ทศชาติ

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี

(ตอนที่ ๒) กำเนิดพระมหาชนก

โดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด

ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ

ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น

เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง

ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพวาด พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) โดยศิลปิน อาจารย์พีร์ ขุนจิตกร
ภาพวาด พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) โดยศิลปิน อาจารย์พีร์ ขุนจิตกร

กำเนิดพระมหาชนก

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ครั้นอยู่ต่อมาไม่นาน พระเทวีก็ประสูติพระโอรสมีผิวพรรณเกลี้ยงเกลางดงาม พระเทวีขนานนามพระโอรสตามพระอัยกาว่า “มหาชนก”

ครั้นพระกุมารเจริญวัย เป็นคนเข้มแข็ง มีกำลังมาก เมื่อเล่นอยู่กับพวกเด็กๆ ใครทำให้ไม่พอใจ พระมหาชนกจะจับเด็กคนนั้นไว้แล้วตีอย่างแรง เพราะถือว่า ตนมีกำลังมาก และด้วยความเป็นผู้กระด้างถือตัว เพราะความที่เกิดในตระกูลกษัตริย์ เด็กเหล่านั้นพากันร้องไห้ เมื่อถูกถามว่าใครตี ก็บอกว่า “คนไม่มีพ่อ ลูกหญิงหม้ายตี” พระมหาชนกนึกฉงนที่พวกเด็กเรียกตนว่า ลูกหญิงม่าย

วันหนึ่ง พระมหาชนกถามมารดาว่า ใครเป็นบิดา พระเทวีลวงว่า มหาพราหมณ์เป็นบิดา พระมหาชนกก็เชื่อสนิทใจ ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน พระมหาชนกถูกพวกเด็กล้อเลียนอีกว่า “ลูกหญิงหม้ายๆ” จึงบอกว่า “พ่อพราหมณ์เป็นบิดาเรา” เด็กพวกนั้นแย้งว่า “พราหมณ์เป็นลุงเธอต่างหาก ไม่ใช่พ่อ “ มหาชนกคิดว่า เด็กเหล่านั้นบอกว่า พราหมณ์เป็นลุงเรา มารดาเห็นจะไม่ได้บอกความจริง จึงตั้งใจที่จะค้นหาความจริงให้ได้

ครั้นถึงเวลาดื่มน้ำนม พระมหาชนกจึงกัดนมมารดาไว้ บอกว่า “ถ้าแม่ไม่บอกว่าใครเป็นบิดา ลูกจะกัดนมให้ขาด” พระเทวีไม่สามารถปกปิดพระโอรส จึงบอกความจริงทุกประการว่าเป็นโอรสพระเจ้าอริฏฐชนก ในกรุงมิถิลานคร พระบิดาถูกพระโปลชนก ผู้เป็นน้องชายปลงพระชนม์ ชิงราชสมบัติ พระองค์จึงแอบหลบหนีมาอยู่เมืองนี้

เมื่อพระมหาชนกทราบความจริงแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้พระมหาชนกจะถูกล้อเลียนว่า “ลูกหญิงหม้าย คนไม่มีพ่อ” ก็ไม่เกรี้ยวกราดโกรธเคือง พระองค์กลับมุ่งมั่นเรียนไตรเพท และศิลปศาสตร์ทั้งปวงจากอุทิจจมหาพราหมณ์จนจบสิ้น

แผนยึดสุวรรณภูมิ

ขณะมีอายุ ๑๖ ปี พระมหาชนกองอาจสง่างาม มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะชิงเอาราชสมบัติของพระบิดาคืนมาให้ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกำลังทรัพย์ ทั้งกำลังทางทหารก็ไม่มี พระองค์จึงจำเป็นจะต้องมีกองกำลังเป็นของพระองค์เอง พระองค์เริ่มติดต่อกับพวกพ่อค้าทางทะเล เตรียมการวางแผนที่จะยึดแผ่นดินสุวรรณภูมิ แผ่นดินในตำนานที่ถูกกล่าวขานถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นสั่งสมกองกำลังชิงเอาราชสมบัติคืน จึงทูลถามมารดาว่า “แม่ แม่มีทรัพย์ติดตัวมาบ้างหรือไม่ ลูกจะค้าขายให้ทรัพย์เพิ่มมากขึ้นแล้วใช้เป็นทุนชิงเอาราชสมบัติพระบิดาคืนมา” พระเทวีตอบว่า “แม่ไม่ได้มามือเปล่าหรอกลูก แม่ได้นำของมีค่าอยู่ ๓ อย่างมาด้วย คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร แต่ละอย่างพอจะเป็นทุนชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ ลูกใช้แก้วสามอย่างนั้นแล้ว คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทำการค้าขายเลย”

พระมหาชนกกราบทูลว่า “ขอแม่ให้ทรัพย์เพียงครึ่งหนึ่ง ลูกจะไปค้าขายเมืองสุวรรณภูมิ ได้ทรัพย์จำนวนมากเป็นทุนแล้ว จะชิงเอาราชสมบัติพระบิดาคืน” จึงขอทรัพย์ครึ่งหนึ่งนำไปซื้อสินค้าขึ้นเรือแล้วกลับมากราบลาพระมารดาไปเมืองสุวรรณภูมิ

พระมารดาตรัสห้ามว่า “ลูกเอ๋ย ขึ้นชื่อว่ามหาสมุทร มีประโยชน์น้อย แต่มีอันตรายมาก ลูกอย่าไปเลย ทรัพย์สมบัติมีมากพอที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้” พระมหาชนกคิดว่า แม้พระมารดาจะมีทรัพย์พอที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ แต่หากขาดกองกำลังที่แข็งแกร่ง ทรัพย์ที่มีอยู่ก็ไร้ค่า ไม่สามารถที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ จึงกราบทูลว่า “อย่างไรเสีย ลูกก็ต้องไป” แล้วทำประทักษิณกราบลาไปขึ้นเรือ พร้อมกับพวกลูกเรือชาวสุวรรณภูมิ

ในวันที่มหาชนกลงเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมินั้น เหตุการณ์ข้างฝ่ายมิถิลานคร พระเจ้าโปลชนกเกิดประชวรอย่างหนัก พระองค์บรรทมแล้วไม่ได้เสด็จลุกขึ้นอีกเลย

ส่วนพวกพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิประมาณ ๗๐๐ คน แล่นเรือออกสู่มหาสมุทรไปได้ ๗๐๐ โยชน์ แล่นเรือไปได้ ๗ วัน ก็เผชิญพายุอย่างหนัก คลื่นแรง ท้องทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถต้นทานพายุคลื่นที่โหมซัดกระหน่ำอย่างบ้าคลั่งได้ แผ่นกระดานท้องเรือถูกคลื่นซัดปริร้าวแล้วหลุดแตกกระจายไปตามแรงคลื่น น้ำไหลทะลักเข้าเรือ เรือค่อยๆ จมลงกลางมหาสมุทร ลูกเรือกลัวตายร้องไห้ระงม กราบไหว้อ้อนวอนเทวดาที่ตนเคารพนับถือ แต่พระมหาชนกไม่ร้องไห้ ไม่คร่ำครวญ ไม่อ้อนวอนเทวดา แต่ทราบว่า เรือจมแน่

เสี้ยวหนึ่งของความคิด พระมหาชนกรีบคลุกน้ำตาลกรวดกับเนยกินให้อิ่มท้อง เอาผ้าเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืน ชุบน้ำมันจนชุ่ม เช็ดถูตามตัวแล้วนุ่งให้กระชับมั่น เพื่อไม่ให้ร่างกายชุ่มน้ำ และดับกลิ่นกายมนุษย์ แล้วปีนป่ายขึ้นไปบนยอดเสากระโดง ขณะเรือกำลังจมดิ่งลงสู่ท้องทะเล พระมหาชนกมองเห็นปลา เต่า และสัตว์ร้ายนานาชนิดกำลังรุมกินลูกเรืออย่างกระหายเลือด ท้องทะเลขื่นคาวแดงฉานไปด้วยสีเลือด

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

พระมหาชนกยืนที่ยอดเสากระโดง กำหนดทิศที่เมืองมิถิลานครตั้งอยู่แล้วโยกปลายเสากระโดงดีดตัวเองด้วยพละกำลังสุดแรง กระโดดข้ามพ้นรัศมีฝูงปลาและเต่า ซึ่งกำลังรุมกินวากลูกเรืออยู่ จึงพ้นจากคมปากของสัตว์ร้ายทั้งหลาย ขณะที่เรือพาณิชย์ที่พระมหาชนกโดยสารมาเผชิญกับพายุร้ายจนเรือแตกอับปางลงสู่มหาสมุทร พระเจ้าโปลชนกเสด็จสวรรคตในวันนั้นนั่นเอง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๒) กำเนิดพระมหาชนก โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here