งดงามในความเปลี่ยนแปลง
โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
วัดป่าเมเปิ้ล (Maple Forest monastery)
เป็นวัดแรกของหมู่บ้านพลัมในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่เซาท์ วู้ดสต็อค ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ในรัฐเวอร์มอนต์ ที่ฆราวาสผู้มีจิตศรัทธาในหลวงปู่ ติช นัท ฮันท์ ได้อนุญาตให้พระภิกษุ และภิกษุณีในเวลานั้นมาพำนัก ปฏิบัติภาวนาในเนื้อที่กว่า ๘๕๐ ไร่ พร้อมเกื้อกูลอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน จุดมุ่งหมายหลักที่มีวัดแห่งนี้ เพราะหลวงปู่ต้องการรองรับชาวอเมริกันที่ต้องการบวชได้มีที่ปฏิบัติร่วมกันเป็นสังฆะ
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๐ สังฆะหมู่บ้านพลัมได้ย้ายจากที่แห่งนี้ ไปอยู่ที่มลรัฐนิวยอร์ก ได้ตั้งชื่อวัดเป็น บลูคลิฟ (Blue cliff) จนถึงปัจจุบัน
วัดป่าเมเปิ้ล ได้กลับมาทำหน้าที่รองรับพระภิกษุอีกครั้ง เมื่อพระภิกษุหนุ่มชาวอเมริกันขอปลีกตัวออกจากสังฆะหมู่บ้านพลัมในปี ๒๕๕๑ มาขอพำนัก ณ ที่แห่งนี้จวบจนถึงวันนี้และในวันนี้มีพระภิกษุชาวอเมริกันรวม ๔ รูปที่มาพำนักปฏิบัติ ณ วัดป่าเมเปิ้ล
ภูมิประเทศบริเวณนี้เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนายิ่งนัก รายล้อมไปด้วยเนินเขามากมายที่เต็มไปด้วยป่าเมเปิ้ล สามารถเดินในป่าที่เป็นทางสำหรับนักขี่ม้าที่มีจุดเชื่อมต่อกันมากมาย ที่สำคัญในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ใบเมเปิ้ล รวมทั้งพืชพรรณต่างๆ พร้อมใจกันอวดความสวยงามแห่งสีสัน ดึงดูดผู้คนมากมายจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมความงดงามของธรรมชาติในช่วงสุดท้ายของปี ก่อนสละใบทิ้งเพื่อประหยัดการบริโภคอาหารในช่วงฤดูที่หนาวเหน็บที่เต็มไปด้วยหิมะและเป็นอาหารหล่อเลี้ยงต้นไม้ต่อไปในฤดูใบไม้ผลิ
หนึ่งเดือนสุดท้าย
ก่อนที่ตึกหลังแรกที่เคยเป็นที่พำนักของพระภิกษุกำลังจะถูกรื้อถอน สิ่งของต่างๆ ที่ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปรวมกันอยู่ในกล่องพร้อมที่จะถูกทำลาย จึงขอให้โอกาสสุดท้ายนี้เปลี่ยนห้องที่เคยเป็นที่นั่งรวมของพระภิกษุ ที่บัดนี้เป็นที่วางสิ่งของที่ต้องการทิ้ง โดยการเลื่อนกล่องที่วางอยู่กระจัดกระจายไปรวม ณ จุดเดียวกัน เปิดเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำวัตรเช้า เย็น นั่งสมาธิโดยมีพระพุทธรูปเป็นต้นไม้สองต้นที่ยืนตระหง่านก่อนที่เห็นเนินเขาที่ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้า
พระและสังฆะอาศัยที่แห่งนี้สำหรับเดินภาวนา รวมทั้งนั่งเขียนบทความนี้ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกบุญคุณ ขอบคุณที่ตึกแห่งนี้ได้ทำหน้าที่มายาวนานพอสมควรให้เหล่าพระภิกษุได้ใช้เป็นที่พักสำหรับภาวนา แม้สภาพตึกยังดีอยู่มาก วิวด้านหน้าที่เห็นเนินเขาไกลสุดลูกหูลูกตา กำลังจะกลายเป็นพื้นที่เปล่าโล่ง
นอกจากนี้อาคารที่เคยใช้เป็นห้องสมาธิของภิกษุณีที่ออกแบบอย่างสวยงาม ใช้วัสดุในการก่อสร้างอย่างดีตั้งอยู่บนเนินเขาอย่างโดดเด่นด้านหน้าป่าเมเปิ้ลได้กลายเป็นห้องเก็บของมาเป็นเวลาหลายปี หลังจากที่สังฆะได้จากที่แห่งนี้ไป
อาตมาได้นำภาพเขียนลายพู่กันของหลวงปู่สมัยแรกๆ มาวางไว้ด้านหลังพระพุทธรูปเล็กๆ ในห้องนั่งสมาธิของพระภิกษุที่ชื่อว่า บ้านน้ำตาล (Sugar House) เพราะเคยใช้เป็นห้องผลิตน้ำหวานเมเปิ้ล(Maple Syrub) ก่อนถูกแปรสภาพเป็นห้องสมาธิ ตั้งแต่มีวัดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลวงปู่ก็เคยพำนักอยู่ในห้องเล็กๆ ที่ติดกับห้องสมาธิแห่งนี้
ความเปลี่ยนแปลง คือ สัจธรรม
ข้อแรกแห่งกฎของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนให้ผู้ปฏิบัติที่ต้องการดับทุกข์ในตนเอง ระลึกอยู่เสมอทุกค่ำเช้า ทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อที่เราจะสามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเต็มเปี่ยม เห็นการผ่านมา ผ่านไป ทั้งภายในร่างกายที่ได้สมมติว่าเป็นเรา และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายนอกรอบตัว ไม่ปล่อยจิตใจหลงไปยึดในสิ่งปรากฏในทางที่ดี เพื่อที่จะไม่หลงรังเกียจ เกลียดชัง ปฏิเสธ ผลักใสในสิ่งที่ปรากฏในทางที่ไม่ดี เพราะเมื่อปล่อยจิตใจให้เป็นเช่นนั้น เราได้สร้างภพ ชาติทุกขณะอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
การเกิดแห่งการปรุงแต่งทุกครั้งย่อมเป็นทุกข์อยู่เสมอ
จิตใจจะฟุ้ง ไหลไปกับการดีใจ ตื่นเต้น สุขใจ กลัว กังวล ตระหนกตกใจ ทุกข์ใจ ไม่พอใจ โกรธ อิจฉา ตัดสิน เปรียบเทียบ หลงตน อวดตน เสียใจ คร่ำครวญฯลฯ เป็นชีวิตที่เหนื่อยอย่างไม่มีจุดจบ
จิตใจที่ไม่ดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ จะปรุงแต่งทันทีเมื่อเกิดกระทบทางผัสสะเป็นเหตุให้ยากที่สัมผัสความสงบในขณะกระทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรที่เราจะทำหน้าที่แห่งการสมมติอย่างถูกต้อง การกลับมาอยู่กับปัจจุบัน คือ คำตอบ
ณ วัดป่าเมเปิ้ลในวันนี้ ยังคงทำหน้าที่รองรับพระภิกษุ หรือผู้ต้องการปฏิบัติภาวนา แต่อาจไม่เหมือนเดิมและทุกอย่างไม่เคยเหมือนเดิม ไม่เคยมีอะไรบนโลกใบนี้ที่คงสภาพเดิม แม้แต่ความรู้สึก การรับรู้ การปรุงแต่งทั้งในตัวเรา
“จิตใจที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ยังคงทำหน้าที่ตามเหตุตามปัจจัย”
ถ้าวันนี้เรายังทุกข์ใจกับบุคคลที่เคยเคารพ ศรัทธา รัก เอื้อเฟื้อ เมตตากรุณาต่อเรา แต่วันนี้เขาไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปหรือเขาจากเราไป นั่นไม่ใช่ความผิดของเขา และของเรา แต่เพราะเรายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงถึงความเปลี่ยนแปลง เรายึดว่าบุคคลนั้น สิ่งนั้น สัตว์นั้นต้องเป็นอย่างที่เราหวัง เราต้องการ เราคงต้องฝึกมีสติ ปลงวางต่อไปจนกว่าจิตใจจะยอมรับ เข้าใจว่าต่อให้สิ่งหรือบุคคลในโลกใบนี้จะเปลี่ยนเป็นเช่นไร แต่เรายังคงเมตตา กรุณา มุทิตาและวางใจเป็นกลางกับบุคคลในโลกนี้เสมอ แล้วเราจะอาศัยอยู่บนโลกอย่างตื่นรู้สงบเย็น
ทุกอย่างย่อมงดงามอย่างที่เป็น เมื่อไม่นำจิตใจไปเกี่ยวยึด
ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของโลก เรากำลังรักษ์โลก
อดีตแม้ดีเพียงใด ก็ไม่ควรยึด เพราะทุกข์ไม่จบสิ้น
“งดงามในความเปลี่ยนแปลง “
จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
นสพ.คมชัดลึก หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒
“ความเปลี่ยนแปลง คือ สัจธรรม… ให้ระลึกอยู่เสมอทุกค่ำเช้า ทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อที่เราจะสามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเต็มเปี่ยม “
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน