วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

“ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๔๓) บรรพ์ที่ ๘

“สมาธิภาวนาและธุดงค์”

(๑) เกี่ยวกับคำและความหมายของสมาธิ

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

สมาธิ มีชื่อเรียกหลายอย่าง จะเรียกว่า“สมาธิ” “กรรมฐาน” “การปฏิบัติธรรม” หรือ “การเจริญภาวนา” ก็ได้  แต่โดยรวมก็เป็นวิธีการที่จะทำให้จิตสงบนั่นเอง   โดยทั่วไปนิยมเรียกการทำสมาธิว่า  “กรรมฐาน” 

สมัยพุทธกาล  พระอุปัชฌาย์ต้องให้พระภิกษุผู้บวชใหม่ เรียนพระกรรมฐานเบื้องต้นก่อนเสมอ  เนื่องจากพระภิกษุผู้บวชใหม่ยังไม่รู้วิธีฝึกหัดขัดเกลา ควบคุมจิตใจ  อาจทำให้รุ่มร้อน กระวนกระวาย เรียกอย่างปัจจุบันว่า “ผ้าเหลืองร้อน” จึงต้องให้กรรมฐานไว้ก่อน  

กรรมฐานที่ให้เรียนเป็นเบื้องต้น เรียกว่า “มูลกรรมฐาน” โดยบริกรรมว่า

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)

ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา (ปฏิโลม)

หรือจะนั่งนึกแยกองค์ประกอบต่างๆ ของร่างกายว่า

ผม ขน เล็บ  ฟัน หนัง

บริกรรมกลับไปกลับมา  เพื่อให้จิตผูกเพ่งอยู่กับคำบริกรรมข้างต้น  เมื่อจิตไหลไปตามคำบริกรรมเป็นกระแส ไม่ขาดสาย  ก็ทำให้เกิดสติกำกับจิตไม่ปล่อยให้จิตคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ

พระกรรมฐานข้างต้น เป็นกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์ใช้สอนพระภิกษุผู้บวชใหม่ บวชในวันนั้นต้องเรียนกรรมฐานชนิดนี้ในวันนั้น ที่เรียกว่า “มูลกรรมฐาน” เพราะเป็นพระกรรมฐานแบบแรกที่พระภิกษุสามเณรต้องเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และเมื่อบวชไปแล้วจึงค่อยเรียนรู้กรรมฐานอย่างอื่นที่พิสดารกว้างขวางออกไปตามอัธยาศัย

กรรมฐาน ๒ วิธี

  กรรมฐาน หรือวิธีทำให้จิตใจสงบตามหลักพระพุทธศาสนามี ๒ วิธี   คือ

สมถกรรมฐาน   กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดความสงบ

วิปัสสนากรรมฐาน  กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดปัญญา

สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดความสงบ

สมถกรรมฐานเป็นวิธีการข่มจิตให้สงบ ทำให้จิตมีสมาธิ ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญมากในการที่จะไปต่อในการทำวิปัสสนา จะข้ามขั้นตอนนี้ไปไม่ได้ โดยวิธีการข่มจิต ทำให้จิตสงบก็คือ เมื่อจิตอยากคิดก็ไม่คิด จิตอยากขยับก็ไม่ขยับ จิตอยากลุกก็ไม่ลุก คันก็ไม่เกา จิตอยากทำอะไรก็ไม่ทำตาม ฝืนจิตทวนกระแสสิ่งที่จิตอยากคิด อยากทำ  การไม่ทำตามใจอยาก เรียกว่า ข่มจิตให้สงบระงับเป็นสมาธิ

วิธีการของสมถกรรมฐาน คือ การเอาจิตไปผูกเพ่งไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคำใดคำหนึ่ง  หากเพ่งธาตุ ดิน น้ำ ลม หรือ ไฟ ก็ให้จิตผูกเพ่งอยู่ที่ดิน น้ำ ลม หรือไฟ เพียงอย่างเดียว  ไม่ใส่ใจสิ่งอื่น ไม่ใส่ใจความคิด  จิตอยากคิดเรื่องอื่นก็ไม่คิด  ไม่เอา หากเป็นคำบริกรรมก็ผูกเพ่งอยู่ที่คำบริกรรม 

กล่าวได้ว่า สมถกรรมฐานเป็นวิธีการทำให้จิตสงบระงับ โดยไม่ใส่ใจรายละเอียดของจิตว่าเป็นอย่างไร   จิตจะเป็นอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไร เกลียดอะไร เพียงรู้อาการของจิตเฉยๆ ว่าฟุ้ง หรือหยุดฟุ้งแล้ว จนกระทั่งเห็น จิตหยุดคิด และ จิตสงบ 

สมาธิ คือการทำให้จิตสยบยอมอยู่กับที่ให้ได้

ญาณวชิระ

โดยวิธีนี้กิเลสในจิตจะอ่อนล้า ในที่สุดก็ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบนิ่งเป็นสมาธิ

วิปัสสนากรรมฐาน

กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดปัญญาตามรู้ ว่าจิตเป็นอย่างไร

หลังจากสมาธิเกิดแล้วจากสมถกรรมฐาน ต่อมาก็ตามดูจิตว่าคิดอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไรเกลียดอะไร ทำไมจึงชอบ ทำไมจึงเกลียด  จิตจะคิดบ้างก็ปล่อยให้คิด  เพียงให้รู้ว่าจิตกำลังคิดอะไร 

โดยวิธีนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญารู้เท่าทันจิต เป็นเหตุให้เข้าใจตัวเอง คือ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่ปรากฎในจิต

“แม้การปฏิบัติสมาธิจะมีสองวิธี

แต่ทั้งสองวิธีสืบเนื่องกัน

ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ

วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีฐานของสมถะ”

ญาณวชิระ

เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แท้จริงก็คือการปฏิบัติสมถกรรมฐานด้วยนั่นเอง เพราะจิตที่สงบเป็นสมถะได้ในระดับหนึ่ง จึงจะมีสติปัญญาพอที่จะตามรู้จิตของตนเองจนเห็นไตรลักษณ์ เห็นสภาวะกายและใจตามความเป็นจริงที่ เรียกว่า “วิปัสสนา” ได้ 

ในขณะเดียวกัน  จิตที่เป็นวิปัสสนาจนสามารถตามรู้จิตได้ทุกขณะนั้น ก็ต้องเป็นสมาธิมีความสงบเป็นสมถะในระดับหนึ่งเช่นกัน  

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน แยกเป็น ๒ คำ ก็เฉพาะในหลักวิชาการเท่านั้น เพื่อให้จิตเห็นความละเอียดของจิต แต่ในการปฏิบัติ ไม่สามารถแยกกันออกได้ เพราะทั้ง ๒ วิธี ต้องอาศัยซึ่งกันและกันในการปฏิบัติ  หรือ อาจจะเรียกได้ว่า ทั้งสมถะและวิปัสสนาแยกกันในหลักวิชาการ แต่เป็นสิ่งเดียวกันในการปฏิบัติ

หากจะเปรียบก็เหมือนคนเดินทางแล้วแวะพัก (คือทำสมาธิให้จิตสงบ) จากนั้นก็ออกเดินทางต่อจนถึงปลายทาง คือความพ้นทุกข์จากกิเลสตัณหา โดยอาศัยวิปัสสนา คือการมองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา โดยอาศัย ความสงบแห่งจิต

“หากเปรียบสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานกับการเดินทาง  สมถกรรมฐานเหมือนการเตรียมตัว และออกเดินทางอย่างรู้ชัดเจนว่าเป้าหมายอยู่ที่ใด โดยมีวิปัสสนาเป็นตัวเดินทางต่อไปจนถึงปลายทางของการพ้นทุกข์”

ญาณวชิระ

“ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๓) บรรพ์ที่ ๘ “สมาธิภาวนาและธุดงค์”(๑) เกี่ยวกับคำและความหมายของสมาธิ เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here