ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ไตรลักษณ์ในชีวิต ในชีวิตมีไตรลักษณ์ ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑

(ตอนที่ ๕)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง การไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนและการทำสมาธิ …แม้การปฏิบัติธรรมจะได้บุญมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ หรือการทำบุญกุศลอย่างอื่นไม่สำคัญ แท้จริงแล้ว ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพียงจัดระดับให้เห็นความสำคัญของการทำบุญ อย่างธรรมดา อย่างกลาง และอย่างสูงสุดเท่านั้น…

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)

นอกจากนั้น อาตมาได้ส่งเทปไปให้ เพราะอยากให้โยมทั้งสองมีโอกาสฟังธรรมมากๆ   ตื่นเช้ามาเปิดเทศน์ฟังได้ยิ่งดี เพราะตอนเช้ามืดเป็นเวลาที่เงียบสงบ ร่างกายและจิตใจได้นอนพักผ่อนเพียงพอ จึงมีความสงบระงับมีความอ่อนโยน พร้อมที่จะรับธรรมะได้ดีกว่าเวลาอื่น มาถึงวันนี้ โยมทั้งสองก็อายุมากแล้ว ร่างกายและสังขารเปลี่ยนไป ในวัย ๘๐ เช่นนี้ โยมคงรู้แล้วว่า ความแท้จริงของชีวิตเป็นอย่างไร

พระพุทธเจ้าสอนว่า  เมื่อเราเกิด  สิ่งที่จะตามเรามา คือ คนเราทุกคนต้องต่อสู้กับความทุกข์อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ กายเปลี่ยนแปลงก็เป็นเหตุแห่งทุกข์  ใจเปลี่ยนแปลงก็เป็นเหตุแห่งทุกข์  เราต้องเผชิญความทุกข์นับตั้งแต่การทำมาหาเลี้ยงชีพ  ความผิดหวัง  ความเศร้าโศกเสียใจ  ความร่ำไรรำพัน  ความเจ็บป่วย  ความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเรา หวงแหน  ความไม่สมหวังในสิ่งที่เราปรารถนา และทุกข์เพราะความตาย

ที่พูดถึงชีวิตว่าเป็นทุกข์  ไม่ใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย  แต่เป็นการมองโลกตามที่มันเป็น  หรือมองชีวิตตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นอย่างนั้นของมันจริงๆ และเราจะอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตเช่นนั้นอย่างมีความสุขได้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่า

“น้ำตาสัตว์ที่ร้องไห้ถึงหมู่ญาติที่ตายมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ แห่ง ที่ไหลมารวมกัน”

ตอนแรกยังคิดแย้งว่า เป็นไปได้อย่างไร น้ำตาอะไรจะมากมายขนาดนั้น แต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจมากขึ้น ไปที่ไหนก็เห็นคนร้องไห้ถึงญาติพี่น้องของตน ที่เจ็บป่วยล้มตาย เห็นคนเป็นทุกข์เพราะการสูญเสีย เพราะการพลัดพราก เพราะความล้มเหลวในชีวิต ทั้งชีวิตในหน้าที่การงาน และชีวิตครอบครัว เลยทำให้เข้าใจ และสงบระงับลงได้บ้าง

ความตาย  ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เราประมาทจนหลงลืมชีวิต ไม่ให้เราใช้ชีวิตจนลืมว่า ชีวิตก็หมดได้ เหมือนน้ำในโอ่งใช้ไปเรื่อยๆ มันก็หมด ต่างกันแต่น้ำหมดแล้วตักเติมใหม่ได้  แต่ชีวิตคนไม่เป็นอย่างนั้น ใช้หมดแล้วหมดเลย  พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อม สำหรับความไม่เที่ยงของชีวิตที่จะมาถึงเราทุกคน

ถ้าตั้งอายุไว้ ๘๐ ปี ตอนนี้ก็เท่ากับว่า โยมทั้งสองใช้หมดไปแล้ว

พระพุทธเจ้าสอนว่า  ความเปลี่ยนแปลงในร่างกายคนเรามีอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่รู้สึกว่า ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง เพราะการสับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น

เวลายืน – เมื่อเริ่มปวดจนทนไม่ไหว เราก็นั่ง

เวลานั่ง – เมื่อเริ่มปวดจนทนไม่ไหว เราก็นอน

เวลานอน – เมื่อเริ่มปวดจนทนไม่ไหว เราก็พลิกตัว

เพราะการสับเปลี่ยนอิริยาบถเช่นนี้ เราจึงไม่มีโอกาสเห็นทุกข์ในร่างกายอย่างแจ่มชัด  ถ้าอยากเห็นตัวทุกข์ว่าเป็นอย่างไร เราอาจทดสอบด้วยการยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมนานๆ ดูก็ได้ ตอนแรกจะเห็นว่า ไม่รู้สึกปวดเมื่อยอะไร แต่พอนานๆ เข้าเมื่อความเปลี่ยนแปลงในร่างกายเพิ่มความเข้มข้นขึ้น เราก็ทนไม่ไหวจนต้องเปลี่ยนอิริยาบถ  ถ้าอยากรู้ว่า จริงไหม ก็ให้นึกทบทวนดูว่า ๓๐ ปีก่อนเราเป็นอย่างไร  มีความรู้สึกว่าแข็งแรง สมบูรณ์ดี ถ้าเทียบกับวัยที่มีอยู่ ขณะนี้รู้สึกเป็นอย่างไร  เราจะเห็นความแตกต่างกัน เราเคยว่องไวปราดเปรียวกลับเชื่องช้า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงไตรลักษณ์ที่ปรากฏในชีวิต

การเห็นความแตกต่างกันนี้เองเรียกว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต หรือจะเรียกตามพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่า เห็นไตรลักษณ์ในชีวิต ที่ว่าเห็นไตรลักษณ์ คือ เห็นว่าชีวิตนี้มีลักษณะแท้ๆ ของมันอยู่ ๓ อย่าง ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลง ความแท้จริงนี้ได้

อนิจจัง เปลี่ยนแปลงแล้วผ่านเลย

เห็นว่าร่างกายเรามันไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  จากเด็กเป็นหนุ่ม  จากหนุ่มเป็นแก่  ปรวนแปรอยู่เช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

ลองนึกดูก็ได้ว่า ไม่เที่ยงจริงไหม สายน้ำมูล ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ลำโขง สุดท้ายมันก็ตกโขงทุกหยดหยาด  บางหยดหยาดไม่ถึงโขงด้วยซ้ำ เพราะถูกตักถูกสูบขึ้นไปทำนาทำไร่ ระหว่างทางที่ไหลผ่านไป และถูกแสงอาทิตย์แผดเผาระเหยกลายเป็นไอน้ำไปก่อน

พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ชีวิตไม่ย้อนกลับเหมือนสายน้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม  เมื่อเกิด แล้วทุกคนล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนแม่น้ำมูลบ่ายหน้าไปสู่ลำโขง  จากอายุ ๑๐ ปี ก็ ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ชีวิตไหลไปเป็น กระแสเหมือนสายน้ำ  แต่น้อยมากที่คนจะมีอายุถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี คนส่วนมากตายเสียในระหว่าง บางคนอายุไม่ถึง ๑๐ ปีก็ตาย บางคนไม่ถึง ๒๐ บางคนไม่ถึง ๓๐ บางคนไม่ถึง ๔๐ เรียกว่า เป็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต  หรือ เรียกว่า “อนิจจัง” เราไม่อยากให้มันเป็นเช่นนั้น แต่มันก็เป็นของมันเอง  เราอยากให้มันเป็นตามใจเรา มันก็ไม่เป็น ไม่อยากให้แก่ มันก็แก่ ไม่อยากให้เจ็บมันก็เจ็บ ไม่อยากให้ตายมันก็ตาย ท่านเรียกว่า มันเป็นของมันเอง ไม่ได้อยู่ในอำนาจ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา คือ เราไม่มีอำนาจเหนือชีวิตและร่างกายตนเอง ใครๆ บังคับ ควบคุมความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและร่างกายให้เป็นไปตามความต้องการของตนไม่ได้

ทุกขัง บีบคั้นจึงเจ็บปวด

เห็นว่าชีวิตคนเราเป็นทางผ่านของความทุกข์  การเกิดก็เป็นทุกข์  ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์  ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์   กล่าวโดยสรุป กายของเรานี้แหละ   เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์  ในบรรดาความทุกข์ทั้งมวล จะผ่านเข้ามาสู่ชีวิตของเรา มากบ้าง น้อยบ้าง

ลองนึกดูว่าจริงไหม  เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามา  เราไม่ทุกข์เอง เราก็เป็นฝ่ายทำให้เขาทุกข์ หลานจากก็ทุกข์   ลูกจากก็ทุกข์ เราพูดลูกไม่ใส่ใจที่จะรับฟัง เราก็ทุกข์ คนที่เรารักเขา มากก็ทุกข์มาก คนที่เรารักน้อยก็ทุกข์น้อยหน่อย ต้องคอย ตั้งรับความทุกข์อยู่ตลอด บางคนรับความทุกข์ไม่ได้ก็เอาแต่เศร้าโศกเสียใจ ไม่เป็นอันอยู่อันกิน พ่อแม่ตายเราก็ทุกข์ร้องห่มร้องไห้ เป็นทุกข์เสียใจ ญาติพี่น้องตายเราก็ร้องห่มร้องไห้ เป็นทุกข์เสียใจ ลูกหลานตายเราก็ร้องห่มร้องไห้เป็นทุกข์เสียใจ  ไม่ได้ดั่งใจหวังก็ร้องห่มร้องไห้ เป็นทุกข์เสียใจ แม้ร่างกายเราก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าต้องการให้เรารู้ว่า ที่เราเป็นทุกข์เพราะอะไร พระพุทธองค์จึงสอนให้รู้เท่าทันถึงสาเหตุแห่งทุกข์ว่า ที่เราเป็นทุกข์เพราะเราไปยึดว่า สิ่งนั้นๆ เป็นของเรา

ทีนี้ท่านเปรียบให้เห็นง่ายๆ เราเห็นลูกชายคนอื่นตายทำไม เราไม่ร้องไห้ แต่พอลูกชายเราตาย ทำไมร้องไห้เป็นทุกข์เสียใจ นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกัน

แท้จริงแล้ว เราคิดว่า ลูกเป็นของเราจริงๆ (ภาษาพระ เรียกว่า ยึดมั่น) แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ลูกกับเราเกี่ยวข้องกันในแง่คุณธรรม เรามีพรหมวิหารธรรม คือ มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อลูกๆ พ่อแม่มีความเมตตาเอื้ออาทรต่อลูกหาประมาณมิได้  ท่านเปรียบพ่อแม่ว่า ผู้เป็นเพียงดังพรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรมต่อลูกๆ ไม่มีขอบเขต จึงเชื่อว่าเป็นพรหมของลูก ในขณะที่ลูกๆ ต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยคุณธรรมของลูกเช่นกัน คือ เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทนบุญคุณ เชื่อฟังคำว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน  ไม่ทำให้พ่อแม่อับอายขายหน้า เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล  ประพฤติตนให้เหมาะที่จะเป็นผู้ได้รับมรดก  และเมื่อท่านวายชนม์คอยทำบุญอุทิศไปให้

นี่เป็นหน้าที่ของลูกที่จะพึงปฏิบัติต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ จึงชื่อว่า ลูกมีความกตัญญูกตเวที ในทางพระพุทธศาสนา พ่อแม่ลูกที่เกี่ยวข้องกันด้วยคุณธรรมดังกล่าวนี้ มิใช่เกี่ยวข้องกันด้วยการยึดถือว่า  เป็นของเรา อันเป็นที่มาของความทุกข์ พ่อแม่ที่ไม่มีคุณธรรมดังกล่าว ไม่ชื่อว่า เป็นพ่อแม่ตามความหมายของพระพุทธเจ้า แต่เป็นได้เพียง “ผู้ให้ลูกเกิด”

เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมสำหรับพ่อแม่ลูกนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีแง่มุมที่ต้องช่วยทำความเข้าใจอย่างกว้างขวางอีกมาก จะขอกล่าวเป็นส่วนหนึ่งอีกต่างหาก ในคราวต่อไป

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ไตรลักษณ์ในชีวิต ในชีวิตมีไตรลักษณ์” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๕) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here