บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๒๐)

“ ลมหายใจแห่งสติ ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ(เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ลมหายใจแห่งสติ

การดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าจะว่า พุท หายใจออกว่า โธ ก็ได้ หรือจะไม่ว่า พุทโธ ก็ได้ ก็ดูลมหายใจเฉยๆ เพราะ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ คือให้รู้ลมหายใจ

เมื่อมีสติระลึกรู้ลมหายใจก็เป็นพุทโธ ผู้รู้ นั่นเอง เพียงแต่แปลงสภาวะความเป็นผู้มีสติระลึกรู้ลมหายใจ มาเป็นคำพูดว่า พุทโธ เท่านั้น หรือหายใจเข้าจะว่า พองหนอ หายใจออกจะว่า ยุบหนอ ก็ได้ ก็ดูอาการพองอาการยุบไป เมื่อเกิดสติระลึกรู้อาการพองอาการยุบ ก็เกิดผู้รู้ คือ พุทโธ อีกนั่นแหละ

แต่ปฏิบัติเพื่อให้ละให้วาง ก็มาเกิดอุปาทานการยึดอย่างใหม่ขึ้นมาอีก คือ ยึดว่า กรรมฐานสายไหน แบบไหน ดีกว่าสายไหน สายไหนเป็นของใคร ปฏิบัติสายนี้แล้ว จะไปปฏิบัติสายนั้นไม่ได้ เลยชุลมุนชุลเกกัน

ที่จริง ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ปฏิบัติกรรมฐานแบบใดแบบหนึ่งเป็นแนวทางไว้ก่อน ก็เพื่อให้จิตยึดกรรมฐานแบบนั้นเป็นอารมณ์ไว้เป็นหลัก ให้จิตมีอารมณ์เดียว ไม่มีหลายอารมณ์ ถ้าปฏิบัติหลายแบบกลับไปกลับมา จิตก็จะไม่มีอารมณ์เดียวก็จะไม่เป็นสมาธิ  ไม่เกิดผลในการปฏิบัติ ก็เท่านั้น ท่านจึงสอนว่า ปฏิบัติแนวไหนตรงกับอัธยาศัย จิตใจสงบเบาสบาย ก็ให้ถือปฏิบัติแนวนั้น

ไม่ใช่หมายถึงท่านสอนว่า สายนี้ดีกว่าสายนั้น แนวนี้ดีกว่าแนวนั้น คือ ดีทุกสาย ดีทุกแนว ขอให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  จะปฏิบัติตามแนวไหนวิธีใด ก็เอาให้แน่ อย่าทำแบบโน้นทีทำแบบนี้ที  มันไม่ได้ผล

ทีนี้ พอครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้เข้า ก็ไปถือเอาความอย่างใหม่ว่า กรรมฐานสายนี้ดีกว่าสายนั้น ก็ไปกันใหญ่  เลยยึดกันไปใหญ่

นี่ก็อธิบายแทรกเข้ามา เพื่อ พุทโธ ผู้รู้จะได้เกิด

การฝึกสติก็ไม่ต้องทำอะไรมาก

เพียงให้ความระลึกรู้

อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก

พอทำไปบ่อยครั้งเข้า

จิตจะรับรู้เองว่าจะวางจิตแบบใด

เหมือนจิตก็จะรู้หน้าที่เองว่าจะอยู่อย่างไร

แล้วก็จะจดจ่อสนใจอยู่กับอารมณ์เดียว

ก็เรียกว่า จิตสงบ

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

สงบเพราะไม่ได้เห็นรูป รูปก็ไม่เป็นเหตุให้จิตคิดฟุ้งไป สงบจากเสียง กลิ่น รส และการสัมผัสใดๆ ทำให้จิตสงบอยู่กับลมหายใจ ไม่ฟุ้งปรุงแต่งไป

แต่ถ้าจิตไม่สงบ

ก็คือ จิตไม่ได้อยู่ในอารมณ์เดียว

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

จิตอยู่ในอารมณ์เดียว จะเรียกว่า จิตเป็นสมถะ ก็ได้ เป็นขั้นตั้งหลักไว้กับลมหายใจ เมื่อจิตตั้งหลักอยู่กับลมหายใจได้แล้ว ก็พัฒนาต่อไปเป็นขั้น ปัญญา คือ ทำจิตให้รู้มากขึ้น เป็นความสงบด้วยปัญญา 

เมื่อมีปัญญาแล้ว

แม้เห็นรูปก็ยังสงบอยู่

แม้ได้ยินเสียงก็ยังสงบอยู่

แม้รูปนั้น เสียงนั้นเราจะพอใจ

หรือไม่พอใจก็ยังสงบอยู่

แม้ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส

เราจะพอใจ หรือไม่พอใจ

ก็ยังสงบ

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

รูป เสียง กลิ่น รสจะมาหลอกล่อจิตให้เคลื่อนออกจากฐานแห่งความรู้ไปไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า สงบด้วยปัญญา เพราะสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ ก็วางอารมณ์ แล้วก็รักษาความเป็นกลางไว้ จะเรียกว่า สงบด้วยความรู้นี้ว่าเป็นวิปัสสนา ก็ได้

ตอนแรก เราฝึกจิตให้สงบอยู่กับอารมณ์เดียว ด้วยการเพ่งจดจ่อความสนใจไว้ที่ลมหายใจ  เมื่ออยู่กับอารมณ์เดียวก็คือ ไม่ออกไปรับอารมณ์อื่นนอกจากลมหายใจ อารมณ์อย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส ก็ไม่มีโอกาสแทรกเข้ามาทำให้จิตฟุ้งปรุงแต่งไป จึงเรียกว่า  สมถะ

แต่เมื่อไหร่ที่ออกจากอารมณ์เดียวไปรับอารมณ์อื่น  พอจิตกระทบรูป เสียง กลิ่น รส ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ก็จะกระเพื่อมไหวเคลื่อนออกจากฐาน ฟุ้งปรุงแต่งจินตนาการไปตามอารมณ์ที่ได้รับ คือ คิดไม่ทันก็ชอบ คิดไม่ทันก็ขัดเคือง คิดไม่ทันก็โมโหเดือดดาล คิดไม่ทันก็ลุ่มหลงคิดไม่ทันก็อยากยึดอยากครอบครอง

คิดไม่ทัน

คือ สติไม่ทันความคิด

จิตจึงมีหลายอารมณ์

ไม่มีอารมณ์เดียว

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ใครที่สติไม่ทันความคิด ก็ชอบ ก็ชัง ก็ขัดเคือง ก็ไม่พอใจ หมุนไปเรื่อยตามแต่จะประสบเข้ากับอารมณ์ใด เมื่อตั้งหลักให้จิตสงบมีอารมณ์เดียวได้แล้ว ก็พัฒนาเป็นขั้นสงบด้วยความรู้

ความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ความรู้จะเกิดขึ้นก็ด้วยค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอน ค่อยๆ อบรมให้จิตรู้ขึ้นมา สอนให้จิตรู้อะไร ก็สอนให้รู้ว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง อะไรๆ ก็ไม่แน่ สงบก็ไม่แน่ ไม่สงบก็ไม่แน่ ดีใจก็ไม่แน่   เสียใจก็ไม่แน่

ปฏิบัติสมาธิมีใจสงบแล้ว

ก็สอนจิตให้รู้ว่า ไม่แน่

ไม่สงบก็ไม่แน่

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ใช่แค่ให้จิตนิ่งแช่อยู่กับความสงบเฉยๆ ไม่ใช่ให้นิ่งเฉยๆ แช่อยู่อย่างนั้น ท่านจึงบอกว่า พอสงบไม่มีนิวรณ์รบกวนแล้ว ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา

ยกจิตขึ้นฟังดูก็เหมือนจะยาก จะยกจิตขึ้นได้อย่างไร คำว่า “ยกจิตขึ้น” เป็นภาษาที่ให้เห็นชัดขึ้น เหมือนยกข้าวของ ที่จริง ก็คือ เปลี่ยนความคิดจากนิ่งๆ มีอารมณ์เดียวมาคิดพิจารณาความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนนั่งเอง ไม่ปล่อยให้จิตนิ่งแช่อยู่อย่างนั้น ไม่ให้นิ่งแช่เป็นสมถะสงบอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างนั้น เพราะถ้าทำอย่างนั้นบ่อยๆ เข้า ก็จะได้อารมณ์เดียว คือ อารมณ์แช่นิ่ง แต่จะไม่ได้อารมณ์ปัญญา

อารมณ์ปัญญา จะได้จากการพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญธรรม ยกธรรมขึ้นพิจารณา

เบื้องต้น ก็ดูความไม่เที่ยงจากกาย แล้วก็ดูความไม่เที่ยงจากใจ ดูความไม่เที่ยงจากการกระทบอารมณ์ ดูความคิดข้างใน  ตาเห็นรูป แล้วก็ดูความคิด ดูเข้ามาที่ใจ เห็นแล้วใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นโกรธไหม หูได้ยินเสียง ได้ยินแล้วใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นชอบใจ  ไม่ชอบใจ ขัดเคืองใจไหม

ทุกครั้งที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ก็ดูกลับเข้ามาที่ความคิดว่า  ใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นโกรธ เกลียด อาฆาต ชอบใจ ขัดเคืองใจไหม

เมื่อรู้วิธีแล้ว ก็ดูบ่อยๆ เข้าทำให้มากเข้า พิจารณาให้มากเข้า  เป็นภาวนา “พหุลีกตา” ก็เป็นการภาวนา  เมื่อภาวนามากเข้า ผู้รู้ก็เกิดขึ้น ปัญญาในวิปัสสนาก็เกิดขึ้น

นั่นก็พูดตามหลัก  ระหว่างสมถะกับวิปัสสนาเหมือนจะแยกกัน  ในการปฏิบัติ แต่อันที่จริง จะสมถะหรือวิปัสสนาก็ทำไปด้วยกันเวลาลงมือปฏิบัติ  ก็ไม่ได้แยกว่าอันไหนเป็นอันไหน อันไหนก่อนอันไหนหลัง ก็ผสานกลมกลืนกันไป

เพียงแต่ว่า ช่วงไหนสมถะเด่นชัด ช่วงไหนวิปัสสนาเด่นชัด เหมือนกลางวันก็อยู่กับกลางคืน กลางคืนก็อยู่กับกลางวัน ก็อันเดียวกัน

เมื่อจะพิจารณาทุกข์ได้

จิตต้องเกาะนิ่งอยู่กับทุกข์อย่างมั่น

แล้วปัญญาจึงจะทำหน้าที่

พิจารณาความเป็นทุกข์ของทุกข์ได้

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

เปรียบสมถะกับวิปัสสนาก็เหมือนมือซ้ายกับมือขวาจะขัดแจกัน มือข้างซ้ายต้องจับแจกันไว้แน่น แล้วมือขวาก็ขัดถูไป แจกันจึงจะขึ้นเงาวาว ถ้าใช้มือเดียวขัดโดยที่อีกมือหนึ่งไม่ได้จับไว้ แจกันก็กลิ้งไปกลิ้งมา ก็ขัดไม่ถนัด 

สมถะทำหน้าที่ยึดจิตไว้  วิปัสสนาก็ทำหน้าที่ขัดเกลา อบรมสั่งสอนจิตไปเรื่อย จนจิตเกิดรู้ตัวขึ้นมาว่า “ตัวเองเป็นผู้รู้

ก่อนหน้านี้ไม่รู้จึงเป็นอวิชชา เพราะยังไม่ได้รับการภาวนาอบรมสั่งสอน พอได้รับการภาวนาอบรมสั่งสอนถูกวิธี ก็เกิดความรู้ขึ้นมา จึงกลายเป็นวิชชา

สมถะทำหน้าที่ยึดไว้  วิปัสสนาทำหน้าที่อบรมสั่งสอน เหมือนแม่จะอบรมสั่งสอนลูกน้อยที่เอาแต่วิ่งเล่นสนุกสนานเพลิดเพลิน เวลาเรียกก็ทำท่าทางทะเล้นหัวเราะให้เสียอีก  ก็ต้องบอกให้ลูกหยุดวิ่งก่อน  บางทีก็ต้องจับแขนไว้ก่อน  แล้วก็ว่ากล่าวสั่งสอน ขู่บ้างปลอบบ้าง

ในการลงมือปฏิบัติ  โดยสภาวะระหว่างสมถะกับวิปัสสนาไม่ได้แยกจากกันว่าอันไหนเป็นอันไหน ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติของจิต เหมือนการตั้งระบบอัตโนมัติไว้แล้วก็รันตามลำดับ ในระหว่างอยู่ในสมาธิแทบจะไม่มีแยกว่าอันไหนเป็นสมถะ อันไหนเป็นวิปัสสนา ถึงลำดับต้องการความสงบเป็นสมถะ จิตก็จะปรับเข้าสู่ความสงบเป็นสมถะ  ถึงลำดับต้องการพิจารณาธรรม จิตก็จะปรับเข้าสู่การพิจารณาเป็นวิปัสสนาด้วยจิตเอง

พอฝึกหัดจิตจนจิตอ่อนโยน

ควรแก่การใช้งานแล้ว

ก็จะเป็นอย่างนี้

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๐) “ ลมหายใจแห่งสติ ” เขียนโดย ญาณวชิระ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here