จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาล

“ญาณวชิระ” นครหลวงประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๑ : การลงอุโบสถ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่ ๑๑ การลงอุโบสถ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์

การลงอุโบสถ คือ การที่พระภิกษุสงฆ์ร่วมประชุมกันที่พระอุโบสถเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ตามพระธรรมวินัย เป็นการทบทวนศีล  ๒๒๗  ข้อของพระภิกษุ  โดยจะมีการสวดทุก ๑๕ วัน  คือ  ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ  และวันแรม ๑๕  ค่ำ ในเดือนเต็ม  หรือวันแรม  ๑๔  ค่ำ  ในเดือนขาด (๑)  นอกจากนั้น  ยังอนุญาตให้ทำอุโบสถเป็นพิเศษ ในคราวที่พระภิกษุแตกความสามัคคี  เมื่อพระภิกษุกลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง  แม้จะยังไม่ถึงวันปาฏิโมกข์  ก็ให้สวดพระปาฏิโมกข์ได้  เรียกว่า  “สามัคคีอุโบสถ”

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นถึงความสำคัญของความสามัคคีไว้โดยประการต่างๆ ทั้งในส่วนธรรมะและในส่วนพระวินัย ในส่วนธรรมะ เช่นที่พระองค์ตรัสว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคีฯ  แปลว่า  ความสามัคคีของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข  เป็นต้น

ในส่วนพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันทุก ๑๕ วัน เพื่อร่วมกันลงอุโบสถฟังสวดพระปาฏิโมกข์หากมีความไม่เข้าใจกันในเรื่องใด หรือหากมีสิ่งใดเกิดขึ้น ก็จะได้ถือโอกาสทำความเข้าใจกัน ภายใน ๑๕ วันนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่สงฆ์เกิดความไม่เข้าใจกัน ก็ทรงอนุญาตให้ร่วมกันลงอุโบสถก่อนกำหนด เพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันและกัน  ไม่ปล่อยให้ความไม่เข้าใจสะสมพอกพูน  จนกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นในคณะสงฆ์  พระองค์เรียกวันนั้นว่า “วันสามัคคีอุโบสถ” 

ในตอนท้ายของพระปาฏิโมกข์  พระพุทธองค์ทรงให้พระสงฆ์สาวกย้ำเตือนซึ่งกันเพื่อให้ถึงความสามัคคีของหมู่คณะทุกครั้งว่า

ตัตถะ สัพเพเหวะ สะมัคเคหิ สัมโมทะมาเนหิ  

อะวิวะทะมาเนหิ สิกขิตัพพันติฯ

แปลว่า

ขอให้พระสงฆ์ทั้งมวล  พึงมีความสามัคคีปรองดองกัน   

มีน้ำใจต่อกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน ศึกษาพระปาฏิโมกข์นั้นฯ

เพราะตราบใดก็ตามที่พระสงฆ์สาวกยังมีความสามัคคี มีน้ำใจต่อกัน ศึกษาพระธรรมวินัย ตราบนั้นพระศาสนาก็จะดำรงอยู่

พระปาฏิโมกข์นั้นมี ๒ อย่าง  คือ

(๑) โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้เป็นหลัก  พระพุทธเจ้าแสดงด้วยพระองค์เอง

(๒)  อาณาปาฏิโมกข์  คือ  ข้อห้าม ข้อบัญญัติ หรือพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นหลัก ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกแสดง

โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างๆ ที่ทรงแสดงไว้ให้พระสาวกยึดเป็นแนวทางในการสั่งสอนประชาชน โอวาทปาฏิโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าแสดงด้วยพระองค์เองท่ามกลางที่ประชุมพระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ณ พระเวฬุวันวิหาร วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ ภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ภิกษุที่ร่วมประชุมในครั้งนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้ทุกรูป จึงเรียกวันนั้นว่า วันจาตุรงคสันนิบาต  คือ วันที่มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น ๔ ประการ  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือน 

ในวันนั้น พระพุทธองค์ทรงสถาปนาพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะให้เป็นคู่พระอัครสาวก จากนั้น พระองค์ได้ทรงแสดงหลักการแห่งพระพุทธศาสนา เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ดังนี้

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา

นิพพานัง  ปะระมัง  วะทันติ  พุทธา

นะ  หิ  ปัพพะชิโต  ปะรูปะฆาตี

สะมะโณ  โหติ  ปะรัง  วิเหฐะยันโต.

สัพพะปาปัสสะ  อะกะระณัง   กุสะลัสสูปะสัมปะทา

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง    เอตัง  พุทธานะสาสะนัง.

อะนูปะวาโท  อะนูปะฆาโต   ปาฏิโมกเข  จะ สังวะโร

มัตตัญญุตา  จะ  ภัตตัสมิง   ปันตัญจะ  สะยะนาสะนัง

อะธิจิตเต  จะ  อาโยโค           เอตัง  พุทธานะสาสะนัง .

ขันติ  คือ  ความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสพระนิพพานว่าเป็นยอด

ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่  ไม่ชื่อว่าบรรพชิต

ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่  ไม่ชื่อว่าสมณะ

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑  การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๑

ความยังจิตให้ผ่องแผ้ว ๑

ธรรม ๓ ประการนี้  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่ว่าร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวม

ในพระปาฏิโมกข์ ๑  ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑

การอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑

การประกอบความเพียรในการพัฒนาการจิตให้ยิ่ง ๑   

ธรรม  ๖  ประการนี้   เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายฯ

          การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า ได้มีขึ้นครั้งนี้เพียงครั้งเดียว  หลังจากนั้นพระองค์ก็ไม่ได้แสดงอีกเลย แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมสงฆ์กันเองทุก ๑๕ วัน ต่อมาภายหลัง เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว ทรงอนุญาตให้พระสาวกที่อยู่ร่วมกัน ๔ รูปขึ้นไป นำสิกขาบท ๒๒๗ ข้อมาสวดทบทวนท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ในวันอุโบสถ จึงเกิดอาณาปาฏิโมกข์ เป็นแบบแห่งการลงอุโบสถเพื่อฟังปาฏิโมกข์ถึงปัจจุบัน

            การอนุญาตให้พระภิกษุสวดอาณาปาฏิโมกข์ปรากฏความในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ และขุททกนิกาย อุทานวรรค  ดังนี้

ในระหว่างพรรษาที่ ๒๑ หลังการตรัสรู้ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ปราสาทมิคารมารดา อุทยานบุพพาราม ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างถวาย  ทรงดำริว่า   ภิกษุมีศีลไม่บริสุทธิ์มีอยู่ในที่ประชุมสงฆ์  ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่แสดงอุโบสถในที่ประชุมสงฆ์ที่ไม่บริสุทธิ์  เมื่อพระองค์ไม่แสดงอุโบสถ ภิกษุก็จะขาดอุโบสถ  พระพุทธองค์จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจักไม่แสดงอุโบสถ ไม่แสดงปาฏิโมกข์ พวกเธอพึงทำอุโบสถ  พึงแสดงปาฏิโมกข์กันเองในหมู่สงฆ์  เพราะพระองค์จะไม่แสดงอุโบสถหรือปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา และใจ

เหตุจำเป็นที่ต้องเลิกสวดพระปาฏิโมกข์

การสวดพระปาฏิโมกข์  เป็นทั้งสังฆกรรมตามพระวินัย  และเป็นกิจสงฆ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนา ควรมีโอกาสได้ร่วมฟัง   

ในพระวินัยระบุว่า วัดหนึ่งจะต้องมีพระภิกษุสวดพระปาฏิโมกข์ได้หนึ่งรูป  หากไม่มี เจ้าอาวาสต้องขวนขวายให้มี หากไม่ขวนขวายเป็นอาบัติ  ถ้าขวนขวายแล้วยังไม่มี พอถึงวันปาฏิโมกข์ต้องไปร่วมฟังในวัดที่มีการสวดพระปาฏิโมกข์ ถ้าในย่านนั้นไม่มีวัดที่มีภิกษุสวดพระปาฏิโมกข์ หรือมีพระภิกษุไม่ครบ ๔ รูป ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ แต่ให้อธิษฐานอุโบสถแทน  โดยตั้งใจว่า  “วันนี้เป็นวันอุโบสถ

ในระหว่างที่มีการสวดพระปาฏิโมกข์  ผู้ที่จะอยู่ในที่ประชุมสงฆ์ได้ต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น ไม่มีเหตุจำเป็นจะหยุดสวดพระปาฏิโมกข์ในระหว่างการสวดไม่ได้   เหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องหยุดสวดพระปาฏิโมกข์มีดังนี้

           ·  พระราชาเสด็จมา  ให้เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อจะรับเสด็จได้

           ·  โจรมาปล้น  เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อหนีภัยได้

           · ไฟไหม้ เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อไปดับไฟได้

           · น้ำหลากมา  เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อหนีน้ำได้  ถ้าสวดกลางแจ้ง  เกิดฝนตกในระหว่าง  เลิกได้เหมือนกัน

           ·  คนมามาก  เลิกสวดพระปาฏิโมกข์  เพื่อไปต้อนรับปฏิสันถาร

           ·  ผีเข้าพระภิกษุ  เลิกสวดพระปาฏิโมกข์   เพื่อขับผีออกจากพระภิกษุ

           · สัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น  เข้ามาในอาราม เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อไล่สัตว์ได้         

           ·  งูร้ายเลื้อยเข้ามาในที่ชุมนุม  ก็เหมือนกัน

           ·  พระภิกษุอาพาธด้วยโรคร้ายขึ้นในที่ชุมนุมสงฆ์  อันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต  เลิกสวดพระปาฏิโมกข์เพื่อช่วยแก้ไขได้  ถ้ามีเหตุอันจะเป็นอันตรายเกิดขึ้นในที่นั้นก็หยุดได้

            ·  มีอันตรายแก่พรหมจรรย์  เช่น มีใครมาเพื่อจับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง   ให้เลิกสวดปาฏิโมกข์  เพราะความสับสนอลหม่าน

การฟังพระปาฏิโมกข์

เนื่องจากการฟังพระปาฏิโมกข์เป็นกิจสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แม้สามเณรก็เข้าร่วมไม่ได้ ในระหว่างที่กำลังสวดพระปาฏิโมกข์ หากมีผู้มิใช่พระภิกษุเข้ามาในหัตถบาสต้องเริ่มสวดพระปาฏิโมกข์ใหม่ เพราะเป็นสังฆกรรมวิบัติ

ในปัจจุบันบางวัดที่ถือเคร่งถึงกับต้องปิดโบสถ์สวดพระปาฏิโมกข์  เพราะเกรงผู้สวดพระปาฏิโมกข์จะต้องอาบัติเนื่องจากมีผู้มิใช่พระภิกษุได้ยิน แต่บางวัดก็เปิดโบสถ์ตามปกติ  เพราะถือเจตนาว่าสวดพระปาฏิโมกข์ให้พระภิกษุฟัง ไม่ได้สวดให้ชาวบ้านฟัง  ถ้าชาวบ้านเผอิญผ่านมาได้ยิน หรือเห็นก็ไม่เป็นไร  เพียงอย่าให้ล่วงเข้ามาในหัตถบาสเท่านั้น  บางคนจึงมีโอกาสได้เห็นพระภิกษุสวดพระปาฏิโมกข์

การที่ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้สวดพระปาฏิโมกข์ให้ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุฟัง   เนื่องจากสวดพระปาฏิโมกข์เป็นการสวดทบทวนสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามพระภิกษุตามความผิดที่เกิดขึ้น  ซึ่งก็มีหนักบ้างเบาบ้างตามความผิด  หากชาวบ้านไม่เข้าใจ  เนื่องจากอินทรีย์ยังอ่อน และหนักในศรัทธาจริต จะเกิดความคิดว่า ทำไมพระภิกษุทำความผิดได้ขนาดนั้น เกิดเสื่อมศรัทธาในพระศาสนาลง ก็ห่างไกลจากความใฝ่ใจในธรรมได้ (๒)

การห้ามพระภิกษุไม่ให้สวดพระปาฏิโมกข์ให้ผู้ที่มิใช่พระภิกษุฟัง จึงไม่ใช่การกีดกัน  หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเรียนรู้ศาสนา แต่เพื่ออนุเคราะห์  เพื่อเกื้อกูลผู้ที่ยังเยาว์ปัญญา 

สำหรับพระปาฏิโมกข์ที่พระภิกษุร่วมกันฟังทุกวันอุโบสถในปัจจุบันมีแบบแผนที่ควรทราบ  ดังนี้

เมื่อพระภิกษุประชุมพร้อมกันตามเวลาที่ทางวัดกำหนดไว้แล้วเรียกชื่อ หรือนับจำนวนพระภิกษุที่ร่วมฟังพระปาฏิโมกข์  เนื่องจากการสวดพระปาฏิโมกข์ทุกครั้งอจะต้องทราบจำนวนพระภิกษุที่ร่วมลงอุโบสถจึงจะสวดพระปาฏิโมกข์ได้

การนับจำนวนพระภิกษุสมัยก่อน บางครั้งก็นับโดยการวางไม้หรือก้อนหินไว้ด้านหน้าอุโบสถ ก่อนเข้าอุโบสถก็หยิบไม้หรือก้อนหินเข้าไปวางไว้ พระภิกษุที่ทำหน้าที่นับจำนวนไม้ที่ถูกหยิบเข้ามา ท่อนไม้หรือก้อนหินมีจำนวนเท่าไร พระภิกษุที่ร่วมฟังพระปาฏิโมกข์ก็มีจำนวนเท่านั้น แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อตามลำดับ

จากนั้น พระเถระผู้เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนำพระภิกษุทั้งนั้นกราบ  ๓  หน  แล้วสวดบททำวัตรพระต่อไป 

หลักจากสวดพระปาฏิโมกข์จบ พระเถระผู้เป็นประธาน ให้โอวาท  และนำเจริญพระพุทธมนต์ตามแต่ทางวัดจะกำหนด  แต่โดยมาก วัดที่มีวัตรปฏิบัติเป็นแบบแผน   นิยมสวดมนต์หลังพระปาฏิโมกข์   ดังต่อไปนี้

            ๑. กรณียเมตตสูตร

            ๒. ขันธปริตร

            ๓. พระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ

            ๔. วันทา  (วันทาบทใหญ่)

            ๕. กรวดน้ำ  (อิมินา)

            เมื่อเจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว  พระเถระผู้เป็นประธานนำคุกเข่ากราบ ๓ หน  เป็นอันเสร็จพิธี

            จากนั้น พระเถระผู้เป็นประธานต่อศีลให้สามเณร  เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์โดยทั่วไป   โดยถือว่าการต่อศีลให้สามเณรเป็นการอนุเคราะห์สามเณร  ผู้เป็นสมณะเชื้อสายศากยบุตร ที่จะทำหน้าที่สืบพระศาสนาต่อไป เพื่อทำศีลให้บริสุทธิ์และเป็นการทบทวนศีล ๑๐ ข้อ  เหมือนภิกษุสวดพระปาฏิโมกข์    เพื่อการทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อ  พระเถระผู้เป็นประธานให้โอวาทสามเณร  เป็นอันเสร็จพิธี


(๑) เดือนขาด  หมายถึง  เดือนที่มีไม่ครบ ๓๐ วัน  ตามปกติการนับวันทางจันทรคติ หนึ่งเดือนจะมี ๓๐ วัน แบ่งเป็นข้างขึ้น ๑๕ วัน ข้างแรม ๑๕ วัน รวมเป็น ๓๐ วัน  แต่มีวันข้างแรมบางเดือนที่มีเพียง ๑๔ วัน เรียกว่า แรม ๑๔ ค่ำ เดือนนั้นจะมีแค่ ๒๙ วัน เรียกว่า  “เดือนขาด”  ทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ในวัน แรม ๑๔ ค่ำ ได้

(๒) การห้ามไม่ให้พระภิกษุสวดปาฏิโมกข์แก่ผู้ที่ไม่ใช้พระภิกษุฟัง  แต่ไม่ได้ห้ามให้ผู้มิใช่พระภิกษุศึกษาปาฏิโมกข์ พุทธบริษัทสามารถศึกษาเล่าเรียนพระวินัยได้ตามกำลังสติปัญญา     

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๑ : การลงอุโบสถ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here