หนังสือที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องอ่าน

ลูกผู้ชายต้องบวช

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์

“ญาณวชิระ”

จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ”

นครหลวงของประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๓ : การลาสิกขา : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

การลาสิกขา คือ การบอกคืนข้อปฏิบัติอย่างพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เป็นการปฏิญาณตนว่าจะไม่ดำรงภาวะความเป็นพระภิกษุ ไม่ยึดถือข้อปฏิบัติ และไม่ดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุอีกต่อไป  โดยจะกลับไปดำเนินชีวิตและรักษาข้อปฏิบัติอย่างชาวบ้าน 

การลาสิกขาเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของพระภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนา  เมื่อไม่ยินดีที่จะดำรงอยู่ในภาวะความเป็นพระภิกษุ ด้วยคิดว่าภาวะความป็นพระภิกษุสูงเกินไป เกินกำลังสติปัญญาของตนที่จะรักษาภาวะอันสูงส่งนั้นได้ หรือเพราะความตั้งใจที่จะดำรงอยู่ในภาวะความเป็นพระภิกษุตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงบอกคืนภาวะความเป็นพระภิกษุ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาส  บำเพ็ญฆราวาสธรรมต่อไป 

            ในวินัยได้อธิบายการลาสิกขาไว้ว่า  การบอกลาสิกขาต้องบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บอกคืนสิกขาบท บอกคืนพระวินัยด้วยคำที่เป็นปัจจุบัน  จึงจะเป็นการลาสิกขา  เช่น

ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระธรรม เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้ ขอท่านทั้งหลาย จงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ บัดนี้ ขอท่านทั้งหลาย จงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสก บัดนี้

ข้อความนั้นต้องบอกต่อหน้าพยานบุคคล ทั้งพระภิกษุ สามเณร  อุบาสก หรืออุบาสิกาที่เข้าใจความหมาย   เป็นอันพ้นจากภาวะความเป็นภิกษุ

การบวชในเมืองไทยนั้น มีธรรมเนียมที่แตกต่างจากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆ เนื่องจากบรรพบุรุษไทยรับพระพุทธศาสนามาแล้วรู้จักปรับข้อปลีกย่อยส่วนที่เป็นพิธีกรรมให้เข้ากับอุปนิสัยของคนไทย

              ผู้ชายไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาทุกคน สามารถบวชศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจได้ตามกำลังความสามารถและโอกาสที่จะกระทำได้ ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็นบวชหน้าไฟ ๑ วัน   บวช ๗ วัน  บวช ๑๕ วัน บวชเดือนหนึ่ง บวชพรรษาหนึ่ง  หรือหากพอใจก็สามารถอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องการจะกลับไปใช้ชีวิตฆราวาส หรือบางท่านก็บวชต่อไปตลอดชีวิตก็มี เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานได้เข้ามาสัมผัสชีวิตของความเป็นพระภิกษุสามเณรได้ตามความปรารถนา

              ในขณะใช้ชีวิตอย่างพระภิกษุ ก็มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ฝึกปฏิบัติธรรมตามกำลังสติปัญญา ไม่ได้ปล่อยให้ชีวิตให้ผ่านไปโดยว่างไร้จากสาระที่ควรจะได้รับ  ในขณะดำรงภาวะความเป็นพระภิกษุ นอกจากได้ปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนสามารถรู้จักจิตใจตนเองจนถึงแก่นแท้ เป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงต่อพระรัตนตรัยไม่หวั่นไหนเพราะเห็นคุณค่าของพระธรรมแล้วว่า ช่วยขจัดทุกข์ภายในใจได้อย่างแท้จริง

              อีกทั้งในขณะที่บวชเรียนยังได้ช่วยงานพระศาสนา ก็เป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกำลังของพระศาสนา  พระศาสนาก็ได้บุคคลากรที่มีความรู้ไว้เป็นกำลัง เมื่อถึงเวลาต้องลาสิกขาไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาส ก็เป็นแบบอย่างของฆราวาสที่ดำเนินชีวิตด้วยความถูกต้องดีงาม เป็นหลักของครอบครัว เป็นสามีที่ดูแลภรรยาให้ได้รับความสุขตามสมควร เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ สามารถนำหลักพระธรรมวินัยมาปรับใช้ในชีวิตฆราวาสอย่างงดงาม เป็นกำลังของชาติบ้านเมืองต่อไป  

   คนไทยสามารถเลือกเหตุผลการบวชได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ ไม่ว่าจะบวชหน้าไฟ บวชแทนคุณพ่อแม่ บวชสะเดาะเคราะห์ บวชเรียนเขียนอ่าน บวชเพื่อสงบจิตสงบใจ หรือแม้กระทั่งบวชเพื่อพ้นจากทุกข์ ไม่ว่าจะบวชด้วยเหตุผลใด บวชกี่วัน ก็เป็นสิ่งงดงามในความรู้สึกของคนไทย  

สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่ไม่มีในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆ  เป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทยที่รับพระพุทธศาสนามา แล้วสร้างวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบประเทศไทยขึ้นใหม่ ภายใต้วิถีชีวิตแบบชาวไทย

ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาบางประเทศ ต้องให้ผู้ขอบวชปฏิญาณตนอธิษฐานใจบวชตลอดชีวิต จึงจะยอมให้บวช การบวชของแต่ละคนแต่ละครั้ง จึงต้องผ่านการตัดสินใจอย่างหนัก หน่วง จะทดลองบวชดูก่อนสัก ๗ วัน ๑๕ วันไม่ได้ เพราะเมื่อบวชแล้วสึกออกไปจะได้รับการตำหนิจากผู้คนและสังคมรอบข้างอย่างมาก  จะได้รับการประณามจากสังคมอย่างรุนแรง แม้ในชีวิตปรารถนาจะสัมผัสชีวิตแห่งความเป็นพระภิกษุบ้างสักระยะหนึ่ง ก็ไม่สามารถทำได้

                 แตกต่างจากประเทศไทยที่บรรพชนสร้างธรรมเนียมการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาขึ้นมา ภายใต้วัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น  เมื่ออายุครบ ๒๐ ต้องบวชแทนคุณพ่อแม่ หรือบวชเรียนเขียนอ่าน ผู้ที่รับราชการก็อนุญาตให้ลาบวชได้ เมื่อบวชแล้วสึกออกไปก็จะได้รับการยกอย่องสรรเสริญว่า เป็นคนดีมีความกตัญญู  ทำสิ่งที่ได้ยาก เป็นบุคคลที่ควรคบค้าสมาคม จนได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต” คนหนึ่งของสังคม จึงทำให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทยเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า จนเมืองไทยได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ  ให้เป็นศูนย์แห่งพระพุทธศาสนาโลกในปัจจุบัน

                   ด้วยเหตุที่บรรพชนไทย ไม่ได้สร้างกฏเกณฑ์และเงื่อนไข เป็นข้อกำหนดขีดขั้นผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างพระภิกษุมากน้อย ตามโอกาสและเวลาที่ต้องการ คนไทยสามารถบวชและลาสิกขาได้ จึงเป็นการสืบต่อระหว่างคนบวชและคนสึกรุ่นต่อรุ่น  วันต่อวัน อาทิตย์ต่ออาทิตย์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี ไม่มีที่สิ้นสุด สีจีวรจึงยังคงเหลืองอร่ามงดงามทั่วราชอาณาจักรไทย ตราบจนถึงปัจจุบัน   แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบรรพชน ที่มีความชาญฉลาด ในการปรับหลักการบวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา  ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน 

                   ธรรมเนียมการลาสิกขาในเมืองไทยมีขั้นตอนแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อให้กล่าวคำปฏิญาณตนว่าต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร  โดยมีพระสงฆ์เป็นพยานว่า จะไม่ปฏิบัติข้อปฏิบัติ และดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป   

                   การลาสิกขาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเป็นแบบง่ายๆ กล่าว คือ พระภิกษุผู้ลาสิกขา จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์  จากนั้น กล่าวคำลาสิกขา  ต่อหน้าพระพุทธปฏิมาการ โดยมีพระสงฆ์เป็นพยาน เปลี่ยนเสื้อผ้า  สมาทานศีล ๕ รับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ (๑) พระสงฆ์ให้ศีลให้พรเป็นอันเสร็จพิธี 

                   ในที่นี้  จะนำพิธีการลาสิกขาแบบโบราณ ซึ่งบางวัดยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มาแสดงไว้เป็นแบบ  มีขั้นตอนควรทราบ ดังนี้

ขั้นตอนการขอขมาพระรัตนตรัย  และ ครูบาอาจารย์

                   การขอขมาเป็นการแสดงโทษที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการอยู่ร่วมกัน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อีกอย่างหนึ่ง เป็นการปฏิบัติตามหลักการไปลามาไหว้ซึ่งเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์มาแต่โบราณ การขอขมาควรทำก่อนลาสิกขา ๑ วัน เมื่อได้เวลาผู้ลาสิกขานำธูปเทียนแพเข้าไปถวายครูบาอาจารย์ หรือสถานที่ที่จะขอขมา กราบ  ๓ หน แล้วยืนขึ้นว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต // สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต // มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  /  อนุโมทามิ

นั่งคุกเข่าประนมมือว่า

สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต //อุกาสะ  ทะวารัตตะเยนะกะตัง / สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม ภันเต//  (ถ้าขอขมาครูบาอาจารย์ท่านจะกล่าวว่า “อะหัง ขะมามิ ตะยาปิ เม ขะมิตัพพัง” พึงตอบท่านว่า “อุกาสะ ขะมามิ ภันเต”)

กราบ ๑  หน ยืนขึ้นว่า

วันทามิ   ภันเต//   สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต //   มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง //  สาธุ /  สาธุ/  อนุโมทามิ

                   นั่งคุกเข่าประณมมือนึกอธิษฐาน (ในกรณีที่ขอขมาครูบาอาจารย์ ท่านจะให้พร ผู้ขอขมาพึงก้มศีรษะลงประณมมือรับพร) กรรมใดที่ได้ล่วงเกินพระรัตนตรัย ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ที่มีเจตนาก็ตาม มิได้มีเจตนาก็ตาม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอให้พระรัตนตรัยจงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น ลาสิกขาไปแล้วอย่าได้มีบาปกรรมติดตัวไป ขอให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานผ่านพ้นปัญหา อุปสรรคและอันตรายทั้งหลายในชีวิต อานิสงส์ใดที่จะพึงเกิดมี จากการที่ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ขอถวายอานิสงส์นั้นเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และขอให้มารดาบิดา ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ทั้งในชาตินี้และอดีตชาติ เทวาอารักษ์ และผู้มีเวรทั้งหลายจงเป็นผู้มีส่วนในอานิสงส์แห่งการบรรพชาอุปสมบทของเราในครั้งนี้ นอกจากนั้นแล้วแต่จะตั้งความปรารถนาเป็นการส่วนตัว เสร็จแล้วกราบ ๓ หน

ขั้นตอนการบูชาคุณพระรัตนตรัย  คุณบิดามารดา  และครูบาอาจารย์

            เมื่อไปถึงสถานที่ประกอบพิธีลาสิกขา กราบพระพุทธรูป ๓ หน แล้วนั่งพับเพียบรอฤกษ์ตามที่ได้กำหนดไว้ ควรแสดงอาบัติก่อนลาสิกขา  เพราะจะได้เกิดความเบาใจ

เมื่อได้ฤกษ์ตามที่ได้กำหนดไว้ พระอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือจุดเทียนชนวนให้ นั่งคุกเข่ารับเทียนชนวนมาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย มารดาบิดา และครูบาอาจารย์ (๒) เสร็จแล้วส่งเทียนชนวนให้พระสงฆ์ที่เป็นประธานในการประกอบพิธีลาสิกขา

                   เมื่อส่งเทียนชนวนแล้วหันกลับมานั่งคุกเข่าประณมมือตรงหน้าพระพุทธรูปกล่าวคำบูชาคุณของพระรัตนตรัย คุณของมารดาบิดา และคุณของครูบาอาจารย์ ว่าตามดังต่อไปนี้

อิมินา// สักกาเรนะ//  พุทธัง//  ภะคะวันตัง//  อะภิปูชะยามิ// ข้าพเจ้า// ขอนอบน้อม// สักการบูชา// พระผู้มีพระภาคเจ้า// ด้วยเครื่องสักการะนี้// ( กราบ ๑ หน )

อิมินา//  สักกาเรนะ//   ธัมมัง//  อะภิปูชะยามิ// ข้าพเจ้า// ขอนอบน้อม// สักการบูชา// พระธรรมเจ้า// ด้วยเครื่องสักการะนี้// ( กราบ ๑ หน )

อิมินา//   สักกาเรนะ//   สังฆัง//  อะภิปูชะยามิ// ข้าพเจ้า// ขอนอบน้อม// สักการบูชา// พระสังฆะ// อริยเจ้า// ด้วยเครื่องสักการะนี้// (กราบ ๑ หน )

อิมินา//   สักกาเรนะ//   มาตาปิตุคุณัง//   อะภิปูชะยามิ// ข้าพเจ้า// ขอนอบน้อม// สักการบูชา// พระคุณของมารดา-บิดา// ด้วยเครื่องสักการะนี้// (กราบ ๑ หน )

อิมินา//  สักกาเรนะ//   อาจะริยะ//  อุปัชฌายะ//  คุณัง//  อะภิปูชะยามิ// ข้าพเจ้า// ขอนอบน้อม// สักการบูชา// พระคุณของครูบาอาจารย์// ด้วยเครื่องสักการะนี้// (กราบ ๑ หน) เสร็จแล้วนั่งพับเพียบลง

พิธีกล่าวคำปฏิญญาลาสิกขา

เมื่อกล่าวคำบูชาคุณของพระรัตนตรัย คุณของมารดาบิดา และคุณของครูบาอาจารย์จบลงแล้ว พระสงฆ์ที่เป็นประธานในการประกอบพิธีลาสิกขาจะบอกฤกษ์ให้ทราบ ในที่นี้ขอนำคำกล่าวบอกฤกษ์ลาสิกขาที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ  กล่าวนำมาแสดงไว้เป็นแบบ  ดังนี้

“บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ คือ ฤกษ์ดียามดีตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ท่านจะได้บอกลาสิกขา คือการปฏิบัติอย่างพระภิกษุในพระพุทธศาสนา   ท่านได้ปฏิญาณตนให้พระสงฆ์ได้รับทราบ ในเบื้องต้นได้ทำการสักการบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย  พระคุณของบิดามารดา และพระคุณของครูบาอาจารย์เพื่อให้เกิดเป็นสิริสวัสดีมงคล  บัดนี้ได้ทำการเคารพสักการบูชาเรียบร้อยแล้ว  ต่อไปจะได้กล่าวคำปฏิญาณขอให้ตั้ง นะโม ขึ้น  ๓   จบ ” 

ผู้ลาสิกขาว่านะโม ๓ จบดังนี้

นะโม  ตัสสะ//  ภะคะวะโต//  อะระหะโต//  สัมมา// สัมพุทธัสสะ// (ว่า ๓ จบ)

คำลาสิกขาของพระภิกษุ

สิกขัง   ปัจจักขามิ//    ข้าพเจ้า// ขอบอกคืน// สิกขาเดี๋ยวนี้//

สิกขัง ปัจจักขามิ//  สิกขัง  ปัจจักขามิ//  

วินะยัง  ปัจจักขามิ//   ข้าพเจ้า// ขอบอกคืน//พระวินัยเดี๋ยวนี้//

วินะยัง  ปัจจักขามิ // วินะยัง //  ปัจจักขามิ//

ปาฏิโมกขัง ปัจจักขามิ//    ข้าพเจ้า// ขอบอกคืน// พระปาฏิโมกข์เดี๋ยวนี้//

ปาฏิโมกขัง  ปัจจักขามิ//  ปาติโมกขัง ปัจจักขามิ//

 คิหีติ  มัง   ธาเรถะ//  ขอท่านทั้งหลาย// จงทรงจำ// ข้าพเจ้าไว้ว่า// เป็นคฤหัสถ์บัดนี้//

คิหีติ  มัง  ธาเรถะ// คิหีติ  มัง ธาเรถะ//

อุปาสะโกติ มัง ธาเรถะ//  ขอท่านทั้งหลาย// จงทรงจำ// ข้าพเจ้าไว้ว่า// เป็นอุบาสกบัดนี้// 

อุปาสะโกติ  มัง   ธาเรถะ//  อุปาสะโกติ มัง  ธาเรถะ// (๓)

เมื่อกล่าวคำปฏิญญาลาสิกขาเสร็จแล้ว ให้ตั้งใจอธิษฐานจิตอีกครั้ง สึกไปแล้วต้องการอะไร ปรารถนาอะไรก็ให้นึกในใจ พออธิษฐานเสร็จแล้วให้แก้ผ้ารัดอกออกเอง แล้วหันหน้าไปทางประธานสงฆ์ ท่านจะดึงผ้าสังฆาฏิออกให้ พร้อมกับพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เพื่อความเป็นสิริมงคล

เมื่อประธานสงฆ์ดึงผ้าสังฆาฏิออกแล้ว ให้หันไปกราบพระพุทธรูปก่อน ๓ หน แล้วหันไปกราบพระสงฆ์ ๓ หน ลุกขึ้นเดินตามพระอาจารย์ออกไปนุ่งผ้าขาวเพื่อเตรียมอาบน้ำพระพุทธมนต์

ในขณะอาบน้ำพระพุทธมนต์ให้นั่งประณมมือทำใจให้สงบนิ่ง (พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาอีกครั้ง) เสร็จแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้า การแต่งกายในวันลาสิกขา ให้แต่งชุดที่สุภาพ ควรเว้นชุดดำ ถ้าเป็นไปได้ให้เป็นเสื้อผ้าสีขาว และญาติที่มาก็ไม่ควรแต่งชุดดำ  เพราะประเพณีความเชื่อของไทยถือว่าชุดดำเป็นชุดสำหรับใส่ในงานที่ไม่เป็นมงคล  แต่หากไม่ยึดถือประเพณีดังกล่าวก็สามารถใส่ชุดดำได้

ขั้นตอนการสมาทานศีล  ๕

เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วให้ประนมมือเดินกลับเข้ามานั่งคุกเข่าที่เดิม กราบพระพุทธรูป ๓ หน เสร็จแล้ว กราบพระสงฆ์ ๓ หน เพื่อสมาทานศีล ๕ สืบไป

(ว่าเอง) มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ // ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ  ยาจามะ//

ทุติยัมปิ มะยัง  ภันเต //  วิสุง  วิสุง รักขะนัตถายะ//  ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ  ยาจามะ//

ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต //  วิสุง  วิสุง รักขะนัตถายะ//  ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ  ยาจามะ //

(ว่าตาม ๓จบ) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ

(ว่าตาม) พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ // ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ // สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ  //

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ // ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ // ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ //

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ // ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ // ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯ

ปาณาติปาตา // เวระมะณี สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

อะทินนาทานา // เวระมะณี สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

กาเมสุมิจฉาจารา // เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

มุสาวาทา // เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา // เวระมะณี สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ ฯ (เสร็จแล้วกราบ ๓ หน)

จากนั้น ถวาย ปัจจัย ดอกไม้ ธูปเทียน แด่พระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลคาถา เสร็จแล้วกลับมานั่งต่อหน้าประธานสงฆ์ พระสงฆ์ให้พรจบ คุกเข่ากราบ ๓ หน

ประธานสงฆ์มอบของที่ระลึก กราบพระสงฆ์ ๓ หน แล้วหันไปกราบพระพุทธรูป ๓ หน

เสร็จแล้วไปกราบบิดา ๓  หน กราบมารดา ๓ หน เป็นอันเสร็จพิธี  ในกรณีที่มีปู่ ย่า ตา ยายมาร่วมพิธีให้กราบด้วย  

บิดามารดานำเข้าบ้านตามฤกษ์ที่กำหนดไว้ เมื่อถึงบ้านให้ไหว้พระพุทธรูป  เจ้าที่เจ้าทาง  และบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลาสิกขา

         หากประกอบพิธีลาสิกขาแบบสมัยใหม่  ไม่มีการอาบน้ำพระพุทธมนต์  ก็ไม่ต้องเตรียมเครื่องทำน้ำพระพุทธมนต์  ตลอดจนเครื่องสักการบูชา แต่ควรให้มีการบูชาพระรัตนตรัย   ในที่นี้จะแนะนำกรณีที่มีการอาบน้ำพระพุทธมนต์ตามการสิกขาแบบโบราณ  ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของ ดังนี้

  • ธูปเทียนแพสำหรับขอขมา
  • ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูบาอาจารย์  ประกอบด้วย (๑) ข้าวตอก ๕ ที่ (๒) ดอกมะลิ ๕ ที่ (๓) เทียน ๕ เล่ม  (๔) ธูป ๕ ดอก
  • เครื่องทำน้ำพระพุทธมนต์  ประกอบด้วย (๑) ดอกบัว ๕ ดอก (๒) ส้มป่อย ๓ ฟัก (๓) มะกรูด ๙ ลูก (๔) ใบเงิน ๙ ใบ(๕) ใบทอง ๙ ใบ  (๖) เทียนสีผึ้งแท้สำหรับทำน้ำมนต์ ๑ เล่ม
  • ดอกไม้-ธูป-เทียน-ปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลตามจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์
  • เสื้อผ้า (เข็มขัด กางเกงใน รองเท้า ฯลฯ) ที่จะใส่ในวันลาสิกขา สำหรับเสื้อผ้าควรเป็นสีขาวหรือที่สุภาพ (ควรเว้นชุดดำ) และเตรียมไว้ก่อนลาสิกขา ๑ วัน
  • ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน
  • ผ้าขาวสำหรับอาบน้ำพระพุทธมนต์ ๑ ผืน

(๑)  ไม่มีการอาบน้ำพระพุทธมนต์  แต่จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์แทน  เนื่องจากการอาบน้ำพระพุทธมนต์นั้น  ต้องเตรียมอุปกรณ์หลายอย่างทำให้ยุ่งยาก

(๒) ลักษณะการจับเทียนชนวนจุดธูปเทียน  ควรให้ตั้งประมาณ ๔๕ องศา เพื่อไม่ให้น้ำตาเทียนหยด   การส่งเทียนชนวน ควรจับที่ฐานเชิงเทียนให้เปลวเทียนโน้มมาทางผู้ส่งประมาณ ๔๕ องศา

(๓) สามเณรกล่าวคำลาสิกขา ดังนี้ สิกขัง ปัจจักขามิ// ข้าพเจ้า// ขอบอกคืน// สิกขาเดี๋ยวนี้//  สิกขัง// ปัจจักขามิ//  สิกขัง//  ปัจจักขามิ//    คิหีติ  มัง//   ธาเรถะ//  ขอท่านทั้งหลาย// จงทรงจำ// ข้าพเจ้าไว้ว่า// เป็นคฤหัสถ์บัดนี้//  คิหีติ  มัง//   ธาเรถะ// คิหีติ  มัง// ธาเรถะ//  อุปาสะโกติ มัง//  ธาเรถะ//  ขอท่านทั้งหลาย// จงทรงจำ// ข้าพเจ้าไว้ว่า// เป็นอุบาสกบัดนี้//   อุปาสะโกติ  มัง //  ธาเรถะ//  อุปาสะโกติ มัง//  ธาเรถะ//

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๓ : การลาสิกขา : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here