“ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ” ภาพยนตร์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดความเป็นมาของ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมทั้งประวัติ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จุดเริ่มต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยผ่านตัวการ์ตูน สอดแทรกสาระ ความรู้ ความสนุกสนาน และสัมผัสกับ ปาฏิหาริย์ ของพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐาน ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น และเป็นที่เคารพสักการะ ของปวงชนชาวไทย และชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

๑๒๒ ปี แห่งการเดินทางของพระบรมสารีริกธาตุ

จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ

จากภาพยนต์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์

เรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ

ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ”

ตอนที่ ๓

“การเดินทางผ่านโรคระบาดในปีพ.ศ.๒๔๔๑”

ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจาก พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษในประเทศอินเดียแล้ว ก็ออกเดินทางเรือ ในระหว่างการเดินทางนั้นเอง ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่มาข้างหน้าอย่างรุนแรง จนกับตันเรือคิดว่าคงจะไม่รอดแน่ๆ แต่พระยาสุขุมนัยวินิตก็บอกว่า อย่าเพิ่งหมดหวัง

ในเวลาวิกฤตินั้นเอง พระยาสุขุมนัยวินิต กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมา ตั้งอธิษฐานจิตว่า

ขอให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุ้มครองเหล่าลูกช้างในการเดินทางครั้งนี้ด้วยเทอญ

เพื่อที่ลูกช้างจะได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ไปประทับที่กรุงสยาม ให้เป็นที่สักการะของชาวพุทธโดยทั่วกัน

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานจบลงก็เกิดแสงสว่างโชติช่วงจากพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นพายุไต้ฝุ่นก็สงบลง

ทุกคนที่อยู่ในเรือต่างอัศจรรย์ใจว่าเกิดอะไรขึ้น

พระยาสุขุมนัยวินิตก็อุทานว่า ปาฏิหาริย์แท้

ครั้นมาถึงเกาะหมาก เขาก็ไม่อนุญาตให้เรือขึ้นฝั่งได้ เพราะมีข่าวว่า ทางอินเดียมีโรคระบาด คือ กาฬโรค* ต้องขอให้ทุกคนรออยู่ในเรือ เพื่อตรวจดูว่า มีเชื้อโรคระบาดหรือไม่ เป็นเวลาสามวัน พระยาสุขุมนัยวินติจึงตัดสินใจย้ายคณะไปลงเรือหลวงดำรงรัตน์ แล้วไปขึ้นฝัางที่ตรังแทน

เมื่อได้ขึ้นฝั่งที่ตรังแล้ว ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแล้วอัญเชิญประดิษฐานที่พลับพลา เพื่อให้บรรดาภิกษุสามเณรตลอดจนพ่อค้า ข้าราชการ ประชาชน ที่มีถิ่นอาศัยในละแวกนั้นได้อาศัยสักการบูชาโดยทั่วกัน จากนั้น จึงได้จัดขบวนแห่ไปยังเมืองพัทลุง ต่อไปยังเมืองสงขลา เพื่อลงเรือมหาพิชัยเชษฐกลับมาที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ และได้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ที่บริเวณพระสมุทรเจดีย์ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน

และที่พระสมุทรเจดีย์นี่เอง ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

โปรดติดตามตอนต่อไป

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เวลาบ่าย ๕ โมง คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยามประเทศ ได้ออกเดินทางกลับถึงเมือตรัง ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแห่ผ่านเมือง ตรัง พัทลุง สงขลา แต่ละเมืองที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ และสักการบูชา ด้วยดอกไม้ธูปเทียน แก้วแหวน เงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่างดี จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงเรือหลวงต่อไปยังเมืองสมุทรปราการ

วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงเมืองสมุทรปราการ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการเฉลิมฉลองเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน แล้วจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เดินทางมากรุงเทพมหานคร

พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) โดยกำหนดฤกษ์ตามวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอขอบคุณ ภาพนิทรรศการพระบรมสารีริกธาตุ จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพนิทรรศการพระบรมสารีริกธาตุ จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

หมายเหตุ * ประมาณร้อยกว่าปีก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ราวพ.ศ.๒๔๓๗ เกิดการระบาด “กาฬโรค” ตามเมืองท่าของประเทศจีนและเกาะฮ่องกง เส้นทางการระบาดเคลื่อนตัวไปยังอินเดียแอฟริกา รัสเซีย ยุโรป สิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย ซึ่งวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสยามคือการบังคับให้เรือที่มาจากดินแดนเกิดกาฬโรคและใกล้เคียง ต้องจอดให้เจ้าหน้าที่ตรวจโรคทุกคนบนเรือเสียก่อนรัฐบาลจึงตั้งด่านตรวจโรคขึ้นที่ “เกาะไผ่” (ปัจจุบันอยู่ห่างจากเมืองพัทยาราว ๙ กิโลเมตร) โดยมีพระบำบัดสรรพโรค หรือ หมออะดัมสัน เป็นนายแพทย์ประจำด่าน

พระบำบัดสรรพโรคหรือหมอฮันส์ อะดัมสัน (Hans Adamsen) เป็นลูกครึ่งเดนมาร์ค-มอญ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สันสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ประจำด่านตรวจโรคที่เกาะไผ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ นับเป็นครั้งแรกที่มีการป้องกันโรคติดต่อ เช่น กาฬโรค จากต่างประเทศไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย และถือว่าเขาเป็นแพทย์ประจำด่านตรวจโรคคนแรกในประเทศไทย

ในเวลานั้น หมอฮันส์ ออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๑ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การบังคับเรือที่มาจากเกาะฮ่องกงให้จอดที่เกาะไผ่จนกว่าจะครบ ๙ วัน ต่อเมื่อมีการตรวจโรคทุกคนและออกใบรับรองว่าไม่มีใครเป็นกาฬโรค จึงจะอนุญาตให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ และบังคับให้เรือจากเมืองท่าในประเทศจีนต้องจอดเพื่อตรวจโรคทุกคนบนเรือก่อนโดยที่กรณีหลังจะไม่มีการกักเรือไว้ ด่านตรวจโรคที่ “เกาะไผ่” ดำเนินงานไป ๒ ปี ก็ย้ายมาตั้งที่ฝั่งตรงข้ามกับสถานศุลกากรเมืองสมุทรปราการ แล้วจึงย้ายไปตั้งที่ “เกาะพระ”อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันเป็นหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ในความดูแลของฐานทัพเรือสัตหีบ) ด้วยเหตุผลเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน โดยที่บทบาทขณะนั้น เป็นการตรวจเรือเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และเลิกตรวจเมื่อเหตุการณ์สงบลง

กว่าที่การระบาดของ “กาฬโรค” ครั้งนั้นจะหมดไป ต้องผ่านเวลามาหลายสิบปี โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ และจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบอีกเลยการเกิดขึ้นของ “เกาะไผ่” นับเป็นจุดกำเนิดของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนที่บทบาทของด่านฯ จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละยุคสมัย ที่การสัญจรข้ามประเทศมีรูปแบบหลากหลายกว่าในอดีต

หมายเหตุ * ขอขอบคุณ จากบทความเรื่อง “สมัยรัชกาลที่ ๕ สยามกักคนจีนบนเกาะร้าง ๙ วัน ป้องกัน ‘กาฬโรค’ ระบาดเข้าสู่สยาม ” ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ www.hfocus.org เก็บความจาก ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (๒๕๕๙).UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพน์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย. หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, พ.ศ. ๒๕๖๑

ต่อมาในช่วงปีพ.ศ.๒๔๖๒ หรือประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว สยามประเทศในขณะนั้นมีประชาชากรรวม ๙,๒๐๗,๓๕๕ คน เกิดมีโรคระบาดจากไข้หวัดใหญ่อีก โดยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง ๒,๓๑๗,๖๖๒ คน และเสียชีวิตถึง ๘๐,๒๒๓ ราย

โรคระบาดจากโควิด -๑๙ ในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่เราชาวไทยและชาวโลกกำลังหาวิธีรับมือกับการระบาดอย่างรวดเร็วให้ชลอลง และจะระงับได้ในที่สุด ไม่ว่าช้าหรือเร็ว วิกฤตินี้ก็จะผ่านพ้นไป ขอเราร่วมแรงร่วมใจหยุดเดินทางด้านนอกแล้วย้อนกลับมาดูกายใจ มีธรรมเป็นเพื่อนคอยย้ำเตือนว่าความตายนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลยทีเดียว

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

หากเราระลึกถึงพลังใจจากที่ใดไม่ได้ ก็สามารถระลึกถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งพระองค์ เข้าพึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา จนก่อเกิดสติ สมาธิ และปัญญาในการหาทางออกจากปัญหานี้และทุกปัญหาที่จะเกิดข้างเคียงจากผลกระทบของโรคระบาด ด้วยหนทางที่สร้างสรรค์ ร่วมแบ่งปันอาหาร พื้นที่ว่าง เครื่องอุปโภคบริโภคตามกำลัง ตลอดจนสร้างอาชีพที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยคนตกทุกข์ได้ยากในช่วงนี้ให้มีงานทำอยู่กับบ้าน ฯลฯ ตามกำลังที่เราสามารถช่วยกันได้ ก็จะทำให้วิกฤตินี้เป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกกรรมฐานทุกอย่างในชีวิตจริงกระทั่งมรณานุสติที่เราพึงระลึกไว้ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะถึงที่สุดแล้ว ชีวิตมีไว้ให้เราฝึกฝน สร้างคุณงามความดี ตลอดจนลด ละอุปกิเลสทั้งปวง และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างด้วยใจที่ปล่อยวาง เข้าใจสรรพสิ่งล้วนอนิจจัง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวเราของเราสักอย่างเดียว และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ดังปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ก่อนจะปรินิพพานว่า


           “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
    
           “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here