง

               ภายหลังจากสามเณรเกี่ยว โชคชัย  บรรพชาครบ ๗ วัน  ก็ถึงกำหนดที่จะต้องลาสิกขาไปศึกษาต่อ แต่สามเณรเกี่ยวก็เปลี่ยนเป้าหมายชีวิตอย่างกะทันหัน  โดยได้บอกโยมบิดาโยมมารดาว่า จะขอบวชเป็นสามเณรอยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง  แม้โยมทั้งสองรู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้คัดค้านหรือเหนี่ยวรั้งแต่ประการใด   สามเณรเกี่ยวบวชอยู่ต่อมาจนครบ ๑ เดือน  โยมบิดามารดาก็มาบอกให้ลาสิกขา  เนื่องจากเกรงว่า จะไม่ทันเวลาที่ต้องไปเรียนตามกำหนดที่ติดต่อไว้แล้ว

สามเณรเกี่ยวบอกปฏิเสธการลาสิกขาต่อโยมบิดามารดา  และปฏิเสธการลาสิกขาต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้ง  ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางพระศาสนาตามรอยบาทพระบรมศาสดาบวชอยู่เรื่อยมาจนมรณภาพคืนสู่ธรรมชาติในร่มผ้ากาสาวพัสตร์นั่นเอง

“ความสุขจากการบวชที่เกิดขึ้นในจิตใจของสามเณรเกี่ยว เป็นเหตุให้ท่านไม่อยากจะสึกหาลาเพศนั้น  คงเป็นเพราะเหตุแห่งบุญกุศลที่เคยทำมาแต่ก่อนเก่าหนุนส่งก็เป็นได้  นับได้ว่า ท่านผู้นี้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นที่เคารพนบไหว้ เป็นครูบาอาจารย์ของหมู่มหาชนโดยแท้”

ความรู้สึกสุขสงบทำให้ความสนใจที่จะศึกษาทางโลกต่อในระดับที่สูงขึ้นของสามเณรเกี่ยวหมดความสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง  ในขณะที่ความสนใจที่จะศึกษาพระธรรมกลับมีพลังเร่งเร้ามากขึ้น  จนในที่สุดท่านตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอย่างพุทธบุตรต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โยมบิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง  โกสโล ที่วัดแจ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์สำคัญของเกาะสมุย ผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร ชอบปลีกวิเวกเจริญวิปัสสนาอยู่ตามป่าช้า

สามเณรเกี่ยว จึงมีโอกาสได้เรียนพระกรรมฐานในเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง  โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ ๑๒ ปีเท่านั้น

ต่อมาภายหลัง เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพ ก็ได้เรียนพระกรรมฐานเพิ่มจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ  และยังเป็นที่ทราบกันว่า ท่านได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ และฝึกจนมีความชำนาญในแต่ละวิธี  สามารถสวดพระปาติโมกข์ได้ในพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์  และเป็นหนึ่งในพระเถระผู้มีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนาจนถูกขนานนามว่า พระเจ้า ๕ พระองค์ แห่งวงการคณะสงฆ์ไทย ในเวลาต่อมา

๑๑.

เรียนกรรมฐานที่ป่าช้า

               สำหรับการเรียนพระกรรมฐาน แม้สามเณรเกี่ยวจะอายุยังน้อย อยู่ในวัยเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น เพิ่งเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ไม่นานนัก แต่ก็ได้เริ่มฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง  โดยมีหลวงพ่อพริ้ง  โกสโล พระวิปัสสนาจารย์ใหญ่แห่งเกาะสมุยเป็นผู้แนะนำสั่งสอน

ในพรรษาแรกของการบวชเณรนั่นเอง  โยมบิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง สามเณรเกี่ยวจึงได้เริ่มเรียนรู้วิธีการเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง  โดยหลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ได้นำศิษย์น้อยของท่านออกเจริญพระกรรมฐาน  อันเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับพระปริยัติ

แม้ในเวลานั้น  สามเณรเกี่ยวยังไม่เข้าใจการปฏิบัติสมาธิภาวนากว้างขวางเท่าใดนัก  แต่หลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ก็มุ่งหวังที่จะให้ศิษย์ของท่าน ได้มีพื้นฐานการทำสมาธิ  อุบายวิธีทำจิตให้สงบ  อันเป็นแนวทางการเจริญสมาธิภาวนาตามหลักคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา

สามเณรเกี่ยวจึงเป็นหนึ่งในศิษย์หลวงพ่อพริ้ง  ที่มีโอกาสเจริญสมาธิภาวนาตามคำแนะนำของท่านตั้งแต่ยังเยาว์วัย

ในการเจริญสมาธิภาวนา  หรือเจริญกรรมฐานตามวิธีของหลวงพ่อพริ้งนั้น  ท่านแนะนำให้เจริญกรรมฐานโดยยึดแนวทางอานาปานสติ  คือ  มีสติรู้ลมหายใจเข้าออก

               “หากขณะใดที่จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายมาก จะบริกรรมพุทโธกำกับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ก็ได้  แต่ให้ถือหลักสำคัญในขณะกำหนดลมหายใจให้มีสติรู้อยู่ หรือ มีความรู้สึกตัวรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก”

               สำหรับวิธีการสอนนั้น  หลวงพ่อพริ้งอธิบายให้รู้ถึงวิธีการมีสติในการยืน  เดิน  นั่ง  นอน  ว่าทำอย่างไรเป็นเบื้องต้นก่อน  จากนั้น  จึงอธิบายขั้นตอนการมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก  อันเป็นการแนะนำให้รู้พื้นฐานการภาวนา  เป็นการแนะนำรูปแบบการเจริญกรรมฐานเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่  เมื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ต่อมา ท่านก็นำออกไปปฏิบัติกรรมฐาน  โดยเลือกสถานที่วิเวกสงบปราศจากผู้คนพลุกพล่านเข้าออก  เหมาะสำหรับการเจริญภาวนา

สถานที่ที่ท่านเลือกให้เป็นที่สำหรับเจริญภาวนาแก่ศิษย์ของท่านมักจะเป็นเปลว หรือป่าช้าที่ฝังศพ  ซึ่งเป็นป่าหนาดงทึบ  ที่หาได้ไม่ยากนักในชนบทสมัยนั้น  เป็นป่าช้าอยู่ใกล้ทะเล  เมื่อมีคนตายหลวงพ่อพริ้งก็ให้ขุดหลุมฝัง  โดยทำกองทรายเป็นเนินดินสูงขึ้นมา  เพราะป่าช้าอยู่ใกล้ทะเล  เนินหลุมศพจึงเป็นเนินดินทรายขาว

เวลาที่หลวงพ่อพริ้งนำลูกศิษย์ไปนั่งกรรมฐานมักเป็นเวลากลางคืน  หลังจากทำวัตรเย็นบอกวัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ท่านจะให้ลูกศิษย์ของท่านเลือกหลุมศพรูปละหลุม  เอาผ้าอาบน้ำปูรองเป็นอาสนะคลุมบนหลุมศพแล้วก็นั่งเจริญภาวนาอยู่บนนั้นจนดึกพอประมาณจึงกลับเข้าวัด

               “การนำลงมือปฏิบัติ คือ วิธีสอนกรรมฐานแก่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อพริ้ง”

               หลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ได้นำสามเณรเกี่ยวเข้าสู่ป่าช้าเพื่อการเจริญกรรมฐาน  โดยจัดให้พระและสามเณรแต่ละรูปนั่งอยู่บนหลุมฝังศพที่พูนดินขึ้นเป็นเนินรูปละหลุม  ที่นั่งบนหลุมศพของพระและสามเณรแต่ละรูปต้องมีระยะห่างกันพอให้ตะโกนเรียกกันได้ยินเท่านั้น 

เมื่อนั่งประจำที่แล้วหากเกิดความกลัวก็อย่าเพิ่งภาวนาองค์กรรมฐาน  ให้สวดปะฏิสังขาโย ฯลฯ  อัชชะ มะยา ฯลฯ  และยะถาปัจจะยัง ฯลฯ  ไปเรื่อยๆ  เพื่อขจัดความหวาดกลัว  ถ้ายังไม่หายกลัวก็ให้สวดไปจนครบ ๑๐๘ จบ

แรกๆ สามเณรเกี่ยวก็กลัวจนตัวสั่น แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มชินจนเห็นเป็นธรรมดาไป  เมื่อฝึกนั่งกรรมฐานจนได้หลักแล้ว หลวงพริ้งก็พาเดินธุดงค์ไปรอบๆ เกาะสมุย เรื่องเดินธุดงค์นั้น

หลวงพ่อสมเด็จ ฯ เล่าว่า “ สมุยในเวลานั้น ไม่เหมือนทุกวันนี้  ผู้คนไม่มาก เรียกว่า รู้จักกันหมดแทบทุกครัวเรือน เณรตามอาจารย์ไปถึงไหนคนก็ถาม แม้เมื่อมาเรียนที่กรุงเทพแล้ว  เวลาหยุดเรียนกลับสมุย หลวงพ่อพริ้งก็ยังพาเดินธุดงค์อยู่

“วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๑๐. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง ๑๑. เรียนกรรมฐานที่ป่าช้า เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here