เรียนรู้ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติพระเถระแห่งยุคสมัยกึ่งพุทธกาล

ผู้นำความสมานสามัคคีในคณะสงฆ์อย่างหมดจดและงดงาม

จนสามารถสร้างพระรุ่นใหม่

เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้มากที่สุด

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย

หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านให้ความสำคัญกับการฟังพระปาฏิโมกข์มาก ท่านจะสังเกตว่าพระใหม่ พระหนุ่มนั่งฟังอย่างไร พนมมืออย่างไร ไม่มีการตำหนิต่อหน้าให้พระต้องรู้สึกอับอาย ท่านจะมีวิธีสอนโดยให้ผู้ที่กล่าวถึงรู้สึกว่าไม่ได้ถูกตำหนิ ด้วยการเล่ายกย่องถึงพระจริยวัตรบูรพาจารย์(สมเด็จพระสังฆราชฯ) ว่า “พระองค์ท่านแม้ชราภาพมากแล้ว แต่ก็ทรงมีความอดทนประทับนั่งในอิริยาบถเดิม พระหัตถ์ก็จะพนมเป็นรูปดอกบัวตูมตลอดในขณะฟัง คือ ฟังด้วยความเคารพในพระปาฏิโมกข์” จึงทำให้ผู้ฟังทั้งพระใหม่ พระเก่า ซึ่งเป็นชนรุ่นหลังที่ไม่เคยพบพระองค์ท่านรู้สึกเคารพ และศรัทธาพระองค์ท่านในข้อวัตรปฏิบัติ

สำหรับสามบทนี้เล่าเรื่องแต่เมื่อครั้งหลวงพ่อสมเด็จฯ อุปสมบท ได้รับฉายาว่า “อุปเสโณ” หมายถึง “ผู้ยังชนทุกชนชั้นให้เลื่อมใส” ซึ่งผ้าไตรครองที่โยมบิดา โยมมารดาถวายในวันที่อุปสมบทนั้น หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็ได้พับเก็บไว้ที่ตู้ในกุฏิบนหัวนอนสืบมา และในพรรษาแรกท่านก็สามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ เป็นที่ดีใจของสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ยิ่งนัก  โดยการขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์พรรษาแรกครั้งนี้  สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ทรงจัดเครื่องบูชาพระปาฏิโมกข์ด้วยพระองค์เอง หลังจากได้รับเครื่องบูชาในวันขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ในครั้งนั้น หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็ได้นำมาไว้บูชาที่กุฏิจนถึงปัจจุบัน

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๔๐. อุปสมบท

๔๑. ทรงพระปาฏิโมกข์

๔๒. เครื่องบูชาพระปาฏิโมกข์

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๐. อุปสมบท           

              ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ สามเณรเกี่ยว โชคชัย  ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  แขวงบ้านบาตร  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม  เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมธีรคุณ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูปลัดเทียบ  ซึ่งต่อมา คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์  และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในลำดับต่อมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อุปเสโณ” หมายถึง “ผู้ยังชนทุกชนชั้นให้เลื่อมใส”

“ผ้าไตรครองที่โยมบิดา โยมมารดาถวายในวันที่อุปสมบทนั้น หลังจากได้ใช้มาสักระยะหนึ่งแล้ว

  หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็ได้พับเก็บไว้ที่ตู้ในกุฏิบนหัวนอนสืบมา”

๔๑. ทรงพระปาฏิโมกข์

              ภายหลังเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ  ยังคงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระปริยัติอย่างมุ่งมั่นเหมือนเมื่อครั้งเป็นสามเณร  ในขณะเดียวกันก็ท่องพระปาฏิโมกข์จนสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกของการอุปสมบท

                 “ตอนบวชพรรษาแรก  สมเด็จพระสังฆราชบอกอยากให้ท่องปาฏิโมกข์  ต้องท่องให้ได้ในพรรษาแรก  พรรษามากขึ้นจะท่องไม่ได้  แล้วก็ทรงให้เจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นผู้ซักซ้อม  ทุกเย็นต้องมาทวนให้เจ้าคุณธรรมเจดีย์ฟัง  ท่องอยู่ ๑๕ วันก็จบ  แล้วทวนให้คล่องอยู่อีกราว ๑๐ วัน  จนเจ้าคุณธรรมเจดีย์บอกว่า  ขึ้นสวดได้  จึงได้ขึ้นสวด  หลวงพ่อขึ้นสวดปาฏิโมกข์ครั้งแรก  สมเด็จพระสังฆราชทรงดีพระทัยมาก  คงด้วยในพระอารามมีพระทรงปาฏิโมกข์ เพิ่มขึ้นอีกองค์”

๔๒.

เครื่องบูชาพระปาฏิโมกข์

              การขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์พรรษาแรกครั้งนี้  สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ทรงจัดเครื่องบูชาพระปาฏิโมกข์ด้วยพระองค์เอง  ทรงตรัสว่า  “แกจะขึ้นสวดปาฏิโมกข์ ที่นี่ต้องจัดเครื่องบูชาปาฏิโมกข์เอง”

              “ พระองค์จะใช้คำแทนพระองค์ท่านว่า “ที่นี่”  เครื่องบูชาทั้งหมด หลวงพ่อเก็บไว้ ไม่ได้ใช้ ถือว่าเป็นของสมเด็จพระสังฆราช ”

              หลังจากได้รับเครื่องบูชาในวันขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ในครั้งนั้น หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็ได้นำมาไว้บูชาที่กุฏิจนถึงปัจจุบัน

วันอาสาฬหบูชา วัดสระเกศ ฯ | ประจำปี ๒๕๖๐ (พระปาฏิโมกข์) : วันเสาร์ ที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ พระสงฆ์ทั้งพระอารามลงทำสังฆกรรมอุโบสถ์ “ทำวัตรสวดมนต์ และฟังสวดพระปาฏิโมกข์” ณ พระอุโบสถ์ เนื่องใน “วันอาสฬหบูชา”ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร กราบขอบพระคุณ จาก YouTube ช่อง Jariyatam Channel

ผู้เขียนขอเล่านิดหนึ่ง เรื่องการสวดปาฏิโมกข์นั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นพอใกล้จะถึงวันพระ ท่านจะถามทุกครั้งว่า “วันพระนี้ ใครสวด” …ก็จะกราบเรียนให้ท่านทราบ ตามวาระที่ได้กำหนดไว้ว่า พระรูปใด เป็นผู้ขึ้นสวด

              วันพระใหญ่…

              พอสวดปาฏิโมกข์จบ ท่านก็ชมว่า “สวดเสียงดัง ฟังชัด เพราะดี” ซึ่งน้อยคนนักที่จะได้รับคำชมจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในเรื่องของการสวดพระปาฏิโมกข์เช่นนี้ เท่าที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิด แต่ก็มีบางรูปที่สวดช้าบ้าง สวดเร็วบ้าง ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็จะแนะนำด้วยความเมตตาว่าควรจะปรับอย่างไร

              วันพระต่อมา ท่านก็ถามเหมือนเดิม

              บังเอิญว่า วันพระที่จะถึงนี้ ประโยค ๙ นาคหลวง จะต้องขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ในพรรษาแรกของการบวช  เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงให้ไปเรียกมาพบที่คณะ ๕ เพราะท่านจะเป็นผู้ซักซ้อมให้เอง และจะคอยแนะนำเสมอ สำหรับผู้ที่จะขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ว่า

              “เวลาท่องปาฏิโมกข์ต้องท่องทีเดียวให้จบ  ท่องทีเดียวไม่จบก็จะได้ยาก  แล้วต้องท่องให้ชัดคำ  ไม่ต้องให้เร็ว  พอจำได้คล่องปากแล้ว  จะเร่งให้เร็วก็ได้  ให้ช้าก็ได้  ข้อสำคัญ  คือ  ต้องชัดคำ การท่องปาฏิโมกข์จึงเน้นให้ชัดคำก่อน อย่าเพิ่งเร็ว พอจำได้แม่นแล้ว ค่อยฝึกสวดให้เร็วทีหลัง จึงจะสวดปาฏิโมกข์ได้น่าฟัง”

                ช่วงเข้าสู่พรรษาที่ ๕ (๒๔๙๗)  แห่งการอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ  พระมหาเกี่ยวก็สามารถเรียนสำเร็จถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค  อันเป็นการศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์

แม้พระมหาเกี่ยวอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  สามารถท่องปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกที่บวชพระ และศึกษาจนสำเร็จเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค  แต่พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ  ก็หาได้สำคัญตนว่ามีสติปัญญาเหนือกว่าผู้อื่นไม่  ท่านยังคงปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อพระอุปัชฌาย์  ต่อพระอาจารย์และต่อสำนักตามที่เคยปฏิบัติเช่นเดิม  กุฏิที่พำนักก็ไม่ได้ย้ายไปไหน  ยังคงพอใจอยู่อย่างเรียบง่ายในกุฏิหลังเล็กๆ ที่ปราศจากการตกแต่งหลังเดิม  เหมือนเมื่อครั้งเป็นสามเณร

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๔๐. อุปสมบท ๔๑. ทรงพระปาฏิโมกข์ ๔๒. เครื่องบูชาพระปาฏิโมกข์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here