“ความฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ

คือ เมื่อจิตเกิดเอกภาพมีความสมดุล

ดำรงความเป็นกลาง

เวลาไหนควรรักษาความเป็นกลาง

มีอุเบกขานิ่งอยู่กับความสงบ

เวลาไหนควรยกจิตขึ้นพิจารณา

ความไม่เที่ยงของกายและจิต เห็นความไม่เที่ยงของจิต”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๖)

“ ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ”

เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

บทที่ ๖ ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ

"พระสงฆ์ คือ เนื้อนาบุญของโลก" ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่านโดย หมอนไม้
“พระสงฆ์ คือ เนื้อนาบุญของโลก” ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่านโดย หมอนไม้

ความฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ คือ เมื่อจิตเกิดเอกภาพมีความสมดุล ดำรงความเป็นกลาง เวลาไหนควรรักษาความเป็นกลางมีอุเบกขานิ่งอยู่กับความสงบ เวลาไหนควรยกจิตขึ้นพิจารณาความไม่เที่ยงของกายและจิต เห็นความไม่เที่ยงของจิต คือ เพ่งพินิจให้ความสนใจเฝ้าพิจารณาความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ในที่สุดก็จะเห็นความคิดเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดับไป

เวลาไหนสมาธิเริ่มอ่อนกำลังไม่สามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ให้กลับมาดูลมหายใจ เหมือนกลับมาอัดพลังงานเข้าไปอีกครั้ง  จนจิตเกิดความเบิกบานสว่างไสวอยู่ภายในแล้วก็กลับไปรักษาความเป็นกลางไว้  เฝ้าสังเกตดูจิตต่อไป

เวลารวมก็ให้จิตรวมเอง เวลาถอนออกก็ให้จิตถอนออกเอง อย่าบังคับให้จิตรวมหรือให้จิตถอน จิตรวมดวง ก็รู้ จิตถอนออกจากความเป็นกลาง ก็รู้ ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมดาของจิต เมื่อความพรั่งพร้อมถึงที่

            การที่จิตเกิดเอกภาพ

มีความสมดุล

รักษาความเป็นกลางไว้นั้น

ขอให้นึกถึงนกที่บินทะยานขึ้นไปในอากาศ

ต้องใช้ทุกองคาพยพของปีกทั้งสองข้างสยายออก

แล้วกระพือปีกทะยานขึ้นไปในอากาศ

ด้วยการกระพือปีกบ่อยๆ

พอปีกกินลมได้เต็มที่

  ก็จะกางปีกร่อนอยู่ในอากาศ 

พอใกล้หมดลมใต้ปีกก็จะขยับปีก 

ให้กินลมที่หนึ่ง แล้วก็ร่อนต่อไป

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความฉลาดในอารมณ์ของผู้ปฏิบัติสมาธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อเร่งทำความเพียรจนสมาธิถึงความเป็นกลางแล้วจิตก็หยุดกำหนดลมหายใจไปเองแล้วนิ่งเพ่งดูความว่าง

คำว่า หยุดกำหนดลมหายใจ ก็เป็นคำที่อธิบายสภาวะที่ลมหายใจหายไปเองตามธรรมดาของจิตสงบ  เพราะสภาวะของความสงบเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ลมหายใจ จิตจึงสลัดจากลมหายใจไปเกาะอยู่กับความสงบ คือ จิตไม่เกาะลมหายใจแต่ไปเกาะยึดอยู่กับความสงบแทน

ที่จริงลมหายใจก็มีอยู่ตามปกติ แต่แผ่วเบาเต็มที และในขณะนั้น จิตก็ไม่ได้สนใจลมหายใจ เพราะจิตไปแนบแน่อยู่กับความสงบ ซึ่งปรากฏเด่นดวงชัดขึ้นมา ท่วมทับลมหายใจที่แผ่วเบาลงไป 

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า ขณะนั้น จิตเลิกให้ความสนใจลมหายใจ ไปให้ความสนใจกับความสงบแทน แต่เป็นลำดับจิตที่เคลื่อนไปตามธรรมดาของจิตที่ถูกฝึกหัดจนรู้ทางของตัวเองแล้ว

            พอทำความเพียรจนได้ที่แล้ว ก็หยุดกำหนดลมหายใจ จิตเป็นอุเบกขาถึงความเป็นกลาง ก็ดูความว่างไปเรื่อย  เมื่อความคิดเกิดขึ้นก็พิจารณาความคิด พิจารณาความไม่เที่ยงของความคิดที่สลับหมุนเวียนกันเกิดขึ้น อันแสดงความไม่เที่ยงของความคิด  หรือความไม่เที่ยงของจิต

เมื่อความคิดนี้เกิดขึ้น ความคิดนี้ก็ดับไป แล้วความคิดอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทนที่ แล้วก็ดับไป วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ก็เพ่งพิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของความคิดอยู่อย่างนี้ บางความคิดก็จะเห็นความชอบเกิดขึ้น (สุขเวทนา) บางความคิดก็จะเห็นความชังเกิดขึ้น (ทุกขเวทนา) บางขณะก็จะเกิดภาวะสุกสว่างไสวนิ่งราบเรียบเป็นเอกภาพ มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง (มหตัคคะ)

ความชอบ ความชัง ความยินดี ความยินร้าย ความไม่สบายใจที่เกิดจากความยึดถือก่อตัวขึ้นจากส่วนผสมพื้นฐานแห่งโลภะ โทสะ โมหะ มีตัณหาเป็นหัวเชื้อและมีอุปาทานเป็นส่วนยึดผนึกแน่น

บางขณะจิตก็ยกธรรมขึ้นพิจารณา พิจารณาในสติปัฏฐาน คือ การขบคิดเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม)

สัมมัปปธาน ๔ คือ พิจารณาถึงคุณของความเพียร  (สังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน)

อิทธิบาท ๔ คือ พิจารณาถึงทางที่จะให้เกิดความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติสมาธิ(ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)

อินทรีย์ ๕ คือ พิจารณาถึงธรรมที่เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวงว่าต้องให้จิตประกอบด้วยอารมณ์เหล่านี้จึงจะครอบอารมณ์ฝ่ายอกุศลอื่นๆ ได้ และทำให้สำเร็จกิจในอริยมรรค(สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์  ปัญญินทรีย์)

พละ ๕ คือ พิจารณาถึงธรรมเป็นกำลังสนับสนุนอริยมรรค (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)

โพชฌงค์ ๗ คือ พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้(สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสิทธิ สมาธิ อุเบกขา) และมรรค ๘ (สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

พิจารณาความไม่เที่ยงในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) พิจารณาในอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง 

จนสมาธิเริ่มอ่อนกำลังลง เป็นเหตุให้นิวรณ์เริ่มแทรกเข้ามารบกวน ก็กลับไปเติมสมาธิด้วยการดูลมหายใจ จนจิตเข้าถึงความเป็นกลาง ก็กลับมาดูจิตต่อไป เหมือนนกที่บินร่อนอยู่ในอากาศ พอลมใต้ปีกจะหมดก็ขยับปีกกินลมทีหนึ่ง ก็ร่อนต่อไปการดำเนินจิตในสมาธิก็เช่นเดียวกัน

เมื่อปฏิบัตินานไปจะรู้สึกเบื่อความว่าง เบื่อความสบ จะมีคำถามผุดขึ้นมาว่า ปฏิบัติสมาธิจนว่างจนสงบแล้วจะอย่างไรต่อ ก็ให้ยกธรรมดังกลาวขึ้นพิจารณาไปก่อน เพื่อให้จิตเกิดความเคยชินกับการพิจารณาธรรมที่หนุนเนื่องอริยมรรค

อย่าปล่อยให้จิตแช่นิ่งว่างๆ เฉยๆ อยู่เช่นนั้นนานเกินไป แม้ได้ความสงบแล้วก็จริง แต่ยังไม่ได้ปัญญา ปัญญายังไม่เกิด

การยกข้อธรรมดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ก็เพื่อหางานให้จิตทำ แต่เป็นงานของจิตเพื่อก่อปัญญา เป็นการเปิดอารมณ์ใหม่ขึ้นมาให้จิตรู้ อย่าไปรู้เรื่องเก่าที่เต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ให้รู้เรื่องใหม่ คือ เรื่องธรรมที่จะไปหนุนมรรคให้เจริญ

ถ้าไม่หางานให้จิตทำ จิตก็จะแช่นิ่งจนเกิดความเคยชินติดอยู่กับความแช่นิ่ง หรือติดสงบ จะเรียกว่า ติดสุขในความสงบก็ได้ แล้วก็จะเกิดตัณหาและอุปาทานการยึดมั่นอย่างใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของสมาธิ ที่พระพุทธเจ้าต้องการ

แทนที่จะปล่อยให้จิตดึงเอาอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ที่เป็นอนุสัยดองอยู่ขึ้นมาคิดปรุงแต่ง ก็ให้จิตขบคิด ปรุงแต่ง พิจารณาไปตามธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรู้ธรรมเข้าใจธรรมและหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นพิจารณา ก็ล้วนแต่เป็นหัวข้อธรรมที่หนุนเนื่องให้เกิดสมาธิและปัญญาก็ยกขึ้นพิจารณาบ่อยๆ

อนึ่ง หากไม่ยกหัวข้อธรรมขึ้นพิจารณา จิตก็จะไปดึงเอาอนุสัยเกี่ยวกับราคะ โทสะ โมหะที่นอนเนื่องดองอยู่ในจิตขึ้นมาปรุงแต่ง สืบเนื่องเป็นกระแส เพราะถึงอย่างไรโดยธรรมชาติของจิตจะขาดอารมณ์ไม่ได้ก็ต้องหน่วงสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์สืบเนื่องเป็นกระแสเป็นธรรมดา แม้กระทั่งความสงบ ก็คืออารมณ์อย่างหนึ่ง ที่จิตหน่วงขึ้นมาแล้วยึดเป็นอารมณ์ในขณะนั้นๆ

            แต่ความสงบก็ไม่เที่ยง เพราะความสงบก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งไตรลักษณ์ หมุนไปตามเหตุปัจจัยเช่นกัน เมื่อปฏิบัติแล้ว บางคราวสงบ บางคราวก็ไม่สงบ

ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้
ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๖) “ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here