วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒

บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

๑ คำอธิษฐานของสุเมธดาบส

              ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป ก่อนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  เมื่อครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็น “สุเมธดาบส”
              วันหนึ่งในสมัยนั้น  มีข่าวว่าพระทีปปังกรพุทธเจ้า (หมายถึง ผู้ยังแสงสว่างให้เกิดขึ้น) พระพุทธเจ้าองค์แรกเมื่อครั้งนั้น  จะเสด็จผ่านหมู่บ้านหนึ่งที่สุเมธดาบสอาศัยอยู่พอดี  แต่ด้วยความที่หมู่บ้านนั้นมีขวากหนามเต็มไปหมดในทางที่พระองค์จะเสด็จผ่าน  ชาวบ้านจึงรีบมาทำความสะอาดนำขวากหนามออก เพื่อให้พระองค์พร้อมทั้งพระสาวกเดินทางอย่างสะดวก แต่ยังไม่ทันเสร็จ พระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกอีก ๔ แสนรูป ก็เสด็จมาถึงแล้ว พอดีว่ายังเหลือบ่อโคลนขวางหน้าอยู่ สุเมธดาบส  จึงทำสิ่งที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง  โดยการนอนทอดตัวขวางบ่อโคลนนั้น  และกราบทูลพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า  ขอให้พระองค์กับคณะสงฆ์เดินเหยียบไปบนตัวของข้าพระองค์  เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเหยียบบ่อโคลนนั้น  พร้อมอธิษฐานจิตว่า 

“ เราปรารถนาจะเป็นอย่างพระทีปังกรพุทธเจ้า
บรรลุพระโพธิญาณ และพามหาชนข้ามวัฏสงสารไปด้วยกัน ”

              หลังจากสุเมธดาบสกราบทูลแล้ว  พระทีปังกรพุทธเจ้าก็เดินมาหยุดที่ศีรษะของสุเมธดาบส  และทรงทราบโดยพระญาณว่า  สุเมธดาบสได้บำเพ็ญบารมีมานานมากแล้ว  บัดนี้เป็นผู้มีเสบียงธรรมพร้อม  สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยการฟังธรรมเพียง ๑ คาถาเท่านั้น  แต่ทว่า สุเมธดาบสเป็นผู้แน่วแน่ไม่เปลี่ยนใจ ตั้งใจเป็นพระโพธิสัตว์พร้อมที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  จึงตัดสินพระทัยไม่แสดงธรรม แต่ทรงให้พุทธพยากรณ์ไว้ว่า
              “ท่านทั้งหลาย จงดูดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้  ดาบสท่านนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่  เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด  ท่านสร้างสมพุทธการกระทำ  คือธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง ๑๖ อสงไขย ด้วยความอุตสาหะ  สละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อโพธิญาณมาแล้วนับจำนวนครั้งไม่ได้  ความปรารถนาของท่านนั้นจักสำเร็จในที่สุดนับจาก ๔ อสงไขยกับเศษแสนกัปนี้ไป  ท่านจักตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านามว่า “โคตมะ”
              ในอัตภาพนั้นของท่าน จักประสูติในตระกูลศากยะเป็นเจ้าชาย มีนครนามว่า กบิลพัสดุ์ เป็นที่อยู่อาศัย พระมารดานามว่ามายา พระบิดานามว่าสุทโธทนะ
              เมื่อท่านมีญาณแก่กล้าแล้วออกมหาภิเนษกรมณ์ เป็นการเสด็จออกบวชครั้งสุดท้าย ในภพนั้น  พระองค์ตั้งจิตอธิษฐานอย่างใหญ่หลวง และมีความเพียรอย่างอุกฤษฏ์  รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร  เสวยที่ฝั่งเเม่น้ำเนรัญชรา  ขึ้นสู่โพธิมณฑล และจักตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
              หลังตรัสรู้แล้ว นามว่า พระโคตมพุทธเจ้า  ท่านจะมีพระอุปติสสะเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโกลิตะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระเขมาได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีปัญญามาก พระอุบลวัณณาได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก…”

    ชาวเมืองเเละเทวดาทั้งหลายเมื่อได้ฟังคำพุทธพยากรณ์แล้ว ก็พร้อมกันเปล่งคำว่าสาธุกันจนลั่นฟ้าลั่นปฐพี
              หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมคณะสงฆ์ก็เสด็จผ่านบนร่างกายของสุเมธดาบสไป

              จากนั้นสุเมธดาบสจึงกลับไปบำเพ็ญเพียรที่ป่าหิมพานต์  และได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ  เมื่อสิ้นอายุขัย  จึงได้ไปเกิดบนพรหมโลก และได้บำเพ็ญเพียรมาอีก ๔ อสงไขย จนได้มากำเนิดเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

หนังสืออ้างอิง จากพระไตรปิฎก

– อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค

นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
หน้าต่างที่ ๒ / ๙.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๑. คำอธิษฐานของสุเมธดาบส เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here