๑๐๐ปีชาตกาลแม่ทัพธรรมสตรี

ผู้มีคุณูปการทั้งทางโลกและทางธรรม

ประวัติและผลงานศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง

เกิด : เมื่อ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

บ้านบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร

บุตร : พันเอก พระศรีพิชัยบริบูรณ์ (เหมือน) และคุณเชย อินทรกำแหง

พี่น้อง : น้องชาย ดร.สาทิส อินทรกำแหง (ผู้ก่อตั้งศาสตร์ “ชีวจิต” )

การศึกษา : โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย , โรงเรียนสุรนารีวิทยา, โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย, วิทยาลัยครูสุนันทา,

ได้รับทุนและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ณ Florida State University สหรัฐอเมริกา (ปริญญา B.A. และ M.A. Library Science)

รับราชการ : เข้ารับราชการเป็นครูของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่ออายุ ๑๙ ปี โดยเป็นครูโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอยู่ ๑๒ ปี

ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ห้องสมุดโรงเรียนคนแรกของกรมวิสามัญศึกษาในยุคของการบุกเบิกจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียน ทำหน้าที่นี้อยู่ ๑๐ ปี

หลังจากนั้นย้ายไปทำงานด้านบริหารในตำแหน่งเลขานุการกรม กรมวิสามัญศึกษา และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง กองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ติดต่อกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์:

จตุตถจุลจอมเกล้า , ตติยจุลจอมเกล้า ( ปี ๒๕๑๒ ช่วงวัย ๔๘ ปี)

หลังจากลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านมาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภาคณาจารย์คนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (๒๕๑๗ -๒๕๑๙)

  • เป็นอาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
  • เป็นผู้บรรยายวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และวิจารณ์วรรณกรรม
  • ท่านมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการบรรยายทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกับ ศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร และ ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง

นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ยังได้รับหน้าที่อาจารย์พิเศษวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ที่…

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

และเป็นอาจารย์พิเศษเรื่องการวิจารณ์หนังสือ ที่…

  • โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ และ
  • วิทยาลัยการทัพอากาศ

งานเพื่อสาธารณกุศล

  • เป็นผู้ริเริ่มจัดรายการวิทยุเพื่อส่งเสริมการอ่าน
  • เป็นกรรมการในสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย
  • เป็นกรรมการในสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
  • เป็นกรรมการในสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยถึง ๕ สมัย
  • เป็นกรรมการหมู่บ้านโสสะ และเป็นประธานหมู่บ้านโสสะ

เกียรติคุณที่ได้รับ

  • พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • รางวัลวรรณกรรมไทยชมเชย มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เรื่อง “สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์?” ภาคสอง พ.ศ. ๒๕๓๗
  • รางวัลและประกาศเชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นในการเสริมสร้างสันติภาพและสันติสุขในสังคมไทย จากคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • รางวัล “ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๔
  • รางวัล “นราธิป” วรรณกรรมดีเด่น สำหรับนักเขียนอาวุโส สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๖
  • รางวัล “Outstanding Woman in Buddhism” เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

ผลงานเขียนหนังสือ

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง มีผลงานการเขียนหนังสือทั้งทางวิชาการและทางธรรมะไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ

  • ทิพยา-เยาว์ : หนังสืออ่านประกอบวิชาสังคมศึกษา (พ.ศ. ๒๕๐๒)
  • ถาม-ตอบบรรณารักษศาสตร์ สำหรับวิชาชุดบรรณารักษศาสตร์(พ.ศ.๒๕๐๖)
  • ภาพชีวิตจากนวนิยาย (พ.ศ.๒๕๐๘)
  • ห้องสมุดโรงเรียนระดับประถม (พ.ศ.๒๕๐๘)
  • การเลือกหนังสือและโสตทัศนวัสดุ (พ.ศ. ๒๕๑๕)
  • การเลือกหนังสือพิมพ์และวารสาร (พ.ศ. ๒๕๑๕)
  • การบริหารงานห้องสมุดโรงเรียน (พ.ศ.๒๕๑๗)
  • บรรณารักษศาสตร์ ชุดครูมัธยม (พ.ศ.๒๕๑๗)
  • วรรณกรรมวิจารณ์ (พ.ศ.๒๕๑๗)
  • วรรณกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น (พ.ศ.๒๕๑๗)
  • ประชาธิปไตยแบบธรรมิกสังคม (พ.ศ.๒๕๒๙)
  • นกเค้าแมวร้องสองครั้งที่แค็ทฟิทเบนด์ (พ.ศ.๒๕๓๐)
  • สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์? (พ.ศ.๒๕๓๑)
  • ก่อนหยุด…หยุดก่อน (พ.ศ.๒๕๓๖)
  • ลอยธรรมะมาลัย (พ.ศ.๒๕๓๖)
  • สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์? ภาคสอง (พ.ศ.๒๕๓๗)
  • สิทธิสตรีวิถีพุทธ (พ.ศ.๒๕๓๗)
  • ท่านอาจารย์พุทธทาสในฐานะครู (พ.ศ.๒๕๓๘)
  • ศิลปะการพัฒนาชีวิต (พ.ศ.๒๕๓๙)
  • การปฏิบัติที่ใจ (พ.ศ.๒๕๔๑)
  • ธรรม (พ.ศ.๒๕๔๒)
  • กิเลส(พ.ศ.๒๕๔๓)
  • ไตรลักษณ์(พ.ศ.๒๕๔๓)
  • นกอินทรีเลี้ยงลูก (พ.ศ.๒๕๔๓)
  • การสร้างจิตเงียบ
  • การสร้างสรรค์มุมสงบ (พ.ศ.๒๕๔๔)
  • สติและอนุสติ (พ.ศ.๒๕๔๔)
  • อุปสรรคของการปฏิบัติธรรม (พ.ศ.๒๕๔๔)
  • ความสำคัญของจิต (พ.ศ.๒๕๔๕)
  • ประโยชน์ของเก้าอี้มีก็ต่อเมื่อมันว่าง (พ.ศ.๒๕๔๕)
  • เรียนรู้ธรรมะจากนวนิยายเด็ก (พ.ศ.๒๕๔๕)
  • จิตศีลธรรม-จิตปรมัตถธรรม (พ.ศ.๒๕๔๖)
  • ฆ่าตัวตายทำไม? (พ.ศ.๒๕๔๖)
  • เป็นอยู่อย่างไรไม่เป็นทุกข์ (พ.ศ.๒๕๔๖)
  • ครูคือผู้สร้างโลก (พ.ศ.๒๕๔๗)
  • ปัจจเวกขณ์ (พ.ศ.๒๕๔๗)
  • สัปปรุสธรรม (พ.ศ.๒๕๔๗)
  • ชีวิตโลก-ชีวิตธรรม (พ.ศ.๒๕๔๗)
  • การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิต (พ.ศ.๒๕๔๘)
  • ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า “สุข” (พ.ศ.๒๕๔๘)
  • จริยธรรมในวรรณกรรม (พ.ศ. ๒๕๔๙) . ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเขียนบทความทางวิชาบรรณารักษศาสตร์และทางการศึกษาอื่นๆ ลงในวารสารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยาสารศูนย์ศึกษา วิทยาจารย์ วารสารห้องสมุด เป็นต้น

การเดินทางสู่ทางธรรม

ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง  เริ่มชีวิตรับราชการเป็นครู ตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอด จนถึงวัยห้าสิบกว่าปี

ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า  ขับรถไปเที่ยวกับเพื่อนๆ  ทางภาคอีสาน แต่หลงทางจนไปถึงวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย  ในเวลามืดค่ำพอดี  ได้พบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี  เป็นครั้งแรก ท่านเมตตาให้คณะเข้าพักค้างที่วัด  และได้แสดงธรรมอันเป็นที่จับใจ  ทำให้ทราบว่า  

ที่ผ่านมา  การดำรงตนเป็น “คนดี”

เท่านั้นยังไม่เพียงพอ

 ต้องปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ

 ที่เรียกว่าปฏิบัติสมาธิภาวนา

ทั้งสมถะและวิปัสสนา

จึงจะถึงที่สุดของการหมดทุกข์ได้

จากนั้นท่านก็ตั้งใจปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง

ไป-กลับกรุงเทพฯ-วัดหินหมากเป้งเป็นประจำในช่วงวันหยุดอยู่ระยะหนึ่ง

และต่อมาได้พบวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่าน ก.เขาสวนหลวง วิปัสสนาจารย์สตรีแห่งสำนักเขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี  จึงได้มาพักปฏิบัติที่นี่หลายครั้ง โดยตั้งใจว่าหากวันหนึ่งได้ลาทางโลกออกปฏิบัติธรรม ก็จะนุ่งดำใส่ขาวแบบเดียวกับคุณแม่ก.เขาสวนหลวงผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสยิ่งนัก

ต่อมาเมื่อถึงโอกาสอำนวย ท่านได้สละชีวิตทางโลกเข้าสู่ชีวิตของผู้ประพฤติธรรม ภายใต้การอบรมของ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ต่อมาเมื่อหลวงพ่อชาอาพาธหนัก ไม่สามารถจะสอนและอบรมธรรมต่อไปได้ จึงได้มอบตนเป็นศิษย์ของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕

ศึกษาและปฏิบัติธรรม ที่สวนโมกขพลาราม

ที่สวนโมกขพลาราม ท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้เรียนรู้ธรรมจากท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ ท่านเล่าว่า

“ในวันแรกที่มาถึงสวนโมกข์

ได้กราบท่านอาจารย์แล้ว

สิ่งที่ท่านอาจารย์สั่งให้ทำเป็นสิ่งแรก

คือนับแต่นี้ให้ “อ่านหนังสือเล่มใน”

หยุดอ่านหนังสือข้างนอกทุกเล่ม

นั่นก็คือ ให้ฝึกปฏิบัติด้วยการหมั่น “ดูจิต” ของตนเพื่อให้รู้จักลักษณะของจิต และให้รู้เท่าทันจิตว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จะได้รู้จักแก้ไขพัฒนาจิตเถื่อนนั้นให้เป็นจิตที่เจริญ คือเป็นจิตที่นิ่ง มั่นคง และสงบเย็น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา

แล้วท่านอาจารย์ยังสั่งอีกว่า

“ให้หามุมสงบท่ามกลางธรรมชาติ

แล้วก็อ่านหนังสือเล่มในให้แตกฉาน

ขณะนั้นนึกพูดกับตัวเองว่า ใครๆ ว่าท่านอาจารย์เป็นนักปริยัติ แต่นี่สิ่งแรกที่ท่านบอก คือ เน้นลงไปที่การปฏิบัติ ทั้งท่านยังห้ามไม่ให้เราพูดถึงหนังสือธรรมะที่ได้นำไปเพื่อจะอ่านศึกษา แต่ให้ลงมือปฏิบัติทันที

แท้ที่จริงแล้ว ท่านอาจารย์เป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติต่างหาก ตรงตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ทีเดียวว่า จะต้องมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงจะได้มีปฏิเวธ

“เมื่อจะพูดรำลึกถึงท่านเจ้าประคุณอาจารย์สวนโมกข์ มีสิ่งที่จะกล่าวถึงมากเหลือเกินอย่างที่จะเขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ แต่ตรงนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจมาก แต่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องวิธีการสอนและอบรมธรรมะของท่านอาจารย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาสของท่าน…

เป็นการยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดว่า ความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของการศึกษาอบรมที่ได้รับจากท่านอาจารย์นั้น มีความหมายที่ใหญ่หลวงมหาศาลต่อชีวิตของตนอย่างไรและเพียงใด

แต่พูดได้ว่าที่เป็นเนื้อเป็นตัวอยู่ได้ทุกวันนี้

ก็ด้วยการได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านอาจารย์นี้เอง แม้จะยังเป็นเพียงผู้ที่เดินอยู่ แต่ก็จะมุ่งหน้าพยายามเดินต่อไปจนสุดกำลังความสามารถ จนกว่าเกวียนเล่มนี้จะแตกหักทำลายไป”

ท่านอาจารย์คุณรัญจวนเล่าว่า

“การที่ท่านประคุณอาจารย์สวนโมกข์ ได้นำเรื่องของอนัตตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ตลอดถึงสุญญตา นิพพาน มาบอกกล่าวแก่พวกเรา จึงเท่ากับเป็นการเปิดหนทางให้พวกเราได้รู้และเข้าใจถึงจุดหมายปลายทางของการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่ามีหนทางดำเนินอย่างไร และไปสู่จุดหมายสูงสุดคืออะไร ส่วนบุคคลใดปรารถนาจะประพฤติปฏิบัติมากน้อย หรือใกล้ไกลเพียงใด ก็เป็นสิทธิและความพอใจของแต่ละบุคคล

แต่ถ้าหากพวกเราไม่ได้มีความรู้ในข้อธรรมะเหล่านี้เลย !

ก็ย่อมเป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีศรัทธาและศักยภาพที่สามารถจะปฏิบัติไปได้ไกลหรืออาจถึงที่สุด แต่เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ไม่รู้หนทาง ถ้าต้องเสียเวลาไปค้นคว้าเสาะหาทางเอง ก็อาจไม่ทันแก่กาลเวลาแห่งชีวิตของตน ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างที่สุดที่โอกาสแห่งชีวิตนี้ได้ถูกปิด เพียงเพราะครูบาอาจารย์บางท่านคิดไปเสียว่า ยากเกินกว่าที่ศิษย์จะเรียนรู้ได้

ในส่วนตัว จึงมีความรู้สึกสำนึกในพระคุณของท่านเจ้าประคุณอาจารย์ฯ อย่างล้นเหลือที่ท่านได้กรุณาสอนและบอกกล่าวให้ฟังอย่างหมดจดสิ้นเชิง ส่วนการจะประพฤติปฏิบัติไปได้เพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่ความอุตสาหะบากบั่นอดทนและสติปัญญาแห่งตนเอง เพราะเรื่องของการปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตน มิใช่สิ่งที่ผู้ใดจะมาทำให้แก่ใครได้”

สืบสานและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นอกจากการศึกษาและปฏิบัติธรรมในส่วนตนแล้ว ขณะอยู่ที่สวนโมกขพลารามท่านอาจารย์คุณรัญจวนยังได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายด้าน เช่น

ท่านเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดำเนินการจัดระบบห้องสมุดแห่งสวนโมกข์ (หรือ ห้องสมุดพุทธทาสบรรณาลัย หรือ หอไตรฯ) จนสำเร็จ

ในด้านการปฏิบัติภาวนา ท่านได้มีส่วนช่วยจัดอบรมอานาปานสติภาวนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ การจัดตั้ง “ธรรมาศรมธรรมมาตา”

ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ)

ความดำริให้มีธรรมาศรมธรรมมาตานี้ มีอยู่ในช่วงปลายชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ด้วยความเมตตากรุณาอันสูงสุดต่อเพศหญิงว่า เป็นเพศมารดาของโลก เป็นผู้สามารถสร้างโลกให้อยู่เย็นและเป็นสุข ท่านได้เขียนแนวทางในการจัดดำเนินการให้มี ธรรมาศรมธรรมมาตาขึ้น เพื่อเป็นอาศรมแห่งผู้เป็นธรรมมาตา คือมีธรรมเป็นแม่ หมายถึงมีธรรมะเป็นที่พึ่งสูงสุดแห่งตน และมีแม่เป็นธรรม มีความหมายว่าอาศรมแห่งนี้ ได้เพาะบ่มให้มีการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่างสูงสุด และหากผู้ใดยินดีเสียสละอุทิศชีวิตเพื่อเผยแผ่ธรรมะ แบ่งปันธรรมะแก่เพื่อนมนุษย์ก็จะให้การศึกษาอบรมเพื่อเป็นธรรมทูตหญิงต่อไป

(ยังมีต่อ)

๑๐๐ ปีชาตกาลแม่ทัพธรรมสตรี ผู้มีคุณูปการทั้งทางโลกและทางธรรม (ตอนที่ ๑)

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก คุณอุ๊ย วัดป่าหนองไผ่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร , หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปปัญโญ , กลุ่มพุทธทาสศึกษา สวนเมตตาธรรม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และ ธรรมมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here