ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา โดย มหาลาโภ ภิกขุ เรื่องและภาพ
ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา โดย มหาลาโภ ภิกขุ เรื่องและภาพ

ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา

โดย มหาลาโภ ภิกขุ

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) จังหวัดเชียงใหม่

ความงดงามของการให้เปรียบเสมือนดอกไม้ที่เบ่งบานในยามหน้าแล้งซึ่งจะช่วยให้เกิดความประทับใจกับผู้ที่ได้เห็นเสมอ เช่นกับเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นของคุณป้าศรีและครอบครัว ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังวุ่นวายและทุกคนกำลังหวาดกลัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ แต่ในสังคมไทยที่มีรากฐานอันแข็งแรงในบวรพระพุทธศาสนา ยังมีการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันอยู่ตลอดเวลา ทุกวิกฤติจึงเป็นโอกาสในการสร้างบารมีธรรมเงียบๆ  เราจึงเห็นการช่วยเหลือกันซึ่งเกิดขึ้นมาอยู่เสมอ

“การแบ่งปัน” เป็นความรู้สึกที่เกิดมาเพื่อเติมเต็มความสุขที่ขาดหายไปให้กลับมามีเพิ่มอีกครั้ง

ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา โดย มหาลาโภ ภิกขุ
ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา โดย มหาลาโภ ภิกขุ

” ตู้ปันสุข “ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากได้และเป็นการสร้างมิตรภาพและความรู้สึกดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม คุณป้าศรีก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งไม่ใช่คนมีฐานะมาก ได้เปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่ตลาดเพชรอารี แพรกรักษา- คลองเก้า จังหวัดสมุทรปราการ ท่านมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับเพื่อนบ้านเสมอมาได้จัดข้าวของมานำมาตั้งไว้เพื่อแจกจ่ายกับเพื่อนบ้านและคนที่สัญจรไปมา ซึ่งประสบการณ์เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้เรียนรู้ความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งว่า

๑.ความตั้งใจดี นำพาให้ท่านได้ลงมือทำสิ่งนี้ จากบุญที่ลูกสาวแนะนำชักชวนกันให้ช่วยเหลือแบ่งปัน คนในพื้นที่ ทำให้ท่านร่ำรวยบริวาร ความสุขจากคนรอบตัว ที่ท่านไม่ทอดทิ้งเขา เขาก็ไม่ทอดทิ้งท่าน หลายร้านปิดตัวลง ร้านท่านยังมีคนมาอุดหนุนเสมอ เพราะนี้คือความดีท่านมอบให้สังคม สังคมจึงไม่ทิ้งท่านไปไหน ยังคงได้รับความห่วงใยจากเพื่อนบ้านและคนที่รู้จักเสมอ

๒ .บททดสอบทางจิตใจ หลายครั้งที่ป้าศรีเบื่อหน่าย กับผู้คนหลากหลาย มีทั้งเห็นแก่ตัวบ้าง มาช่วยเหลือบ้าง ตามแต่ละคนจะมีจะเป็นกัน ป้าได้กล่าวด้วยเสียงหัวเราะตามมา

ป้าศรี
ป้าศรี

“ยกไข่มาตั้งไม่ถึงนาที หมดแผงจากคน ๆ เดียว ใจนี่ท้อ หงุดหงิด ยกตู้ปันสุขกลับเข้ามาในร้านเลย คิดเลิกทำ แต่พอเห็นแววตาผู้คนที่ยังลำบากในพื้นที่ ก็อดไม่ได้ยกตู้มาวางไว้ใหม่หน้าร้าน ทำเท่าที่เราทำได้ ทำเท่าที่ใจไหว วันไหนไม่ไหวก็ต่อไปก่อน เหนื่อยใจมากหน่อยก็เลิกทำ แต่วันนี้ยังไหวก็ยังขอทำไปก่อน”

คำพูดของคุณป้าฟังแล้วชื่นใจ มันคืออุปกรณ์พัฒนาใจไปในตัวและเป็นต้นแบบของการเป็นผู้ให้ที่ท่านได้ทำให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง

๓.สิ่งที่ดีที่ทำให้สังคมได้เกิดการแบ่งปัน ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างก็มีความสุขที่ตนได้รับในแบบของตัวเอง สุดท้ายไม่ว่าจะยังไง ทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นว่าความดี คนดี ยังไม่หมดไปจากโลก และสังคมจะมีความน่าอยู่มากขึ้น เพราะเราเองได้รับพลังงานความดีมาจากผู้ที่มอบสิ่งดี ๆให้เรา และตัวเราเองก็สามารถเป็นผู้ให้ที่ดีได้เหมือนกัน

เพราะว่าคนเราเกิดมา ต้นทุนของชีวิตไม่เหมือนกัน มีวาสนาไม่เท่ากัน การเปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลอื่นเป็นการหาความทุกข์ให้ตัวเองเปล่าๆ ฝึกตัวเองให้มีความสุขกับปัจจุบัน ปล่อยวางในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

สิ่งของแต่ละชิ้นได้จัดวางอย่างบรรจงและเรียบง่ายบนชั้นวาง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม นม น้ำผลไม้หรือของกินอย่างอื่น ซึ่งผู้รับจะสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีที่คุณป้าได้ตั้งใจที่จะมอบให้

“หนังสือธรรมะ” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการให้ข้อคิด คติธรรมและกำลังใจ ที่พวกเขาอาจจะขาดหายไป ให้จิตใจได้กลับมีพลังได้กลับมาต่อสู้อีกครั้ง

เพราะว่าการได้อาหารกายสำหรับมีชีวิตอยู่แล้ว เราก็ต้องมีอาหารใจเพื่อให้กำลังใจต่อตัวเองในการต่อสู้ชีวิตในวันต่อไป

หนังสือบ่วงสัจธรรม ที่ผู้เขียนได้พิมพ์แจกจำนวน ๘,๕๐๐  เล่มในปีพ.ศ.๒๕๖๑ ได้กลับมาปรากฏต่อหน้าสายตาอีกครั้ง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความรู้สึกประทับใจก็จะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อมีคนได้จับหนังสือขึ้นมาอ่าน หรือได้ถูกวางไว้ที่ไหนก็ตาม

แม้ว่าบางคนอาจจะอ่านไม่จบหรือได้มองแค่หน้าปกหนังสือ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับการร่วมเป็นผู้ให้ในครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน แม้ว่าคำพูดเพียงไม่กี่คำในหนังสือ อาจจะทำให้คนอ่านไม่สามารถคลายความทุกข์ได้ทั้งหมด แต่ผู้เขียนมีความหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นเหมือนเปลวไฟดวงน้อย ที่จะช่วยเติมพลังให้เชื้อไฟในหัวใจได้กลับมาลุกโชกโชนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแรงผลักดันในการสู้ชีวิตในทุกๆ วันของทุกคน

เพราะว่าในวันที่กำลังใจของเราอาจจะถดถอยเพราะสถานการณ์บางอย่างที่บีบคั้นจิตใจ แต่เมื่อมีการให้และการหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน สังคมก็น่าอยู่มากขึ้น และพวกเราจะร่วมใจกันสู้และก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน “

ความงดงามที่เกิดบนหยาดน้ำตา โดย พระมหาอมร มหาลาโภ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) จ.เชียงใหม่

เกี่ยวกับผู้เขียน

มหาลาโภ ภิกขุ เป็นนามปากกาของ พระมหาอมร มหาลาโภ

มหาลาโภ ภิกขุ  เป็นนามปากกาของ พระมหาอมร  มหาลาโภ  วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เรียนจบการศึกษานักธรรมเอก เปรียญธรรม ๗ ประโยค, บริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการธุรกิจ) มหาวิทยาลัยนเรศวร , พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร

พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๒๖

จุดที่ทำให้สนใจการเขียน ก็คือเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพระธรรมทูตรุ่นใหม่ก้าวไกลสู่อาเซียน ของพระอาจารย์มหาวุฒิชัย วชิรเมธี(ว.วชิรเมธี) ที่ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย  ได้เรียนทักษะกระบวนการ ฟัง พูด อ่าน เขียน และได้แนวคิดจากท่านหลายด้านจนเป็นแรงบันดาลใจให้ เขียนงานเพื่อเผยแพร่ข้อคิด และคติธรรม เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน

พระมหาอมร มหาลาโภ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาอมร มหาลาโภ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

และได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “พระนักเขียน” ซึ่งจัดโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากนั้นด้วยความมุ่งมั่นในการเผยแผ่ธรรมะทุกช่องทาง จนก่อเกิด หนังสือสื่อธรรมหนึ่งเล่ม ชื่อว่า “บ่วงสัจธรรม” ซึ่งรวบรวมจากธรรมะดับทุกข์สั้นๆ ใน facebook /บ่วงชลธร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here